ครูทรงชัย วรรณกุล ผู้สืบสานวัฒนธรรมไท-ยวน ถึงแก่กรรมแล้ว


ครูก็คือครู ที่รักและห่วงใยลูกศิษย์ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ โดยไม่หวังสิ่งใดใดตอบแทน

#ครูทรงชัย  วรรณกุล# ครูผู้สืบสานวัฒนธรรมไท-ยวน#ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อบ่ายวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2561 ที่ศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวน#  อำเภอเสาไห้  จังหวัดสระบุรี  

... เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผมได้ไปกราบท่าน แล้วเขียนบันทึกเรื่องราวของท่านไว้  จึงขอนำมาเล่าให้ฟังต่อในโอกาสนี้ครับ...

    ************************

ปีใหม่นี้(2552)ผมได้ทำกิจกรรมที่เป็นมงคลแก่ตนเองหลังเกษียณอายุราชการหลายอย่าง  เช่นได้เชิญชวนญาติผู้ใหญ่และมิตรสหายที่สนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษมารับประทานอาหารที่บ้านในฝันหลังใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่อำเภอไทรน้อย  ได้ออกกำลังกายตามหลักสูตรอย่างเป็นระบบ  ได้ไปทำบุญไหว้พระที่วัด เป็นต้น 
         แต่เรื่องที่ผมมีความประทับใจมากที่สุดคือการพาครอบครัวไปกราบคารวะและขอพรคุณครูที่อยู่ในหัวใจของผมตลอดมา  คือคุณครูทรงชัย วรรณกุล#  ที่ศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวน
 #  อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งตอนนี้ท่านได้กลายเป็นบุคคลสำคัญของชาวสระบุรี และของชาวไทยทั่วประเทศไปแล้ว
        ผมเองรู้สึกผิดอย่างมากที่ตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมออกมาเกือบร่วม 50 ปีแล้ว ยังไม่ได้ไปกราบคุณครู ทั้งที่ใจไม่เคยลืมคุณครูท่านนี้เลย  ก็คงเป็นเหมือนศิษย์อีกหลายๆคนที่ปฏิบัติกัน จนทำให้เขาเปรียบครูว่า
“เหมือนเรือจ้าง” ที่ส่งศิษย์ขึ้นฝั่งแล้วศิษย์ก็หายวับไปกับตา 
         
       
คุณครูทรงชัยในวันนี้ ท่านอายุ 70 ปีแล้ว  แม้ท่านจะเปลี่ยนทรงผมไปให้เข้ากับวัฒนธรรมไท-ยวนที่ท่านมุ่งสืบสาน  แต่ก็ดูท่านยังกระฉับกระเฉง  แข็งแรง สง่างาม ไม่ทิ้งแววแห่งความเป็นครูพลศึกษาที่ผมเห็นมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก 
         ทันทีที่ผมเข้าไปกราบท่าน  ท่านจ้องมองหน้าผมครู่หนึ่ง  แล้วยิ้มออกมาอย่างดีใจ  เรียกชื่อผมออกมาอย่างไม่ผิดเพี้ยน พร้อมทั้งบอกตำบลบ้านเกิด  ถามถึงพี่ชายที่เคยเป็นศิษย์ท่าน(ไม่เคยไปหาท่านเหมือนกัน)  ไม่มีคำตำหนิจากปากท่านแม้แต่น้อย ที่ไม่เคยมาหาครู  และไม่มีคำกระแนะกระแหนอย่างที่ผมเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะได้ยิน  “พอครูมีชื่อเสียงโด่งดังแล้วจึงมาหาใช่ไหม?”
           ครูก็คือครู ที่รักและห่วงใยลูกศิษย์ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์  โดยไม่หวังสิ่งใดใดตอบแทน  ผมไม่มีกระเช้าสวยๆมากราบคุณครู  มีเพียงผักคะน้า  ผักกวางตุ้ง  ผักกาด  และคื่นช่าย ที่ปลูกกับมือมาฝากท่านถุงหนึ่ง  ซึ่งดูท่านจะดีใจที่ได้พบผมมากกว่า
         
      
ท่านถามสารทุกข์สุกดิบของผมกับครอบครัวอย่างอาทร  ถามถึงความสำร็จในหน้าที่การงาน ผมก็เล่าให้ท่านฟังตามความเป็นจริง ซึ่งผมก็ไม่รู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จหรือมีความสูงส่งใดใด   แต่ดูท่านดีใจและภูมิใจในตัวศิษย์เหลือเกิน  ถึงกับหลุดปากออกมาว่า
          “ได้สายสะพายถึงสายที่สาม ก็ระดับนายพลนะสิ  ครูไม่นึกว่าไอ้เด็กบ้านนอก  ตัวผอมกะหร่องของครู  มันจะมาถึงวันนี้ได้...”
         นึกย้อนอดีตตอนผมเป็นนักเรียนโรงเรียนสระบุรี (ปัจจุบันชื่อโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม) หรือสมัยนั้นเรียกว่าโรงเรียนชาย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด มีอาคารยาวหลังเดียว  แบ่งเป็นโรงเรียนสหายหญิงอีกซีกหนึ่ง   ทั้งโรงเรียนมีครูพลศึกษาเพียงคนเดียว  คือ คุณครูทรงชัย ท่านต้องสอนนักเรียนทุกคน (ประมาณ 500 คน)  ตั้งแต่ชั้น ม.ศ. 1 – ม.ศ.5    ตอนนั้นเรารู้แต่ว่าบ้านท่านอยู่แถวตำบลต้นตาล  อำเภอเสาไห้   ภาพที่เราเห็นจนชินตาทุกเช้า จะเห็นท่านขี่ม้าเลาะชายทุ่งมาผูกไว้ริมสนามฟุตบอล  ภาพของท่าน ทั้งใบหน้า ท่าทางและการยิ้ม ช่างสง่างาม เหมือนกับพระเอกหนังไทยที่โด่งดังสมัยนั้นคือ สมบติ  เมทะนี ไม่ผิดเพี้ยน
           ผมนึกถึงตนเองตอนเป็นเด็ก ที่รูปร่างผอมกะหร่องจนครูคนอื่นตั้งฉายาให้ว่า “สตีฟลีบ” คงล้อเลียน “สตีฟลีฟ” ดารานักกล้ามที่โด่งดังสมัยนั้น  เวลาเรียนวิชาพลศึกษา ที่ต้องออกกำลังกายบนบาร์คู่  ตอนขึ้นข้อหัวบาร์ และวิดบาร์ เด็กคนอื่นๆที่รูปร่างเขาสมส่วน เขาก็ทำได้อย่างทะมัดทะแมง  แต่พอถึงคิวผมครั้งใด เพื่อนๆก็จะส่งเสียงเชียร์ ด้วยความขบขัน”
        “ สตีฟลีบสู้เขา...”
        แต่คุณครูทรงชัย ท่านไม่เคยแสดงความขบขันหรือเห็นความบกพร่องในรูปร่างของผมเลย ท่านจะปรามเพื่อนๆไม่ให้ล้อเลียนด้วยคำพูด  สอนไม่ให้ดูถูกคนอื่น ให้เคารพในความเป็นมนุษย์   การสอนของท่านจะดูพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคนแล้วอธิบาย สาธิตให้ดู  ฝึกทักษะย่อยๆ อย่างช้าๆ ดูพัฒนาการอย่างเป็นขั้นตอน ท่านให้กำลังใจผมระหว่างฝึกตลอดเวลา ทำให้ผมไม่รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยและตั้งใจฝึกตามที่ครูสอน  แม้ผลที่ออกมาจะไม่สามารถเทียบเคียงกับคนอื่นที่เก่งๆได้  แต่ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นในระดับหนึ่ง  จนสามารถผ่านหลักสูตรได้สำเร็จ และไม่เคยสอบตกในวิชาของท่านเลย
        เมื่อผมมาเป็นศึกษานิเทศก์ ใหม่ๆ  เวลานิเทศการสอนของครู  ก็นึกถึงตัวอย่างการสอนและการวัดผลประเมินผลของคุณครูทรงชัยเป็นต้นแบบว่า   การสอนวิชาทักษะ  ต้องเริ่มต้นจากการดูพื้นฐานนักเรียน  สาธิตทักษะรวม แล้วสาธิตทักษะย่อยอย่างช้าๆประกอบคำอธิบายที่กระจ่างชัด  สังเกตความเข้าใจของผู้เรียน  แล้วให้ลองฝึกทักษะย่อยๆอย่างเป็นขั้นตอน  คอยสังเกตดู ถ้าทำไม่ถูกต้อง  ก็สอนแนะ แก้ไข  ให้กำลังใจ  อดทนฝึกสอนจนเขาปฏิบัติได้  และให้ฝึกซ้ำๆจนติดเป็นทักษะที่ถาวร
         การวัดและการประเมินผล  แม้จะกำหนดเกณฑ์กลางๆเอาไว้  เช่น ถ้ากระโดดสูงต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า   1 เมตร แต่เวลาปฏิบัติจริงก็ต้องยืดหยุ่นตามสภาพพื้นฐานของผู้เรียนแต่ละคนด้วย  เช่นถ้าเด็กอ้วนไปก็จะลดเกณฑ์ลงมาเหลือ 80 เซนติเมตร เป็นต้น
        คุณครูทรงชัยได้เล่าเบื้องหลังที่ มาตั้งศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวน  ว่า 
      
ที่ตรงนี้เดิมเป็นที่นาตระกูลของครู  ครูมีความสำนึกว่าตนเป็นชาวไท – ยวน พอได้ศึกษาประวัติศาสตร์ไท-ยวนอย่างจริงจัง  ก็เกิดความสำนึกที่อยากจะอนุรักษ์วัฒนธรรมไท-ยวนให้ปรากฎ  โดยจะใช้ความเป็นครูที่มีอยู่ในจิตวิญญาน มุ่งเผยแพร่ อบรมสั่งสอน ปลุกจิตสำนึกของเยาวชนชาวไท-ยวน ให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมไท-ยวนให้เป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืน   จึงเริ่มสร้างบ้านทรงไทยหลังแรกในที่ดินผืนนี้ด้วยเงินเดือนครู ตั้งแต่ยังไม่มีถนนหนทาง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำป่าสัก และขุดคลองหลังบ้านขึ้นเอง  ครูได้เริ่มสะสมของเก่า หามาเก็บรักษาเพิ่มขึ้น  ต่อมาได้ซื้อเรือนไทยหลังที่ 2 จากเจ้าของเดิมที่นิยมสร้างตึกแทนเรือนไม้ ในราคา 6,000 บาท หลังจากนั้นก็ได้ซื้อเรือนเก่าและต่อเติมสะสมขึ้นมาเรื่อยๆดังที่เห็นในปัจจุบัน หลังจากจบชีวิตราชการครู  ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมชาวไท-ยวน จึงทำหน้าที่เป็นครูต่อไปอีก  คงต้องเป็นครูจนตลอดชีวิตนั่นแหละ
        
     
คุณครูทรงชัยในวันนี้ ก็ยังทำหน้าที่เป็นครูสอนผมอยู่เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากสอนวิชาพลศึกษามาเป็นสอนประวัติศาสตร์ ท่านเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชาวไท-ยวนที่เสาไห้ ให้ฟังว่า     
      
“จากอดีตครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ 2347 ได้มีบัญชาให้เจ้าพระยายมราชยกทัพหลวงไปร่วมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ เชียงใหม่ น่าน ลำปาง และเวียงจันทน์ จัดทัพเป็น 5 ทัพ ยกไปตีเมืองเชียงแสน หลังจากล้อมเมืองอยู่ได้ 1-2 เดือน จึงตีเชียงแสนสำเร็จ ได้ทำการเผาทำลายป้อมปราการ กำแพงเมือง และกวาดต้อนผู้คนชาวเชียงแสนได้ประมาณ 23,000 คนเศษ ชาวเชียงแสนส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าไปอยู่ในเชียงใหม่ น่าน ลำปาง เวียงจันทน์ อีกส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าอยู่ในสระบุรี และราชบุรี เรียกตัวเองว่า ไท - ยวน
       
 ชาวไท - ยวน ในสระบุรี แรกเริ่มอาศัยอยู่ตามสองฝั่งของแม่น้ำป่าสัก ทั้งซ้ายและขวา เหนือจรดใต้ ใช้ชีวิต โดยผู้หญิงทำนา เลี้ยงลูก และทอผ้า ส่วนผู้ชายก็มีอาชีพทำนา หาฟืน เลี้ยงสัตว์ และจักสาน ต่อมาได้รับเอาอารยธรรมจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพัฒนาการคมนาคมจากทางน้ำเป็นทางบก และให้เมืองสระบุรีเป็นเมืองผ่าน ทำให้วิถีชีวิตของชาวไท - ยวนเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน ชาวไท - ยวนในสระบุรี สืบเชื้อสายกันมาถึง 5 ชั่วคน นับได้ 205 ปี จำนวนชาวไท - ยวนนับได้ราว 80,000 คน กระจายอยู่ในทุกอำเภอของสระบุรี อำเภอที่มีชาวไท - ยวนอาศัยอยู่มากที่สุดคือ อำเภอเสาไห้
          ระหว่างที่
คุณครูทรงชัยพาผมและครอบครัวชมบ้านทรงไทยแต่ละหลัง และให้ความรู้อย่างครูกับศิษย์อยู่นั้น  เราได้เห็นผู้เยี่ยมชมจากต่างถิ่นทยอยเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย  อีกมุมหนึ่งจะเป็นกลุ่มเยาวชนไท-ยวนตัวน้อยๆกำลังฝึกฟ้อนรำตามวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่มีคุณครูซึ่งเป็นภรรยาของคุณครูทรงชัยทำการฝึกสอนให้   ...วิถีชีวิตที่เงียบสงบและมีความหมาย ณ ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักแห่งนี้  ช่างเป็นบรรยากาศ ที่น่าอยู่ น่าประทับใจยิ่งนัก
         
        
       
หากใครต้องการสัมผัส
บรรยากาศ ณ ที่แห่งนี้ อันเป็นสถานที่เคยถ่ายทำละครทีวีย้อนยุคมาหลายเรื่อง  เช่น พระเจ้าตากสินมหาราช  ปี่แก้วนางหงส์  สู่ฝันนิรันดร ฯลฯ (รวมทั้งเรื่องบุพเพสันนิวาสด้วย) และอยากมาร่วมสืบสานวัฒนธรรมไท-ยวน กับคุณครูทรงชัย  วรรณกุล  ก็สามารถเดินทางมาได้ตามเส้นทางถนนเลี่ยงเมืองสระบุรี-ลพบุรี เลยสี่แยกเสาไห้ ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักประมาณ 1 กิโลเมตร  แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าบ้านปากบาง ไปไม่ไกลนัก  ก็จะเห็นหมู่บ้านทรงไทยอันสงบร่มเย็น  โทรศัพท์ 036-725224, 036-391100  ท่านสามารถเยี่ยมชมหรือพักค้างคืนแบบโฮมสเตย์เป็นครอบครัวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ 
                คุณครูทรงชัยบอกว่า 
      
“ถ้าต้องการความสงบ ร่มเย็นกับความเป็นธรรมชาติ  อยากศึกษาวิถีชีวิตแบบย้อนยุคก็มาที่นี่  แต่ถ้าต้องการความสะดวกสบายแบบสมัยใหม่ก็ต้องไปที่โรงแรมหรือรีสอร์ท”
        นี่คือคุณครูทรงชัย  วรรณกุล ผู้อุทิศทั้งชีวิตให้กับการเป็นครู
..


                                *************************

 

หมายเลขบันทึก: 233600เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2018 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีค่ะ

  • ขอร่วมรำลึกถึงพระคุณ
  • และเชิดชูเกียรติคุณครูทรงชัยค่ะ
  • ขอขอบพระคุณกับเรื่องเล่าที่มีคุณค่า
  • ด้านวิถีชีวิตและความกตัญญูค่ะ

ท่านก็เป็นอาจารย์ในดวงใจผมเหมือนกัน"ท่านเคยเอาปากกาเจิมที่หัวผม 3 ทีแล้วกล่าวว่า ไอ้ศักเองดูดบุหรีหรือปล่าววะ"

บทความที่ผมเขียนนี้ ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาจารย์ของคุรุสภา ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยครับ

ผมเป็นลูกศิษย์ท่านเมื่อปี 2520 ตอนนั้นผมเรียนชั้น ม.ศ.4 ทุกวันตอนเย็นผมกับเพื่อนรวมประมาณ 8 คน จะไปเรียนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวกับ อ.ทรงชัย ที่โรงยิม ส.บ.ว. ยังระลึกถึงอาจารย์ในดวงใจผมเสมอครับ กราบท่าบอาจารย์ครับ

ได้ไปเยือนบ้านอาจารย์ทรงชัยมาแล้ว อนุรักษ์มรดกของชาวไท-ยวนไว้ ดีมาก ๆ

ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักท่าน ได้อ่านประวัติเพิ่มเติมแล้วศรัทธาท่านจริง ๆ

คิดถึงอาจารย์ทรงชัยมาก และเคยไปกราบท่านแล้ว คิดถึงตอนเรียนอยู่สระบุรีวิทยาคมมาก ๆๆๆๆ หากมีโอกาสจะไปอีกคะ

อ่านแล้ว นำตาซึม ยังจำได้ทุกภาพที่คุณเล่า

ตอนเรียน ม. ปลายที่โรงเรียนชาย เคยกลัวมากเวลาเรามาโรงเรียนสาย เพราะอาจารย์จะยืนอยู่หน้าประตูโรงเรียน คอยกุดผมพวกนักเรียนชายที่แอบไว้ผมยาว แต่อาจารย์ไม่เคยทำโทษพวกมาสาย ยกเว้นไอ้ที่สาย......ประจำซึ่งมักจะได้เห็นอาจารย์ขยับไม้เรียว

วันที่พี่ชายคนโตอายุครบ 60 ปี อาจารย์กรุณามาให้พรถึงบ้านเรา และอยู่กับพวกเราจนถึงค่ำมืด

วันนี้กำลังเร่งรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับล้านนา และไทยวน ส่งไปให้อาจารย์ใช้งานฟื้นฟูอนุรักษ์ เพราะได้ยินอาจารย์บ่นฝากน้อง ๆ มาว่า ไอ้คนเชียงใหม่มันหายไปไหน ไม่มาเลย รวบรวมหนังสือได้หรือเปล่า ตั้งใจว่า เมษานี้ หนังสือต้องถึงอาจารย์ ช่วยเป็นกำลังใจกันหน่อยนะ

ดีใจที่เราได้เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน เรียนกับคุณครูคนเดียวกัน ได้โหยหาเรื่องราวในอดีต ก็มีความสุขดีนะ

คิดถึงครับ อดีตดีๆ มีโอกาสจะกลับไปครับ

ร.ต.อ.กุญชร บุญศิริเภสัช

ดีใจที่ได้เป็นศิษย์อาจารย์ทรงชัย บ้านผมอยู่ไกลจากโรงเรียนมาก ต้องนั่งรถโดยสาร 2 แถว เข้ามาในตัวเมือง

ทำให้มาสายโดยปริยาย ถูกอาจารย์ตีหน้าเสาธง เจ็บไม่เท่าไรนัก แต่อายเพื่อนมาก นับแต่นั้นมาผมไม่เคยสายอีกเลย

เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 นอกจากนี้ด้วยความกลัวเลยทำให้เราไม่กล้าผิดระเบียบมากนัก เวลาเจออาจารย์มักจะฟู่ยวน

กันเสมอๆ ดูเป็นกันเองจนผมปอดๆ แต่ก็เคารพอาจารย์ครับ เพราะ เป็นลูกเหลืองฟ้าน่ะเอง

จะหาโอกาสไปเยือนครับ

จะหาโอกาสไปเยือนครับ

ปีใหม่ปีนี้ผมได้พาครอบครัวไปกราบขอพรคุณครูทรงชัยมาแล้ว คุณครูให้ข้อคิดที่ดีมากๆครับ

เป็นศิษย์เหลืองฟ้าเหมือนกันค่ะ รุ่น103 ไม่ทันรุ่นของอาจารย์ทรงชัย

แต่มีโอกาสได้เจอท่านบ่อยๆ

ขออนุญาต นำ Link ไปแบ่งปันให้เพื่อนๆพี่ๆได้อ่านกันนะคะ

ยินดีครับ ช่วยกันแสดงความเคารพรักคุณครูด้วยกัน

เหลืองฟ้านั้นเป็นสัญลักษณ์ว่า เคยผ่านการศึกษาสระบุรีวิทยาคม

ผมเป็นคนยวนเขาดินเหนือ จบการศึกษาจาก สบว ปี ๒๕๒๘ ครับ

สมัยผมเรียก สบ.1 หรือโรงเรียนสระบุรี แต่เรามักเรียกกันว่าโรงเรียนชาย เพราะมีโรงเรียนหญิง(สหายหญิง) อยู่อาคารเดียวกันแต่กั้นกันคนละซีก เวลาเราจะเดินเข้าโรงเรียนต้องผ่านโรงเรียนหญิงก่อน สมัยคุณสราวุธ เป็น สบว.ได้รวมโรงเรียนชายหญิงเข้าด้วยกันแล้ว

ศิษย์เก่า สบว.เหมือนกันครับ รหัส 9531 ส่วนพี่ชายผม รหัส 8888 นักเรียน รุ่นผมเรียก ป๋าทรง ทุกคน บุคลิกท่าน ตัดผมเกรียนอยู่เสมอ ขี่มอเตอร์ไซค์ น่าจะ honda รุ่นเก่าๆที่สมัยนี้นิยมกันน่าจะ 75 หรือ 80 cc. นี่แหละจอดหน้าโรงเรียนคอยรับเด็กประจำ เมื่อเช้าวานเพิ่งจะดู รายการ บานไม่รู้โรย ทาง TPBS เห็นอาจารย์แล้ว นึกถึงความหลังสมัยเรียน สบว.เลยครับ

แสดงว่ายังเป็นศิษย์รุ่นหลังๆ แต่รุ่นแรกๆท่านขี่ม้ามาโรงเรียน เท่ห์มากๆ

ตอนผมเรียนอยู่ห้อง 7 รหัสประจำตัว 11501 จำได้แม่นยำครับ

ผมลืมรหัสตัวเองแล้ว แย่จัง จำได้ว่าจบ ม.ศ.3 ปี 2510

ท่านเป็นครูจริงๆ สมัยนี้หายากนัก

ขออนุญาตนำบทความไปแบ่งปันครับ

ส.บ.ว. 11209

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท