เหตุใดผลประเมิน คณิต-วิทย์ น.ร. ไทย ต่ำกว่าเคะแนนฉลี่ยนานาชาติ


 

          ผมคัดลอกสรุปข่าวในประเทศ ในมติชน สุดสัปดาห์ วันที่ ๑๒ – ๑๘ ธ.ค. ๕๑  หัวข้อ “ผลประเมิน ‘คณิต-วิทย์’ น.ร. ไทยต่ำกว่าคะแนนฉลี่ยนานาชาติ” มาดังต่อไปนี้

          “นายปรีชาญ เดชศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แถลงเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ถึงผลการวิจัยโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ร่วมกับนานาชาติ ปี ๒๕๕๐ ซึ่งดำเนินการภายใต้สมาคมการประเมินผลนานาชาติ IEA   ซึ่งได้จัดการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ในช่วงปี ๒๕๔๗ – ๒๕๕๑   ซึ่งมี ๕๙ ประเทศ ๘ รัฐเข้าร่วม    และมีการประเมินทุก ๔ ปี


          นายปรีชาญกล่าวว่า  จากการเก็บข้อมูลจากนักเรียนชั้น ม. ๒ ทั่วประเทศ จำนวน ๕,๔๑๒ คน จาก ๑๕๐ โรงเรียน พบว่า วิชาคณิตศาสตร์ไทยอยู่อันดับที่ ๒๙   โดยได้ ๔๔๑ คะแนน ถือว่าต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ ๕๐๐ คะแนน   ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด ๕ อันดับอยู่ในทวีปเอเซียทั้งสิ้น ได้แก่สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง  ส่วนมาเลเซียอยู่อันดับที่ ๒๐


          ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ ไทยอยู่อันดับที่ ๒๑ เท่ากับมาเลเซีย   โดยได้ ๔๗๑ คะแนน ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ ๕๐๐ คะแนน  ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด ๕ อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ จีนไทเป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอังกฤษ


          นายปรีชาญกล่าวว่า   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของทั้ง ๒ วิชา ของไทยนี้ ถือว่าลดลงต่ำกว่าช่วงปี ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖   โดยครั้งที่แล้ว ไทยได้วิชาคณิตศาสตร์ ๔๖๗ คะแนน   และวิชาวิทยาศาสตร์ ๔๘๒ คะแนน   สาเหตุที่ผลสัมฤทธิ์ทั้ง ๒ วิชาต่ำกว่าการ ประเมิน  เนื่องจากไทยไทยขยายฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน   ทำให้คะแนนเฉลี่ยภาพรวมของประเทศลดลง   อย่างไรก็ตาม สสวท. มีแผนจะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง ๒ วิชา ให้ไทยมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า”

          ด้วยความเคารพคนทางการศึกษา ผมขอให้การตีความสาเหตุที่ผลสัมฤทธิ์ของไทยตกต่ำกว่าเดิม   ว่าเป็นผลของ Systems Failure ของระบบการศึกษา   ที่เกิดจากความผิดพลาดในการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เป็นต้นมา    ที่เน้นการปฏิรูปโครงสร้างของระบบ และผลประโยชน์ของคนในวงการศึกษา   ไม่ได้เน้นปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก   ผลของการปฏิรูประบบทำให้ครูเอาใจใส่ศิษย์น้อยลง    ผมอยากให้มีการวิจัยเชิงระบบในเรื่องนี้   เพื่อการเรียนรู้เชิงระบบของสังคมไทย


          ท่านที่สนใจรายละเอียดของการประเมินนี้ อ่านได้ที่นี่   ผลงานวิจัยเปรียบเทียบระหว่างประเทศนี้ มีรายละเอียดมาก   ผมอยากเห็นว่ามีการศึกษารายละเอียดสำหรับเอามาใช้ปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนรู้วิชา คณิต-วิทย์ ของไทย   แต่ก็ยังยืนยันความเห็นว่า รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ระบบมากกว่าเทคนิค

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ธ.ค. ๕๑

  
         
         
         

หมายเลขบันทึก: 233469เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2009 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใช่แล้วค่ะ ปัญหาอยู่ที่ระบบ ไม่ใช่เทคนิคจริงๆ ทำอย่างไรเราจึงจะมีระบบดีๆ ที่สามารถทำให้การเรียนการสอน คณิต-วิทย์ของ "นักเรียนทั้งประเทศ" เรียนได้

และได้ผลสำฤทธิ์สูงสุด และต้องยอมรับว่าแผนใหม่ ทำให้การเรียนวิทย์-คณิต ในระบบโรงเรียนล้มเหลว และจะต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

ขอบพระคุณมากค่ะ ที่ท่านนำข่าวนี้มานำเสนออีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท