6+6 วิธีลดเสี่ยงความจำเสื่อม


...

ยุคนี้คนเรามีโอกาสอายุยืนมากขึ้น... นี่เป็นข่าวดี ทีนี้ข่าวดีย่อมมาคู่กับข่าวร้าย... ข่าวร้ายที่ว่าคือ คนที่อายุยืนมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น

วันนี้มีคำแนะนำจากท่านอาจารย์นายแพทย์ทอม เพิร์ลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุยืนอันดับต้นๆ ของโลกว่า อะไรได้ผล และอะไรไม่ได้ผล ฟันธงแบบนี้สไตล์อาจารย์เพิร์ลส์ครับ

...

ภาพจากบล็อก > [ Dr. Tom Perls ] & [ Eons Blogs]

  • อาจารย์เพิร์ลส์เป็นอาจารย์หมอผู้เชี่ยวชาญด้วย ถ่ายภาพเก่งด้วย ดูจากภาพก็รู้แล้วว่า ถ่ายภาพเก่งกว่าผู้เขียนไม่มากเลย ประมาณ 2-3 ปีแสง (แสงเดินทางวินาทีละประมาณ 300,000 กิโลเมตร) เท่านั้นเอง

...

อาจารย์หมอเพิร์ลส์กล่าวว่า วิธีลดเสี่ยง (โอกาสเป็นโรค) สมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ ฯลฯ ที่ได้ผลจากการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบได้แก่

(1). ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ

(2). มีปฏิสัมพันธ์หรือความสัมพันธ์ (interactions) กับคนอื่นๆ ในสังคม (รู้จักเลือก และเข้าร่วมกิจกรรมสังคม) โดยมีการพบปะ สังสันทน์ และร่วมกิจกรรมกับ "กลุ่ม (แก๊งค์ / ก๊วน) ขาประจำ" อย่างสม่ำเสมอ

(3). อ่านหนังสือ หรืออ่านบล็อกดีๆ ก็ได้

(4). มีงานอดิเรกที่ใช้สมอง เช่น หมากรุก เกมส์ปริศนาอักษรไขว้ (crosswords) ฯลฯ

(5). ออกกำลังสมอง เช่น เล่นดนตรี ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดทำงานบ้าง (เช่น ลองใช้มือที่ไม่ถนัดถือช้อน ใช้มือที่ถนัดถือส้อม ฯลฯ)

(6). ไม่ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกิน (ดื่มมากทำลายสมอง และเพิ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ)

...

...

ทีนี้อะไร "ได้ผลรองลงไป" คำตอบคือ

(1). แอสไพริน

  • เรื่องนี้คงต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนว่า มีข้อห้ามหรือไม่

(2). วัดความดันเลือด ตรวจโคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) และไขมันไตรกลีเซอไรด์

  • ถ้าสูงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (ไลฟ์สไตล์) โดยเฉพาะลดอาหารสำเร็จรูป (เกลือสูง) อาหารผัดๆ ทอดๆ (ไขมันสูง) อาหารหรือเครื่องดื่มเติมน้ำตาล (ทำให้ไขมันในเลือดสูงได้)
  • ลดอาหารประเภทแป้งลงประมาณ 1 ใน 3 ลดผลไม้ (ถ้ากินผลไม้มากเกิน) งดน้ำผลไม้ เพิ่มผัก-ถั่ว กินปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และอาจต้องใช้ยาต่อเนื่อง

(3). ตรวจโคเลสเตรอลชนิดดี (HDL)

  • ถ้า HDL ต่ำต้องออกแรง-ออกกำลัง ลดอาหารผัดๆ ทอดๆ และใช้น้ำมันพืชชนิดดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันมะกอก (น้ำมันมะกอกไม่เหมาะกับการทอดอาหาร ใช้ทำสลัดได้ดี) ฯลฯ
  • การเพิ่ม HDL ยังไม่มีวิธีอื่นดีไปกว่าการออกกำลัง ซึ่งวิธีที่ทำได้ง่ายๆ คือ เดินเร็ว + เดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส

(4). ไม่สูบบุหรี่ และไม่หายใจเอาควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบเข้าไป

  •  ถ้าสูบควรเลิก หรือลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

(5). ควบคุมน้ำหนัก ระวังอย่าให้น้ำหนักเกินหรืออ้วน

  • ถ้าน้ำหนักเกินไปแล้ว... ขั้นแรกให้ฟิตร่างกาย เพื่อเปลี่ยนจาก "อ้วนไม่ฟิต" เป็น "อ้วนฟิต" ก่อน หลังจากนั้นให้ควบคุมอาหารด้วย ออกกำลังด้วย เพื่อเปลี่ยนจาก "อ้วนฟิต" เป็น "อ้วนน้อยฟิต" หรือ "ผอมฟิต" ต่อไป

(6). ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด

  • ถ้าเป็นเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวาน ต้องรีบปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (ลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดขนม ลดข้าว งดน้ำผลไม้ เพิ่มผัก เพิ่มถั่ว ออกแรง-ออกกำลัง) และรักษาให้ต่อเนื่อง และอย่าลืม... เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง

...

...

อะไรที่ "ไม่ได้ผล" คือ การดู TV, แปะก๊วย (Ginko), วิตามิน E, วิตามิน C, น้ำโกกิ (Gogi juice), นมเกลเชียล (Glacial milk), กระเทียม (Garlic)

สรุปง่ายๆ คือ บรรดาอาหารเสริมทั้งหลายนั้น "ไม่ได้ผล" ที่ได้ผลดีคือ อาหารเสริมที่ชื่อ "ปลากระป๋อง" ถูกแพงไม่เกี่ยง แต่ต้องเลือกปลากระป๋องที่ไม่ผ่านการทอด เช่น ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ ฯลฯ

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ และขอส่งความปรารถนาดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านทุกท่านมา ณ ที่นี้ครับ

...

แบบทดสอบ (quiz) ลับสมองลองเชาวน์...     

  • ภาพของท่านอาจารย์หมอทอม เพิร์ลส์ > ท่านเห็นอะไรในเนื้อ "สมอง" หรือไม่
  • ถ้าไม่เห็น > ลองดูดีๆ จะพบภาพคนยกน้ำหนักอยู่ข้างใน
  • ใช่แล้วครับ... ออกกำลังทำให้ความจำดีขึ้น

...

ภาษาอังกฤษสบายๆ สไตล์เรา                     

...

ศัพท์ตอนนี้มาจากหัวข้อเรื่องคือ 'Avoid or Delay Memory Loss' แปลว่า "หลีกเลี่ยงหรือชะลอความจำเสื่อม"

  • 'avoid' > [ อะ - ว่อย - ดึ ] > ย้ำเสียงหนักตรง "ว่อย"
  • 'avoid' > verb / กริยา = หลีกเลี่ยง
  • 'avoid' > ฟังเสียงเจ้าของภาษา > คลิก "ลำโพง" หรือ "ธงชาติ" > [ Click ]

...

ตำแหน่งย้ำเสียง (accent) ในภาษาอังกฤษแสดงโดยการใช้อักษรตัวหนา + ขีดเส้นใต้ / Bold) นั้น... ส่วนใหญ่คำนามอยู่พยางค์แรก คำกริยาอยู่พยางค์สองหรือข้างหลัง ถ้าเป็นคำที่ทำให้เป็นคำนามโดยเติม '-tion' ให้ย้ำเสียงหน้า '-tion' เสียงที่เหลือให้พูดเบาลง

เสียงสุดท้ายที่ใช้อักษรตัวบาง + เอียง (Italic)... ให้พูดสั้นและเบาคล้ายเสียงกระซิบ อย่าพูดภาษาอังกฤษโดยไม่ย้ำเสียง (accent) เพราะฝรั่งฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ

...

ที่มา                                                     

  • Thank Dr. Tom Perls > Avoid or Delay Memory Loss > [ Click ] > May 2008.
  • ข้อมูลในบล็อกเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค  ท่านผู้อ่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > สงวนลิขสิทธิ์ > ยินดีให้นำไปใช้ส่งเสริมสุขภาพ หรือเผยแพร่ความรู้ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 29 ธันวาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 232407เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2008 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบคุณอาจารย์ครูสะตอดองและท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

  • ขอสวัสดีปีใหม่ 2552 / 2009 แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท