บอร์ดบริหาร/บอร์ดนโยบาย..กับ...การตัดสินใจโดยใช้สารสนเทศเป็นฐาน


เรามาสร้างวัฒนธรรมการบริโภคผลงานวิจัย(Research Consumer) ให้ความสนใจกับผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือการตัดสินใจโดยใช้สารสนเทศเป็นฐานกันอย่างจริงจังเถอะครับ “ทุกครั้งที่มีการพิจารณาในเรื่องใด ๆ ควรใช้สารสนเทศที่เพียงพอ ไม่ควรใช้ประสบการณ์ หรือหรือความคิดเห็นส่วนบุคคล เป็นหลัก”

จากประสบการณ์การทำงานในบทบาทของคณะกรรมการ(Board)ขององค์กรต่างๆ จุดอ่อนประการหนึ่งที่พบเห็นบ่อยมากในกระบวนการทำงานของคณะกรรมการ คือ คณะกรรมการมักจะตัดสินใจบนพื้นฐานของประสบการณ์หรือความเห็นส่วนบุคคล(Experience-Based) มากกว่า การตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล/สารสนเทศจากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย(Information-Based)   

ในการพัฒนางานหรือการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการองค์กร คณะกรรมการควรให้ความสำคัญกับการใช้สารสนเทศประกอบการตัดสินใจในทุกเรื่อง ซึ่งในที่นี้ ผมขอยกตัวอย่างการทำงานในบทบาทของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา  ดังตัวอย่าง การทำงานตามพันธกิจต่อไปนี้(จะพยายามชี้ให้เห็นว่า การประชุมพิจารณาในแต่ละเรื่อง จำเป็นต้องใช้สารสนเทศในลักษณะใดบ้าง)

1) ในการประชุมเพื่อพิจารณารับรองแผนปฏิบัติการของเขตพื้นที่การศึกษา  ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 3-5 ปี  หรือ แผนปฏิบัติการประจำปี   สิ่งที่คณะกรรมการควรจะได้รับทราบก่อนการตัดสินหรือให้ความเห็นชอบ/รับรองแผน  คือ  ผลการวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการจำเป็น(Needs)ของเขตพื้นที่  จุดเด่น-จุดด้อยในการทำงานที่ผ่านมา  หรือ ผลการวิเคราะห์ SWOT  ผลการศึกษา/เทียบเคียง เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการสำคัญ ๆ  เป็นต้น.....หลังจากคณะกรรมการได้รับทราบข้อมูล สารสนเทศอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะสามารถตัดสินให้ความเห็นชอบ/รับรอง/ไม่รับรอง แผนปฏิบัติการ พร้อมทั้งให้ความเห็นเพิ่มเติมตามประสบการณ์ของคณะกรรมการแต่ละบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) ในกรณีการพิจารณาจัดตั้งสถานศึกษาแห่งใหม่ หรือ การขออนุมัติให้ครอบครัวจัดการศึกษาเอง(Home School)  ในกรณีนี้ คณะกรรมการควรได้รับทราบ สภาพปัจจุบันปัญหาในเรื่องสถานที่เรียนของนักเรียนในเขต สถิตินักเรียนที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นต่าง ๆ ในระยะ 2-3 ปีต่อจากนี้ไป ซึ่งสะท้อนความจำเป็นที่จะต้องเปิดโรงเรียนใหม่ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ หรือศึกษาความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการเปิดโรงเรียนแห่งใหม่(แรงต้าน  แรงเสริมของชุมชน)  ผลการประเมินความพร้อมของครอบครัวที่จะจัดการศึกษาเอง  ผลการศึกษาจุดอ่อน-ปัญหาของครอบครัวในการจัดการศึกษาด้วยตนเอง  ผลการประเมินการจัดการศึกษาโดยครอบครัวในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา เป็นต้น...หากมีข้อมูลประกอบเช่นนี้ คณะกรรมการก็จะสามารถพิจารณา ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสเสี่ยงใด ๆ ได้เป็นอย่างดี

3) ภายใต้หน้าที่ในการกำกับ ติดตามงาน หรือควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา  ในการประชุมเพื่อรับทราบความก้าวหน้าของงานครั้งสำคัญ ๆ ควรมีการนำเสนอ ผลการติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษา ผลการประเมินความก้าวหน้าของงานตามนโยบายหรือจุดเน้นพิเศษ(Formative Evaluation) ผลการวิจัยติดตามผลโครงการต่าง ๆ  หรือผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องจากองค์กรอื่น เช่น จากงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นต้น ...คณะกรรมการควรได้รับทราบความก้าวหน้าของงานจากสารสนเทศเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะ ๆ จะช่วยในการตัดสินใจหรือการให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงทิศทางการทำงานที่คมชัด และเป็นรูปธรรมมากขึ้น

4) ในการประชุมเพื่อรับรอง หรือตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานในรอบปี สพท.ควรนำเสนอผลการประเมินโครงการ  ผลการประเมินคุณภาพงานตามตัวชี้วัดที่กำหนด(Summative Evaluation) ผลการประเมินด้านการประกันคุณภาพการศึกษา  ผลการทดสอบในระดับชาติ   หรือผลการประเมิน/ทดสอบโดยเขตพื้นที่การศึกษาเอง ให้แก้กรรมการได้รับทราบในรอบปี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเดินทางมาถูกทิศทางแล้ว   รวมทั้งสามารถตัดสินใจยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป

ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่าง ในบางลักษณะเท่านั้น  สิ่งที่เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ คือ เราควรมาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการบริโภคผลงานวิจัย(Research Consumer) หันมาให้ความสนใจกับผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือการตัดสินใจโดยใช้สารสนเทศเป็นฐานกันอย่างจริงจังเถอะครับ แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีแนวโน้มการดำเนินการในลักษณะนี้มากขึ้น แต่ผมคิดว่าเราต้องเร่งดำเนินการกันอย่างจริงจัง จนเป็นนิสัย “ทุกครั้งที่มีการพิจารณาในเรื่องใด ๆ ควรใช้สารสนเทศที่เพียงพอ ไม่ควรใช้ความรู้สึก ประสบการณ์ หรือหรือความคิดเห็นส่วนบุคคลของคณะกรรมการโดยลำพัง”...ฝ่ายจัดการประชุม ต้องถามเสมอว่า ข้อมูลที่มีอยู่ เพียงพอต่อการตัดสินใจของบอร์ด หรือยัง   อีกทั้ง  ในการประชุมบอร์ดทุกครั้ง ควรส่งเสริมให้บอร์ดได้บริโภคผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ อาจเป็นผลงานการศึกษา วิจัย โดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้เพื่อให้บอร์ด มีความรู้และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถเทียบเคียงและเลียนแบบ(Benchmarking) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้สามารถก้าวสู่ความเป็นเลิศได้

หมายเลขบันทึก: 231973เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๒ ท่าน ดร.สุพักตร์ ครับ

@ เจอคำถามในการรับเยี่ยมสำรวจคุณภาพ คือ งานที่ทำสามารถเทียบเคียงและเลียนแบบ(Benchmarking)กับองค์กรอื่นหรือไม่

@ วันนั้นตอบไปว่ามี แต่..ในทางปฏิบัติ การเข้าถึงข้อมูลของอีกองค์กรเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็น(ข้อมูล)ของจริง! เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

@ ที่ว่า "เราควรมาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการบริโภคผลงานวิจัย(Research Consumer)หันมาให้ความสนใจกับผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือการตัดสินใจโดยใช้สารสนเทศเป็นฐานกันอย่างจริงจังเถอะครับ"

@ นอกจากนั้นภายในองค์กรเองก็ต้องสร้าง "องค์กรแห่งการเรียนรู้" ด้วย ใช่ไหมครับ

@ ตามาเรียนรู้ครับอาจารย์ ด้วยความเคารพ

คุณ ไทบ้านผำ

  • สวัสดีปีใหม่ 2552 นะครับ
  • ถ้าบริษัทหนึ่งบอกเราว่า "เขาปฏิบัติการลดต้นทุนในการผลิตด้วยวิธีการ X ซึ่งในที่สุดเขาสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 30 % ทำให้ผลงานปี 2551 มีกำไรเพิ่มขึ้น 44 %" ...เราฟังแล้ว ยากมากครับที่จะรู้ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ เราได้แต่เพียงพิจารณาความสมเหตุสมผลของวิธีการที่เข้าใช้ "ถ้าเห็นว่าดูดี- ดูเป็นไปได้" ก็น่าจะทดลองเลียนแบบ แล้วค่อยตรวจสอบ ณ หน่วยงานเราว่าได้ผลจริงหรือไม่....ข้อมูลบางอย่าง เข้าถึงได้ยาก ต้องอาศัยดุลยพินิจ หรือผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ตามหลักวิชา แบบกลาง ๆ
  • จุดอ่อนปัจจุบัน ในกรณีของส่วนราชการ คือ หน่วยงานแม่ หรือหน่วยงานกลาง ไม่ค่อยจัดทำฐานข้อมูล Best Practice
  • การสร้างวัฒนธรรม ให้องค์กรเรา "เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้" น่าจะเป็นครอบคลุม หรือเหนือกว่า "วัฒนธรรมการบริโภคองค์ความรู้-บริโภคงานวิจัย"(น่าจะเป็นส่วนย่อยของ การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้)
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เข้ามาสวัสดีอาจารย์ค่ะ

เคยเชิญอาจารย์มาสอนน้องๆที่สถาบันบำราศค่ะ

ครูปู และ พ.ญ.อัจฉรา

  • สวัสดีปีใหม่ 2552 ครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยม
  • ผอ.อัจฉรา คงจะสบายดีนะครับ ยังคงต้องเข้าไปช่วยที่ สถาบันบำราศนราดูร อยู่หรือเปล่าครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท