สัญลักษณ์ว่าด้วย ควัน และ เพลิง/ไฟ ที่กวีโบราณ นิยมใช้



เพลงรอบกองไฟ (ในนรก)


ที่มาของภาพจากบันทึก ห้องเรียนกวี 2 บทเดียวโดน @  231366  โดย ครูกานท์ 


สัญลักษณ์ว่าด้วย ควัน และ เพลิง/ไฟ ที่กวีโบราณ นิยมใช้ มีดังนี้

โลกนิติคำโคลง
สำนวน สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร สมัยรัตนโกสินทร์

โคลงสี่สุภาพ :
ห้ามเพลิงไว้อย่าให้   มีควัน
ห้ามสุริยะแสงจันทร์  ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน        คืนเล่า
ห้ามดั่งนี้ไว้ได้        จึ่งห้าม
นินทา

-ห้าม กองเพลิงไม่ให้มีควันไฟ
-ห้ามดวงตะวัน ดวงจันทร์ ไม่ให้ส่องแสง
-ห้ามอายุ ไม่ให้ผ่านล่วงไป ให้หันคืนกลับมา (เป็นเด็กอีกครั้ง/ห้ามความแก่ชรา)
-ห้าม สามอย่างที่ว่ามานี้ได้ ก็ย่อม ห้ามการ นินทาว่าร้าย ได้

อนิรุทธิคำฉันท์
สำนวน ศรีปราชญ์? สมัยอยุธยา

ตอนพระอนิรุทธิ์ ถูกเทวดาประจำต้นไทร อุ้มไปวางไว้ บนเตียง พระนางอุษา ผู้เป็นพระธิดา พระยายักษ์พาลาสูร/พาณาสูร เหล่า นักสนมกำนัล รู้เรื่องว่ามีหนุ่มแปลกหน้ามาแอบปล้ำเจ้านายของตน เพราะพระยายักษ์หวงลูกสาว และจำได้ว่า  

กาพย์ยานี ๑๑ อันมีลีลาของ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ :

คดีนี้ บ่ดี                    นฤบดี บิดรปราม
ควันความ บ่ ควรความ  รึจะปิด จะป้องคง


พระยายักษ์ ปราม และสั่งห้ามว่าไม่ให้พระนางอุษา คบผู้ชาย หน้าแปลก+แปลกหน้า และไม่ต้องการให้ เกิด คดีที่ไม่ดีไม่งาม  กวีเล่นคำว่า  คดี บ่ดี  นฤบดี (เล่นคำว่า ดี) ได้อย่างไพเราะ และกวี เปรียบเทียบกับ คดีที่เกิดกับพระนางอุษา ว่า เหมือนกับ ควัน ที่ไม่สามารถที่จะปกปิดให้มิดได้ "ควันความ บ่ ควรความ  รึจะปิด จะป้องคง"  (ควัน แห่งคดีความที่ถูกจุดขึ้นจาก การกระทำความไม่ถูกไม่ควรย่อมไม่สามารถที่จะปกปิดได้มิดชิด ย่อมแพร่งพรายไหลรั่ว ให้คนได้เห็น ว่า เพราะมีไฟ จึงมีควัน ถ้าไม่อยากมีควัน ก็อย่า จุดไฟ/เล่นกับไฟ "อย่าจุดไฟใหม่ อย่าใกล้ถ่านไฟเก่า" (นั่นคืออย่าปล่อยให้ใจ คุ กรุ่นไปด้วยเพลิง ราคะ โทสะ โมหะ ธรรมะ คือ อุปกรณ์ดับเพลิงนรกในใจ) เพราะไม่มีนาย Pompier (ภาษาฝรั่งเศส อ่านว่า ปอง-ปิ-เอ แปลว่าพนักงานดับเพลิง) คนไหนจะมาช่วยดับ ไฟนรก ได้ดอก

ปล. ท่านว่า การใกล้ชิดกับ ถ่านไฟเก่า นั้น ถึงแม้นว่าจะ ไม่ทำให้เกิดความหม่นไหม้ จนถึงขั้น ชีวิตหาไม่ แต่ก็ย่อมทำให้ต้อง แปดเปื้อนเชื่อมั้ยล่ะ "อย่าจุดไฟใหม่ อย่าใกล้ ถ่านไฟเก่า" คือ คาถาป้องกันไฟไหม้+คาถาป้องกันความหมองไหม้


อิลราชคำฉันท์ 
สำนวน นายชิต บุรทัต (ชวางกูร) สมัยรัตนโกสินทร์

อินทวงศ์ฉันท์ ๑๒ :
๑. พรหมจรรย์กระเจิงล่ม            ประลุพรหมพิภพ ลบน
พ่ายพักตร์สุภณทน-                  บ่ มิไหวคระไล กระจาย
๒. กรรมร้อนบ่ห่อนกรุ่น              เพราะพิรุณประโปรยประปราย
กองเพลิงเถกิงกราย                  ติณะแห้งบ่แหนงบ่หนี

๓. ผาณิต ผิ ชิดมด                   ฤจะอด บ่อาจจะมี?
แม่เหล็กฤเหล็กดี                      อยะ ยั่ว ก็พัวก็พัน

๔. พื้นภพอำเภอภพ                  ก็ประสบเสมอสวรรค์
อยู่ชั่วนิรินดร์กัลป์                     อวสานประมาณประเมิน


๑. ผู้มีพรหมจรรย์/ประพฤติพรหมจรรย์ (อันได้แก่ นักพรต โยคี นักบวช ฯลฯ) ตบะ หรือ พรหมจรรย์ที่ประพฤติ นั้นก็ยังกระเจิดกระเจิง ล่ม/ล้มเหลว ลงได้ นักพรต โยคี นักบวช จึงมิสามารถ ประลุ/บรรลุ ใน จรรยา แห่ง พรหม (ซึ่งสถิต ณ พิภพเบื้อง บน ได้) 

เพราะพ่ายแพ้ ให้แก่ พักตร์สุภณ/พักตร์โสภณ (หญิงหน้าตาดี) ยามมองเห็นคนหน้าตาดี ก็ทนไม่ไหว ตะบะ กระจายกระเจิดกระเจิง

๒. ความร้อน/กรรมร้อน/ราคะอันร้อน บ่ สามารถที่จะเคย คุกรุ่น ก็เพราะว่ามีสายฝนโปรยปราย (มีธรรมะคอยดับ) กองเพลิงที่ลุก เถกิง/รุ่งเรืองอยู่ ค่อยๆ ย่างกราย ลุกไหม้อย่างรวดเร็ว ก็เพราะมี ติณ/กอหญ้า อันเหี่ยวแห้ง หรือตายแล้ว (เป็นเชื้อไฟ) กอหญ้าย่อมถูกไฟไหม้โดยไม่แหนงหนี (คนมีเชื้อไฟ คือกิเลสตัณหา ย่อมถูกแผดเผาอย่าง เถกิง/รุ่งเรือง โดยไม่รู้สึกแหนงหน่าย ที่จะหนี?)

๓. น้ำตาล (ผาณิต) อยู่ใกล้ชิดกับมด มด มันจะอดใจไม่กินน้ำตาลได้รึ แม่เหล็ก ที่เป็น เหล็กดี-ดีเหล็ก (เหล็กดี คงจะหมายถึง ดีเหล็ก คือเหล็กที่มีสีเหมือนสีของน้ำดี สียังงัยเหว่ สีน้ำดี คงมีสีเขียวๆ ดำๆ คำว่า ดีเหล็กเหล็กดี หากเทียบกับคำว่า  ดีเสือ ดีหมี ดีงูเห่า (โฮ่งๆ) ถือเป็นของหายาก ฉะนั้นในบริบทของคำประพันธ์คงจะหมายความว่า แม่เหล็ก นั้นเป็นของหายาก) ยามเมื่อ อยะ(เหล็ก) มายั่ว  (อยู่ใกล้ๆ)  มีหรือแม่เหล็กจะไม่ดูดเหล็ก มีหรือจะไม่ติดหนึบ มีหรือจะไม่พัวพัน พันพัว กัน ผู้หญิงสมัยนี้ก็ชอบประพฤติเยี่ยง "อยะ ยั่ว ก็พัวก็พัน"?

คำว่า อย(ะ)+อาการ = อัยการ =อาการแข็งดังเหล็ก

คำว่า
อัยการ คนโบราณท่านคงมีความมุ่งหวัง ที่จะให้ผู้ที่ทำงานด้านกฎหมาย ผู้ทำงานตัดสินชี้ขาดความเป็นความตายของคนนั้นต้องมี จิตใจที่แข็งเหมือนเหล็ก  แต่หลายท่านก็คงเคยได้ยิน สำนวนที่ คนมักพูดกันว่า

โคลงสอง :
เอาสินสกางสอดจ้าง แขงดังเหล็กเงินง้าง-
อ่อนได้โดยใจ ฯ
(ลิลิตพระลอ)


ทั้งสามบทที่กล่าวมา เปรียบเทียบว่า นักพรต โยคี นักบวช ที่มีตบะอันแก่กล้า ตบะก็ยัง แตกได้ เพราะราคะกำเริบ (แล้วอย่างเราๆ ท่านๆ ซึ่งมีตบะที่ไม่แก่กล้า ตบะก็คงจะ ป่นปี้/ปี้ป่น เลยละมั้ง) อันว่าราคะเหมือน ไฟ กิเลสตัณหา เปรียบเหมือนเชื้อไฟ (กอหญ้า) ความร้อนคือความทุกข์ คนที่ถูกแผดเผา ก็คือคนที่ สะสมเชื้อไฟไว้ใน ใจ (มีกิเลสตัณหา อันเปรียบเหมือนเชื้อไฟสุมอก) หญิง ชายเหมือน มดกับน้ำตาล เหมือนเหล็กกับแม่เหล็ก ที่ควรอยู่ให้ห่างกันเข้าไว้

พื้นภพอำเภอภพ                      ก็ประสบเสมอสวรรค์
อยู่ชั่วนิรินดร์กัลป์                     อวสานประมาณประเมิน

๔. เมื่อความรัก/ราคะ กำเนิด/กำเริบ ขึ้น บนพื้นพิภพ ที่ประสบก็เปรียบเหมือนสวรรค์ (สวรรค์บนดิน) อยู่ชั่วนิรันดร์ตราบที่ยังคงมี ความรัก/ราคะ/อาสวะกิเลส  หล่อเลี้ยงอยู่ (รู้ได้ด้วยการประมานประเมิน)

สมุทรโฆษคำฉันท์
สำนวน พระบาทสมเด็จพระนารายรณ์มหาราช สมัยอยุธยา

สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙ :
เจ็บเหนือเจ็บเพราะพิโยคยากเหลือหทยะเทียม
ไฟดงในแดเกรียม       กระอุ
ทุเหนือทุเพราะว่าแพ้แก่ทรชนริปุ
อาจมันมาเบียนลุ-      ละอาย
อายแก่เทพยแทตยทานพทั้งหลาย
ถึงแม้ชีวิตวาย           ก็สุข


วิทยาธร ผู้มีนามกร ว่า รณาภิมุข คร่ำครวญ  เรื่องราวให้พระสมุทรโฆษ ฟังว่า ถูกวิทยาธรอีกอีกตนหนึ่ง แย่งเมียไป และถูกฟัน (ในระหว่างเหาะอยู่) จึงตกลงมาในอุทยานของพระสมทุรโฆษ รณาภิมุข คร่ำครวญ ว่า

เจ็บซะยิ่งกว่าเจ็บ (เพราะถูกแย่งเมีย) ยากที่จะมีอะไรมาเท่าเทียมความเจ็บนี้ เจ็บอยู่ในใจ เหมือนไฟที่ลุกอยู่ในดง มาลุกอยู่ในใจ ทำให้ร้อนระอุ (กระอุ) จนใจไหม้เกรียม  รู้สึก ทุ (ชั่ว/ไม่ดี) หรือ ทุรนทุราย เพราะว่า แพ้แก่ ทรชน (วิทยาธร อีกตนมันเลวเพราะมาแย่งเมียของตนไป) มันเป็น ศัตรู (ริปุ/ริปู) ริปู อันว่านี้ มันองอาจมาเบียดเบียนให้ ลุ แก่ความละอาย/อัปยศ อายแก่ เทพยดา อายแก่ แทตยะ+ทานพ (ยักษ์) ทั้งหลาย ถึงแม้นว่า อยู่ก็เหมือนตาย จึงควรตายซะดี
กว่าอยู่ (คงจะมีสุขกว่า การมีชีวิตอยู่?) อนึ่ง เคยได้ยิน ดร.ล้อม เพ็งแก้ว ท่านว่า คนใต้มีสำนวนที่ว่า  เสี้ยนตอกเล็บ เห็บเข้าหู เมียมีชู้  ว่าเจ็บไม่รู้วันหาย  โถน่าสงสารจริงๆ พ่อวิทยาธร



ที่มาของภาพจากบันทึก ห้องเรียนกวี 2 บทเดียวโดน @  231366  โดย ครูกานท์ 


เพลิงไหม้ ไร่อ้อย? (คนวางเพลิงคือคนสวมเสื้อแขนยาวในภาพ)
สำนวน ด.ช. กวิน สมัย รัตนโกสินทร์

โคลงสี่ (ไม่ค่อยสุภาพ) :
อันอ้อยอัคนิเกื้อ-         กูนหวาน
ไฟลุกไล่งูคลาน-         เคลื่อนลี้
ใบอ้อยที่คมปาน-        เปรียบมีด
ไหม้มอดหมดฉะนี้       ตัดต้นสะดวกแสน

-อันว่าอ้อยนั้นมี ไฟ คอย กื้อกูล ความหวาน (การเผาอ้อย ทำให้อ้อยราคาตกเพราะจะโดนโรงงานหักค่าความหวาน)
- (การเผาไร่อ้อย ก่อนที่จะตัดก็เพื่อไล่งู) เมื่อไฟไหม้ งูเห่า งูจงอางก็จะเลื้อยหนี
-(การเผาไร่อ้อย ก่อนที่จะตัดก็เพื่อเวลาตัดอ้อยจะได้ไม่โดนใบอ้อยบาด) ใบอ้อยคมเหมือนใบมีด
-(พอใบอ้อยถูกไฟ) มอดไหม้ (จนหมดไม่เหลือ เหลือแต่ต้นอ้อย อีกทั้งไม่ต้องกังวลว่างูจะกัด) การตัดอ้อยก็ง่ายขึ้น

หมายเลขบันทึก: 231929เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2008 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • อิอิ อ่านที่หลังครับ มาทักก่อนครับ
  • มาแจกความสุขครับ
  • สวัสดีครับ พี่กวิน

-"อย่าจุดไฟใหม่ อย่าใกล้ ถ่านไฟเก่า"
ชอบมากค่ะ  เตือนใจเตือนกาย
คาถา ครองเรือน

เหมาะมากกับการบ้านการเมือง ยุคไหนๆก็เหมาะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

-เอาสินสกางสอดจ้าง แขงดังเหล็กเงินง้าง
อ่อนได้โดยใจ ฯ
(ลิลิตพระลอ)

Merry X'mas ค่ะคุณกวิน

แวะมาลงชื่อและทักทายค่ะ ^_^

สวัสดีครับคุณกวีเทวดา นามว่ากวิน

"เสี้ยนตอกเล็บ เห็บเข้าหู เมียมีชู้" และ"อย่าเป่าไฟใต้ลม" ครับ

มาอวยพรปีใหม่ค่ะ ขอให้มีความสุขมากๆนะคะ ตลอดปี 2552

สวัสดีค่ะคุณกวิน

มาอ่านแล้วก็รีบลงชื่อไว้ค่ะ  อ่านตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว แต่ง่วงจัด...

อันนี้เลย...ได้อ่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ...

 โคลงสี่สุภาพ :
ห้ามเพลิงไว้อย่าให้   มีควัน
ห้ามสุริยะแสงจันทร์  ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน        คืนเล่า
ห้ามดั่งนี้ไว้ได้        จึ่งห้าม
นินทา

(^__^)

ขอให้มีความสุข ดั่งใจปราถนาค่ะ

<object width="550" height="350"><param name="movie" value="http://www.greetvalley.com/cards/newyear/newyear4.swf"><param name='bgcolor' value="#FFFFFF"><embed src="http://www.greetvalley.com/cards/newyear/newyear4.swf" quality="high" bgcolor="#FFFFFF" width="550" height="350"></object><br><a href="http:/

สวัสดีปีใหม่ครับครูต้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท