หลักสูตรการศึกษา ฯ 51


หน่วยการเรียนรุ้

ช่วงวันที่ 16 - 21 ธันวาคม  ได้ไปอบรมวิทยากรแกนนำหลักสูตรการศึกษา ฯ 51  ซึ่งจะมีการใช้กับโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนนำร่องของแต่ละ สพท. ในปีการศึกษา 2552  และใช้ในทุกโรงเรียนในปีการศึกษา 2553  การอบรมครั้งนี้วิทยากรบอกว่าเป็นการปรับเล็ก  ไม่แตกต่างจากหลักสูตร ฯ 44  เท่าใดนัก เพียงแต่ทำให้ง่ายขึ้น เพราะกำหนดตัวชี้วัดรายปีให้  (แทนผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง) รวมทั้งกำหนดสาระการเรียนรู้แกนกลางในแต่ละชั้นปีให้ด้วย มาตรฐานการเรียนรู้ก็ลดลงจาก 76  ตัว เหลือ 67  ตัว   เป้าหมายสำคัญก็คือต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของครู  จากการสังเกตการอบรมไม่ค่อยมั่นใจว่าครูจะเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่  เพราะในการทำหน่วยการเรียนรู้ผู้ที่ไปเข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนความคิดในการติดยึดกับเนื้อหาเดิม ๆ  อีกทั้งวิทยากรพี่เลี้ยงก็ยังตอบ    คำถามไม่ตรงกันและด้วยความไม่มั่นใจอีกต่างหาก  ที่สำคัญครูผู้สอนบางคนยังไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการจัดหน่วยการเรียนรู้แบบอิงมาตรฐานและการออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบ Backward Design  การเข้ารับการอบรมที่วิทยากรมีความเข้าใจเอาเองว่า ผู้เข้ารับการอบรมมีพื้นฐานในเรื่องเดิมมาดีแล้ว  ทำให้ผู้ที่สับสนก็ยังสับสนอยู่ต่อไป  ตอนทำหน่วยการเรียนรู้เห็นทุกคนสนใจถ่ายเอกสารที่กลุ่มลงมือทำกันยกใหญ่  แต่เมื่อเอาไปติดบอร์ด วิทยากรบอกว่ายังไม่มีหน่วยไหนสมบูรณ์ แล้วตัวอย่างที่ผิด ๆ  ที่ถ่ายเอกสารกันไปดูที่โรงเรียนใครโรงเรียนมัน ก็จะกลายเป็นตัวอย่างที่ผิด ๆ  อยู่อย่างนั้น เช่นเดียวกับการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตอนอบรมผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านไป  ความจริงวิทยากรของ สพฐ. น่าจะนำหน่วยการเรียนรู้ที่เห็นว่าสมบูรณ์จากแต่ละจุดการอบรม หรือถ้าบกพร่องก็เติมเต็มให้สมบูรณ์ซะ แล้วนำขึ้นเว็บไซต์ให้ได้ศึกษากันโดยทั่วไปจะดีกว่าปล่อยให้แต่ละคนได้ตัวอย่างไปอย่างไม่เข้าใจว่าบกพร่องตรงไหน

หมายเลขบันทึก: 231636เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2008 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีคะ ศน.เอื้องใบไผ่

มาอ่านบทความการศึกษาค่ะ

Backward Design นี่หนูเคยเรียนค่ะ

แต่ยังไม่เคยได้นำมาใช้กับนักเรียนจริงๆเลยค่ะ

เดี่ยวจะลองเขียนแผนการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ

Backward Design ดูนะคะ ขอบคุณค่ะ

อยากให้ลองทำดูนะคะ แล้วจะได้เห็นว่าแตกต่างกับแผนปกติที่ไม่ผ่านการออกแบบอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ครูออกแบบการสอนอยู่ในใจค่ะ เวลาคนอื่นดูแล้ว ไม่เข้าใจว่าแผนนี้มาจากไหน และจะจบลงอย่างไร เพราะการออกแบบการเรียนรู้ ก็เหมือนกับพิมพ์เขียว หรือแปลนบ้านนั่นแหละค่ะ คนอื่นอ่านก็จะเข้าใจว่ารูปร่างของบ้านจะออกมาอย่างไร และครูผู้สอนก็จะได้ไม่ต่อเติมบ้านตามใจนึก จนเป็นบ้านที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า อาจดูสวยอย่างเดียว

สวัสดีค่ะ ท่าน ศน. คือว่าหนูอยากได้หลักสูตรการศึกษา ฯ 51 ค่ะ เนื่องจากหนูจะสอบบรรจุครูผู้ช่วยของ สพท. แล้วน่าจะออกเรื่องนี้ด้วย (เดาเอา) เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่หนูหาในเวปแล้วส่วนใหญ่มีแต่กระทู้ พอดีได้เข้ามาอ่านบันทึกของ ศน.พอดี ไม่ทราบว่าจะขอรบกวนได้ไหมคะ ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

รายละเอียดของหลักสูตร 51 สามารถดูได้จาก www.curriculum51.net ค่ะ สามารถโหลดหลักสูตรมาศึกษาได้ค่ะ ขอให้โชคดีในการสอบนะคะ

เรียนถามท่าน ศน.นะคะ

ขอความกรุณาช่วยวิเคราะห์ความสำเร็จและความล้มเหลวของการจัดการศึกษาตามหลักสูตร 2544 ค่ะ

1. การให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดหลักสูตรสถานศึกษาของตนเอง

2. การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

3. การประเมินความสำเร็จของการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการเรียนรู้

4. การเพิ่มวิทยฐานะของครูกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน

5. การใช้นวัตกรรมทางการศึกษา เทคโนโลบีและแหล่งเรียนรู้ชุมชนเพื่อจัดการเด็ก

ในทัศนะมุมมองของท่านในฐานะ ศน. ค่ะ

ขอบคุณนะคะ

โอ้โฮ เหมือนจะให้ทำข้อสอบเลยนะคะเนี่ย ความจริงแล้วถ้าจะให้วิเคราะห์คงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะต้องศึกษาบริบทต่าง ๆ และข้อมูลต่าง ๆ มากพอ แต่ถ้าจะให้แสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นศึกษานิเทศก์คนหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจะดีกว่านะคะ

1. การให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดหลักสูตรสถานศึกษาของตนเอง เป็นความคาดหวังของนักวิชาการทั้งหลายที่อยากให้สถานศึกษาได้จัดการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น โดยลืมคิดไปว่า สภาพของสังคมไทยเป็นอย่างไร และความพร้อมในการดำเนินการมีเพียงใด สิ่งที่ให้ทำจึงเป็นเพียงความฝันที่ไปยังไม่ถึงเท่านั้นเอง จากการไปนิเทศโรงเรียน หลักสูตรสถานศึกษามีความแตกต่างกันมากในด้านองสาระการเรียนรู้ที่นำมาให้นักเรียนเรียน และที่สำคัญที่สุดขาดการนำไปปฏิบัติจริง ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ มีหลักสูตรสถานศึกษาเอาไว้ให้ตรวจเท่านั้นเอง การให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรเองในขณะนี้จึงล้มเหลว พอสอบ NT โรงเรียนก็บ่นว่าบางเรื่องนักเรียนยังไม่ได้ หรือเรียนตื้นลึกไม่เท่ากัน ทำให้ผล NT ต่ำ หลักสูตรแกนกลาง 51 จึงกำหนดสาระการเรียนรู้มาให้เหมือนกันทั้งประเทศ ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าผลจะเป็นอย่างไร

2. การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เราใช้คำนี้มานานแล้วและก็ยังเข้าใจไม่ตรงกันสักที แต่จะถือว่าล้มเหลวเสียทีเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะถึงอย่างไรเราก็ยังเห็นนักเรียนบางส่วนที่ได้แสดงศักยภาพออกมาได้อย่างโดดเด่น คงจะเห็นได้จากงานแสดงผลงานทางวิชาการต่าง ๆ ปัญหาคงอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนแต่ละคนมากกว่า

3. ความสำเร็จของการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการเรียนรู้ คงต้องดูจากผลการสอบ NT และ ONET เพราะขณะนี้ต้องถือว่าการสอบ NT และ ONET เป็นการวัดผลที่ตรงตามมาตรฐาน ถ้าดูภาพรวมทั้งประเทศก็คงยังไปไม่ถึงฝั่งฝันอีกเหมือนกันค่ะ

4. การเพิ่มวิทยฐานะของครูกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน เรื่องนี้ทุกคนต้องยอมรับว่าการประเมินวิทยฐานะของครูทำให้ครูมีวิทยฐานะสูงขึ้นแต่ในขณะเดียวกันนักเรียนกลับมีผลสัมฤทธิ์ต่ำลง นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้มากขึ้น บางโรงเรียนเมื่อไปนิเทศแล้วตกใจมากที่มีนักเรียนอ่านไม่ออกหลายคน ทั้ง ๆที่ครูผู้สอนก็เป็นครูเก่าแก่ที่มีฝีมือในการสอนมาก่อน ลองแอบ ๆ ถามนักเรียนดูก็ทราบว่าครูไม่ค่อยได้สอน เพราะมัวแต่ทำผลงานทางวิชาการ เมื่อปีก่อนลูกหลานที่บ้านเคยถามว่า "ป้า ๆ เขาบังคับให้ครูทุกคนทำผลงานหรือ" ถามไปถามมาได้ความว่าครูไม่ได้สอนเลยทำแต่ผลงาน มิหนำซ้ำยังให้นักเรียนช่วยทำหลักฐานประกอบการประเมินเสียด้วย น่าแปลกใจมาก เมื่อก่อนนี้ครูผู้สอนจบแค่ ป.กศ.แต่สอนนักเรียนให้อ่านออกเขียนได้ ผู้ปกครองก็อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้ครูจบวูฒิปริญญาตรี ปริญญาโท เป็นส่วนใหญ่ ผู้ปกครองก็อ่านออกเขียนได้กันเกือบทุกคน แต่มีปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำทุกวิชา เป็นเรื่องแปลกแต่จริง

5. การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ ประเด็นนี้ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วมาก ครูส่วนใหญ่ตามไม่ทัน ถ้าครูทีมีความสามารถทางเทคโนโลยีก็สามารถสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาได้ แต่แหล่งขายก็มีอยู่ซึ่งราคาค่อนข้างแพง ครูก็ใช้นวัตกรรมทางการศึกษาแบบเก่า ๆ ที่ไม่ค่อยเร้าใจนักเรียนเท่าไร ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่าครูบางส่วนก็สามารถใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ได้ผลดี แต่ครูบางส่วนก็ไม่ใช้นวัตกรรมเลย การใช้แหล่งเรียนรู้ก็เช่นเดียวกัน ครูบางคนก็ใช้แหล่งเรียนรู้ไม่คุ้มค่าและไม่ตรงกับเป้าหมายการเรียนรู้ ประเด็นนี้โดยส่วนตัวเคยคิดมานานแล้วว่า ในการประเมินครูทำไมต้องมีประเด็นว่าครูต้องสร้างนวัตกรรมเอง ทั้ง ๆ ที่ครูก็ไม่ค่อยมีเวลาในการสร้างนวัตกรรม น่าจะมีกลุ่มคนที่สร้างนวัตกรรมต่างๆ ให้ครูได้เลือกใช้อย่างหลากหลาย คิดดูเถอะหมอเขารักษาคนไข้ยังไม่เห็นต้องผลิตยาเอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเภสัชกร ครูไทยเรารับภาระหนักมากไปหรือเปล่า

ทั้งหลายทั้งปวงที่เขียนมาเป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ คงไม่ใช่เป็นการวิเคราะห์ตามที่คุณต้องการ แต่อาจได้รับรู้มุมมองของ ศน.แก่ ๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง

ศน.เอื้องไผ่ น่ารักที่สุดเล้ย รักๆๆๆๆๆๆ

จะรบกวนใหม่นะคะ ขอบคุณที่ช่วยทำข้อสอบค่ะ

รักนะ

เรียนถามท่าน ศน.นะคะ

คือว่าทางโรงเรียนมัยได้ทำปพ.8 มานานแล้ว มีผลอารัยมัยคะ

ๆม่ทำได้ไม่คะ ใช้บัตรสุภาพแทนได้ไม่คะ

ถ้าจะทำในปีนี้ต้องเริ่มต้นทำป. ไหนบางคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท