การเขียนเรียงความ


การเขียนเรียงความ

เรียงความเป็นงานเขียนร้อยแก้วประเภทหนึ่งที่บรรยาย อธิบายเรื่อง หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ก่อนเขียนเรียงความเรื่องใด ๆ ก็ตาม ผู้เขียนควรกำหนดหัวข้อเรื่องที่จะเขียน ซึ่งอาจเป็นการกำหนดหัวข้อเอง หรือครู อาจารย์เป็นผู้กำหนดให้

หัวข้อเรื่อง
หัวข้อเรื่องของเรียงความมีหลากหลายแล้วแต่ผู้เขียนต้องการที่จะเขียน ข้อสำคัญคือเรื่องที่เขียนนั้น ผู้เขียนควรมีความรู้ ประสบการณ์ และความเข้าใจในเรื่องอย่างเพียงพอ เรื่องที่เขียนเรียงความอาจเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ อาชีพ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง แต่ที่นิยมมาก ได้แก่เรื่องที่เกี่ยวสิ่งเสพติด และโรคเอดส์
ในการตั้งชื่อเรื่อง ไม่จำเป็นต้องตั้งชื่อก่อนการเขียน อาจจะเขียนเนื้อเรื่องให้เสร็จก่อน แล้วค่อยตั้งชื่อเรื่องก็ได้

เนื้อเรื่อง
เมื่อได้หัวข้อเรื่องที่จะเขียนแล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
๑. ตัดสินใจว่าจะเขียนเรียงความเพื่อจุดประสงค์อะไร เป็นต้นว่า
๑.๑ เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน
๑.๒ เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เชื่อถือหรือคล้อยคาม
๑.๓ เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน
๑.๔ เพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านใช้ความคิดของตนให้กว้างขวางขึ้น
การกำหนดจุดประสงค์ของการเขียนเรียงความจะช่วยให้ผู้เขียนสามารถกำหนดของเขตในการเขียนเรียงความได้ เป็นต้นว่าจะเขียนเรียงความเรื่อง “ธรรมชาติในยามเช้า” เราอาจจะถามตนเองว่าธรรมชาติควรหมายถึงอะไรบ้าง และสิ่งเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร เช่น อาจคิดว่าธรรมชาติ หมายถึง อากาศ พืช สัตว์ พื้นดิน และในยามเช้าสิ่งเหล่านั้นน่ามีลักษณะอย่างไร
๒. เขียนโครงเรื่องตามที่เรากำหนดขอบเขตเอาไว้ เช่นโครงเรื่อง “ธรรมชาติในยามเช้า”
๑. ความสดชื่นของอากาศยามเช้าในฤดูต่าง
๑) ฤดูร้อน อากาศยามเช้าไม่ร้อนจัด
๒) ฤดูฝน อากาศยามเช้าหลังฝนตกสดชื่นเป็นพิเศษ
๓) ฤดูหนาว อากาศยามเช้าช่วยให้กระปรี้กระเปร่า
๒. ความสดชื่นของต้นไม้ยามเช้าเปรียบเทียบกับเวลาอื่น
๑) ยามเช้า ต้นไม้สดชื่น ไม่เหี่ยวเฉาเพราะได้น้ำค้าง
๒) ยามเที่ยง ต้นไม้อาจเหี่ยวเฉาเพราะแสงแดด
๓) ยามเย็น ต้นไม้เริ่มมีกิ่งก้านใบลู่ลง เพื่อเตรียมตัวนอน
๓. ความสดชื่นร่าเริงของสัตว์ในยามเช้า
๑) นกร้องเพลง
๒) กระรอก กระแตกระโดดโลดเต้น
๓) แมลงบินหาอาหาร
๔. อิทธิพลของธรรมชาติต่อการทำงานของมนุษย์
๑) จิตใจเบิกบาน ทำให้ร่างกายแข็งแกร่ง ทำงานอดทน และมีประสิทธิภาพ
๒) คนในชนบทได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ทำงานโดยไม่เครียด

ความลงท้าย
ความลงท้ายของเรียงความไม่ควรยาวมากนัก แต่เขียนด้วยเหตุผลว่า
๑. ช่วยย้ำความสำคัญของโครงเรื่องที่เสนอแก่ผู้อ่านไปแล้ว
๒. ช่วยให้ผู้อ่านจดจำสาระสำคัญของเรื่องได้โดยง่าย
๓. ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องแจ่มชัดขึ้น

การเขียนความลงท้าย อาจทำได้หลายวิธีดังนี้
๑. ย่อเรื่องที่ได้เขียนไปแล้วทั้งหมด
๒. ยกส่วนสำคัญที่สุดของเรื่องมากล่าวย้ำเพื่อเตือนใจหรือสะกิดใจ
๓. เลือกสุภาษิต คำคม หรือคำกล่าวที่น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกับโครงเรื่องมาเขียน
๔. ฝากข้อคิดแก่ผู้อ่านเพื่อนำไปใช้ต่อไป
๕. ทิ้งให้ประโยคเด็ด ๆ เช่น ประโยคคำถาม หรือประโยคที่แสดงความไม่แน่ใจให้ผู้อ่านนำไปคิดหรือพิจารณาต่อ โดยไม่ต้องเสนอข้อยุติของเรื่อง

ความนำ
ความนำควรเขียนเมื่อเราวางโครงเรื่องและเขียนความลงท้ายจบแล้ว ความนำไม่ควรเหมือนกับความลงท้าย ความนำควรมีลักษณะดังนี้
๑. ทำหน้าที่กระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจเนื้อเรื่องของเรียงความนั้น
๒. ปูพื้นฐานความเข้าใจให้แก่ผู้อ่าน หรือชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่องก่อนที่จะอ่านต่อไป
๓. คำหรือวลีสำคัญ ๆ ที่นำมาเขียนในความนำอาจบอกเป็นนัย ๆ ให้ผู้อ่านรู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร หรือดำเนินเรื่องไปในแนวเดียวใด

เมื่อได้กำหนดหัวข้อเรื่อง เนื้อเรื่อง ความลงท้าย ความนำเรียบร้อยแล้ว ต่อไปให้ลงมือเขียน โดยมีวิธีการดังนี้
๑. แบ่งข้อความออกเป็นย่อหน้า ประมาณ ๔ – ๕ หน้า แล้วแต่ความยาวของเรื่อง
๒. เขียนเรื่องตามที่วางไว้ให้สอดคล้องต่อเนื่องกันในทุกย่อหน้า
๓. ใช้ภาษาสุภาพ หรือภาษาราชการที่เข้าใจง่าย ไม่วกวน หรือใช้ถ้อยคำซ้ำกันโดยไม่จำเป็น ยกเว้นเมื่อต้องการเล่นคำ

http://www.namonpit.ac.th/write/w_home.htm

หมายเลขบันทึก: 231280เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2008 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท