เวทีระพีเสวนา : ๑๒ . การปฏิรูปการเรียนรู้ที่แท้จริง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช


ในวันนี้ผมได้พบว่านิทรรศการที่จัดอยู่ข้างนอกหอประชุม ได้นำเสนอการปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กและของผู้คนในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมาเป็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ และโครงสร้างการบริหารเท่านั้น เราจะช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการนี้ต่อไปอย่างไร

 

ข้อสังเกตที่พบคือ

 

การเรียนรู้ที่ทำกันอยู่ทั่วไป เป็นการจับความรู้ข้างนอกใส่เข้าไปในตัวคน แต่ที่เราได้ยินได้ฟังกันในวันนี้นั้นเน้นการเรียนรู้ที่ต่างออกไป ตรงที่เป็นการเน้นความงอกงามที่ออกมามาจากภายในตัวผู้นั้น และคนๆ นั้นต้องเรียน ถ้าสอนแล้วไม่ได้เรียน ก็คือไม่ได้เรียน

 

ในการเรียนรู้ต้องมีทั้งสองขั้ว แต่ขั้วหลังต้องใหญ่ ต้องมีวิธีที่ช่วยให้การเรียนรู้จากภายในงอกงามได้ดี เรียนแล้วเกิดปัญญา

 

ความรู้ทางแพทย์เพียง ๕ ปีครึ่ง จะงอกออกมาใหม่เท่าตัว ของเก่าที่รู้กันมาก็ผิดเยอะมาก เช่น ก่อนหน้านี้สอนกันมาว่าการดูแลคนไข้ผ่าต้ดโดยเฉพาะการผ่าตัดที่ช่องท้อง หลังผ่าตัดต้องให้นอนนิ่งๆ เพื่อให้แผลติด เดี๋ยวนี้หลังผ่าต้องให้เดิน

 

การเรียนวิชาถ้าเรียนรู้ไม่เป็นก็จะเกิดการยึดมั่นในความรู้ ที่อาจกลายเป็นการรู้ผิดๆ ได้ แต่ถ้าเรามีทักษะในการทำให้ความรู้งอกงามจากภายในได้ ก็จะสามารถนำเอาความรู้เหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้มากมาย

 

คำถามคือ จะพัฒนาทักษะในการงอกงามความรู้จากภายในได้อย่างไร

 

ครูที่ทำหน้าที่เป็นผู้บอกความรู้ เป็นภาพของครูที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี สมัยที่ผมเรียนแพทย์ยังมีอาจารย์บางท่านบอกให้จดความรู้ บางท่านยังบอกนักศึกษาด้วยว่า "ขอประทานโทษ โปรดย่อหน้า" และ "ตรงนี้ขีดเส้นใต้สองเส้น" เป็นต้น

 

คำถามคือ จะออกแบบการเรียนรู้อย่างไรให้ความรู้งอกงามจากภายใน โดยคำนึงด้วยว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

ครูคือผู้ทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ต้องเข้าใจพัฒนาการ เข้าใจกายภาพการเรียนรู้ของสมอง(BBL) แน่นอนว่าส่วนที่ยังไม่รู้ก็คงจะมากกว่าส่วนที่รู้ ถ้าครูได้นำเอาความรู้เหล่านี้มาช่วยในการออกแบบก็คงจะสนุกกับการออกแบบการเรียนรู้มาก

 

ความรู้สองแบบ โดยทั่วไปจะเน้นความรู้ที่มีความชัดเจน พิสูจน์ได้ (explicit knowledge) ความรู้ชนิดนี้มีพลังแต่ก็มีข้อจำกัด ต้องการความรู้จากการปฏิบัติ (tacit knowledge) เข้ามาเป็นตัวหลัก ในชีวิตจริงเราใช้ความรู้จากทฤษฎีเพียง ๒๐% และใช้ความรู้ปฏิบัติที่มีบริบท ๘๐%

 

เด็กจึงควรเรียนรู้จากการปฏิบัติ ใช้ฐานชีวิตจริง ด้วยการออกแบบการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับชีวิตจริง แล้วทำความรู้จากการปฏิบัติให้งอกงามขึ้นมาจากตัวเขา มีโอกาสได้เรียนรู้ สัมผัสด้วยผัสสะทุกด้าน

 

เรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการเรียนรู้ควรมีการแลกเปลี่ยนความเข้าใจ ความรู้สึกซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่เห็นได้จากการปฏิบัติของตน

 

เครื่องมือตัวหนึ่งที่ใช้แล้วได้ผลดีคือ AAR – After Action Review เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการเรียนรู้ ควรให้คนที่มีอายุน้อยได้พูดก่อน ให้ทุกคนได้บอกสิ่งที่สังเกตเห็น ในการทำ AAR นี้ต้องการความเห็นที่หลากหลาย เป็นการตีความผัสสะกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เป็นเรื่องที่ไม่มีผิด ไม่มีถูก กล้าที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อได้ทำกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้จะสร้างให้เกิดความเคารพกัน เกิดความมั่นใจในตัวเอง และเห็นความบกพร่องของตัวเอง จากการได้ยินได้ฟังคนอื่นสะท้อนในสิ่งที่เราคิดไปไม่ถึงด้วย

 

การเรียนรู้แบบงอกงามจากภายใน  คนเรามีหน่ออ่อนของธรรมชาติด้านดี และไม่ดีอยู่ภายใน

 

คำถามคือ เรียนรู้อย่างไรจึงจะไปควบคุมธรรมชาติด้านร้าย และทำให้ด้านดีงอกงาม

 

ครูคือใคร การศึกษาของเราจะไปไม่ถึงไหน ถ้าหากว่าครูคือผู้สอน ผู้จัดชั้นเรียน ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ ครูต้องเป็นผู้เรียนรู้ทักษะของการเรียนรู้โดยการงอกงามจากภายใน

 

ชีวิตครูเป็นชีวิตของการงอกงามการเรียนรู้จากภายในของตนเอง คือผู้ที่เอื้อให้เกิดความงอกงามในการเรียนรู้ของลูกศิษย์ และทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ครูคือเครือข่าย กลุ่มเรียนรู้ ทำหน้าที่สร้างการเรียนรู้จากภายในของกลุ่ม คือคนที่ร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะการสร้างการเรียนรู้ งอกงามความเป็นครูจากด้านใน เป็นการงอกงามตัวเองเพื่องอกงามคนอื่น   

 

 

หมายเลขบันทึก: 231218เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2008 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณครับ
  • ตอนนี้ 12 แล้วนะครับ  ตามมาตลอดเลยเห็นว่าเผลอครับ

ขอบพระคุณค่ะ แก้ไขเรียบร้อยแล้วนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท