งานและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับงาน : เครื่องมือชุด “ธารปัญญา”


ผู้เขียนได้ศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสำนักฯ และสนใจประเด็น การผลักดันนโยบาย ประสาน สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ ซึ่งเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การดำเนินงานของสำนักฯ 3 ข้อ คือ

 

  • ผลักดันให้เกิดนโยบาย และมาตรการในระดับประเทศที่เอื้อ/สนับสนุนการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ
  • พัฒนาศักยภาพเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ
  • พัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากร กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน

 

ผู้เขียนเคยเอ่ยถึง ตารางแห่งอิสรภาพ” หนึ่งในเครื่องมือชุด ธารปัญญา สองหรือสามครั้งในการพูดคุยทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับหลายๆ คนในสำนักฯ แต่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เป็นเพราะผู้เขียนเองก็มีความรู้เรื่องนี้ไม่มากนัก รวมทั้งรู้บริบทการดำเนินงานของสำนักฯไม่มากพอที่จะยกตัวอย่างได้ว่าควรจะประยุกต์ใช้กับงานไหนอย่างไรได้บ้าง แต่รู้สึกไปเองว่าเครื่องมือชุดนี้ถ้าศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว น่าจะมีประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสำนักฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการตอบสนองประเด็นยุทธศาสตร์ที่กล่าวถึงข้างต้น

 

ผู้เขียนคาดว่า ถ้ามีการปรับใช้เครื่องมือชุด ธารปัญญา จะทำให้สำนักฯบรรลุผลในการ 1) กำหนดและพัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ และรูปแบบการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อ 2) พัฒนาศักยภาพเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ และ 3) พัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานได้ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

เครือข่ายการดำเนินงานของสำนักฯ จะมีส่วนร่วมในการประเมินตนเองด้วย ตารางแห่งอิสรภาพ สำนักฯจะรู้ขีดความสามารถของทุกหน่วยงานในเครือข่ายได้ด้วย แผนภูมิแม่น้ำ และแต่ละหน่วยงานก็สามารถเห็นสถานภาพของตนเองด้วยว่าอยู่ตรงไหนของกลุ่ม ซึ่งถือเป็นการเทียบเคียงสมรรถนะ (benchmarking) อย่างหนึ่ง ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองต่อไปด้วย (จากหนังสือ การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ ของ ดร.ประพน์ ผาสุกยืด)

 

จากการติดตามอ่าน blog ของ อ.วิจารณ์ ผู้เขียนสังเกตว่า อาจารย์มักจะแนะนำให้หลายๆ หน่วยงานประยุกต์ใช้ ตารางแห่งอิสรภาพ เป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการดำเนินงานที่มีลักษณะของการเชื่อมโยงเครือข่าย เช่น ประเมินความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ พัฒนาเครือข่ายตำบลเข้มแข็ง เป็นต้น อาจารย์บอกด้วยว่า เมื่อใช้ตารางแห่งอิสรภาพและเครื่องมือชุดธารปัญญาทั้งชุด ไประยะหนึ่งสมาชิกจะเกิดทั้ง Systems Thinking, Personal Mastery, Mental Models, Team Learning และ Shared Vision ครบองค์ ๕ ขององค์กรเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ  ทำให้ผู้เขียนยิ่งมั่นใจว่าถ้าสำนักฯลองช่วยๆ กันศึกษาเรียนรู้เครื่องมือชุดนี้ แล้วจัดให้มีเวที ลปรร. ร่วมกันว่าจะนำเครื่องมือนี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้างในบริบทของสำนักฯ หรืออาจจะเชิญหน่วยงานที่มีประสบการณ์การใช้เครื่องมือชุดนี้มาร่วม ลปรร. ด้วยก็ยิ่งดี 

 

ผู้เขียนอาจจะยังอธิบายให้เข้าใจได้ไม่ชัดเจนนัก จึงอยากแนะนำให้ผู้สนใจลองหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือการจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ ของ อ.วิจารณ์ พานิช ซึ่งมีไว้ให้ยืมอ่านได้ที่ ห้อง KM ของสำนักฯ รวมถึงเล่ม "มือใหม่หัดขับ" ของ อ.ประพนธ์ ด้วย

ปลาทูแม่กลอง

21 ธันวาคม 2551

หมายเลขบันทึก: 231080เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2008 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท