ระบบบริการที่ปลอดภัย(มีจริงหรือเปล่า)


มันเป็นเรื่องระบบ หรือตัวบุคคล

ผมหายไปหลายวัน เพราะไปประชุมต่างประเทศมา เลยมีเรื่องมาเล่าว่าด้วยความปลอดภัยของผู้ป่วย เพราะองค์การอนามัยโลกเขาริเริ่มโครงการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วย ที่ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่มาฮือฮามากในช่วงราว 5-6 ปีที่ผ่านมา โโยเฉพาะในอเมริกา เพราะมีรายลานของสถาบันการแพทย์แห่งชาติอเมริกา (institute of Medicine -IOM) ซึ่งจัดเป็นองค์กรวิชาการที่น่าเชื่อถทอ เขาออกรายงานมาฉบับหนึ่งสรุปได้ความว่าที่โน่นปีนึงๆ มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บโดยอันเนื่องมาจากการรักษาพยาบาลรวมๆกันถึงเกือบ แสนคนมากกว่าคนที่เป็นอะไรไปจากอุบัติเหตุจราจรเสียอีก

ที่อังกฤษเองห็ใช่ย่อย เรื่องคนไข้เกิดปัญหาจากการไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเป็นเรื่องใหญ่โตเหมือนกันจนต้องมีการตั้งกลไกขึ้นมาดูแล มีแผนการทำงานอย่างจริงจัง

แต่ที่น่าสนใจคือ แม้ในทางวิชาการจะมีการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้ทางเทคนิคอย่างมากมาย ก็ยังมีการรักษษพยาบาลที่นำไปสู่ผลแทรกซ้อน หรืออาการอันไม่พึงประสงค์อยู่เรื่อยๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยมาเล่าให้ฟังว่าในวงการป้องกันความผิดพลาด ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องทางการแพทย์นั้น เขาเชื่อกันว่าปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ระบบไม่ดี จึงเกิดการผิดพลาดขึ้น แต่ตัวเขาเองคิดว่ามันแล้วแต่กรณี ที่แน่ๆคือการรักษาพยาบาลเป็นการกระทำที่เฉพาะตัวมาก ไม่เหมือนการขับเครื่องบิน ซึ่งเป็นเรื่องของคนขับกับเครื่องบิน และระบบควบคุมการบิน

เวลาจะแก้ปัญหา หรือหาทางป้องกันปัญหาจึงมักมีการถกเถียงว่ามันเป็นเรื่องของระบบ หรือว่าตัวบุคคล

ถ้าลองมาดูเรื่องความผิดพลาดทางการรักษาพยาบาลก็จะพบว่ามันน่าจะเป็นผลจากทั้งสองส่วน แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นเรื่องตัวบุคคลอยู่มากเพราะปัญหาเวลาเกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะการกระทำของบุคคลากรสาธารณสุขอย่างไม่ต้องสงสัย  ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาแล้วเกิดผลแทรกซ้อน หรือการทำให้เกิดแผลติดเชื้อ เพราะไม่ได้ล้างมือให้ดี

แต่ดูเหมือนว่าปัจจัยเชิงระบบก็ตัดทิ้งไม่ได้ เช่นการผิดพลากเิกิดขึ้นเพราะเป็นช่วงเวลาที่มีเจ้าหน้าที่ขึ้นทำงานน้อยกว่าปกติ หรือเป็นเวลายามวิกาล หรือคนไข้แน่น หรืองานมากจนไม่มีเวลาดูให้ถี่ถ้วน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเปิดโอกาสให้เกิดความผิดพลาดได่มากกว่าปกติ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงมักจะฝันอยากมีเวลาให้กับคนไข้มากๆ จะได้ฟัง หรือคุย และคิด ไม่ต้องรีบร้อนจนเกินไป

แต่ก็มีเหมือนกันที่แม้จะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์อย่างที่กล่าวมา แต่ก็เกิดความผิดพลาดขึ้นมาได้ เพราะเจ้าตัวไม่ระมัดระวังเท่าที่ควร หรือไม่รู้มากพอเพราะขาดการติดตามความรู้ใหม่ๆ หรือเพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่มีมาแต่เดิม

บ้านเรายังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังว่ากรณีที่เกิดความผิดพลาดนั้นส่วนใหญ่มาจากอะไรกันแน่

ถ้ามีการศึกษาวิจัยอาจจะช่วยให้เห็นถึงสาเหตุ และหาทางป้องกันได้ตรงจุดมากขึ้น

อย่างที่อังกฤษ มีการศึกษาว่าการผ่าตัดถุงนำ้ดีในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มักเกิดปัญหาแทรกซ้อนมากกว่าช่วงอื่น (เป็นข้อมูลทั่วไปที่ยังไม่มีการเจาะลึกว่าเพราะอะไร) แค่นี้ก็เพียงพอที่จะกระตุ้นให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดในช่วงเวลาดังกล่าว ใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ต้องไปเพิ่มสถืตืความผิดพลาดในช่วงดังกล่าวได้

ปัญหาคือเรามีข้อมูลพวกนี้มากน้อยแค่หนเพียงไร และเมื่อมีข้อมูลแล้ว เราจะบอกกันยังไง แล้วถ้าบอกแล้วหมอ หรือคนที่เกี่ยวข้องจะเชื่อ หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้อย่างไร จะระมัดระวังมากขึ้น หรือเฉยๆ เพราะมั่นใจว่าตัวเองฝีมือดีอยู่แล้ว

ที่ยากที่สุดอยู่ที่จะหาข้อมูลได้ยังไง และถ้ารู้แล้วจะบอกกันยังไง เพราะเรื่องความผิดพลาดนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีใครเขามานั่งบอกกัน และที่ไม่อยากบอกก็เพราะกลัวจะถูกฟ้องร้อง

เรื่องเลยกลายเป็นวนในอ่าง ไม่รู้จะหาทางออกยังไง

ที่อเมริกาถึงกับออกกฏหมาย ตั้งหน่วยงานขึ้นมารับรายงานความผิดพลาด และประกาศห้ามใครมาเอาข้อมูลที่ได้รับรายงานไปเป็นหลักฐานในการฟ้องร้อง เพราะเขาเชื่อว่าจะช่วยให้มีการรายงานความผิดพลาดมากขึ้น ทำให้สามารถสอบสวนหาข้อมูล และความรู้ใหม่ๆมาช่วยกันหาทางป้องกันได้ดีขึ้น

ถ้าเมืองไทยคิดจะมีกฏหมายแบบนี้ ไม่รู้ว่าหมอไทย และคนไข้ รวมมทั้งชาวบ้านทั่วไปจะคิดยังไงกัน 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23106เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2006 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท