เครือข่าย R2R : Node สุพรรณบุรี


ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีปัญหา แต่ก็มีบางคนที่มองว่าปัญหาเหล่านี้คือความท้าทายและสนุกที่จะได้ค้นหาทางออก งานประจำของพวกเขาจึงไม่น่าเบื่อและการค้นหาเหล่านี้ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย

เมื่อวันที่ 19 ธค.51 ได้มีโอกาสไปร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการอบรม R to R ที่จัดโดย รพ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ผู้ที่ทำหน้าที่จัดการให้เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้คือ คุณอุบลวรรณา เรือนทองดี พยาบาลวิชาชีพ ผู้คิดนวตกรรมกางเกงวิเศษที่ได้รับรางวัลจากการประชุมลปรร.ที่จัดโดย สวรส.และภาคี R2R ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 2-3 กค.51  ซึ่งคุณโย (อุบลวรรณา) ได้เชิญหัวหน้าพยาบาล และผู้แทนจากโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรีอีก 6 แห่ง ได้แก่ รพ.เดิมบางนางบวช รพ.อู่ทอง รพ.ดอนเจดีย์ รพ.ด่านช้าง รพ.สามชุก รพ.หนองหญ้าไซ มาร่วมการอบรม R to R นี้ด้วย บรรยากาศการประชุมประกอบด้วยการบรรยายเรื่องการทำงานประจำใหเป็นงานวิจัย รวมถึงการวิพากษ์ผลการวิจัยของหน่วยงานในรพ.บางปลาม้า ซึ่งผู้วิพากษ์ก็คือเพื่อนร่วมงานในรพ.บางปลาม้า และหัวหน้าพยาบาลและผู้แทนที่มาจากรพ.ทั้ง 6 แห่งรวมถึงวิทยากรด้วย บรรยากาศเป็นกันเองและวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ เน้นการแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีหลายเรื่องที่ รพ.อื่นๆ สามารถนำไปเป็นตัวอย่างได้ เช่น เรื่องการพัฒนาแนวทางการติดตามยาที่ต้องระวังเป็นพิเศษ  เรื่องแนวทางการดำเนินงานในการดูแลผู้ป่วยตกเลือดหลังคลอด  เรื่องการลดค่าใช้จ่ายสารควบคุมคุณภาพการตรวจ electrolyte  ส่วนเรื่องกางเกงวิเศษ ติดตามอ่านได้จากการถอดบทเรียนของคุณอุบลวรรณา และ ผศ.จุลจราพร (จุล) ด้านล่างนี้นะคะ หรือถ้าท่านใดอยากเห็นกางเกงวิเศษ ติดตามชมได้ในรายการ Design for life ตอนกางเกงวิเศษ ซึ่งได้ออกอากาศทางช่อง Thai PBS วันที่ 12 ธค. 51 แต่ชมรายการย้อนหลังได้บนเว็บไซต์ สวรส. http://www.hsri.or.th

จรวยพร ศรีศศลักษณ์

21 ธค. 51

 

กางเกงวิเศษ

โดย โยกะจุล

 

                               อากาศร้อนจังเลยเช้านี้ ไม่อยากออกไปเลย อยากนั่งสบาย ๆ ในห้องเย็น ๆ เหมือนคนอื่นบ้าง  เฮ้อ! (ถอนใจกับตัวเอง)  นี่หรือหัวหน้าฝ่ายส่งเสริม  ทำไมถึงต้องเป็นเรา!”  ความคิดคำนึงข้างต้นนี้ เกิดบ่อยมาก  เมื่อต้องออกติดตามค้นหากลุ่มเป้าหมาย “Pap smear” งานแสนหิน  มหาโหดของฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ  ช่วงบ่าย ๆ ของเมื่อวานนี้  ติ๋วเดินเข้ามาแล้วพูดว่า พี่โย ของเราไม่ค่อยมาเลยนะ  พอตกเย็นเลิกงานแล้ว ผอ.โทรฯ มาอีก   พี่โย  Pap ของเราได้เท่าไหร่แล้ว   สาธารณสุขอำเภอโทรหา พี่ลองคุยดู  จากนั้นก็ได้ยินเสียงโย หนูไม่อายเหรอ  อนามัยเขาได้ 60 แล้วนะ โรงพยาบาลได้ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เองจึงตอบไปว่าไม่อายค่ะ  ทำเต็มที่แล้วแต่เสียงทางโน้นก็แย้งว่าไม่หรอก โยลองไปตามที่บ้านสิ หรือจะให้พี่ช่วยอะไรไหม สิ้นเดือนนี้ท่านจะเอาให้ได้ 60 โยต้องออกไปทำที่บ้านเลยเหมือนพวกอนามัยน่ะ  ฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า พี่ลองมาทำดูบ้างไหมหล่ะ!                             

ใครคิดว่าการทำ Pap smear ในกลุ่มสตรีเป้าหมายเป็นเรื่องง่าย  ก็ลองเปลี่ยนความคิดดูบ้างก็

ได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ต้องรับผิดชอบการทำ Pap Smear ในกลุ่มสตรีเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มา 4 ปี พบว่า ในแต่ละปี กลุ่มเป้าหมายจะไม่ค่อยยินยอมสมัครใจให้ตรวจมีอยู่ประมาณ 1-2 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เดินมาให้ตรวจโดยสมัครใจ  นอกนั้น ยากส์...  ถึงยากที่สุด  ไม่ว่าจะใช้เล่ห์ เพทุบาย (กลวิธี)  อย่างไรก็ไม่ค่อยจะยินยอมเริ่มตั้งแต่ทำจดหมายเชิญ ให้ญาติพี่น้อง คนรู้จัก เพื่อนบ้าน ผู้มีพระคุณ ผู้มีอำนาจ บารมีไปตาม ไปบอก ก็ไม่มา เจ้าหน้าที่เข้าไปประชาสัมพันธ์ ชี้แจง เชิญชวน ในหมู่บ้าน ก็ไม่มา โทรฯ ตามก็ไม่มาให้ค่าตอบแทน  อสม.ไปตาม ไปเชิญ ก็ไม่ค่อยมา มาทำแล้วมีของที่ระลึกมอบให้ หลังจากทำ Pap Smear เสร็จ ก็ยังไม่ค่อยมา ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ใช่มีสาเหตุว่า ไม่พอใจเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์นะ แต่มีเหตุผลที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น  ลองมาค้นหากันต่อไป

                                วันประชุมสิ้นเดือนมาอีกแล้ว รู้สึกไม่อยากเข้าห้องประชุมเลย นี่ถ้าไม่ติดว่าเป็นกรรมการบริหารโรงพยาบาลด้วยก็ไม่เข้าประชุมแล้ว  ไม่ใช่ผู้ร่วมประชุมไม่ดีนะ แต่เป็นเพราะรู้ว่าต้องโดนตามงาน Pap smear อีกแล้ว จริง ๆ ด้วย คิดไม่ทันจบก็ได้ยินเสียง ผอ.ลอยมา เข้าหูพอดีผลงาน Pap smear เราทำไมได้น้อยจัง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เอง ที่อื่นเขา 50-60 แล้ว พูดจบก็เงยหน้าสบตากันพี่โย ไม่ได้ทำเลยเหรอ หรือทำแต่ทำไม่มีผลงานขึ้นเลย สสจ.ถามผม ผมก็ตอบไม่ได้ เขาเลยบอกว่าต่อไปนี้ให้หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมเข้าประชุมประจำเดือน ที่จังหวัดทุกเดือน เขาจะได้ถามเหตุผลได้ฟังแล้วรู้สึกเครียดนิดหน่อย หันไปมองเพื่อน ๆ ที่นั่งประชุมด้วยกันก็ได้เห็นรอยยิ้มปลอบใจบ้างประปราย  นี่แหละวาสนาดีนัก ได้เป็นหัวหน้า เลยรับเละ จากนั้นก็เรียนเหตุผลให้ ผอ.ทราบ  ดังย่อหน้าที่สอง ท่านก็พยักหน้ารับ   จากนั้นก็ได้ยินเสียงแว่ว ๆ จากกรรมการท่านหนึ่ง  แจ้งว่าจะมีการจัดงานมหกรรม CQI ของโรงพยาบาล ทุกฝ่ายต้องส่งผลงานประกวด หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องอื่น ๆ

                                ปัจจุบันงานส่งเสริมสุขภาพ  เป็นงานตอบสนองนโยบายรัฐบาล  จึงต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดส่งมา เพราะฉะนั้นจะนั่งเฉย ๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องรุกออกไปทำ งาน Pap smear ก็เช่นกัน เมื่อลองทำมาหลายวิธีแล้ว ผลงานก็ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงต้องลุกออกไปให้ถึงตัวเป้าหมายที่บ้าน  ก่อนออกก็วางแผนออกปฏิบัติงานในพื้นที่เสนอให้  ผอ.อนุมัติ  และส่งแผนฯ ขอใช้รถให้พี่อ้อย  พี่อ้อยก็แสนใจดี  จัดรถให้ได้ทุกครั้ง  แม้จะเป็นเสาร์-อาทิตย์  เช้ามืด  หรือพลบค่ำ  ก็ได้ใช้รถ วันนี้อุบลวรรณา จะไปตามหมู่ 8 นะ ถ้าใครมาช่วยทำ (Pap smear) ดี ๆ นะเป็นคำกล่าวบอกสมาชิกในห้องส่งเสริม ก่อนจะออกไปตาม Case pap จากนั้นก็ขับรถที่ไม่ค่อยมีแรง (เก่ามาก ๆ) ออกไปตามทางข้างโรงพยาบาล   เลี้ยวซ้าย  เลี้ยวขวาบนถนนปูนประมาณ 1 กิโลเมตร  ต่อจากนั้นวิ่งต่อไปบนถนนลูกรัง  (มีไม่กี่สายในจังหวัดสุพรรณบุรี)  ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ฝุ่นสีแดงฟุ้งตลบ ตามท้ายรถมาเป็นเป็นควันสีแดง ๆ ลอยฟุ้งบน ขณะที่ขับรถออกมาก็คิดอย่างมีความหวัง วันนี้ต้องได้หลายคนเพราะ หมู่ 8 นี่เรารับผิดชอบ บ้านแรกที่ไปถึงนอนหลับ เรียกอยู่พักนึงก็ได้ยินเสียงลอยมา   เรียกหาพ่อเหรอ มาตามอยู่ได้ อยากดูนักเหรอ  อึ้ง!  จากนั้นก็ชี้แจงนิดหน่อยขอโทษนะ วันหลังจะมาใหม่  หลังที่สอง กล่าวทักทาย  และเชิญชวนด้วยท่าทางเป็นมิตร  ยิ้มแย้ม คำตอบคือ  โอ๊ย  ไม่ไปไหนหรอก  ฉันไม่เป็นนี่แต่ก็พยายามอธิบายเพิ่มเติม ก็ได้คำตอบเพิ่มมาเช่นกันฉันไม่ไปหรอก อายหมอ หมอไปเฮอะพูดแล้วหันหลังหนีเลย ยังไม่ละความพยายาม ลองไปอีกหลังหนึ่ง  เจอคนนั่งกันหลายคนก็เข้าไป เชิญชวนเสร็จแล้วก็ได้คำตอบไม่ไปหรอก อายหมอ  คนที่นั่งข้าง ๆ คนหนึ่งบอกว่าโอ๊ย ฉันเคยไปนะหมอ ถลกฉันถึงเอวเลย นอนรอจนแห้ง ฉันไม่ไปอีกแล้ว  ฟังแล้วรู้สึกคอแห้ง หมดแรง และกลับโรงพยาบาลมือเปล่า คิดปลอบใจตัวเองไม่เป็นไร เดี๋ยวกลับมาตามอีก วันต่อมาก็ออกติดตามอีก  บางคนสงสาร เกรงใจที่ไปตามหลายรอบ ก็ไปตรวจ (แบบเสียไม่ได้)  แต่บางคนล่องหนเอ้า! พี่จันทร์ไปไหนหล่ะ นัดว่าจะมารับวันนี้ไง มันไปนาแล้ว มันไม่ไปหรอกหมอ มันอาย เลยไปนาตั้งแต่เช้า หมอไม่ต้องรอหรอกได้แต่อึ้ง นึกสงสารตัวเองแล้วสิ ทำให้ชาวบ้านเผ่นหนีเสียแล้วเรา

                                พี่โย  เราจะส่ง CQI เรื่องอะไรดี เขาทวงมาแล้ว เออ เดี๋ยวก่อนตาม Pap ให้ได้ก่อนปี ๆ หนึ่งงานแต่ละอย่างจะทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุดดูซิ pap ไม่ถึงไหน CQI อีกแล้ว รู้สึกเหนื่อยมาก วันนี้จึงไม่ออกตาม Case ขออยู่โรงพยาบาลสักวันเถอะ  นั่งไปก็คิดทบทวนไป ถึงเหตุผลที่คนไม่มาตรวจส่วนใหญ่เขาบอกว่าอาย  ทำให้สงสัยว่าทำไมเขารู้สึกอย่างนั้น  ตอนเราเรียนก็มีการ Drape ผ้านี่นา  รู้สึกสงสัยจัง พอดีมีกลุ่มเป้าหมายที่น้องไปตามมาทำก็เลยลองตามเข้าไปดูวิธีการทำ Pap smear สักหน่อย  เมื่อเข้าไปในห้อง PV ยืนดูห่าง ๆ เห็นสตรีคนนั้นเปลี่ยนกางเกงมานุ่งผ้าถุงของโรงพยาบาล แล้วขึ้นไปนอนบนเตียงขาหยั่ง  ดึงผ้าถุงขึ้นมาถึงเอว  ทำให้เห็นร่างกายส่วนล่างทั้งหมด   จากนั้นก็แยกขาไปวางบนขาหยั่งข้างเตียง  มีโคมไฟส่องตรง Vulva  ขณะที่น้องใส่ Speculum เข้าไปสตรีคนนั้นก็หนีบขาเข้าหากัน  น้องบอกว่า อย่าเกร็ง อย่าหนีบขา  พร้อมกับข้อศอกทั้งสองข้างดันต้นขาใกล้ ๆ หัวเข่าให้แยกจากกัน ภาพที่เห็นทำให้รู้สึกบอกไม่ถูก  นี่ถ้าเป็นเราจะยอมไหมนี่  รู้สึกผิดและอายที่เห็นสตรีถูกทำแบบนี้  รู้สึกอึดอัด คับข้องใจเหลือเกินว่า เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก  สุดท้ายคิดว่า เราจะทำอย่างไรดีหนอ

                                งาน CQI  ใกล้มาแล้ว  Pap Smear ก็ยังไม่ไปไหน  พี่น้องผู้ร่วมงานก็มาบ่นเหนื่อยบ่นท้อใจเรื่อง Pap Smear ไหน ผอ.,สสจ. จะตามงาน  อึดอัดคับข้องใจไปหมด  แต่ในฐานะพยาบาลที่เป็นหัวหน้า  เราต้องรับผิดชอบ  เราต้องทำได้  พยายามหาเวลาให้ตัวเอง นั่งนึกทบทวน คิดถึงการทำงาน Pap Smear   ที่ผ่านมา  ตั้งแต่ปีแรก จนถึงปัจจุบัน  ก็พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่สตรีไม่มาตรวจเพราะความอาย  ก็เพราะเมื่อมาตรวจเขาก็ต้องเจอสภาพอย่างที่เราเห็น คือ โป๊  เกือบเปลือย เหมือนไม่ใช่คนน่ะ  ทำให้รู้สึกว่าศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของสตรี  ถูกลดทอน ถูกละเมิด จากการที่ต้องมาตรวจ  ยิ่งถ้าคนไข้เยอะก็ต้องนอนท่านั้นอยู่นาน ๆ กว่าจะหมอจะมาตรวจ ให้คนตรวจเขาจะรู้สึกหรือไม่ก็ไม่ทราบ  ลองคิดว่าถ้าเราต้องมาตรวจอย่างนี้ เราต้องการให้เขาทำอย่างไร  คำตอบคือไม่โป๊  นั่งคิดวิธีแก้ไขอยู่หลายวัน  จนวันหนึ่งขณะนั่งคุยกับจุล  อยู่ ๆ จุลก็พูดว่า พี่โย เป้าแตก  ครั้งแรกคิดว่าของตัวเอง พอก้มดูของตัวเอง  จุลก็บอกว่าไม่ใช่  แล้วชี้มือให้ดูเด็กที่นั่งถ่างขา เล่นอยู่บนพื้นดิน  ตอนนั้นยังไม่คิดอะไร แต่ต่อมาได้ไปเยี่ยมอาจารย์ชื่นชม ที่เคารพรัก  อาจารย์เพิ่งกลับจากเที่ยวประเทศจีน  อาจารย์ก็เล่าเรื่องที่ไปเที่ยวให้ฟัง มีอยู่ช่วงหนึ่งอาจารย์เล่าว่านี่โยไอ้เด็กจีนน่ะ มันนุ่งกางเกงผ่าเป้านะ  พอมันปวดฉี่ มันก็นั่งตรงนั้นเลย  ฉี่เสร็จก็ลุกมา ไม่ต้องแก้กางเกง พี่นี่เห็นแล้วขำเลยเด็ก : เป้าแตก/ผ่าเป้า  ปิ๊ง! รู้แล้ว! ไชโย! คิดออกแล้ว  เราก็ลูกจีนนี่หว่า  กลับบ้าน (โรงพยาบาล)  ไปผ่าเป้าบ้างดีกว่า

                                ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของการไม่มาตรวจ Pap Smear ไม่ใช่ไม่ว่าง ไม่ใช่เดินทางลำบาก หรืออื่น ๆ แต่เป็นเพราะความอายที่ต้องโป๊เมื่อมาตรวจ จากการคิดทบทวนคิดไปคิดมาหลาย ๆ รอบ  ก็ได้คำตอบ  คือต้องไม่โป๊  ต้องไม่นาน  เกิดเป็นสโลกแกนเปิดปุ๊ป  เห็น PI  ป้ายแป๊บ  ปิดปุ๊บ  เมื่อคิดได้ จึงให้พี่นพวรรณ  ไปหากางเกงคนไข้เก่า ๆ มา 1 ตัว ที่เป็นกางเกงเพราะจะได้มีผ้าปิดขาไว้และที่ต้องเก่าเพราะกลัวเสียของ เมื่อทำแล้วไม่ได้ผล เมื่อได้กางเกงมาก็ลองคว้านเจาะตรงเป้าเป็นวงรีเกือบกลม  แล้วลองนุ่งเอง  จากนั้นขึ้นไปนอนบนเตียง  โดยนอนหงายชันเข่า  แยกขาเล็กน้อย  แล้วให้พี่น้อง งานส่งเสริมมาช่วยดู เพื่อให้ข้อเสนอแนะ ทุกคนชะโงกหน้ามาดูตรงเป้ากางเกงที่คว้าน  แม้จะมีกางเกงที่สวมมาทำงานอยู่ข้างในก็รู้สึกอายมาก  (นี่ขนาดยังไม่ถอดหมดนะ)

·       ครั้งแรกทุกคนบอกว่า ช่องมันแคบ มันตึงเกินไป เกะกะ จะทำเปียกเลอะเทอะได้ งั้นเอาใหม่ 

·       ครั้งที่ 2 ใช้กรรไกรตัดขยายเป้ากางเกงตัวเดิมให้ยาวออกไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  จากนั้นตัวเองลองสวมใส่แล้วนอนแบบเดิม  ทุกคนที่มาดูบอกใช้ได้แล้ว

แต่เมื่อลองครั้งที่ 2 เสร็จแล้วก็ลุกลงมาจากเตียง  ขณะยืนก็นึกขึ้นได้ว่าเป้าผ่าถึงด้านหลังเลยลองหันหลังให้สมาชิกดู ปรากฏว่าเห็นกางเกงตัวในได้ จึงถอดกางเกงออก ตอนนั้นรู้สึกผิดหวังว่าไม่สำเร็จ แต่ก็คิดขึ้นมาได้ว่า เมื่อมีช่องก็ปิดช่องสิ  จึงถือกางเกงไปหา หมี  น้องรักที่อยู่ OR ว่าจะหาผ้าปิดช่องที่เห็น  แต่ไม่รู้จะติดผ้าอย่างไร ตอนแรกจะใช้ผ้าเย็บติดโดยใช้กระดุมหน้าหลัง  แล้วปลดด้านหน้าให้ผ้าห้อยลง  แต่ก็นึกได้ว่าเวลานอน มันจะเจ็บเพราะกระดุมไปกดหลัง  และผ้าก็จะเปื้อน ก็เลยเปลี่ยนไปปลดด้านหลังให้ชายผ้าห้อยลงโดยติดไว้ด้านหน้าเวลาตรวจก็ตลบชายผ้าไว้บนหน้าท้อง  หมีแนะนำว่า ให้เปลี่ยนกระดุมเป็นใช้เวลโก้ติดแทนจะได้ไม่เจ็บ  ทีนี้ไม่รู้ว่าจะทำฝันให้เป็นจริงๆได้อย่างไร คือจะหากางเกงผ่าเป้า  มีผ้าปิดอย่างที่คิดได้ จากไหน หมีก็แนะนำว่าให้น้องที่ Supply ลองตัดให้สักตัวก็ได้  ขอบใจหมีจริง ๆ

                                เมื่อกลับจากหมีก็มาคุยกับสมาชิกในห้องส่งเสริม  บอกว่าจะส่งกางเกงตัวนี้เข้าประกวด CQI ของโรงพยาบาล  ตอนนั้นแอบตื่นเต้น ใจพอง ภูมิใจอยู่คนเดียว และบอกกับสมาชิกในห้องวาจะเรียกกางเกงตัวนี้ว่ากางเกงวิเศษ  (อย่าถามว่าทำไมตั้งชื่อแบบนี้ ไม่รู้!)  สำหรับชื่อภาษาอังกฤษ จุล เรียกว่า “Wonderful  throuser”  จากนั้นก็ช่วยกันตั้งสโลแกน  เพื่อเป็นจุดขาย สโลแกนก็อย่างที่บอกไว้แล้ว  เราเพียงนำมาเสนอให้สมาชิกทราบ ซึ่งทุกคนก็เห็นดีเห็นงามด้วย เป็นอย่างดี  ก็เลยบอกพี่นพให้ติดต่อน้องที่ Supply ตัดกางเกงวิเศษนี้มา 1 ตัว  เพื่อส่งเข้าประกวด CQI  ของโรงพยาบาล ลึก ๆ แล้วตั้งใจว่าอยากได้ข้อคิดเห็นจากคนที่มาร่วมงาน  วันที่จัดมหกรรม CQI นั้น ตัวเองไม่อยู่เพราะมาประชุมที่ กรุงเทพฯ  แต่ได้บอกให้ติ๋วเตรียมตัวเป็นคนเสนอผลงาน โดยได้ซักซ้อมความเข้าใจในสาระแล้ว โดยให้เน้น  Hight light ที่สโลแกนเปิดปุ๊บ เห็น PI ป้ายแป๊บ  ปิดปุ๊บการนำเสนอก็ด้วยการนำหุ่นที่ช่างตัดเสื้อผ้าใช้มาตกแต่งด้วยการสวมกางเกงวิเศษ ใส่เสื้อยืดสีชมพูของโรงพยาบาล  นำกระดาษที่มีสโลแกนติดอยู่มาทำเป็นสายสะพาย  นำรูปหน้าดารามาทำเป็นหน้าของหุ่นดูแล้วสะดุดตาดี  วันนั้นขณะขับรถมาประชุมถึงบริเวณฟิวเจอร์ปาร์ค  รังสิต  ติ๋วก็โทรหา  บอกด้วยเสียงตื่นเต้นว่า พี่โยคะ  ของเราได้ที่ 2 ได้รางวัล 1,000 บาท ค่ะฟังแล้วตื่นเต้นมาก  บอกขอบคุณน้อง และชมเชยผลการนำเสนอของเขา และบอกให้บริหารรางวัลไปเลย  รู้สึกดีใจ  และภูมิใจ  แทนสมาชิกทุกคนของส่งเสริม  ที่พวกเขาได้มีผลงานเป็นที่ยอมรับของคนในโรงพยาบาลที่คิดว่าฝ่ายส่งเสริมไม่มีงาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                ตอนแรกที่คิดสร้างกางเกงวิเศษนี้และหลังจากส่งเข้าประกวด CQI ก็ไม่มีความมั่นใจว่าจะนำไปใช้ได้จริงหรอกแต่ จุล หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุลจราพร  สินศิริ  แห่งคณะพยาบาลบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์รังสิต  ที่เป็นทั้งน้องและเพื่อนแท้  เพื่อนร่วมรุ่น  เรียนปริญญาโทมาด้วยกัน  ศิษย์สำนักเดียวกัน (Advisor คนเดียวกัน) คอยให้คำแนะนำกำลังใจกระตุ้นเตือนให้พัฒนาต่อโดยจุลเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่  จึงได้กลับมาสอบถามติ๋ว  และสมาชิกส่งเสริมว่าได้รับ  Comment  อะไรบ้าง เขาว่าดีพี่  แต่ผ้าปิดกับกางเกงเราคนละสีให้เปลี่ยนเป็นสีเดียวกัน  โถนึกว่าจะ  Comment  เป้าแต่ไม่มี  หลังจากนั้นอีก  1  เดือน  โรงพยาบาลก็ส่งกางเกงวิเศษเข้าร่วมประกวดงานคุณภาพที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรีจัดขึ้น  งานนี้  มีบุคคลหลายสาขาเข้าร่วมงาน  เช่น  สูติแพทย์  แพทย์ทั่วไป  พยาบาลทุกฝ่ายในโรงพยาบาลทุกระดับ  งานนี้  กางเกงวิเศษไม่ได้รับรางวัลและกางเกงที่แขวนไว้บนบอร์ดมีคนเดินผ่านแล้วมองบ้างพอสมควร  ไม่ฮือฮา

                                กลับจากนำเสนอที่จังหวัด  จึงประสานให้ฝ่ายพัสดุช่วยตัดกางเกงวิเศษ  เหมือนตัวต้นแบบจำนวน  10  ตัว  แล้วนำไปไว้ที่ห้องPVวางคู่กับผ้าถุง  แล้วบอกสมาชิกส่งเสริมว่า  เมื่อไป  Pap smear ให้สตรีเลือกเองว่าจะใช้ผ้าถุงหรือกางเกง  ปรากฏว่า  9  ใน  10  เลือกกางเกงวิเศษ  1  คนที่เลือกผ้าถุงคือผู้สูงวัยที่ไม่ถนัดนุ่งกางเกง  จากนั้นจึงสั่งตัดเพิ่มอีก  10  ตัว  รวมเป็น  20  ตัว  ให้สตรีกลุ่มเป้าหมายที่มาทำ  Pap smear  สวมใส่  แล้วเริ่มเก็บความพึงพอใจต่อการใช้กางเกงวิเศษ  ไม่น่าชื่อ  1  สัปดาห์ต่อมาหลังจากตัดกางเกงเพิ่ม  น้องพยาบาลที่  OPD  ขอใช้กางเกงวิเศษ  กับคนไข้ที่มาตรวจภายใน  (PV)  และทำ   Pap smear  น้องบอกว่าหมอชอบ หนูก็ชอบ  ก็เลยลองไปคุยกับหมอที่เคยใช้กับคนไข้  หมอบอกว่า ดีมากเลยไม่โป๊หมอสงสารเขา  บางทีต้องรอหมอนานเลย  พอไปถามพยาบาล  พยาบาลก็บอกว่า ดีเราเป็นผู้หญิงก็อายนะ  นี่บางที่คนไข้ต้องรอนาน  มีผ้าปิดแบบนี้ก็ดีหมอมาเปิดแป๊บเดียวก็เสร็จ  เคยแอบเข้าไปดูหมอที่  PV  เอ่อ  !  ดูดีขึ้นเยอะเลยไม่เห็นขา  คนไข้ก็ไม่หนีบขาดูราบรื่นมาก ๆ  จุลกับอ้อช่วยกันวิเคราะห์ความพึงพอใจให้  สรุปผลการประเมินความพึงพอใจตั้งแต่เริ่มใช้  คือ  เดือนมกราคม  2550  ถึง  เดือนเมษายน  2550  รวม  100  ราย  ความพึงพอใจมากถึงร้อยละ 90 โดยเฉพาะด้านความเป็นส่วนตัวไม่เปิดเผยร่างกายพึงพอใจถึงร้อยละ 93  เชียว

                                เมื่อเริ่มนำกางเกงวิเศษมาใช้ที่  OPD  ติ๋วมักจะมาบอกเรื่อย   ว่าคนที่นุ่งกางเกงชอบมาก  และตัวติ๋วเองก็รู้สึกว่าตรวจง่ายขึ้นเพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  ไม่คอยหนีบหรือเกรงขาแล้ว  แต่ถึงแม้จะมีกางเกงวิเศษแล้ว  กลุ่มเป้าหมายก็ยังมาน้อยอยู่ดี  ก็เลยคิดว่าน่าจะเอาไปให้เขาดู  เวลาไปชวนใครมาทำ  Pap  จากนั้นก็นำพาไปให้กลุ่มเป้าหมายในชุมชนดู  แรก   เขาก็คิดว่าเราพูดเล่น  แต่พอเห็นท่าทางจริงจังพร้อมหยิบกางเกงออกมาให้ดู  และอธิบายสรรพคุณให้ฟังเขาก็สนใจเข้ามาดู  บางคนก็เอามือแหวกเป้ากางเกงดูแล้วหัวเราะทำท่าเหมือนจักจี้มือแฮะ  วันนั้นไปตามที่หมู่  8 อีก พอดีเจอคนที่เคยใช้เขาก็เลยช่วยประชาสัมพันธ์คุณภาพของกางเกงด้วย  แถมลองสวมให้ดูแล้วนั่งลงแหวกเป้าให้เพื่อน   ดู  (ช่วยเต็มที่)  คนมายื่นหน้าดูแล้วก็หัวเราะเสียงดังเชียว  ถ้าถามว่ากางเกงช่วยให้เป้าหมายเพิ่มไหม  ตอบว่า ไม่แน่ใจ  เพราะเพิ่งนำมาใช้  แต่รู้สึกว่า  เขาตัดสินใจมาทำง่ายขึ้น  ลองเทียบผลงานของเดือนพฤษภาคม  2550  กับ  เดือนพฤษภาคม 2551  ดูเหมือนผลงานเพิ่มขึ้นประมาณ  10  เปอร์เซ็นต์  ตอนนี้ไปไหน   ชาวส่งเสริมก็จะพูดกันแต่กางเกงวิเศษทำไมหรือ?  ก็ดีใจภูมิใจ  และเอาไปใช้ในการเชิญชวนมาทำ  Pap<

หมายเลขบันทึก: 230990เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2008 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรื่องยังไม่จบ อ่านต่อนะคะ

เมื่อเริ่มนำกางเกงวิเศษมาใช้ที่ OPD ติ๋วมักจะมาบอกเรื่อย ๆ ว่าคนที่นุ่งกางเกงชอบมาก และตัวติ๋วเองก็รู้สึกว่าตรวจง่ายขึ้นเพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่คอยหนีบหรือเกรงขาแล้ว แต่ถึงแม้จะมีกางเกงวิเศษแล้ว กลุ่มเป้าหมายก็ยังมาน้อยอยู่ดี ก็เลยคิดว่าน่าจะเอาไปให้เขาดู เวลาไปชวนใครมาทำ Pap จากนั้นก็นำพาไปให้กลุ่มเป้าหมายในชุมชนดู แรก ๆ เขาก็คิดว่าเราพูดเล่น แต่พอเห็นท่าทางจริงจังพร้อมหยิบกางเกงออกมาให้ดู และอธิบายสรรพคุณให้ฟังเขาก็สนใจเข้ามาดู บางคนก็เอามือแหวกเป้ากางเกงดูแล้วหัวเราะทำท่าเหมือนจักจี้มือแฮะ วันนั้นไปตามที่หมู่ 8 อีก พอดีเจอคนที่เคยใช้เขาก็เลยช่วยประชาสัมพันธ์คุณภาพของกางเกงด้วย แถมลองสวมให้ดูแล้วนั่งลงแหวกเป้าให้เพื่อน ๆ ดู (ช่วยเต็มที่) คนมายื่นหน้าดูแล้วก็หัวเราะเสียงดังเชียว ถ้าถามว่ากางเกงช่วยให้เป้าหมายเพิ่มไหม ตอบว่า “ไม่แน่ใจ” เพราะเพิ่งนำมาใช้ แต่รู้สึกว่า เขาตัดสินใจมาทำง่ายขึ้น ลองเทียบผลงานของเดือนพฤษภาคม 2550 กับ เดือนพฤษภาคม 2551 ดูเหมือนผลงานเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ไปไหน ๆ ชาวส่งเสริมก็จะพูดกันแต่กางเกงวิเศษทำไมหรือ? ก็ดีใจภูมิใจ และเอาไปใช้ในการเชิญชวนมาทำ Pap Smear นะซิ

ประมาณปลายเดือนมีนาคม 2551 ได้รับหนังสือจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ขอเชิญส่งผลงาน R2R เพื่อนำเสนอและเข้าประกวด ไม่รู้ว่าเขารู้จักเราได้อย่างไร แต่คงไม่เหมือนพวกบัตรเครดิตหรอกนะนั่งอ่านหนังสือเชิญแล้วงง ๆ เพราะกางเกงวิเศษของเราไม่เห็นเหมือนตัวอย่าง R2R ที่ส่งมาให้อ่านเลย แต่อยากส่งนะ เพราะรู้สึกว่า เอ่อ! มันท้าทายดีเหมือนกันแต่ก็ยังลังเลอยู่ แต่พออ่านถึงเกณฑ์การพิจารณาก็ตัดสินใจทันทีว่าขอเสี่ยงส่งเข้าประกวด พอดีในช่วงนั้นจุลมาชวนให้ส่งเรื่องนี้ไปนำเสนอในการประชุมนานาชาติ เรื่อง “Healthy People for a Healthy” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นการนำเสนอในรูปแบบของโปสเตอร์ เป็นครั้งแรกที่ได้นำเสนอผลงานแบบนี้ตื่นเต้นมาก สมาชิกของส่งเสริมก็ลุ้นกันตัวโก่ง เพราะการนำเสนอต้องเสนอด้วยภาษาอังกฤษ แต่โชคดีฟ้าประทานจุลกับอ้อมาให้ จุลช่วยเขียนภาษาอังกฤษส่งบทคัดย่อ , จัดทำโปสเตอร์ อ้อเตรียมพูดภาษาอังกฤษ คุณโยซ้อมท่ายืนเฝ้าโปสเตอร์ แล้วก็ยิ้มท่าเดียว ก็พูดไม่ได้น่ะ แต่ฟังได้นิดหน่อย เราได้นำเสนอในวันที่ 25 มิถุนายน 2551 ณ โรงแรมดิเอมเมอร์ลดิ์ วันนั้น เราสามคนเตรียมพร้อมเต็มที่ เดินวนเวียนอยู่แถว ๆ ห้องที่ติดโปสเตอร์ ภูมิใจมากที่กางเกง “Go Inter” คิดว่าต้องมีคนสนใจของเรามากเลย แต่อนิจจา ไม่เป็นอย่างที่คิด คนเข้ามาดูโปสเตอร์น้อยมากส่วนใหญ่จะเดินดูผ่าน ๆ รู้สึกผิดหวัง แต่ก็ยังคิดว่าดีที่ได้พากางเกงวิเศษมาเที่ยวกรุงเทพ (ปลอบใจตัวเอง) แต่ก็ยังมีโชคดีเล็ก ๆ ที่บอร์ดข้าง ๆ เป็นของ Professor จากญี่ปุ่น เห็นอาจารย์เจ้าของบอร์ดเดินมาดูบอร์ดของท่านบ่อย ๆ เหมือนกัน เห็นอาจารย์มีท่าทางผิดหวังเหมือนกัน ก็เลยให้จุลกับอ้อไปชวนอาจารย์คุย ตัวเองหรอขอแค่ถ่ายรูปด้วยก็พอแล้วเพราะกลัวการสนทนาด้วยภาษาอังกฤษมากค่ะ อาจารย์ใจดีมากให้นามบัตรเราคนละ 1 ใบ และรายงานการวิจัยฉบับเต็มอีก 2 เล่ม รู้สึกปลื้มพอประมาณเพราะอย่างไรก็ดี กางเกงวิเศษก็ได้ผ่านสายตา Professor แล้วท่านคงไม่ลืมง่าย ๆ หรอก อ๋อ ! ท่านชมด้วย “good idea”

กลับมาที่ R2R ต่อเมื่อตัดสินใจส่งก็ยังไม่ได้ส่งเพราะงานเยอะมาก อีกอย่างต้องไปอบรม ผบต. ที่พิษณุโลกด้วย เลยต้องเตรียมหลายอย่าง นึกได้เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่เป็นวันสุดท้ายที่รับผลงาน ก็เลยโทรฯ มาบอกจุล ให้ช่วยส่งผลงานให้ จุล ใจดีมาก ดำเนินการให้เรียบร้อย นี่ถ้าไม่มีจุล ก็ไม่ได้แจ้งเกิดหรอก ส่วนตัวเองเมื่อไปอบรมก็ไม่มีเวลาคิดถึงอย่างอื่นแล้ว เพราะเนื้อหาอบรมมีมาก แต่ก็ต้องดีใจบวกกับตื่นเต้นอีกครั้ง เพราะขณะไปเก็บข้อมูลที่ อ. แม่สอด จ.ตาก สวรส. ได้แจ้งทางโทรศัพท์ว่ากางเกงวิเศษผ่านการคัดเลือกรอบแรก เป็น 1 ใน 16 ผลงานที่จะต้องพิจารณาคัดเลือกต่อให้เลือก 10 ผลงาน ตอนนั้นเพิ่งกลับจากเก็บข้อมูล เหนื่อยมาก แต่พอทราบผลการพิจารณาความเหนื่อยหายไปทันที มีแต่ความตื่นเต้นเข้ามาแทนแต่ก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี เพราะ สวรส. ให้ส่งผลงานฉบับย่อประมาณ 8-10 หน้า ไปให้กรรมการพิจารณา ภายในวันเสาร์ อาทิตย์ที่จะถึง เริ่มกังวลทันทีไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงรีบโทรไปหาอาจารย์ชื่นชม เพื่อขอคำแนะนำ อาจารย์ใจดีมากเลย บอกแนวทางวิธีการเขียน Paper อย่างละเอียดฟังแล้วเห็นภาพเข้าใจทันที คุยประมาณ 20 นาที ต้องขออนุญาตจบการสนทนา เพราะต้องรีบมาจดข้อความต่าง ๆ ที่อาจารย์สอนมาเพราะกลัวลืม คนที่ 2 ที่โทรหา คือ จุล เพราะจุลผู้เดียวเท่านั้นที่จะช่วยคิด ช่วยเขียน ช่วยพิมพ์ และ Mail ให้ (ทำเองไม่เป็น) จุลเป็นคนคิดเป็น มีความเป็นวิชาการสูงมาก รู้สึกโชคดีที่รู้จักและโชคดีที่จุลมาช่วย ขอบคุณ คุณฉัตรทิพย์ แห่ง สวรส. ที่กรุณาแจ้งข่าว และดูแลเรื่อง Paper เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา

หลังจากส่ง Paper แล้วก็ไม่คิดถึงอีกเลย เพราะต้องทำกิจกรรมการอบรม ผบต. ที่ จังหวัดพิษณุโลกต่อ จนจบหลักสูตรกลับมาทำงาน ก็ยังไม่นึกถึง Paper ที่ส่งไป สวรส. แต่ว่าวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน 2551 ขณะกำลังตรวจท้องคนท้องที่รับบริการอยู่พี่นพ ก็ไปบอกว่ามีโทรศัพท์สายนอกมา ขณะเดินไปรับโทรศัพท์ก็ไม่ได้คิดอะไร เมื่อรับโทรศัพท์ประโยคแรกที่ได้ยินคือ “จาก สวรส. ค่ะ” ยินดีด้วยนะคะ คุณอุบลวรณา คุณได้รับรางวัลดีเด่น ระดับทุติยภูมิค่ะ” โอ้โฮ รู้สึกตัวเย็นวาบ ดีใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ถามกลับไปว่าจริงหรือ ก็ได้รับคำตอบว่าจริง จากนั้นเขาก็ขอข้อมูล ชื่อ-นามสกุล เพื่อนำไปจัดทำโล่รางวัล ถ้าถามว่าดีใจมากไหม มันตอบไม่ถูกนะ คือ รู้สึกใจเต้นแรง ๆ พิกล และคิดถึง ไอ๊ (แม่) มากที่สุด อยากกลับบ้านไปหาไอ๊เลย จะโทรศัพท์ไปบอกไอ๊ ก็หูไม่ดี เดี๋ยวคุยกันไม่รู้เรื่อง เลยต้องเก็บความรู้สึกนี้ไว้ก่อน หลังจากวางโทรศัพท์ก็บอกพี่ ๆ ในห้องเขาก็ฟังกันเฉย ๆ (คือยังไม่รู้ว่าจะดัง) ก็เลยเดินไปตรวจท้องต่อ พอพักเที่ยงก็โทรฯ ไปบอกอาจารย์ชื่นชม และขอบคุณที่แนะนำวิธีการนำเสนอความคิด แล้วโทรฯ ไปบอกจุล ซึ่งจุลดูเหมือนจะไม่ค่อยเชื่อ เพราะไม่เห็นมีชื่อที่ประกาศเลย (จุลกำลังดู Web ของ สวรส.อยู่พอดี) พอฟังอย่างนั้นก็รู้สึกใจเสีย และเริ่มผิดหวังเล็ก ๆ จึงลองไปเปิด Web สวรส. ดูบ้าง ไม่มีชื่อจริงๆ แต่นั่น เป็นประกาศผลของระดับปฐมภูมิ และตติยภูมินี่ ไม่ใช่ระดับทุติยภูมิซะหน่อย ค่อยใจชื้นขึ้นมา จึงโทรไปบอกจุลอีกครั้ง ซึ่งจุลก็บอกว่า เออ ใช่ วันนั้นทั้งวันรู้สึกไม่ค่อยมีความสุข เพราะกังวลกลัวผิดหวัง กลางคืนโทรฯ ไปบอกพี่สาวที่บ้านทั้งที่ยังไม่มั่นใจ พี่สาวก็หัวเราะ ดูเป็นเรื่องตลกไป เหมือนไม่เชื่อว่าน้องตัวเองจะเก่งปานนี้ รุ่งเช้าวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ลองเปิด Web สวรส. ดูอีกครั้งก็ยังไม่เห็นประกาศ จนเกือบเที่ยง จุลโทรฯ มาบอกว่าเห็นชื่อแล้ว ได้รับรางวัลผลงาน R2R ดีเด่น การบริการระดับทุติยภูมิจริง ๆ แต่ได้อันดับที่ 10 (ที่สุดท้ายน่ะ) ที่เท่าไหร่ก็ช่าง แค่นี้ก็ดีใจแล้ว จึง print ประกาศออกมาให้พี่ ๆ น้อง ๆ ห้องส่งเสริมรับทราบ หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดต่อไป คิดเพียงว่า วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เราก็จะได้ไปรับโล่เท่านั้นเอง

แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพราะในช่วงเดือนมิถุนายนนั้น ก็ได้รับการติดต่อจาก สวรส.ตลอดเพื่อเตรียมข้อมูลในการจัดทำโปสเตอร์ ฟังน้ำเสียงที่พูดคุยด้วยดูดีเป็นกันเอง และให้เกียรติเรามาก ถ้าหน่วยงานอื่น ๆ ทำได้อย่างนี้ ก็คงเป็นองค์กรยอดเยี่ยมเหมือน สวรส.มีอยู่ครั้งหนึ่งได้รับแจ้งจาก สวรส. ว่าต้องร่วมเป็นผู้เสวนาด้วย ตอนนั้นรู้สึกตกใจมากเพราะโดยส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบพูดต่อหน้าคนมาก ๆ คือจะรู้สึกประหม่าเขินเอามาก ๆ (ปกติพูดไม่เก่งอยู่แล้ว) นึกกังวลอยู่คนเดียวว่าจะทำอย่างไรดีหนอ กลัวคนที่มองเราเวลาพูด เขาจะนึกอย่างไร พอใจ ไม่พอใจ หมั่นไส้ หรือ..สารพัด จะคิดไป แต่ก็พยายามคิดว่าอะไรจะเกิดมันก็เกิด จากนั้นจึงโทรศัพท์ไปเรียนปรึกษาอาจารย์ชื่นชมอีกเช่นเคย และก็ไม่ผิดหวัง เพราะอาจารย์ให้คำแนะนำดีมาก ๆ ซึ่งเมื่อขึ้นเวทีเสวนาจริงๆ ก็ได้พูดตามที่อาจารย์แนะนำและบางส่วนจากก้นบึ้งหัวใจตัวเอง สังเกตเห็นผู้ฟังที่นั่งเต็มลานหน้าห้อง Grand Blallom ของโรงแรมมิราเคิล พวกเขาตั้งใจฟัง มีส่วนร่วมในการเสวนา และแสดงความสนใจตลอดเวลาของการเสวนา ทำให้รู้สึกดีใจที่เราทำได้จริง ๆ แม้จะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไม่รู้ว่าจะมีอีกหรือไม่

ขอย้อนกลับไปนิดที่เมื่อได้รับทราบว่าได้รับรางวัล ตอนนั้นอยากให้พี่น้องชาวบางปลาม้าทุกคนได้ไปร่วมการประชุมไม่ใช่ไปเพื่อตัวเองนะ แต่อยากให้ไปเพราะจะได้แสดงให้เห็นว่าโรงพยาบาลบางปลาม้า ก็ทำได้แต่เป็นเรื่องที่เป็นจริงไม่ได้ที่จะไปกันทุกคนเลยไปขอ ผอ.ให้น้อง ๆ และพี่ ๆ ที่มีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันทั้งผลงานชิ้นนี้และที่ผ่านมารวมทั้งหมด 6 คน ลงทะเบียนโดยเงินโรงพยาบาลอีก 2 คน อุบลวรรณา pay ค่าอาหารให้คณะของเราประกอบด้วย อ้อ, หมี, นัน, อ้วน, รุ่ง, แจ่ม, ติ๊ก, ติ๋ว, พี่นพ, พี่จิ , และตัวเอง ส่วนจุลนั้นลงทะเบียนมาจากธรรมศาสตร์ ก่อนวันประชุม 2 วัน ได้รับแจ้งจาก สวรส.โดยน้องเดียร์ แจ้งให้นำกางเกงวิเศษไปแสดงด้วย จึงปรึกษากับจุลว่าจะนำไปแสดงอย่างไร จุลบอกว่าต้องเอาหุ่นมานุ่งกางเกง แล้วนอนจึงจะได้บรรยากาศ ความรู้สึกเหมือนจริง จากนั้นจุล ก็พาหุ่นที่ใช้สอนนักศึกษาพยาบาล จากคณะพยาบาล มธ.ที่จุลสอนอยู่ มานุ่งกางเกงวิเศษที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาล แล้วสวมเสื้อยืดสีชมพูให้นำหมวกของอาจารย์ชื่นชมมาสวมให้ดูเท่ห์จริงๆ ส่วนอ้อก็เอาหุ่นของช่างตัดเสื้อมาแต่งตัวเหมือนเมื่อเสนอ CQI แต่คราวนี้ไม่มีหน้าดาราเพราะกลัวโดนแจ้งจับข้อหาละเมิด แต่เอาหมวกของแจ่มมาใส่แทนดูเลิศดี ทั้งท่านอนและท่ายืน (หุ่น 2 ท่าน)

ตอนพาหุ่นไปโรงแรมมิราเคิลที่จัดงานตลกมาก เพราะหุ่นนอนในรถเบาะหลังคนขับตัวหุ่นยาวมากกว่าเบาะเท้าของหุ่นก็เลยโผล่ออกมาตรงบริเวณกระจกของประตูหลัง เวลารถจอดเพราะติดไฟแดงหรือรถวิ่งช้าเนื่องจากรถติดสังเกตเห็นคนหันมามองแล้วสะกิดคนข้าง ๆ ให้ดูคงสงสัยมั้งว่าเท้าอะไร (หรือกลัวก็ไม่รู้) เมื่อถึงห้องประชุม หุ่นที่สวมกางเกงวิเศษนั้นได้ทำเลทองเชียว เพราะตั้งอยู่หน้าห้องประชุม และอยู่ตรงบริเวณที่ติดโปสเตอร์ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ดีเด่น เป็นที่ที่ทุก ๆ คนต้องผ่านบริเวณนี้เพื่อชมและอ่านโปสเตอร์ หุ่น 2 สหายของเรา ทั้งนอนและยืน ดูเด่นและสะดุดตามาก ตอนนั้นคงไม่มีใครคาดคิด รวมถึงโยกะจุลด้วยว่า กางเกงวิเศษ จะได้เป็น Hight Light ของงาน เพราะหลังจากที่พิธีเปิดแล้ว นพ.พงศ์พิสุทธ์ ผอ.ของ สวรส. ได้พาท่านประธานในพิธีเปิดคือ ท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น มาเยี่ยมชมผลงานของเรา นอกจากนั้นก็มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม และให้คำแนะนำความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อาทิ เช่น นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. , นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี, ศ.นพ.วิจารย์ พานิช อาจารย์กฤษดา แสวงดี จากสำนักการพยาบาล, นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกลุ ผอ.พรพ., นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ , นพ.อัครินทร์ นิมมานนิตย์ ผู้จัดการ R2R โรงพยาบาลศิริราช และท่านอื่น ๆ อีกมาก ความรู้สึกขณะนั้นรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ผลงานของเราที่เป็นพยาบาล ได้รับการยอมรับจากแพทย์และผู้ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งเพื่อน ๆ ร่วมวิชาชีพที่มาจากที่ต่าง ๆ กัน แต่ก็มีความรู้สึกร่วมกันตรงกันว่า กางเกงวิเศษช่วยปกป้องพิทักษ์ สิทธิส่วนบุคคลของสตรีได้จริง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือวิเศษที่มีราคาแพงใด ๆ มาช่วย ดังคำพูดของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่พูดขึ้นมาเมื่อมาชมกางเกงวิเศษ “นี่ไง สูงสุดคืนสามัญ” เป็นคำพูดที่สื่อความหมายได้อย่างชัดเจน ในการนำเสนอต่อผู้ที่เข้าเยี่ยมชมผลงานของเราคนที่เหนื่อยที่สุดก็คือ จุล เพราะทำหน้าที่อธิบายตอบข้อซักถามตลอดเวลา ดูแล้วช่างมีความสุขเหลือเกิน

นอกจากจะมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมกางเกงวิเศษแล้ว ยังมีสื่อมวลชนหลายแขนง เช่น วิทยุ 95.0 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก , เดลินิวส์ โทรทัศน์ ช่อง 3 ,รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง ช่อง 7 รายการข่าวเช้าและสะเก็ดข่าว และช่อง 9 รายการ ร้อยแปดพันเก้า เข้ามาสัมภาษณ์ สอบถามข้อมูล เพื่อนำเรื่องกางเกงวิเศษ ออกเผยแพร่ แม้จะใช้เวลาช่วงน้อยนิด แต่ก็ทำให้วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2551 โทรศัพท์ของโรงพยาบาลบางปลาม้า สายแทบไหม้ เพราะมีคนโทรฯ เข้าไปสอบถาม สั่งซื้อกันยกใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ ไม่มีขายเลยสักตัว เพราะเราไม่ได้ทำขาย เราทำเพื่อใช้เองเพราะไม่คิดว่าจะมีวันนี้ไง วันที่ข่าวกางเกงวิเศษ แพร่สะพัดออกไป ทางวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และ Internet ทั่วประเทศ ตลอดทั้งเดือน กรกฎาคม มีแต่เสียงโทรศัพท์ โทรฯ เข้ามาสอบถาม สั่งซื้อ บางรายบอกว่า จะพากันมาตรวจ Pap Smear ที่โรงพยาบาลบางปลาม้า ทั้งที่อยู่ จ.อ่างทอง จากเสียงสั่งซื้อ ที่มากมายก็เลยมอบให้หมีและอ้อรับไปดำเนินการตัดจำหน่ายตาม order กิจการก็พอไปได้ ส่วนใหญ่ โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกจะซื้อ โรงพยาบาลรัฐ ดูเงียบ ๆ ยังไงไม่รู้อีก สาเหตุหนึ่งที่มีคนดูโทรศัพท์มาสอบถามมาก เพราะเขาบอกว่าเจอใน Google โอ้โห ของเราได้ขึ้น Google เหมือนกันนะ

หลังจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 ณ โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ กางเกงวิเศษ แห่งโรงพยาบาล

บางปลาม้า ก็ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายและได้มีโอกาสนำไปเสนอในที่ต่าง ๆ หลายที่ เช่น นิตยสาร shape ติดต่อเพื่อขอนำลงในหนังสือ (ลงเดือน ต.ค.51) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์, ที่ประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ประชุมโครงการรณรงค์ ควบคุมและป้องกันมะเร็งปากมดลูกเฉลิมพระเกียรติ 116 วัน จากวันแม่ ถึงวันพ่อที่กระทรวงสาธารณสุขจัดขึ้น เพื่อมอบนโยบายให้ผู้บริหาร ณ โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ ในการนำเสนอครั้งนี้ ได้มีโอกาสนำเสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งท่านก็ชื่นชอบเป็นอย่างมาก (ช่วงนี้ได้นำเสนอในรายการสะเก็ดข่าวทางโทรทัศน์ ช่อง 7 ด้วย) หลังจากนำเสนอผลงานในหลาย ๆ ที่แล้วก็ได้รับโทรศัพท์จากที่จรรยาวัฒน์ ประธานชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย แนะนำให้ไปจดลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการดำเนินการให้พร้อมเสร็จ ต้องขอขอบคุณพี่มาก ๆ ซึ่งน้องก็ได้ไปดำเนินการจดสิขสิทธิ์ที่กระทรวงพานิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอบคุณที่ยาและพี่อ้อยเป็นอย่างยิ่งที่เป็นห่วงเป็นใยน้องคนนี้ตลอดมา

บทสุดท้ายถ้าจะถามว่าอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ก็ตอบได้ทันทีเลยว่าก็ตัวเองนะ

ถ้าถามว่าอะไร คือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ก็ต้องตอบว่าตัวเองซิ ตัวเองในที่นี้หมายถึง ตัวผู้วิจัยทั้งสองคน คือ อุบลวรรณา และ จุลจราพร จากการคิด นอกกรอบ (คิดสร้างสรรค์) สู่การพัฒนาอย่างที่เป็นขั้นตอน ตามกระบวนการของการวิจัย ที่ใช้ทั้งรูปแบบของการวิจัยเชิงปริมาณผสมเชิงคุณภาพที่ท่านอาจารย์ทวีศักดิ์ นพเกสร สั่งสอนมา จนเกิดเป็นกางเกงวิเศษขึ้นมา เราสองคนได้ช่วยกันคิดปรับปรุง แก้ไข และขยายผลจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ (ประเมินจากโทรศัพท์ที่โทรเข้ามามีมากกว่า 40 จังหวัด) มีการนำไปใช้ในหลาย ๆ โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนคลินิกของเอกชน ก็ยังสนใจนำไปใช้ในคลินิก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเอื้อที่ทำให้ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ คือ รศ.ดร.ชื่นชม เจริญยุทธ์ ผู้ซึ่งไม่เคยทอดทิ้งศิษย์ท่านเป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำ ที่มีประโยชน์มากมายในการพัฒนางาน การมีทีมงานที่เข้มแข็งเสียสละ ร่วมทุกข์ร่วมสุข ในการทำงาน การมีเครือข่ายในการทำงาน เช่น สวรส., ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับ และแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้กางเกงวิเศษเป็นที่สนใจของผู้คนทั้งในและนอกวงการสาธารณสุข

สำหรับกลไกที่ช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จ คงเป็นนโยบายการสนับสนุนการทำงานของท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปลาม้า ที่ท่านให้อิสระในความคิดในการทำงานอีกส่วนหนึ่งคือ สตรีผู้เคยมีประสบการณ์ในการใช้ ได้ใช้การบอกเล่าปากต่อปาก ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาตรวจ Pap Smear ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือ นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพราะนโยบายนี้ กำหนดเป้าหมายชัดเจน ทำให้เกิดเป็น pressure ลงมาสู่หน่วยงานถึงผู้ปฏิบัติเป็น pressure ที่ไล่กันมาตามลำดับชั้น สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เรา (ผู้ปฏิบัติ) ต้องหาทางออกให้ได้ นอกจากนี้นโยบายเรื่องนี้ยังทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนมากขึ้น คือ คิดอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือ ถ้าเราต้องถูกตรวจ pap smear บ้าง เราต้องการให้เขา (ผู้ให้บริการ) ทำกับเราอย่างไร คนที่มาตรวจ pap smear กับเราเขาก็คงคิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น หลักคิดที่ใช้ในการพัฒนากางเกงวิเศษ คือ ใส่ใจในการบริการคิดว่าเขาเป็นมนุษย์เช่นเรา นั่นคือ “Humanizold Health Care” นั่นเองและในเมื่อเขาเป็นมนุษย์ เขาย่อมมีสิทธิปกป้องพิทักษ์สิทธิส่วนตัวของเขา ซึ่งเราผู้ให้บริการก็ตอบสนองความต้องการนี้ของเขาให้ได้นั่นคือ ทำให้เกิดการปกป้อง Human Right ของผู้รับบริการ

สุดท้ายจริง ๆ กางเกงวิเศษ วิเศษอย่างไร คำตอบคือ ทำให้เกิด Humanized Health Care ด้วยการช่วยปกป้อง Human rights ของสตรี โดยไม่ต้องใช้ high technology ที่มีราคาแพงใดๆ ผลที่ได้ตามมาคือ ความภาคภูมิใจ ที่ทำให้มีโอกาสตอบแทนวิชาชีพ ตอบแทนคุณพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และตอบแทนแผ่นดิน

โยกะจุล

  • ตามมาชื่นชม
  • วันก่อนไปสามชุก
  • เสียดายไม่มีใครเขียนเผยแพร่ใน gotoknow
  • เพราะพบเรื่องดีๆๆมากเลยครับ
  • ขอบคุณครับ

ตามมาอ่านค่ะ

สำหรับที่ รพ ศรีนครินทร์

มีการนำเสนอเป็นเรื่องเล่า ตามภาควิชา   เพื่อกระตุ้นให้แพทย์ พยาบาล สนใจทำ R2R มีหลายหน่วยงานเริ่มทำมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโอกาสไปนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ

ทำงานประจำให้เป็นงานวิจัย..ทำอย่างไรให้มีความสุข

ในการประชุม 5th Regional Forum

จัด โดย HACC คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่โรงแรมเจริญธานีปริ๊นเซส 

และจะได้ไปเล่าการทำ R2R ไม่ยากอย่างที่คิด ให้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามฟัง ในวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ค่ะ

ถ้าได้ผลประการใด จะรายงานไปให้ทราบนะคะ

        อุบล จ๋วงพานิช

ขอบคุณค่ะ สวรส.อยากทราบว่าแต่ละเครือข่ายเชื่อม node กันไปอย่างกว้างขวางขนาดไหน อยากให้มีการ share กันค่ะ

นำเรื่องเล่ามาแจมด้วยค่ะ

http://gotoknow.org/blog/kapoomr2r/192115

(^__^)

กะปุ๋ม

เพิ่งค้นเจอ จึงคิดว่า ในG2K น่าจะมีเช่นกัน

อยากติดต่อขอสั่งซื้อมาใช้ที่คลินิกบ้าง

(ทำคลินิกชุมชนอบอุ่น มีเป้าหมาย prevention เช่นกัน)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท