ภาษาพม่าสบายๆ สไตล์เรา (13 - เยแคโม่งซามลา = กินไอศกรีมไหม)


...

วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง "เยแคโม่ง ซามลา" ซึ่งแปลว่า "กินไอศกรีมไหม" ก่อนอื่นขอเรียนเชิญพวกเราไปเที่ยวงานวัดกันก่อน

...

ภาพที่ 1: งานกฐินวัดข้างๆ เมืองพะโค (หงสาวดี) พม่า (12 พฤศจิกายน 2551 วันพระ)

  • ภาพพี่สาวซื้อไอศกรีมให้น้องชาย
  • กล่าวได้ว่า พระเจดีย์กับวัดเป็น "บ้านที่สอง" ของชาวพม่า ยิ่งวันนี้เป็นวันพระสุดท้าย เป็นวันที่ใครจะร่วมงานกฐินต้องรีบทำแล้ว วัดวันนี้จะต้องคึกคักมาเป็นพิเศษแน่ๆ

...

ภาพที่ 2: งานกฐินข้างๆ เมืองพะโค (หงสาวดี) พม่า (12 พฤศจิกายน 2551)

  • ชีวิตชาวพม่าแท้ๆ นั้นกล่าวได้ว่า "ทุกคนต้องทำงาน" ไม่งานเล็กก็น้องงานใหญ่ เป็นพี่ก็ต้องเลี้ยงน้อง คนน้องทางซ้ายกินไอศกรีมไป มอมแมมหน่อยไม่เป็นไร แต่ถ้าน้ำมูกจะตกลงไปในไอศกรีม... พี่สาวก็จะคอยเช็ดให้

...

ภาพที่ 3: งานกฐินข้างๆ เมืองพะโค (หงสาวดี) พม่า (12 พฤศจิกายน 2551)

  • นายแบบของเรากินไป... ขอดูภาพในกล้องไป ว่าแล้วก็เอานิ้วมือเปื้อนไอศกรีมผสมน้ำลายนิดหน่อยมาป้ายที่จอ LCD กล้องผู้เขียนเป็นพักๆ ชี้ทีจอภาพ พร้อมกับหันไปบอกพี่สาวที่นั่งเฝ้าดูอยู่ข้างๆ ว่า มีรูปเขาด้วยๆ

...

ภาพที่ 4: งานกฐินข้างๆ เมืองพะโค (หงสาวดี) พม่า (12 พฤศจิกายน 2551)

  • ภาษาพม่า "เยแค โม่ง ซา มลา" (เยหรือเหย่ = น้ำ; แค = แข็ง; โม่ง = ขนม; ซา = กิน; มลา = (จะ)ไหม) แปลว่า "กินไอศกรีมไหม"
  • เด็กไม่ได้ถามหรอก เด็กที่ไหนจะให้ไอศกรีมคนอื่นได้ ถ้าให้ได้ก็ไม่ใช่เด็กสิครับ

...

Hiker

ภาษาพม่าก็คล้ายกับภาษาไทยคือ มีภาษาถิ่น (dialect) อยู่หลายท้องที่ เช่น สำเนียงคนย่างกุ้งจะไม่เหมือนสำเนียงคนกรุงเก่า (กรุงเก่าของพม่ามีหลายแห่งรอบๆ มัณฑเลย์ รวมทั้งเมืองมัณฑเลย์ด้วย มัณฑเลย์อยู่ตอนกลาง ย่างกุ้งอยู่ค่อนมาทางด้านล่าง) ฯลฯ

คนไทยภาคต่างๆ พูดคำๆ เดียวกัน ออกเสียงสูงต่ำไม่เท่ากันฉันใด ชาวพม่าก็ฉันนั้น

...

เสียงบางเสียงเลยมีที่ใช้ผสมกัน เสียงสูงๆ ต่ำๆ เช่น น้ำ = "เหย่" หรือ "เย" ศัพท์ที่น่าสนใจวันนี้คือ

  • เหย่ = น้ำ
  • เย = น้ำ
  • แค = แข็ง
  • โม่ง = ขนม

...

Hiker

"ไอศกรีม" ภาษาพม่าคือ "เยแคโม่ง (น้ำ + แข็ง + ขนม)" แปลตรงตัวว่า "ขนมน้ำแข็ง" โปรดสังเกตว่า เวลาแปลส่วนใหญ่จะแปลจากหลังไปหน้าคล้ายๆ ภาษาบาลี (เขียนไปอย่างกับว่า ผู้เขียนรู้บาลี ความจริงรู้น้อยมาก เรียนได้ไม่นานก็ขออาจารย์เลิกเรียน เพราะท่องต่อไม่ไหว)

...

ศัพท์ต่อไปคือ

  • ซา = กิน
  • มลา = หรือ (ใช้กับอนาคต)
  • ลา = หรือ (ย่อจาก "มลา" ใช้กับอนาคต)

...

Hiker

รวมกันแล้ว คำถามว่า "กินไอศกรีมไหม" คือ "เยแคโม่ง ซามลา" หรือ "เยแคโม่ง ซาลา" ให้ตอบอย่างนี้

ภาษาไทย ภาษาพม่า คำแปล
กิน ซา แหม่ กิน + จะ
ไม่กิน มซา บู ไม่ + กิน

...

พวกเราคงจะจำกันได้ว่า คำ "ไม่" ในภาษาพม่านั้น เวลาใช้จะใช้เหมือนกับแซนวิช คือ วาง "มะ" ไว้ข้างหน้า วาง "บู ไว้ข้างหลังคำที่ต้องการปฏิเสธ รวมกันเป็น "มะ_บู" ผู้เขียนจงใจไม่เติมสระ "อะ (-ะ)" เพื่อย้ำลงไปว่า "สระอะ" ในภาษาพม่าส่วนใหญ่ออกเสียงสั้นกว่า "สระอะ" ในภาษาไทย

กล่าวกันว่า "ภาษาพม่าเป็นภาษาของผู้คงแก่เรียน (scholar language) มากกว่าภาษาของชาวบ้าน" ผู้กล่าวคำนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ทว่า... เป็นคำกล่าวของผู้เขียนเอง คือ ภาษาพม่านั้นชอบทำอะไรให้มันยุ่งยาก เช่น คำว่า "ไม่" ภาษาไทยใช้คำเดียวพอ ภาษาพม่าไม่พอ ต้องขอวาง "มะ" ไว้ข้างหน้า "บู" ไว้ข้างหลังให้มันยากขึ้น

...

Hiker

ถ้าจะตอบกลางๆ ว่า "ขอบคุณ (สุภาพ)" หรือ "ขอบใจ (สุภาพน้อยกว่า)" ให้ตอบอย่างนี้

ภาษาไทย ภาษาพม่า
ขอบคุณ เจซูติน บ่าเด
ขอบใจ เจซูแบ

...

ขอให้สังเกตว่า คำในภาษาพม่าที่ใช้เติมเพื่อให้คำธรรมดาๆ สุภาพขึ้นมีหลายคำ ที่เราเห็นแล้วตอนนี้คือ คำว่า "บ่า" เช่น เจซูติน บ่าแด ฯลฯ คำว่า "แบ" เช่น เจซูแบ ฯลฯ

... 

Hiker

ธรรมดาของภาษาอย่างหนึ่งคือ ส่วนใหญ่จะ "ไม่มีคำอธิบาย" ว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ทว่า... มีหลักสังเกตง่ายๆ คือ คำอะไรที่ยาวขึ้นมักจะสุภาพขึ้น คำอะไรที่สั้นลงมักจะสุภาพน้อยลง

แม้แต่คำขอบคุณ "เจซูติน บ่าแด" ถ้าจะให้สุภาพจริงๆ ชาวพม่าจะพูดกันแบบ "เอื้อน" คล้ายๆ เพลงไทยเดิมอย่างนี้ "เจซู้ติน บ่าแด๋แอ่" โดยออกเสียงตรง "แอ" จาก "แด่" เอื้อนไปจนถึงเสียง "แอ่"

...

อีกวิธีที่จะทำให้อะไรๆ สุภาพขึ้นคือ เติมคำว่า "หนอ" เข้าไปข้างท้าย เช่น เปลี่ยนคำขอบใจ "เจซูแบ" เป็น "เจซูแบ หนอ" แบบนี้หม่องๆ มะๆ ชอบ (หม่อง = คำนำหน้าชื่อผู้ชายพม่าที่อายุน้อย; มะ = คำนำหน้าชื่อผู้หญิงพม่าอายุน้อย)

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรา (คนไทย) เข้าใจ และได้เมตตาในชาวพม่า ขอให้ชาวพม่าเข้าใจ และได้เมตตาในคนไทยไปนานๆ ครับ

...

ภาษาอังกฤษสบายๆ สไตล์เรา                     

...

ศัพท์ที่น่าสนใจตอนนี้คือ คำว่า "วัด" จะแปลว่าอะไรดี คำตอบที่น่าจะใกล้เคียงกับ "วัด" ในความเข้าใจของชาวพม่าและชาวไทย คือ วัดเป็นที่อยู่ของสงฆ์ มีกิจของสงฆ์... แบบนี้ควรเรียกว่า 'monastery'

  • 'monastery' > ออกเสียง [ มอน' - นัส - เทอ - รี ] > ย้ำเสียงตรง "มอน" เสียงที่เหลือให้ออกเสียงเบาลง
  • 'monastery' = วัด
  • ฟังเสียงเจ้าของภาษา > คลิกเครื่องหมาย "ธงชาติ" หรือ "ลำโพง" > [ Click ]

...

คำว่า "วัด" ในภาษาพม่าคือ "จาว" ตรงกับคำเมือง (ภาษาเหนือของไทย) ว่า "จอง" เช่น วัดคำ = วัดจองคำ (ใช้คำว่า "วัด" 2 ภาษาซ้อนกัน)

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เนื่องจากเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นของพม่านับร้อยปี ทำให้มีการถ่ายทอดภาษากลับไปกลับมา

...

สาเหตุที่ชาวพม่าออกเสียง "จาว" น่าจะเป็นเพราะชาวพม่าเป็นโรค "ไม่ชอบตัวสะกด" หรือเป็นโรค "ชอบทำตัวสะกดหล่นหาย" ทำให้เสียง "จอง" หล่นหายไปตามหลักวิวัฒนาการของชาร์ล ดาวินดังต่อไปนี้

  • จอง > จอ ("ง" หายไป) > จาว (เวลาสะกดด้วยตัวอักษรอังกฤษจะเป็น 'jaung'; ng = ง)
  • หม่อง > หม่อ ("ง" หายไป) > หม่าว (เวลาสะกดด้วยตัวอักษรอังกฤษจะเป็น 'maung'; ng = ง)

...

ชาวพม่าแต่ละกลุ่มจะเป็นโรค "ไม่ชอบตัวสะกด" ด้วยอาการหนักเบาไม่เท่ากัน ชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยงจะมีอาการหนักที่สุด คือ ไม่ว่าครูจะสอนอย่างไรก็จะทำตัวสะกดหายไปเสมอ เช่น "ผมเป็นคนไทย (ชาวพม่าชอบหัดพูดประโยคนี้มาก)" จะกลายเป็น "โพะ - เป - โค - ไท" ฯลฯ

อาการนี้จะลดลงในกลุ่มชาวพม่าเชื้อสายพม่า ชาวพม่าเชื้อสายไทยใหญ๋(ฉาน) และชาวพม่าเชื้อสายมอญตามลำดับ ถ้าคนพม่าเชื้อสายมอญพูดไทยได้... จะพูดไทยชัดที่สุดในบรรดาชาวพม่าทั้งหมด รองลงไปเป็นชาวพม่าเชื้อสายไทยใหญ่(ฉาน) นอกจากนั้นชาวพม่าที่เรียนภาษาอังกฤษมาก่อนก็มักจะพูดตัวสะกดที่มีมากในภาษาไทยได้เช่นกัน

...

โปรดสังเกตคำที่ออกมาจากคำว่า "วัด" ในภาษาพม่า (อนุพันธ์ / derivatives)

ภาษาพม่า คำแปล หมายเหตุ
เจา วัด ภาษาไทยภาคเหนือ = จอง
เจาตา นักเรียนชาย ตา = ลูกชาย; นักเรียน = ลูกวัด
เจาตมี นักเรียนหญิง "-มี" ใช้เติมเพื่อแสดงเพศหญิง > ตมี = ลูกสาว

...

ขอแนะนำ                                                

  • ขอแนะนำให้อ่านตั้งแต่ตอนที่ 1
  • "ภาษาพม่าสบายๆ สไตล์เรา" ตอน 1 > [ Click ]

...

ข่าวประกาศ                                             

  • บทความชุด "ภาษาพม่าสบายๆ สไตล์เรา" คงต้องหยุดเขียนไปก่อน เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเทคนิคได้ครับ...
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 29 มกราคม 2552.

...

ที่มา                                                     

  • กราบขอบพระคุณ > ท่านพระอาจารย์ธัมมานันทภัททันตมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต (สมณศักดิ์พม่า) และท่านพระอาจารย์ชนกะ วัดท่ามะโอ
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > นักเรียนภาษาพม่าชั้นอนุบาล > สงวนลิขสิทธิ์บทความในบล็อก > ยินดีให้นำไปใช้ส่งเสริมสุขภาพ หรือเผยแพร่ความรู้ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 18 ธันวาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 230498เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2008 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แวะมาอ่านเรียนรู้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

รักษาสุขภาพด้วย นะคะ

สวัสดีคะคุณหมอ

แวะมาเป็นนักเรียนด้วยคนค่ะ

ไหนๆก็มีคนบนดอยทัก ว่าเป็น "สาวพม่า นัยตาแขก" อิอิอิ

ทา ตนาคา กันหมดเลย

สหย่ามะ... วันต้าบ่าเส่ หนอ = ยินดีต้อนรับอาจารย์ (คุณครู) ครับ...

ได้รับความรู้มากเลยครับ ภาษาเป็นเรื่องสนุกเพื่อสื่อได้ถึงความสัมพันธ์ของกลุ่ม

ชาติพันธุ์หวังว่าคุณหมอจะเขียนให้พวกเราอ่านบ่อย ๆ นะครับ

ขอขอบคุณอาจารย์พิมลมากๆ สำหรับข้อคิดเห็น...

  • ถ้าคนไทยเรามีองค์ความรู้เรื่องเพื่อนบ้านมากพอ... เมืองไทยเราแข่งกับนานาชาติได้แน่นอนครับ
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท