เขาแบ่งกำไรกันอย่างไรจากอุตสาหกรรมหนัง? ตอนที่ 1


บทความชุดต่อไปนี้ผู้เขียนได้แปลมาจากบทความชื่อ Profit participation in the motion picture industry เขียนโดย Joe Sisto ในวารสาร Entertainment and Sports Lawyer, Volume 21, Number 2, Summer 2003: น.1 และน. 21-28 ซึ่งผู้เขียนค้นพบจาก http://www.abanet.org/forums/entsports/esl/back_ issues/summer 2003.pdf ซึ่งสืบค้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมปี 2550 อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนยังค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์ และใช้เนื้อหาเพื่อประกอบการทำวิทยานิพนธ์

ณ ตอนนี้ถึงแม้ว่าผู้เขียนได้เสร็จสิ้นภารกิจการทำวิทยานิพนธ์ดังกล่าวไปได้เรียบร้อยแล้ว เมื่อเก็บห้อง (อันอุดมไปด้วยหนังสือ) ก็ทำให้ค้นพบงานแปลที่ตัวเองได้แปลเอาไว้ จึงเกิดความคิดว่า ไม่อยากให้การแปลบทความชิ้นดังกล่าวเป็นเพียงการแปลแค่เก็บเกี่ยวเอาความรู้ไว้ใช้คนเดียวหรือกลายเป็นเศษกระดาษที่ความรู้ไม่ได้เผยแพร่ต่อไปที่ไหนอีก คิดเพียงแต่ว่าไหนๆ ก็แปลแล้วก็ควรเอามาเผยแพร่ เพื่อที่ว่าใครที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์กันในแวดวงหนังจะได้รับรู้ว่า เขาแบ่งปันกันอย่างไร เพราะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนพบว่า ไม่ค่อยมีผู้แปลเรียบเรียงเป็นหนังสือกันสักเท่าไหร่ แต่มักเน้นไปที่เรื่องของการใช้เครื่องมือผลิตภาพยนตร์ ขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ ฯลฯ แทน


ในขณะที่เรื่องของธุรกิจภาพยนตร์กลับไม่ค่อยมีตำรับตำราสักเท่าไหร่ สิ่งที่ผู้เขียนแปลมานี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น เพราะบทความต้นฉบับเองก็ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เช่นกัน และผู้เขียนก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เพียงแต่นึกถึงนักศึกษาหรือผู้สนใจทั่วไป ที่บางครั้งอาจสนใจแต่ก็ไม่สามารถอ่านบทความภาษาอังกฤษได้เอง ผู้เขียนเองก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษนัก เพียงแต่ยึดหลักที่ว่า มีแต่ "ฝึก" กับ "หัดทำ" ไปเรื่อยๆ สักวันจะดีขึ้น และจากจุดนั้นที่เริ่มฝึก ทำให้เกิดเป็นบทความแปลชิ้นนี้

หมายเหตุ :
1. เนื่องจากบทความนี้ผู้เขียนต้นฉบับเป็นนักกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา ธรรมเนียมและการปฏิบัติในแวดวงหนังจึงหมายถึง วงการหนังฮอลลีวู้ด เป็นส่วนใหญ่ ส่วนการแบ่งสรรปันส่วนของแวดวงหนังไทยนั้น ผู้เขียนจะได้ทยอยเผยแพร่งานในโอกาสต่อไป
2. เอกสารการแปลส่วนนี้ผู้เขียนนำกลับมาแก้ไขและเรียบเรียงใหม่ในเดือนธันวาคม 2551
3. ผู้เขียนยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากมีผู้รู้ท่านอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจของภาพยนตร์ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศได้กรุณาเข้ามาเพิ่มเติมข้อมูลหรือให้ความคิดเห็นอื่นใด ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ที่จะได้มีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชุดความรู้ในเรื่องของธุรกิจภาพยนตร์

 

Profit participation in the motion picture industry
เขียนโดย Joe Sisto


ในโลกของภาพยนตร์ เมื่อโปรดิวเซอร์สามารถหาบริษัทที่รับจัดจำหน่ายภาพยนตร์ให้กับสตูดิโอหลักๆ (Major Studio) ได้แล้ว โปรดิวเซอร์มักจะได้รับส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์โดยหักจากกำไรของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งเรียกกันว่า "ค่าธรรมเนียมโปรดิวเซอร์ หรือ Producer's Fee" ในขณะที่ส่วนการทำงานอื่นๆ ก็จะได้รับค่าตอบ แทนในลักษณะของ "เงินเดือน" แทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการต่อรองและข้อตกลงกับบริษัทผู้ว่าจ้าง ที่เป็นเจ้าของหนังหรือผู้ลงทุนสร้าง


โดยธรรมเนียมปฎิบัติของวงการภาพยนตร์ ทั้งค่าธรรมเนียมโปรดิวเซอร์ (ที่มักเรียกกันติดปากว่า "ค่านายหน้า หรือ Fee for Producers") และเงินเดือนที่ทั้งนักแสดงและผู้ที่เกี่ยวข้องในตำแหน่งงานอื่นๆ ได้รับนั้น เมื่อเทียบกับผู้ที่อยู่ในระดับผู้บริหาร จะพบว่ากลุ่มคนทำงานในระดับสูงนี้กลับมีอิทธิพลทางธุรกิจในการที่จะต่อรองและเรียกร้องผลประโยชน์ได้มากกว่ากลุ่มคนทำงานในสองกลุ่มแรกมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่กำไรที่ได้รับตอบแทนกลับมาจากภาพยนตร์ก็มักขึ้นอยู่กับการฉายภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ในโรงภาพยนตร์เป็นหลัก
ในขณะที่ "ค่านายหน้า" หรือ "เงินเดือน" ที่นักแสดงหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับ มักเป็นรายได้แบบตายตัว แต่ผู้บริหารระดับสูงกลับมีอิทธิพลทางธุรกิจมากพอที่จะต่อรองและเรียกร้องหาผลประโยชน์เพิ่มเติม เพราะโดยส่วนใหญ่กำไรที่ได้รับมักขึ้นอยู่กับการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เป็นหลัก บทความนี้จึงเน้นกล่าวถึง ประเภทของกำไรและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีการคำนวณกำไรว่าเขาคิดแบ่งปันกันอย่างไร

ประวัติศาสตร์ของระบบค่ายหนัง
ภายหลังจากที่ภาพยนตร์สามารถใส่เสียงลงไปในฟิล์มและทำให้หนังกลายเป็นหนังเสียงในฟิล์มขึ้นมาได้ เหล่าดารานักแสดงและโปรดิวเซอร์รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหนังต่างก็ตกอยู่ภายใต้การเซ็นสัญญาในลักษณะสังกัดค่ายสตูดิโอใหญ่ๆ กันทั้งนั้น โดยเฉพาะการตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขความเป็น "คนของสตูดิโอ" หรือเรียกกันว่า "ระบบดารา(Star System)" โดยที่สตูดิโอจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าจ้างในลักษณะแบบตายตัว ซึ่งนิยมจ่ายเป็นรายอาทิตย์ (fixed weekly salary)


ส่วนเงินพิเศษบางที่อาจจะเขียนสัญญาในลักษณะให้เป็นเงินโบนัส แต่ผลกำไรจากหนังส่วนใหญ่มักถูกผูกขาดโดยเจ้าของสตูดิโอเป็นหลัก มีตัวอย่างดาราเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลกำไรตรงนั้นได้ เช่น ชาลี แชปลิน และ เบทที เดวิส (Chalie Chaplin & Vette Davis) ซึ่งหลังจากที่พวกเขาประสบความสำเร็จในการแสดงและเริ่มมีบริษัทของตัวเอง พวกเขาก็เริ่มที่จะแบ่งปันกำไรไปให้กับผู้สร้างสรรค์งานคนอื่นๆ ด้วย และนั่นก็หมายถึงความเสี่ยงไม่ใช่น้อย


ต่อมาในปี 1936 นักแสดงตลกชื่อ Groucho Marx เริ่มที่จะแบ่งปันส่วนแบ่งจากภาพยนตร์มากกว่าที่เงินเดือน โดยขอมีส่วนร่วมเพิ่ม 15% จากผลกำไรที่สตูดิโอได้รับ ซึ่งถือว่าเป็นการต่อรองที่สูงมาก แต่นั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องการแบ่งเปอร์เซ็นต์เพิ่มเติมของเหล่าดาราทั้งหลาย ล่วงมาในปี 1950 เมื่อเกิดมีโทรทัศน์ขึ้น ผู้ผลิตภาพยนตร์เริ่มมีคู่แข่งที่น่ากลัว ซึ่งก็คือโทรทัศน์ ด้วยเหตุที่ว่าโทรทัศน์นั้นสามารถเข้าถึงผู้ชมได้อย่างรวดเร็วและสะดวกกว่ามาก ผลจากการที่มีโทรทัศน์ทำให้การผลิตภาพยนตร์โดยสตูดิโอใหญ่ๆ เริ่มมีจำนวนลดลง ในขณะเดียวกันสตูดิโอแบบอิสระก็เกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด ซึ่งดารานักแสดงเหล่านี้มักถูกว่าจ้างกันเป็นเรื่องๆ (Film by Film) จึงทำให้เกิดช่องว่างในระบบดารามากขึ้น (คือระบบเงินเดือนที่ถูก fix เอาไว้จะนำมาใช้ไม่ได้อีก เพราะมีสตูดิโออื่นๆ แข่งขันกันให้ราคา และดารารับงานแบบอิสระได้มากขึ้น) ซึ่งทำให้ดาราเริ่มมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น แต่ทางสตูดิโอก็มักจะหักกลบลบหนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ กับจำนวนเงินที่ได้รับจนกระทั่งเหลือกำไรที่จะแบ่งปันน้อยลง (เพราะหักค่าใช้จ่าย ค่านู้นนี่นั่น) แต่สตูดิโอก็ใช้มุขนี้ได้ไม่นาน ...ในทุกวันนี้ ดารานักแสดงจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากการที่ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการต่อรอง ซึ่งดาราแต่ละคนมักต่อรองในการแบ่งผลประโยชน์แบบ "แบ่งผลกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย" กับทางสตูดิโอ และการต่อรองเช่นนี้ทำให้เกิดการตกแต่งจุดคุ้มทุน (Breakeven) เพื่อให้มันมีความเกินจริงก่อนปันผลกำไรขึ้นมาแทน

การแบ่งกำไรในแบบที่ควรจะเป็น วิธีคิดแบ่งปันผลกำไรมีองค์ประกอบคือ
1. แบ่งปันจากรายได้สุทธิที่ได้รับ (net) หรือ แบ่งจากผลกำไรเบื้องต้น(ที่จะได้รับ) หรือ gross receipts จากการจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

2. แบ่งตามกำหนดที่ได้มีการประมาณการณ์เอาไว้ล่วงหน้า (เช่น ถึงจุดนี้แล้วจะแบ่งเท่านี้) หรือเรียกวิธีนี้ว่า "กำไรรอตัดบัญชี (Deferment)" คือกำไรที่จะรวบรวมให้ได้เป็นก้อนใหญ่แล้วจึงค่อยปันผลกำไรในแต่ละขั้นเปอร์เซนต์ตามตกลง

กำไรที่ได้รับมีอะไรบ้าง
1. เงินส่วนแบ่งที่ได้รับจากโรงภาพยนตร์ (Theatrical gross recipts - Money earned from exhibitors) : ส่วนใหญ่แล้วผู้จัดจำหน่ายจะมีส่วนแบ่งจากโรงภาพยนตร์ประมาณ 50 เปอร์เซนต์จากรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศ ดังนั้นกำไรที่ได้รับจะเป็นเงินของผู้จัดจำหน่ายซึ่งจะได้จากโรงภาพยนตร์ แต่จะไม่ใช่จำนวนเงินที่ได้จากบ็อกซ์ออฟฟิศ (คือ ต้องหารกันไม่ได้ยอดบ็อกซ์ออฟฟิศ) เพราะเมื่อภาพยนตร์ทำเงินได้ 100 ล้านเหรียญสหรัฐจากการฉายภายในประเทศ ผู้ที่จะได้รับเงินนี้คือโรงภาพยนตร์ไม่ใช่สตูดิโอผู้สร้างหนัง ผู้จัดจำหน่ายและโรงภาพยนตร์จะมีข้อตกลงกันในลักษณะรายได้จาก "ค่าเช่าโรง (Film rental income)" ซึ่งพวกเขาจะรายงานจำนวนเงินนี้อย่างตรงไปตรงมา แรงจูงใจที่ทำให้แสดงจำนวนเงินที่ได้รับอย่างตรงไปตรงมานี้ เกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจในลักษณะที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน จึงค่อนข้างให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน


2. การขายขาด (Outright License / Outright Sale) : สัญญาการอนุญาตให้ขายซึ่งออกให้กับผู้จัดจำหน่ายรายย่อย ใช้ในกรณีที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ขายได้ในเขตที่จะมีกำไรน้อย (less-profitable territories) โดยจะเป็นการขายในลักษณะราคาเดียวหรือการขายขาด (Flat Fee) ซึ่งผู้จัดจำหน่ายรายย่อยจะจ่ายแบ่งปันกำไรกับโรงภาพยนตร์ในแต่ละพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งรายได้จากการขายขาดนี้ผู้จัดจำหน่ายจะเป็นผู้ได้รับหากว่าในสัญญาระบุว่าให้รวมรายได้นี้เป็นกำไรที่ได้รับจากภาพยนตร์ (included in the film's gross receipts)


3. รายรับจากการขายสิทธิเผยแพร่ให้กับโทรทัศน์ วีซีดี และสื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงภาพยนตร์ (Television, home video and nontheatrical licenses) : กำไรสามารถมาได้จากหลายทางโดยเฉพาะสื่ออื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากโรงภาพยนตร์ เช่น การขายสิทธิให้กับโทรทัศน์(และสถานีในเครือหรือรายการในเครือสถานีโทรทัศน์นั้นๆ ) / การขายสิทธิให้กับเคเบิ้ลทีวี / โฮมวีดีโอ (ประเภทวีซีดี ดีวีดี) และสื่ออื่น ๆ เช่น สายการบิน / เรือสำราญ และกองทัพ (ส่วนสันทนาการและส่วนโรงเรียนของกองทัพ) ฯลฯ กำไรตรงนี้บางทีอาจได้มากกว่ากำไรที่ฉายในโรงภาพยนตร์เสียอีก


ในบางครั้งผู้จัดจำหน่ายก็นำภาพยนตร์หลายๆ เรื่องนำมารวมเข้าด้วยกันและจัดขายเป็นชุด (Package) ให้กับสถานีโทรทัศน์หรือเคเบิ้ลทีวีหรือรายการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รายได้ตรงนี้สามารถนำมารวมเข้ากับรายได้จากหนังแต่ละเรื่องและถือเป็นการเพิ่มยอด box-office ให้กับหนังแต่ละเรื่องด้วย (หนังเรื่องไหนที่ขายไม่ค่อยดีก็จะได้มีตัวเลขขึ้นมาบ้าง)


ตลาดโฮมวีดีโอเป็นอีกตลาดที่เจ้าของหนัง (สตูดิโอ) ไม่นิยมจะลงมาทำตลาดเอง แต่จะขายให้กับผู้จัดจำหน่ายวีดีโอเป็นผู้จัดการโดยคิดค่าใช้สิทธิแบบอัตราเดียว (flat royalty) คือ 20 เปอร์เซ็นต์จากการขายโฮมวีดีโอ (ทั้งขายและให้เช่า) ซึ่งมีทั้ง VHS และ DVD ซึ่งผู้จัดจำหน่ายก็มักจะแสดงรายงานยอดเพียง 20% ที่สตูดิโอจะได้รับ


อย่างไรก็ตามในการตกลงเรื่องส่วนแบ่ง 20% ของการขาย VHS /DVD ในราคาขายส่งนั้น มักมีปัญหาเรื่องส่วนแบ่งที่จะได้รับ เช่น ผู้จัดจำหน่ายสามารถขายแผ่นได้ 250,000 แผ่น แผ่นละ 50 เหรียญสหรัฐ จะเท่ากับ 12,500,000 เหรียญ และส่วนแบ่งที่กำหนดไว้คือ 20% จากยอดขาย (12,500,000 X 20% = 2,500,000 US) ซึ่งก็เท่ากับ 2,500,000 เหรียญที่สตูดิโอเจ้าของหนังควรจะได้รับ แต่ในความเป็นจริงผู้จัดจำหน่ายมักจะแสดงตัวเลขเพียงแค่ 2,500,000 เหรียญ และค่อยคิด 20% จาก 2,500,000 เหรียญนั้นซึ่งก็จะเท่ากับ 500,000 เหรียญเท่านั้น เป็นการคิด 20% จาก 20% ของยอดจำหน่ายจริง เท่ากับว่าสตูดิโอจะได้แบ่งปันกำไรเพียงแค่ 4% จากยอดที่ขายได้จริงๆ เท่านั้น (12,500,000 X 4% = 500,000) ดังนั้นในการเซ็นสัญญาซื้อขายสิทธิตรงนี้ควรระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่า "แบ่ง 20% จากยอดรวมทั้งหมดที่จำหน่ายจริงจากยอดการผลิต (20 percent of total sales generated)"


4. สิทธิในการทำเป็นสินค้าอื่นๆ (Merchandising licenses) : สตูดิโอส่วนใหญ่มักจะขายสิทธิเพื่อการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ เช่น โปสเตอร์ / เสื้อยืด / แก้วกาแฟ / พวงกุญแจและของเล่น หรือเจ้าของสิทธิอาจจะให้บริษัทที่สาม (Third-party licensing) เป็นผู้ดูแลสิทธิทางด้านนี้แทนก็ได้ โดยสิทธิทางด้านนี้จะคิด 40% จากการขายสินค้าได้ก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉาย


เจ้าของสตูดิโอมักจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์มาเป็นตัวชูโรง (Campaigns) ให้ภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น การใช้สินค้าแบบนี้เป็นการตลาดแบบ Cross-promotion คือการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด เช่น การนำตราโลโก้หรือคาแรคเตอร์ตัวแสดงในภาพยนตร์มาผลิตเป็นแก้วน้ำที่ขายหน้าโรงหนัง หรือพวงกุญแจ ฯลฯ อาจพูดได้ว่าการทำการตลาดในลักษณะนี้มีแมคโดนัลด์ เป็นต้นคิดในกลยุทธ์นี้ เช่นที่แมคโดนัลด์จัดทำของเล่นจากดิสนีย์ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและขายผ่านทางแฮปปี้มีลให้เด็กๆ จนจัดเป็นการขายของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้


ถ้าหากว่าการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ (merchandise) สตูดิโอใช้บริษัทในเครือเป็นผู้ผลิต ยอดการขายจะเท่ากับ 100% และเมื่อหักลบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ (เช่นค่าบริหารงาน) อาจจะต้องหักลบไปถึง 50% ในขณะที่หากจ้างบริษัทอิสระที่รับจ้างทำสินค้าเหล่านี้อยู่แล้ว พวกเขาก็จะรายงานยอดขาย 100% ของรายรับ และหักลบค่าบริหารงาน (ค่าธรรมเนียมการจ้างผลิต) อีกนิดหน่อยประมาณ 20% เท่านั้น ทั้งสองวิธีจึงเป็นเรื่องที่สตูดิโอควรจะคิดหักกลบลบหนี้ให้ดีก่อนว่าควรจะเลือกปฏิบัติแบบใด เมื่อวิธีการแตกต่าง ค่าใช้จ่ายก็แตกต่างเช่นกัน


5. ลิขสิทธิ์เพลงและการผลิตซีดี (Musical rights licenses and compact disc sales) : สตูดิโอจะต้องแน่ใจว่าสิทธิที่ตนมีด้านเพลงจะครอบคลุมไปถึงการอนุญาตให้ผู้อื่นผลิตและจัดจำหน่ายได้ด้วย (third-party licensee) ซึ่งถ้าหากว่าสตูดิโอเป็นผู้ติดต่อประสานงานเองกับต้นสังกัดที่ผลิตเพลง อาจจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันคนละ 50% ซึ่งอาจจะต้องลบค่าบริหาร (Administration fee) ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 15-20% ซึ่งต้องจ่ายให้ทั้งผู้เขียนคำร้องและทำนอง


มีการประมาณการกันว่ารายได้กว่า 50% จะได้มาจากการขาย Compact Disc (CD) ที่เป็นซาวด์แทร็คเพลงภาพยนตร์ ซึ่งรายงานการขายซีดีดังกล่าวจะเป็นกำไรที่สตูดิโอจะได้รับแต่จะถูกหักลบไปประมาณ 20-30% เป็นค่าทำเป็นอัลบั๊ม (Packaging fee) แต่ถ้าหากจ้างบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ(Third-party) จะเสียค่าดำเนินงานเพียงแค่ 10-20% กับค่าดำเนินงานและค่าลิขสิทธิ์


6. เงินได้จากการขายสิทธิให้ผู้ได้รับอนุญาตรายย่อย : ผู้ได้รับอนุญาตรายย่อยจะต้องจ่ายค่าซื้อสิทธิไปผลิตสินค้าหรือสิทธิเผยแพร่จัดจำหน่ายให้กับผู้จัดจำหน่าย(Distributor)หลัก ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะต้องรวมอยู่ในกำไรที่ได้รับ


7. เครดิตสำหรับการจ่ายเงินไปต่างประเทศ (Credit for blocked funds) : การโอนเงินในบางประเทศมีกฎที่เข้มงวดเกี่ยวกับการโยกย้ายเงินทุนไปที่อื่นๆ บางครั้งผู้จัดจำหน่ายอาจจะต้องทำเป็นเครดิตสำหรับสั่งจ่ายภายหลังจากที่ทางผู้มีสิทธิรับเงินปลายทางจะดำเนินการขออนุญาตภายในประเทศเสร็จ (ซึ่งเป็นเรื่องของการโอนเงินระหว่างประเทศ)

การมีส่วนร่วมกับกำไรที่ได้รับ (Participation in gross receipts)
1. กำไรตั้งแต่บาทแรก (First-dollar participation) : ในระบบแบบนี้จะหมายถึงกำไรจากภาพยนตร์ทั้งหมดที่ได้รับจากทุกแหล่ง ก่อนที่ผู้จัดจำหน่ายจะมีการหักค่าใช้จ่ายจิปาถะเข้ามา วิธีนี้ค่อนข้างจะคุ้มค่าและกรณีนี้นักแสดงก็ค่อนข้างจะเข้ามามีเอี่ยวค่อนข้างยาก ยกเว้นในรายที่มี power หรือมีชื่อเสียงโด่งดังมากๆ และรายได้ของภาพยนตร์ก็ทำรายได้ได้ดีชนิดติดบ็อกซ์ออฟฟิศ


2. จุดคุ้มทุนที่ถูกปรับให้เหมาะสมกับกำไร (Break-even participation in adjusted gross) : จุดคุ้มทุนเป็นจุดที่แสดงให้เห็นภาวะที่ไม่ขาดทุนและไม่มีกำไร (ภาวะเสมอตัว) กำไรตัวแรกของสตูดิโอ (Initial break-even) จะอ้างอิงได้จากกำไรที่ได้จากภาพยนตร์ และผู้จัดจำหน่ายมักจะมีการปรับรายรับให้เป็นกำไรที่เหมาะสม (Adjust gross receipt) เพื่อเป็นตัวชี้นำได้ว่ากำไรที่สตูดิโอควรจะได้รับเป็นตัวแรกคือจุดใด โดยมากข้อจำกัดของยอดกำไรมักจะถูกหักกลบลบหนี้ด้วยค่าใช้จ่าย จึงเกิดการต่อรองในลักษณะ "Cost of the Top" หรือ "ค่าใช้จ่ายอยู่เหนือสุด" ซึ่งมักจะมีการรวมในเรื่องของภาษี / ค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง (Trade Dues) หรือค่าใช้จ่ายด้านการประชาสัมพันธ์ การโฆษณา การต่อรองแบบนี้จะหมายถึงว่าให้โชว์ค่าใช้จ่ายพวกนี้ที่เหนือสุดตารางก่อนที่จะต้องแบ่งกำไรนั้นไปสู่ส่วนต่างๆ การเจรจาในลักษณะนี้ก็เพราะสตูดิโอหรือผู้มีส่วนร่วมในผลกำไรไม่อยากรอการปันผล จึงยังไม่ให้ผู้จัดจำหน่ายรวมยอดค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าไปก่อนที่จะปันผลกำไร หรือเรียกอีกอย่างว่า "ราคาขาดตัวที่เหมาะสม (Nice Net)" อย่างไรก็ตามวิธีนี้ค่อนข้างหายากและเสมือนวิธีที่ข้อมูลด้านตัวเลขยังไม่สมบูรณ์ 100%


3. แบ่งก่อนที่จะถึงจุดที่ทำกำไร (Pre-break gross participation) : ในระบบแบบนี้คือหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้เจ้าของสตูดิโอได้รับการแบ่งปันกำไรที่ได้จากตัวภาพยนตร์หลังจากที่รู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ มีรายได้เข้ามา ซึ่งวิธีนี้สตูดิโอจะให้ผู้จัดจำหน่ายหักลบค่าบริการในการจัดจำหน่าย (Distribution fee) หลังจากที่เกิดกำไรตรงนี้ขึ้น ถึงแม้ว่ากำไรจากตรงนี้อาจจะเล็กน้อย (อาจเพียงแค่ 15-25%) ในทางบัญชีก็ตาม


4. จุดคุ้มทุนจริงๆ (Initial (or actual) break-even gross participation) : จุดต่างสำหรับวิธีการนี้กับวิธีการที่เคยกล่าวถึงข้างต้น (ในข้อ 2) อยู่ตรงที่ว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ผู้จัดจำหน่ายจะเป็นผู้พิจารณาว่าระหว่างจุดคุ้มทุนจริงๆ ตรงนี้เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายต่างๆ (ซึ่งมักมีประมาณ 30-40%)แล้ว ผู้จัดจำหน่ายจะยังได้ค่าตอบแทนการขายจากกำไรตัวนี้อยู่หรือไม่


5. การลดจุดคุ้มทุนให้ต่ำลงมา (Rolling (or moving) break-even gross participation) : ในระบบแบบนี้ คือ การที่ผลกำไรจะถูกตัดยอดนับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนั้นทำเงินได้ถึงจุดคุ้มทุน อย่างไรก็ตามวิธีนี้ผู้จัดจำหน่ายอาจจะทำการตัดยอดหรือลดยอดจุดคุ้มทุนตัวนี้ลงมา หากว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาช้ากว่าที่กำหนดเอาไว้ (incurs at a later date) เช่น ค่าบริการต่างๆ (plus a fee) ผู้จัดจำหน่ายก็จะทำการลดยอดจุดคุ้มทุนลงมาเพื่อใส่ค่าใช้จ่ายเข้าไปในส่วนนั้นแทน


6. วิธีการทำกำไรให้เพิ่มขึ้น (The method call "grossing up") : เป็นวิธีที่ผู้จัดจำหน่ายจะคิดกำไรที่ต้องการเอาไว้ ตัวเลขกำไรที่ได้จากวิธีนี้จะเป็นตัวเลขที่ถูกหักลบไปจากตัวเลขที่เป็นจริง โดยจะหักลบผ่านค่าใช้จ่ายที่ตกแต่งขึ้นมาเช่น ค่าบริการจัดจำหน่าย (distribution fee / charges a fee) ด้วยเหตุนี้จุดคุ้มทุนจึงต้องลดลงมา ซึ่งสตูดิโอก็จะฉงนสนเท่ห์กับยอดเหล่านี้มาก ตัวเลขของจุดคุ้มทุนตัวนี้เรียกอีกอย่างว่า "ส่วนเกินเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety)" ซึ่งส่วนเกินเพื่อความปลอดภัยนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า ยอดขายปัจจุบันจะลดลงไปได้เป็นจำนวนเท่าใดก่อนที่จะเกิดผลขาดทุนจากการดำเนินงาน

(มีต่อตอนที่ 2)

 

 

หมายเลขบันทึก: 230444เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2008 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ตามมาดู
  • รอดูตอนสอง
  • มีคนบอกว่า
  • ที่ไหนมีการแปล
  • ที่นั่นย่อมมีการแปลผิด
  • อิอิๆๆ
  • สบายดีไหมครับ

สวัสดีค่ะอ.ขจิต

แนทสบายดีค่ะ ปีใหม่นี้อาจารย์มีโปรแกรมไปพักผ่อนที่ไหนหรือเปล่าคะ

แนทเห็นด้วยนะคะกับคำพูดที่อ.ขจิตบอกว่า

"ที่ไหนมีการแปล ที่นั่นย่อมมีการแปลผิด"

ทั้งนี้ต้องขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ด้วยนะคะ

(ข้าน้อยขอคารวะหนึ่งจอก ^_^ อิอิ)

สวัสดีค่ะคุณหนุ่มกร-natadee

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าเช่นกันค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท