เส้นทางเมี่ยง-ชา "ศรีนาป่าน-ตาแวน" ตอนที่ ๕


เส้นทางเมี่ยงอม

การเก็บใบเมี่ยง

ใบเมี่ยงควรเก็บใบที่มีลักษณะระยะปานกลาง ไม่อ่อนหรือไม่แก่เกินไป ก้านจะมีสีเหลือง ถ้าก้านมีสีแดง ใบเมี่ยงจะแก่  แต่ให้เหลือไว้ประมาณ ๑- ใบ

การฮอมเมี่ยง หรือมัดเมี่ยง

หลังจากเก็บมาแล้ว ก็จะนำใบเมี่ยงมาฮอม หรือมัดให้สวยงามเพื่อเตรียมนึ่ง โดย ๑ กิโลกรัม จะได้ประมาณ ๕-๖ มัด

 การนึ่งเมี่ยง

นำใบเมี่ยงที่มัดแล้ว มาใส่ในไหๆ ละประมาณ ๘๐-๑๐๐มัด (ตามขนาดของไห) ใช้ความร้อนจากไฟ ประมาณ ๑๐๐ องศาเซลเซียล ใช้เวลานึ่ง ๓๐-๔๐ นาที

  การผึ่งเมี่ยง

นึ่งแล้ว นำเมี่ยงมาผึ่งให้เย็น ประมาณ ๓๐ นาที และจัดระเบียบกำให้สวยงาม     หลังจากนั้น เก็บเรียงในตะกร้าไม้ไผ่ ประมาณ ๒ คืน สังเกตจะมีเชื้อราขาวขึ้น (รากินได้) ราจะทำให้เมี่ยงอ่อนนุ่มน่ากินมากยิ่งขึ้น

 การหมักเมี่ยง

การหมักเมี่ยง คนสมัยก่อนจะหมักในบอก (ทำจากไม้) แต่เนื่องจากปัจจุบันหาได้ยาก และการดูแลรักษาค่อนข้างยาก ทำให้คนในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาหมักในโอ่งมังกร

ขั้นตอนการหมัก

๑.     ล้างเมี่ยงให้สะอาด

๒.    นำพลาสติกปูในโอ่ง

๓.    นำเมี่ยงมาเรียงทีละชั้น (นำเกลือและน้ำโรยทุกชั้น พร้อมกดให้แน่น)

๔.    นำใบเหมียด (เป็นพืชชนิดหนึ่งมีรสชาติเปรี้ยว) ที่นึ่งแล้วมาเติมให้เต็มโอ่งเพื่อป้องกันอากาศเข้า ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อรา และนอกจากนั้นใบเหมียดจะช่วยให้เมี่ยงมีรสชาติเปรี้ยวขึ้นด้วย

๕.    นำพลาสติกหรือใบตองคลุมไว้  ใช้ก้อนหินทับพลาสติกไว้อีกทีหนึ่ง

๖.     หมักทิ้งไว้ประมาณ ๑๕ วัน ก็สามารถนำเมี่ยงมาอมได้

 

**หมายเหตุ: สามารถหมักทิ้งไว้ได้นาน ๑-๒ ปี แต่เมี่ยงจะมีรสชาติเปรี้ยวมาก ข้อแนะนำ คือ ระหว่างที่หมักทิ้งไว้ต้องมีการเปลี่ยนใบเหมียดที่ใช้คลุมข้างหน้าตลอด (หากไม่มีใบเหมียด สามารถใช้ใบส้มป่อง ส้มกบ และส้มปูแทนได้)

 การทำเมี่ยงอม

                หลังจากหมักได้ที่แล้วก็จะนำเมี่ยงขึ้นมาจากบอกเมี่ยง หรือโอ่งที่หมักไว้ บางคนขายส่งเป็นกำให้กับพ่อค้าแม่ค้าต่างหมู่บ้านที่มารับซื้อถึงบ้าน บางคนก็จะทำเป็นเมี่ยงอมขายถุงละประมาณ ๑๐ บาท และโดยส่วนใหญ่ทุกบ้านก็จะมีเมี่ยงอมไว้ประจำบ้าน เพื่อไว้ต้อนรับแขกที่ไปมาหาสู่กัน นอกจากนั้นในงานบุญต่างๆ เมี่ยงอมก็จะเป็นหนึ่งในเมนูของว่างที่ขาดไม่ได้เลย ประเภทของเมี่ยงอมที่มักจะทำกัน เช่น เมี่ยงหมี่ เมี่ยงเค็ม เมี่ยงหวาน ส่วนไส้เมี่ยงที่นิยมกันจะมีทั้งเกลือ น้ำตาล ขิง หมี่ มะกอก จะแยกหรือผสมกันก็ได้แล้วแต่ความนิยมชมชอบ

                ถ้าจะนับว่า เมี่ยง เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการกินอยู่ของคนพื้นเมืองทางภาคเหนือก็คงนับได้ เป็นของกินเล่นขบเคี้ยวหลังอาหาร อมแก้ง่วงได้ดีไม่แพ้กาแฟ และไม่เสพติดอย่างบุหรี่

                                                                  การพันเมี่ยงให้เป็นอม                                   เมี่ยงอม

 

 

 

ขอขอบพระคุณผู้ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล และรูปภาพ

- แกนนำศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตำบลเรือง

- นางวริญญา  นรินทร์  เจ้าพนักงานธุรการ2 อบต.เรือง

- นายคัทธราวุธ  สนิทศรี   ผู้ช่วยช่างโยธา  อบต.เรือง

หมายเลขบันทึก: 228971เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2008 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวนเมี่ยง => ป่าเมี่ยง

วิถีการผลิตของชุมชนที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ

เคยไปแถวอ.แม่ลาว เชียงราย กับอ.เชียงดาว เชียงใหม่

ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่รู้เลยว่านั่นคือสวนเมี่ยงของชาวบ้าน

คิดว่าเป็นป่าธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์อยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท