Chapter พิเศษ: เส้นขนานระหว่างชีวิตและจิตใจของผู้ประกอบการเทคโนโลยี


Steve Jobs เคยกล่าวสุนทรพจน์ไว้ว่า "เราจะประสบความสำเร็จหากเราสามารถเชื่อมจุดต่างๆ ในชีวิตของเราได้"

งานที่ทำแล้วไม่ได้เงิน หรือได้เงินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เรียกว่า "งานอดิเรก"
ส่วนงานที่ทำแล้วได้เงินมาเลี้ยงชีวิต สามารถใช้จ่ายในกิจวัตรประจำวันได้ เรียกว่า "อาชีพ"
ถ้าทั้งสองอย่างเป็นเรื่องเดียวกันได้ บุคคลผู้นั้นคงจะมีทั้งความสุขกายและสุขใจมิใช่น้อย

มีประโยคหนึ่งที่เราคุ้นหูกันดีคือ "มนุษย์เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้"
ประโยควรรคแรกเป็นสัจธรรม มันถูกต้องเสมอกับทุกคน แต่ประโยควรรคถัดมาเป็นจินตนาการ ภาพฝันสำหรับคนบางคนเท่านั้น

ในชีวิตจริงของเราการเลือกทำงานที่ใจรักแต่ได้ผลตอบแทนต่ำ มักจะลงเอยที่ความเจ็บปวด งานที่ได้มักออกมาไม่ได้ดั่งใจ ถึงมีศักยภาพก็ดึงออกมาใช้ได้ไม่เต็มที่ ผมเคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง เค้าเป็นคนทำเว็บเหมือนกัน ปัญหาของเค้าคือ ลูกค้าไม่เห็นในคุณค่าของเว็บไซต์ที่ทำขึ้น และตีมูลค่าให้กับผลงานนั้นเพียงแค่ไม่กี่บาท ที่แย่คือมันไม่ใช่แค่ลูกค้ารายเดียวที่เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันเว็บเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก บริษัทน้อยใหญ่ต่างก็ต้องมีเว็บเป็นของตัวเอง คนไม่มีความรู้ก็มักจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่การที่เราจะสร้างเว็บดีๆ ขึ้นมาสักเว็บ ผมว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเข้าใจที่เพื่อนผมพูดเป็นอย่างดี ส่วนการที่ลูกค้าจะกดราคาเพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่ต้องการก็ไม่ใช่เรื่องแปลก จึงเห็นได้ว่าถ้าเวลาและทรัพยากรต่างๆ มีจำกัด ในฐานะผู้ประกอบการหลายคนคงไม่ทุ่มเทกับงานที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งถ้ามีงานอื่นๆ ให้เลือกระหว่างงานค่าจ้างต่ำ คนไม่เห็นคุณค่า กับงานค่าจ้างสูงกว่า (แม้คนไม่เห็นคุณค่าเหมือนกัน) เพื่อความอยู่รอด เป็นใครก็คงจะเลือกและให้เวลากับงานที่ค่าจ้างสูงกว่าใช่ไหมครับ?

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับเพื่อนผมคนนี้ มีน้องที่รู้จักอีกคนเป็นคนทำเว็บเหมือนกันอีกนั้นแหละ ผมคิดว่าน้องคนนี้เป็นตัวอย่างของคนที่เลือกงานผลตอบแทนสูงแต่ตัวเค้าเองไม่อยากทำ ผลลัพธ์ที่ได้คือ เขาทำงานออกมาไม่ดี อีกทั้งยังรู้สึกไม่ดีกับเจ้านายกับออฟฟิศ แต่ก็ทนอยู่กับมันเพราะคิดว่าเงินดี ทำงานไปวันๆ ให้งานรีบๆ เสร็จ จะได้เงินเยอะๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อความรู้สึกเปลี่ยนไป จำนวนเงินที่ได้แม้ไม่ได้ลดลงแต่สมองกลับบอกว่าเงินเริ่มไม่ดี ไม่คุ้มค่าเหนื่อย สุดท้ายเค้าก็ไม่สามารถทนกับงานที่ทำได้อีกต่อไป และก็ต้องออกไปหาที่ทำงานใหม่ การจะสร้างความสมดุลย์ระหว่างเงินกับงาน ระหว่างสิ่งที่รักกับสิ่งที่ทำ เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่เส้นทางชีวิตมันไม่ได้มีให้เลือกเยอะขนาดนั้น

แล้วการศึกษาเป็นคำตอบที่จะทำให้คนเรามีทางเลือกเยอะขึ้นไหม? วันนี้ผมขอตอบว่า "ไม่ใช่" การศึกษาสามารถยกระดับคนเราขึ้นมา ทำให้คนไม่รู้ ได้รู้ ทำให้คนไม่มีความสามารถ มีความสามารถ แต่ทั้งหมดคือกระบวนการในการป้อนคนเข้าสู่วงจรการทำเงินของธุรกิจ คนจบปริญญาโทมีทางเลือกเยอะกว่าคนจบปริญญาตรีหรือ ผมไม่คิดเช่นนั้น ยิ่งการศึกษาสูงยิ่งถูกจำกัด scope การทำงาน ปริญญาตรีคือการเรียนให้รู้ ปริญญาโทคือการเรียนเพื่อประยุกต์ความรู้ ส่วนปริญญาเอกคือการเรียนเพื่อสร้างความรู้ใหม่ จะเห็นได้ว่ายิ่งเรียนสูง ยิ่งไม่มีทางเลือกให้ชีวิต ดร. ด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง ก็ต้องทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หน้าที่ของเค้าคือต้องหมกหมุ่นกับสิ่งที่รู้ ที่ได้ลงทุนด้วยชีวิตการเรียนไปหลายสิบปี เขาอาจจะต้องทำงานวิจัยจนลืมไปก็ได้ว่าตนเองชอบอะไร และในวัยเด็กเคยฝันอยากจะเป็นอะไร

ทุกวันนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ด้วยการแข่งขันกันในสังคม ทุกคนต้องทำงานเพื่อแลกเงิน จะมีคนอารมณ์ศิลปินกี่คนที่ทำงานเพื่อแลกความสุข วันนี้ผมมีงานหลายอย่าง มีทั้งอาชีพและงานอดิเรก ซึ่งผมจะให้ความสำคัญกับงานอดิเรกมากกว่าอาชีพที่ได้เงินเสียอีก ถึงทำแล้วไม่ค่อยได้เงินในทันที ทำเป็นปีๆ ก็ยังไม่มีกำไร แต่ส่วนหนึ่งในใจลึกๆ ผมคาดหวังว่ามันจะกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ตัวเองในอนาคต งานอดิเรกที่ว่านั้นคือ "การเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยี" ซึ่งกำลังพยายามดึงนวัตกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตต่างมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมที่อยู่ ผมเชื่อว่าผมกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง และทำให้คนหลายคนมีความสุขกับผลงานของผม แต่อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น เมื่อมันเป็นงานอดิเรก มันไม่มีกำลังพอ ไม่มีทุน ไม่มีคนจะมาช่วยกันสานงานให้สัมฤทธิ์ผล มันก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อไม่เสร็จ และไม่แน่ใจว่าบางชิ้นส่วนหายไปไหม แล้วถ้าถามว่าทำไมไม่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำตอบคือ ถึงจุดนี้ผมเริ่มท้อกับคำว่า "การสนับสนุนจากภาครัฐ" เสียแล้ว แต่ก็คงจะไม่ใช่ความผิดของใครเพียงแต่เราไม่เคยจูนกันได้ตรงเสียที มันจะเป็นไปได้ไหมถ้าจะมีใครสักคนคิดจะช่วยเราอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นคำว่า "การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี" ก็คงจะเป็นเพียงคำพูดสวยงามที่จะไม่มีวันเป็นจริงต่อไป

ดังนั้นสิ่งที่เราในฐานะผู้ประกอบการเทคโนโลยีจะต้องทำก่อนก็คือการช่วยเหลือตัวเอง อยากได้อะไรต้องทำเอง แม้ว่าอุปสรรคชิ้นโตสำหรับคนทำเว็บคือผู้ใช้มักคิดว่าทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตเป็นของฟรี มันไม่จริงหรอกครับ ไม่เชื่อลองถาม อาจารย์ธวัชชัยสิครับว่า Gotoknow ฟรีไหม? แม้ผู้ใช้บริการจะใช้ได้ฟรีในวันนี้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการขอทุนจากหน่วยต่างๆ ซึ่งก็ต้องพึงระวังหากยังไม่มี Business model ที่ชัดเจน ปัญหาค่าใช้จ่ายอาจจะกลับมาอีกเมื่อไรก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามมีหลายเว็บไซต์ที่ผมมองว่าประสบความสำเร็จในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Sanook, Kapook, Pantip, Tarad, Jobtopgun ต่างล้วนพิสูจน์ Model ของตนเองว่าเว็บไซต์ไทยก็สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ในประเทศไทย สุดท้ายคงอยู่ที่ว่าเราฉลาดพอไหม มีโชคติดตัวมาด้วยแค่ไหน อย่างที่ Steve Jobs เคยกล่าวสุนทรพจน์ไว้ว่า "เราจะประสบความสำเร็จหากเราสามารถเชื่อมจุดต่างๆ ในชีวิตของเราได้" คนที่ทำเงินได้ก็คือคนที่ทำเงินได้ ส่วนคนที่ยังทำไม่ได้มันต้องมีอะไรผิดพลาดสักอย่าง อาจจะต้องปรับ mindset หรือเปลี่ยน action บางอย่างเพื่อก้าวต่อไปสู่วันข้างหน้า ผมขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนผู้ประกอบการเทคโนโลยีอีกหลายๆ คนที่กำลังพยายามอยู่ และขอให้ตัวเองสู้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 228748เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2008 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สิ่งที่คาดหวัง กับ สิ่งที่เป็นจริง ช่องว่างของสองสิ่งนี้จะแคบลงหรือกว้างออกไป ขึ้นอยู่กับการปรับสิ่งทั้งสอง...

  • สิ่งที่คาดหวัง เราอาจลดระดับลงมาเพื่อให้ใกล้กับสิ่งที่เป็นจริงได้
  • สิ่งที่เป็นจริง เราค่อยๆ สร้างขึ้นมาเพื่อให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่คาดหวังได้
  • ใครก็ตามที่ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับสิ่งที่คาดหวัง อาจกล่าวได้ว่าเป็น ผู้ใฝ่ฝัน
  • แต่ผู้ที่ดำเนินชีวิตขัดแย้งกับสิ่งที่คาดหวัง อาจกล่าวได้ว่าเป็น ผู้เพ้อฝัน
  • คนเรานั้น จะมี ๓ อย่าง คือ ความใฝ่ฝัน ความเพ้อฝัน และ ความเป็นจริง

เพียงแต่ว่า บางคนแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้ชัดเจน... ส่วนบางคนกลับทำให้สิ่งเหล่านี้ผสมปนเปกัน ทำให้ยากในการทำความเข้าใจตนเอง...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท