เรียนรู้กับเด็กโรงเรียนบ้านพลอย : คิดอย่างไรให้เป็นระบบ


การสอนครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เด็กคิดเป็นระบบเท่านั้น แต่เรายังสามารถเชื่อมโยง จุดประกายเนื้อหาไปยังความรู้อื่นๆ ได้ ซึ่งทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยที่ไม่รู้สึกว่าเขากำลังถูกสอนอยู่

เมื่อวันที่ 3 , 10  และ 17 เดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาส ไปสอนนักเรียนโรงเรียนบ้านพลอย  ย่านเมืองเอก รังสิต-ปทุมธานี  ตามนโยบายของโรงเรียน ที่ส่งเสริมให้ผู้ปกครองได้มาเล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้นักเรียนฟัง เพื่อเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ ให้กว้างไกลขึ้น ซึ่งนักเรียนที่เข้าเรียนในวันดังกล่าว เป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 จำนวน 2 ห้อง และชั้นประถมปีที่ .6 อีก 1 ห้อง โดยใช้เวลาสอนห้องละประมาณ 90 นาที ผมรู้สึกประทับใจมากที่เด็กกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าถาม เมื่อเปรียบเทียบกับการสอนผู้ใหญ่ที่เคยสัมผัสมา ผมรู้สึกว่าเด็กเหล่านี้อาจจะมีแนวคิดที่กว้างและลึกกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียด้วยซ้ำ

เริ่มต้นการสอนด้วยการพูดคุยทำความคุ้นเคยกัน และมีข้อตกลงว่าทุกคนต้องได้คุยและแสดงความคิดเห็น  จากนั้นให้เด็ก จับคู่จากรูปภาพที่แสดงบนหน้าจอ Power Point  แล้วให้บอกเหตุผลว่าทำไม จึงเป็นคู่กัน  เมื่อแด็กทุกคนได้แสดงความคิดเห็นแล้ว ผมก็สรุปโยงเข้าเรื่องการคิดด้วยสมองด้านซ้ายและด้านขวา และให้เล่นเกมอีกเล็กน้อย เพื่อเชื่อมโยงเนื้อหาเรื่องการคิดด้วยสมองด้านซ้ายและด้านขวา ให้ชัดเจนขึ้น จากนั้นก็ให้เด็กฝึกการคิดด้วยสมองด้านซ้ายและขวา โดยออกมาในรูปการแข่งขัน ที่ต้องจำกัดเวลา คือ หาตัวเลข ค.ร.น. (คูณร่วมน้อย) ให้ได้มากที่สุดภายในเวลา 1 นาที หรือ ให้เขียนประโยชน์ของดินสอว่าทำอะไรได้บ้าง ให้ได้มากที่สุด ภายในเวลา 1 นาที  และแน่นอนเราก็ต้องมีรางวัลให้เพื่อเป็นการเสริมแรงต่อไป

จากนั้นก็พูดคุยต่อในเรื่องการคิดด้วยหลักการของหมวก 6 ใบ แล้วให้ฝึก โดยการแบ่งกลุ่ม 5-7 คนต่อกลุ่ม ช่วยกันคิดและนำเสนอ

จากนั้นก็สอนทฤษฎีต่อ โดยการพูดคุย ถามตอบ ถามความคิดเห็น ยกตัวอย่างเล่านิทาน หรือเล่นเกมบ้าง ระหว่างนี้ก็มีการแจกรางวัลเป็นช่วงๆ เพื่อให้ไปเชื่อมโยงไปกับวิธีคิดในแต่ละอย่าง ในช่วงนี้ ทำให้เด็กได้เชื่อมโยงความรู้เดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เช่น การคิดแบบหลากหลาย (แบบนี้ แบบนั้นได้มั้ย ) ที่ต้องอาศัยหลักของการนำคำ กริยา บุพบท วิเศษณ์ มาเป็นตัวจุดประกาย เด็กก็จะได้เชื่อมโยงเรื่องภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยเข้าไปด้วย หรือการคิดแบบ What If เด็กก็จะพยายามหาเหตุผลตามตรรกะ ตามการคำนวณ ตามพื้นฐานความรู้เดิมที่ตัวเองมีอยู่ เช่น ถ้าน้ำท่วมโลกเราจะทำอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องพยายามควบคุมชั้นเรียน ไม่ให้เด็กออกนอกกรอบมากเกินไป

ตอนสุดท้ายก่อนจะจบ ผมก็เชื่อมโยงเข้าเนื้อหาพุทธวิธีในการคิด โดยใช้คำถามว่า ที่สอนมาทั้งหมดเชื่อหรือไม่ จากนั้นก็เชื่อมโยงไปยังเรื่อง แนวคิดของกาลามสูตร และการคิดโดยวิธีโยนิโสมนสิการต่อไป  จากเรื่องโยนิโสมนสิการ ทำให้สามารถเชื่อมต่อไปยังเรื่องการทำสิ่งที่เป็นบุญ เป็นกุศลได้ จึงจบสุดท้ายด้วยการให้เด็กนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบและส่งความปราถนาดีไปยังคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง คนรู้จัก

ตลอดเวลากว่า 90 นาทีที่อยู่ในบรรยากาศการเรียนการสอนนี้ ทำให้ผมได้พบว่า การสอนครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เด็กคิดเป็นระบบเท่านั้น แต่เรายังสามารถเชื่อมโยง จุดประกายเนื้อหาไปยังความรู้อื่นๆ ได้ ซึ่งทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยที่ไม่รู้สึกว่าเขากำลังถูกสอนอยู่ และทำให้มีแรงบันดาลที่จะไปค้นหาความอยากรู้อยากเห็นนั้นต่อไป  ผมเชื่อว่าเด็กจะเป็นผู้ค้นพบความรู้นั้นเองโดยที่ผู้สอนเป็นเพียงคนนำทางให้เท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 228747เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2008 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ก่อนอื่นต้องชื่นชมทางโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการศึกษาของลูกหลาน ก็เลยได้ประโยชน์จากผู้ปกครองที่เป็นนักอบรมมืออาชีพอย่างเจ้าของบันทึกนี่แหล่ะค่ะ สอนให้เด็กคิดให้เป็นนี่เป็นเรื่องสำคัญมากนะคะ ทุกวันเมื่อลูกกลับจากโรงเรียน จะไม่ถามว่าวันนี้ลูกเรียนอะไรบ้าง แต่จะถามเขาว่าวันนี้ครูกระตุ้นให้หนูคิดอะไรได้บ้าง  

 

แวะมาเยี่ยมเยียนและทักทาย "ไทเลย-บ้านแฮ่" เป็นครั้งแรก

และสัญญาว่าจะมาอีกบ่อยๆ นะคะ

ยอดเยี่ยมมั่กมากเลยเพื่อนเอ้ยๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

คาดไม่ถึง (เพราะเข็มขัดสั้น)ว่าคุณอรรถวุฒิ เพื่อนผมจะมีอุดมการณ์แรงกล้าปานนี้

นับถือ นับถือ

วันเด็กปี 2552 คุณอรรถวุฒิ พอจะปลีกเวลาได้บ่

อยากให้มาสัมผัสและให้ความรู้กะเด็กนักเรียนแถบสระบุรี 2-3 โรงเรียนบ้าง

ชื่อโรงเรียนแถวนี้อาจจะเชยๆไปบ้างนะ

โรงเรียนวัดหนอง...

โรงเรียนโคก...

ประมาณนี้

เมื่อวันที่ 24 ธค. 51 ผมขับรถผ่านโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลแถวๆนั้น เห็นเด็กๆออกมาวิ่งเล่นกันหงอยๆในสนามหน้าโรงเรียน

เลยเลี้ยวรถไปสอบถามผอ.โรงเรียน (มีนักเรียนประมาณ 50 คน ตำแหน่งครูใหญ่สมัยก่อนเค้าเลิกไปนานแล้ว เปลี่ยนเป็น ผ.อ.หมดอ่ะ)ว่าพาเด็กนักเรียนมารับไออุ่นจากแสงแดด เพราะเด็กๆไม่ค่อยมีเสื้อกันหนาวกัน ถ้าอยู่ในอาคารเรียน (อาคารไม้ชั้นเดียว)เด็กๆจะหนาว

กลับมาที่บริษัทฯเลยไปขอบริจาคเงินมาซื้อขนมปัง(ปี๊บ) + สมุด + ดินสอ + เครื่องเขียน ได้จำนวนหนึ่ง วันที่ 30 ธ.ค. 51 รวบรวมไปแบ่งๆให้เด็ก 3 โรงเรียน เป็นของขวัญปีใหม่

วันเด็กปีนี้เลยบอกบุญมายังอาจารย์อรรถวุฒิ ถ้าสนใจก้อหลังไมค์มาที่ผมนะคับ

เพิ่งเข้าอ่านครั้งแรก ตอนแรกคิดว่าคงงั้นๆ แต่พอได้อ่านรู้สึกดี เข้าใจง่ายและเพลิน ไม่น่าเชื่อว่าจะนำทฤษฎีที่สอนผู้ใหญ่มาปรับใช้สอนเด็กๆ และออกแบบการสอนได้เหมาะกับกลุ่มผู้เรียน คิดว่าจะขออนุญาตนำไปปรับใช้สอนบ้าง คงอนุญาตนะคะ

สุดยอดเลยค่ะ

ขอมาสอนที่โรงเรียนบ้างได้ไหมค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ละเอียดที่เข้ามาเยี่ยมเยือนกันครับ ปีนี้ (2552) ผมก็ได้ไปสอนอีกครั้ง ดูบรรยากาศได้ที่ Link นี้เลยครับ

http://gotoknow.org/blog/attawutc/283746

 

ยอดเลยครับ จะนำไปใช้ ขอบคุณครับ

สุดยอดเลยค่ะ..ขอยกให้เป็นครูมืออาชีพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท