สิทธิเด็ก ผลประโยชน์ของใคร? และระบบสิทธิเด็กของชุมชนที่ถูก (ทำให้) มองไม่เห็น


สิ่งที่ถูกบิดเบือนก็คือ ยังมีระบบสิทธิเด็กในชุมชนประเพณี ยังมีผู้รู้ในชุมชน ที่เป็น “นักสิทธิเด็ก” อยู่ใช่ไหม?

7 เมษายน 2549 วันนี้เป็นอีกหนึ่งวัน ที่ผมเบี้ยวการเข้าร่วมกิจกรรมอบรมอาสาสมัครสิทธิเด็กที่โรงเรียนในท้องถิ่นจัดขึ้น


เป็นโปรเจ็คที่ค่อนข้างใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกกับผมว่า ถ้าผ่านการอบรมนี้จะมีเงินดงเงินเดือนในฐานะอาสาสมัครกะเค้าด้วย


ดูเผินๆ ก็น่าสนใจนะครับครู อย่างน้อย ก็อาจจะประคับประคองกรรมกรข้อมูลอาชีพอิสระอย่างผมได้ อีกอย่างการได้เข้าไปช่วยงานกับโรงเรียน ก็น่าจะกระชับความสัมพันธ์และปูทางไปสู่ความร่วมมือต่างๆได้ หากแต่พอย่างก้าวเข้าไปในงาน ไปเจอท่านผู้จัดและบรรยากาศในงาน ทำให้ผมตั้งคำถามในใจลึกๆ จนต้องถอยออกมา


โดยหลักการที่จะให้สถานศึกษาเป็นผู้จัดการสนับสนุนสิทธิเด็กนั้น เป็นเจตนาที่ดีครับ แต่ประทานโทษ.....ลดอัตตาลงสักนิดลงเถอะครับคุณครู ลำพังโรงเรียน หรือเครือข่ายโรงเรียน เรามีศักยภาพแค่ไหน ในการดำเนินการเรื่องนี้?


ระบบการศึกษาสมัยใหม่ เชื่อกันอย่างงมงายว่า ถ้าคุณผ่านการอบรมอะไรสักอย่างที่ได้  "มาตรฐาน(ซึ่งกำหนดโดยใครก็ไม่รู้ที่เราสืบโคตรเหง้าไม่ได้) คุณก็จะมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ คุณจะได้ใบประกาศ ได้รางวัลทางสังคมต่างๆ ในฐานะที่คุณไม่ต้องคำถามกับสิ่งเหล่านี้ เป็นผักปลาที่ดีอยู่ในระเบียบสังคมที่เขาวางไว้


ปัญหาของวิธีคิดเรื่องสิทธิเด็กที่ครอบงำครูและนักพัฒนา เช่นเดียวกับประเด็นต่างๆ ก็คือ ถูกครอบโดยระบบการศึกษาสมัยใหม่ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้เรื่องสิทธิเด็ก จึงจำเป็นต้องมาจาก สำนัก (School)  ต่างๆ มาจากการฝึกอบรม ซึ่งก็ไม่ผิด


แต่สิ่งที่ถูกบิดเบือนก็คือ ยังมีระบบสิทธิเด็กในชุมชนประเพณี ยังมีผู้รู้ในชุมชน ที่เป็น “นักสิทธิเด็ก” อยู่ใช่ไหม?


แล้วท่านผู้รู้ชุมชนเหล่านั้น ถูกมองข้ามไปได้อย่างไร?


ผมคิดว่า โรงเรียนและครูเองต้องมองให้ทะลุความมืดบอดเหล่านี้


                  มิใช่จัดการอบรม ก็มีแต่ครู ข้าราชการ (อาจจะมีนักพัฒนาเอกชนเข้ามาบ้าง) โดยขาดการมีส่วนร่วมของและชุมชน (โดยมองความรู้เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิเด็กอย่างลุ่มลึก ไม่ด่วนตัดสินว่าถูกหรือผิด)


มิพักต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมถึงครอบครัวของพวกเขา (อย่างกระตือรือล้น สร้างสรรค์ และมีชีวิตชีวา) มิใช่มาอบรมเพราะถูกโน้มน้าวแกมบังคับ เพราะอำนาจครูข่มพวกเขาอยู่


หลักสิทธิเด็กที่สำคัญข้อหนึ่ง ก็คือ การจัดพื้นที่ เวทีให้พวกเขาแสดงความเห็นออกมาโดยไม่ถูกครอบงำ สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ ในที่ประชุมซึ่งมีครู ผู้บริหาร วิทยากรผู้ทรงภูมิล้อมรอบเหมือนคอกรอบด้านเช่นนี้ เยาวชนจะเปล่งเสียงจากหัวใจอย่างอิสระได้อย่างไร


แล้วใคร? ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง จากการจัดกิจกรรมเช่นนี้ จนเด็กต้องมาแอบซุบซิบตั้งคำถามกันว่า


“นี่มันสิทธิของหนู หรือของใครกันแน่ (วะ)”

คำสำคัญ (Tags): #งานพัฒนา
หมายเลขบันทึก: 22841เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2006 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ชุดนักเรียน
การไว้ผม
กระเป๋านักเรียน

เคยมีคำถามจากข้อมูลข้างต้น
ว่าทำไม ต้องใส้ชุดนักเรียน
ว่าทำไม ต้องไว้ผมได้เท่านี้
ว่าทำไม ต้องใช้กระเป๋าแบบนี้

มันไม่ได้ช่วยให้เรียนเก่งขึ้นเลย
สิ้นเปลืองค่าชุด ค่าใช้จ่าย

แต่เพื่อความเป็นระเบียบที่ผู้ใหญ่กำหนดขึ้นมา จะได้ควบคุมได้ และเมื่อเด็กโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกควบคุมได้ อีกเช่นกัน..

คือ.. คนที่มีอำนาจ ไม่อยากสูญเสียอำนาจไป อยากปกครองคนต่อไป ควบคุมคนต่อไป..

สวัสดีครับ

ผมไม่ได้เข้าร่วม ปลรร ครั้งนี้เช่นกันครับ  เพราะติดอยู่เวรและก็พรุ่งนี้มีแพทย์คนเดียวครับ

ผมมองว่าการเริ่มต้นก็เป็นสิ่งที่ดีครับ  มันอาจจะมีภาพและสิ่งที่

พี่รู้สึกและเห็นก็จริงครับ  แต่ว่าถ้าหากว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันอย่างแม้จริงแล้ว  เราน่าจะเชื่อโยงความต่างนี้ได้นะครับพี่  แบบค่อยเป็นค่อยไป  เพราะงานนี้อย่างน้อยคนทำก็คงจะอยู่บนฐาน

และวิธีคิดหลักๆคือ  ความเมตตา ความเสียสละ

ผมอาจจะยังไม่ลึกซึ้งกับประเด็นนี้มากนักครับ  แต่ก็พยามมอง

ในแง่บวกไว้ก่อนครับ

  ให้กำลังใจพี่ครับ

     ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยคนครับ  ประสบการณ์ที่เจอ  เวทีเด็ก  เยาวชนบ้านเรา  ส่วนใหญ่ก็ถูกจัดวางเกือบทั้งสิ้น  ที่ว่า ผู้ใหญ่ (ใจดี)  เขาสนับสนุนนั้น  ส่วนใหญ่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขการเมืองดี ๆ นี่เอง  แต่ก็คิดแง่บวกไว้  ว่า เราคงช่วยขับเคลื่อนได้ไม่มากก็น้อย  อย่างน้อยก็สร้างเวทีเล็ก ๆ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ง่าย ๆ ในชุมชน  แล้วเสียงจากเด็ก ๆ จะทรงพลังขึ้น  หากเขามีโอกาสอย่างอิสระ  ที่จะคิด  ที่จะบอก  

   

เวทีที่คุณยอดดอย ปรารถนี้ ผมเข้าร่วมด้วยครับ ผมก็พอที่จะเห็นความพยายาม และความตั้งใจจริงของผู้จัด ผมเข้าใจว่า โดยพื้นฐานทุกคนมีความดีงาม และมีจิตสาธารณะที่จะทำงานเพื่อสังคม เพื่อเด็ก แต่ความพยายามที่เกิดขึ้น ก็ถูกตีความจากหลายๆ คน หลายๆกลุ่ม (แม้กระทั่งผู้ที่เข้าร่วมเวที) แต่ก็เถอะ ทุกอย่างไม่สำเร็จรูป มัน คือ การวิจัย ดังนั้น จะถูก ผิด หรือ จะสำเร็จ ล้มเหลวอย่างไร ทีมทำงานต้องทำใจให้เป็นกลางและยอมรับและพร้อมที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง จากกระบวนการถอดบทเรียน เราเป็นผู้ใหญ่กลุ่มแรกๆ ที่นี่ที่ริเริ่มทำอะไรเพื่อสิทธิเด็ก หากว่า กระบวนการบางอย่าง ยังไม่ลงตัวหรือยังต้องทบทวน ช่วยกันครับ ขอเชิญชวนมาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ครับ www.gotoknow.org/mhsresearch
ใบตอง..นักมานุษย์
คุณ..ยอดดอย (ลงมาไม่ได้ )... สำนักที่กล่าวอ้างถึงคืออะไร..ก่อนที่จะมากล่าวว่าคนอื่นว่ามีที่มาที่ไปของสำนัก คุณเองก็ผ่านความเป็นสำนัก ที่ทำให้คุณเติบโตและได้มาเขียน ด่าคนอื่นอยู่ป่าวๆ หรือเปล่า....หรือไอ้ใบปริญญาที่ได้มาไม่ใช่มาตรฐาน..ในการการันตีของความเป็นมาตรฐาน เช่นเดียวกับใบประกาศ. ...ถ้าจะเข้าใจเรืองสิทธิเด็กอย่างลึกซึ้ง ก็ต้องเข้าใจว่า สิทธิมาคู่กับหน้าที่ของเด็ก (เคยเป็นเด็กใช่ไหม และเคยท่องไหมว่า เด็กเอ่ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน) แต่แปลกนะ คนไทยหรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กทุกฝ่ายในสังคม ก็ไม่ได้บอกว่า หน้าที่ต้องมากับความรับผิดชอบ ทั้งที่เรื่อง "สิทธิ " เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตในสังคม...ในการที่จะ resposibilities ต่อคนรอบข้างและคนในชุมชนและสังคม คุณยอดดอย ค่ะ..concern บ้างไหม หรือเปล่า..วัฒนธรรมสากล กับ วัฒนธรรมชุมชน พอๆๆ กันไหมค่ะ
ยอดดอย (พี่วิสุทธิ์ culturegarden.gotoknow.org)

ขอบคุณคุณใบตองมากครับ สำหรับความคิดเห็น ผมเองก็ไม่เข้าใจหรอกครับว่าสิทธิเด็กมันคืออะไรแน่ พูดตามตรง ผมว่าผมเองก็เคยละเมิดสิทธิเด็กมาเยอะ ก็ไม่ใช่คนดีอะไรหรอกครับ เพียงแต่ผมเห็นว่าเราไม่ควรปิดกั้นให้สิทธิเด็กมีนิยามเดียว โดยที่ผ่านมาผู้ที่นิยามคำว่า "สิทธิ" ทั้งหลาย โดยมากจะผูกขาดความรู้โดยชนชั้นปกครอง หรือชนชั้นกลางอย่างผม อย่างเราๆท่านๆนี่แหละ รวมไปถึงองค์กรผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย

ผมไม่ได้คิดว่าวัฒนธรรมชุมชนมันจะโรแมนติกไปหมดหรอกนะครับ แต่เท่าที่สัมผัส ผมว่ามันละเอียดอ่อนโยนกว่าที่หลายๆคนเข้าใจเยอะ ซึ่งตรงนี้มันอธิบายลำบาก เหมือนกับจะให้เขียนบรรยายว่าดอกกุหลาบมันหอมอย่างไร มันก็บรรยายยาก

และหน้าที่ของผมในฐานะนักวิชาการ ก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิดอะไร เพียงแต่อยากจะบอกกับใครๆว่าช่วยกรุณาเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านธรรมดาๆได้ออกมาสร้างนิยามเรื่องต่างๆในมุมมองและวิธีคิดของพวกเขาเองบ้าง อย่างเรื่องสิทธิเด็กนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในนั้นด้วย

มีการครอบงำทางสังคมหลายประการที่แฝงมากับการศึกษาโดยที่เรามักไม่รู้ตัวนะครับ หรือบางคนอาจจะรู้ตัว แต่ก็ไม่รู้จะถอยจากตรงนั้นได้อย่างไรเพราะอำนาจ หน้าที่ ผลประโยชน์มันพันธนาการอยู่ อย่างเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกันนี่มีใครตั้งคำถามกันสักเท่าไรครับว่า มันสร้างโดยใคร บริบทของเพลงนี้เป็นอย่างไร เกิดขึ้นมาสมัยไหน แล้วมันสอดรับกับความจำเป็นของเด็กและเยาวชนอย่างไร ฯลฯ ในความเห็นส่วนตัวของผม ซึ่งยังไม่ได้มีการวิจัยอะไร ก็เห็นว่า เพลงนี้ ดูเผินๆก็ดีนะครับ แต่ในแง่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว เป็นนวัตกรรมที่รัฐสร้างขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการเด็กให้ศิโรราปกับระเบียบต่างที่รัฐสร้างขึ้น โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ครู วิจารณ์รัฐ วิจารณ์ชาติ เด็กไทยคนไหนเป็นนักวิจารณ์สังคม วิจารณ์ครู วิจารณ์รัฐ วิจารณ์นายก แล้วรัฐยกย่องบ้างครับ

             ฟันธงเลยครับว่า เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีมีเนื้อหาอนุรักษ์นิยม และชาตินิยมสุดขั้วซ่อนอยู่ เพียงแต่ใครจะมองเห็นหรือไม่ และจะกล้าแหกคอกหรือไม่

              แถมเพลงนี้ยังมีเวอร์ชั่นเดียว เด็กแถวบ้านผมเอาไปแปลงเนื้อเป็นตลกโปกฮา นี่สิทธิของเขาไหม แต่ถ้าให้เขาเอาไปร้องหน้าเสาธง คงหนีไม่พ้นถูกครูทำโทษ และถูกสังคมผู้ใหญ่ลงโทษ

               กลับมาถามกันอีกทีเถอะครับ ว่าเราต้องการให้ประเทศมีเยาวชนแบบไหน แล้วจริงๆพวกเขาและเธอเข้าใจ และอยากทำอะไร

               การใช่ถ้อยคำตรงไปตรงมาของผมอาจจะดูเหมือนคำด่า แต่ถ้าด่าด้วยสาระ ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ใจ ด้วยอยากเห็นสังคมเคารพเสียงที่หลากหลายมากขึ้นได้ ก็น่าจะดีกว่าปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ ว่าไหม? 

              สุดแล้วแต่ใครจะเอาไปตีความนะครับ

 

ทุกวันนี้มีคนแย่งกลุ่มคนให้มาเป็นพวกโดยเอาคำว่าสิทธิมาเป็นตัวตั้ง สอนคนให้เอาแต่ประโยชน์ใส่ตัว เห็นแก่ตัว รู้แต่จะรับบริการที่ดีจากคนอื่น แต่หน้าที่ไม่เคยเอ่ยถึง สังคมจะอยู่อย่างเป็นสุขทุกคนคนต้องพูดถึงหน้าที่ก่อนสิทธิ พระพุทธศาสนาสอนให้คนทุกคนยอมรับความจริงและโทษตัวเองไม่กล่าวโทษผู้อื่น  ทุกคนในสังคมตั้งแต่ครอบครัว พระพุทธเจ้าจะบัญญัติหน้าที่ไว้ให้ และไล่ไปจนถึงหน้าที่ของนักปกครอง แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครพูดถึงหน้าที่เด็ก พูดถึงแต่สิทธิเด็ก ไม่สอนกันด้วยเหตุผล ความเป็นจริงของการดำรงชีวิต ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ไม่ใช่ผู้ใหญ่สุขฝ่ายเดียวหรือเด็กสุขแต่เพียงฝ่ายเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท