ตำนานถ้ำหลวงเชียงดาว กับวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวไต (ตอนที่๒)


ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ถ้ำหลวงเชียงดาว ศาลเจ้าเมือง

ต่อจากนั้นมา ระยะเวลาว่างเปล่าไปอีกราว 200 ปีเศษ ตามบริเวณหน้าถ้ำคงมีแต่ป่าพงชัฏและต้นไม้สูงใหญ่ใบหนา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิงห์สาราสัตว์ทุกชนิด ต่อมาในราวปีพ.ศ. 2430 จึงมีผู้มาพบถ้ำหลวงเชียงดาวอีกท่านผู้นั้นมีนามว่า "พญาพิบาล" นามเดิมคือ อินต๊ะ เป็นฆราวาสชาวไตเหนือ ท่านผู้นี้ได้โยกย้ายครอบครัวมาถางป่าทำไร่และตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าถ้ำหลวง ต่อมาครอบครัวอื่นๆก็โยกย้ายตามมากลายเป็นบ้านใหม่เรียกว่า "บ้านถ้ำ" พญาพิบาลได้สั่งสอนอบรมลูกน้องชาวบ้านถ้ำทุกคนให้ตั้งอยู่ในศีลห้า ศีลแปด และได้พาชาวบ้านตรวจดูสภาพถ้ำหลวงเห็นว่าทางเข้าถ้ำต้องเข้าตามรูที่อยู่ข้างบนที่เรียกว่า "ปล่องแจ้ง" จึงช่วยกันถางเนินดินที่ริมหน้าถ้ำและเจาะรูทางเข้าแล้วสร้างบันไดนาคขึ้นสู่ปากถ้ำ ให้ช่างปั้นรูปเทวดาที่ริมสองข้างทางอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังสร้างพระพุทธรูปไว้ในถ้ำอีกมากมาย ช่างปั้นเป็นชาวพม่ามีนามว่า "หม่องส่ง" หลังจากนั้นได้สร้างวัดและวิหารไว้ที่หน้าถ้ำจนถึงปี พ.ศ. 2453 พญาพิบาลก็ได้ถึงแก่มรณกรรม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 มีฤาษีรูปหนึ่งเป็นชาวมาจากเมืองลายค่ารัฐฉาน มีนามว่า "ฤาษีอูคันธะ" เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในทางสมถะและวิปัสสนาได้ชักชวนบรรดาพุทธมามะกะทั้งใกล้และไกลมาสร้างถาวรวัตถุไว้ในถ้ำและนอกถ้ำอีกมากมาย สร้างเจดีย์องค์ใหย่ที่ปากถ้ำ จำลองมาจากพระเจดีย์แรงกุนในพม่า สร้างพระพุทธรูปบนเนินผา 4 องค์ สร้างพระนอน โดยช่างฝีมือที่ชื่อ "หม่องอัด" แล้วสร้างโบสถ์ศาลา พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ศาลาริมน้ำเรียกว่า "พระทันใจ" คือสร้างเสร็จโดยเร็วทันอกทันใจนั่นเองออกแบบโดยหม่องส่ง นอกจากนี้ยังได้สร้างสระน้ำ สวนอุทยานดอกไม้กว้าง 1 ไร่เศษ ฤาษีอูคันธะอยู่ที่ถ้ำหลวงเชียงดาวได้ 12 ปี แล้วจึงลาญาติโยมชาวบ้านถ้ำไปอยู่กับพวกไตที่อำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วย้ายไปอยู่เมืองปั่นรัฐฉานและมรณภาพในเวลาต่อมา

ครั้นต่อมาในปีพ.ศ. 2477 ครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปางจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยขุนอุปการประชาชนนายอำเภอเชียงดาวและทายกทายิกาทั้งหลายได้สละทรัพย์สร้างวิหาร พระพุทธรูปขนาดใหญ่ กุฏิสำหรับภิกษุสามเณรพักจำพรรษา ปีพ.ศ. 2481 นายพวง สุขสามัคคีนายอำเภอเชียงดาวกับนายโสภณ ณ เชียงใหม่ ได้สละทรัพย์สร้างศาลเทพารักษ์ และสร้างกุฏิอีกหนึ่งหลัง แล้วช่วยกันจัดงานฉลองครั้งใหญ่เรียกว่า "ปอยหลวง" จนถึงปีพ.ศ. 2492 หลวงพ่อทองคำได้มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นผู้มีน้ำใจศรัทธาเลื่อมใสชอบทำบุญทำมานมาก ชอบก่อสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์อย่างไม่อั้น อย่างที่เรียกว่า "เมื่อคิดจะสร้างไม่กลัวเงินผลาญ เมื่อคิดจะทานไม่กลัวเงินหมด" ท่านจึงได้ปรับปรุงบริเวณลานหน้าวัด สร้างสะพานใหม่ สร้างฝายกั้นน้ำ บันไดคอนกรีต และสิ่งอื่นๆอีกมากมาย

อย่างไรก็ตามถ้ำหลวงเชียงดาว อาจมีสิ่งธรรมชาติอันสวยงาม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือ หากแต่เบื้องหลังประวัติความเป็นมาที่พวกเรารับทราบนั้น เป็นสถานที่ลึกลับไม่มีใครทราบเส้นทางเข้าไปว่าลึกมากแค่ไหน จนเกิดตำนาน "เจ้าหลวงคำแดงตามกวาง" หรือ ตำนานสุวรรณคำแดงตามกวาง ซึ่งชาวไตเรียกว่า "เจ้าหน่อคำแหลง" ตำนานนางจำปูของชาวไต ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าซูลาย ผีบรรพบุรุษของชาวล้านนา ซึ่งถือเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่ปกปักรักษาเมืองแม่ฮ่องสอน ควบคู่กับเจ้าข้อมือเหล็ก ที่สิงสถิตย์อยู่ ณ ศาลเจ้าเมืองทุกแห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พอถึงเวลาเลี้ยงเมืองในเดือนเจ็ดของทุกปี วิญญาณในร่างทรงก็จะบอกกล่าวอยู่เสมอว่า ท่านพำนักอยู่ที่ถ้ำหลวงเชียงดาว แม้บางคนอาจจะยังไม่เคยพบเห็นถ้ำหลวงเชียงดาวมาก่อน แต่จะรู้จักในฐานะที่เป็นที่พำนักของ "เจ้าเมือง" ที่ชาวไตเคารพนับถือนั่นเอง

ความศักดิ์สิทธิ์ของถ้ำหลวงเชียงดาว ยังมีเรื่องเล่าถึงความแปลกประหลาดและเหลือเชื่ออีกมากมาย ตัวอย่างเช่น ตำนานพระพุทธรูปหินอ่อนที่ฤาษีอูคันธะได้นำมาจากเมืองมัณดะเล ซึ่งประดิษฐานไว้ที่ถ้ำเสือดาว มีคนมักได้มักง่ายได้นำเอาพระพุทธรูปหินอ่อนไป ก็ดูเหมือนจะมีอันเป็นไปไม่รอดตายสักคน สุดท้ายก็ต้องนำมาคืนโดยนายทองทศ อินทรทัตผู้ครอบครองคนสุดท้าย นอกจากนี้ยังมีประวัติคนหายเข้าไปในถ้ำอีกสองคน ที่มีชื่อเหมือนกันคือลุงเสด คนหนึ่งหายไปเลย อีกคนหนึ่งหายไปได้สามเดือน แล้วกลับมาเล่าเรื่องการไปรับใช้เทพเจ้าให้ลูกหลานฟัง ซึ่งชาวบ้านทั้งหลายต่างก็เชื่อว่า เทพเจ้าได้นำเอามนุษย์ไปเป็นผู้รับใช้ หนังสืออีเก้งเข้ากรุงกล่าวว่า ดอยหลวงเชียงดาวเป็นดอยที่สำคัญ ซึ่งเต็มไปด้วยเทพเจ้าเฝ้ารักษา และเทพเจ้าเหล่านี้ล้วนมาจากพม่า อินเดีย ชานสเตต และอินโดจีน และเมื่อปีพ.ศ. 2491     นายอุยอด ชาวบ้านป่าม่วนในเชียงตุงได้เล่าว่า เจ้าหลวงคำแดงไปเข้าสิงคนในเชียงตุงว่า "เทพาอารักษ์ตามศาลต่างๆทั่วไป ได้มาประชุมกันที่ดอยหลวงเชียงดาวทั้งหมด" สอดคล้องกับความเชื่อของชาวไตในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เชื่อว่า เจ้าเมืองที่สิงสถิตย์ ณ ศาลเจ้าเมือง มาจากถ้ำหลวงเชียงดาว

ถ้ำหลวงเชียงดาว ได้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวไตดังกล่าวแล้ว สมควรที่ลูกหลานชาวไตจะได้ศึกษาเรียนรู้ ตำนาน ปละประวัติความเป็นมาของถ้ำหลวงแห่งนี้ เพื่อสืบสานไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป

อ้างอิง

กรมวิชาการ "เล่าเรื่องเมืองเหนือ" ว่าด้วยสถานที่สำคัญ กรุงเทพฯ ,2522

แสงทองริกา "ตำนานถ้ำหลวงเชียงดาว และประวัติความเป็นมาของวัดปากถ้ำ ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม เชียงใหม่ ,2513

จากการสัมภาษณ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ในเมืองแม่ฮ่องสอน

หมายเลขบันทึก: 228321เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2008 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ตามมาทักทายท่าน ศน ก่อนนะครับ

สวัสดีค่ะ

มาเรียนรู้ตำนาน ถ้ำหลวงเชียงดาว ด้วยคนค่ะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

ขอบคุณทั้งสองท่าน ที่ตามเข้ามาอ่าน แหมยังพิมพ์ไม่เสร็จเลยครับเข้ามาก่อนเสียแล้ว ผมเขียนตำนานเรื่องนี้ไว้ให้ลูกหลานชาวแม่ฮ่องสอนได้ตระหนักรู้ว่า ผีเจ้าเมืองของเราทุกศาลเจ้าเมืองที่เราเคารพนับถือนั้นมาจากไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จะให้ชัดเจนต้องตามไปอ่านเรื่อง "ศาลเจ้าเมือง เจ้าข้อมือเหล็กและเจ้าเมืองแข่ของชาวไต" ที่ผมได้บันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้อยู่ในปัจจุบันนี้ครับ ขอบคุณมากครับ

ลุงเกค่ะ

อยากไปมากๆ ค่ะ เมืองในฝันเลยละค่ะ ตอนไปเชียงใหม่กะว่าจะอยู่ต่อ และขึ้นไปแม่ฮ่องสอน แต่ก็อดเพราะต้องไปทำธุระที่ลำปางต่อ....

ขอบคุณลุงเกนะค่ะ

ต้องการหนังสือเรื่อง อีเก้งเข้ากรุง เขียนโดย อารยันตคุปต์ รบกวนขอคำเนะนำจากอาจารย์เกด้วยนะคะ

คุณอ้อครับ

ต้องขอโทษที่เพิ่งทราบ ผมเคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ แต่ยังไม่เคยอ่าน เข้าใจว่าที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯน่าจะมี ท่านลองไปสอบถามดูนะครับ

อาจารย์เก

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะช่วยได้เยอะเลย

มาศึกษาหาความเรื่องรู้เรื่องถ้ำหลวงด้วยอีกคนค่ะ ในปีนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของกลุ่มเด็ก 13 คน ที่เข้าไปในถ้ำหลวง จนขณะนี้ผ่านไป 7 วัน ยังไม่มีความคืบหน้าความเคลื่อนไหว  ส่งกำลังใจให้เด็ก ๆ ทุกคนปลอดภัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท