ทริปหนึ่งวัน.....ไปหาหยกที่แม่น้ำ Arahura


ทริปที่จะเล่าในวันนี้เป็นทริปของอาจารย์ชาวเมารี ที่เล่าเรื่องของตำนานของหยก และแม่น้ำ Arahura เป็นแม่น้ำที่เป็นแหล่งหยกที่สำคัญของชาวเมารี ซึ่งหยกที่ว่านี้แตกต่างจากหยกของประเทศจีน ที่นี่เรียกว่า Green stone แต่เป็น nephrite ไม่ใช่ Jadeite หรือ Jade สำหรับ Jadeite เกิดจากซิลิก้าของโซเดียมและอลูมิเนียม ส่วน Nephrite เป็นซิลิก้าของแคลเซียมและแมกนีเซียม

ชาวเมารีเรียกว่า Pounamu (โพะอุนะมุ อ่านเร็วๆ เป็น โพนะมุ) ส่วนชาวนิวซีแลนด์เรียกว่า Green stone เนื่องจากเมื่อชาวผิวขาวมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ จะเห็นชาวเมารีมีเครื่องประดับที่เป็นหินสีเขียว โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นหยก เลยเรียกว่า Green stone

ที่เกาะใต้ฝั่งตะวันตกนี้ ชาวเมารีเรียกว่า Te Tai o Poutini หรือเรียกสั้นๆ ว่า Tai Poutini (ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับ Polytechnic ที่ไปเรียน)โดยมีตำนานกล่าวว่า สมัยก่อนมี Taniwha (ยักษ์ หรือสัตว์ขนาดใหญ่) ที่อาศัยอยู่ในน้ำทางตะวันตกชื่อ Poutini วันหนึ่งขณะกำลังพักผ่อน เห็นหญิงสาวชื่อ Waitaiki มาเล่นน้ำ เกิดชอบพอจึงลักพาตัวนางไป สามีของนางที่ชื่อ Tamaahua จึงติดตามมา Poutini หนีไปหลายแห่งจนในที่สุดเกรงว่า Tamaahua จะตามมาทันและสู้จนชนะ จึงสาปให้นางกลายเป็นหยกส่วนตัวเองก็หนีไป สามีนางตามมาเจอก็เสียใจมากนั่งร้องให้ น้ำตาของเขาก็เป็นหยกเช่นกัน (เล่าแบบสรุปนะ เพราะเรื่องมันยาวมาก เกี่ยวพันกับสถานที่หลายแห่งด้วย)

เช้าวันนั้นออกเดินทางกันแต่เช้าไปที่ Hokitika แวะที่ศูนย์การเรียนการสอนภาษาเมารีซึ่งเป็นสาขาของ Taipoutini Polytechnic แนะนำตัวเป็นภาษาเมารี ร้องเพลง แล้วลูกชายของอาจารย์ก็จะสอนเรื่องของหยกและหินต่างๆ ที่พบ และโชว์หยกที่ภรรยาเขาเพิ่งพบก้อนใหญ่น่าจะหนักราวกิโลเห็นจะได้ จากนั้นก็เดินทางไปยังแม่น้ำ Arahura ใจแอบหวังลึกๆ ว่าจะมีโอกาสเจอกับเขาบ้าง แต่อย่างไรก็ตามอาจารย์บอกว่าโดยธรรมเนียมของชาวเมารีแล้ว หากเจอของมีค่าชิ้นแรกให้มอบให้คนอื่นก่อนเสมอ เฮ้อ..แล้วจะเจอสักสองชิ้นไหมเนี่ย

 

 

สถานที่นี้เป็นสถานที่สำหรับชาวเมารีหากไม่ได้รับการอนุญาตก็จะไม่มีสิทธิเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 1997 ชาวเมารีจะมีสิทธิในหยกบริเวณแม่น้ำ Arahura ทั้งหมด เรานับว่าโชคดีที่มีโอกาสแวะมาในครั้งนี้

 

 

เตรียมพร้อมก่อนออกลุย

 

 

ตั้งใจหา

เดินหากันแบบจริงจัง แต่ส่วนใหญ่จะเจอหินสีเขียวจริงๆ ที่ไม่ใช่หยก พอถามไปทีไรก็ไม่ใช่สักที เปลี่ยนใจขี้เกียจมองหาแต่หินสีเขียวเลยหาหินที่ตัวเองมองแล้วว่าสวยสนุกกว่าเยอะเลย เลยได้แต่หินลายแปลกๆ มา เพื่อนบางคนขนก้อนหินก้อนเบ้อเริ่มใส่เป้มาเลย

 


 

ใช้เวลาหากันนานมาก ยิ่งเดินยิ่งเพลิน บางคนก็ลงทุนลุยน้ำกันเลย เด็กๆ ก็เล่นน้ำกันเท้าเปียกไปหมด น้ำก็เย็นมาก แต่ก็น่าสนุกเลยลุยกับเขาไปด้วย ขากลับเลยต้องถอดรองเท้าเดิน

ปรากฏว่าวันนั้นไปกัน ประมาณ 16 คนเจอ Green stone กัน 2 คน คือเพื่อนชาวญี่ปุ่นกับเพื่อนชาวนิวซีแลนด์ที่ชื่อ Carol ชาวญี่ปุ่นบอกว่าจะให้ Green stone นี้กับภรรยา ส่วน Carol ผู้น่ารัก บอกว่าขอมอบให้กับเพื่อนชาวไทยคือเราเอง โชคดีจัง

ชิ้นนี้ที่ได้มาจาก Carol (เอ่อ มันไม่ได้ใหญ่มากหรอกนะ สัก 5 cm ได้ แต่มีค่าทางจิตใจมาก)

ชาวเมารีจะมีสุภาษิตเยอะมีอยู่บทนึงที่เข้ากันได้กับหยกชิ้นนี้คือ

E iti noa ana, na te aroha   :  Though my present be small, my love goes with it

iti = เล็ก   aroha = รัก

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 227549เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2008 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาอ่าน  มาเที่ยว และมาดูหยกค่ะ

มีความสุขในทุกๆวัน นะคะ

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

☺สวัสดีค่ะ

☺ขอบคุณที่พาเที่ยวค่ะ สวยงามมากๆๆค่ะ

☺ขอให้มีความสุขค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท