เคล็ดลับ “คุณอำนวย” (3)


         คุณอำนวยในเวที คือคนที่จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละครั้ง เช่น การจัดตลาดนัดความรู้ครูศูนย์เด็กเล็ก ตลาดนัดความรู้เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการพบปะพูดคุยที่จบเป็นครั้งๆ เช่น การสรุปบทเรียนการทำงานในแต่ละช่วงเวลา การได้รับเชิญเป็นคุณอำนวยในงานต่างๆ
          บทบาทของคุณอำนวยในเวทีค่อนข้างเจาะจง แยกออกอย่างชัดเจนระหว่างคุณสังเกตและคุณบันทึก  แต่เป็นคนทำหน้าที่หลัก (คนสำคัญ) ที่จะทำให้งานวันนั้นหรือครั้งนั้นบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
โดยสรุปแล้วคุณอำนวยในเวทีก็เช่นเดียวกับคุณอำนวยในชุมชน ต้องจัดการความรู้ก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ แต่ขอบเขตการจัดการจัดชัดเจนกว่า กล่าวคือ
         จัดการความรู้ก่อนทำ คุณอำนวยต้องหาข้อมูลก่อนว่า กระบวนการครั้งนั้น มีเป้าหมายวัตถุประสงค์อะไร กลุ่มที่เราจะชวนคุยด้วยเขาเป็นใคร ทำอะไร มีจุดสำคัญ (highlight) ตรงไหน การได้พูดคุยกับคนที่เราต้องคุยด้วยในเวทีจริงล่วงหน้ามีความสำคัญ เพราะทำให้คุณอำนวยสามารถจัดการ “ปักธง” ของการพูดคุยได้ดี และวางแผน วางโครงร่างการพูดคุยได้เหมาะสมว่าจะชวนเขา “เดินความคิด” ไปอย่างไร
         การจัดการความรู้ก่อนทำนี้ จะช่วยให้คุณอำนวยสามารถ “ออกแบบการเรียนรู้” ได้เหมาะสมกับกลุ่ม เป้าหมายมากยิ่งขึ้น เป็นการรู้เขาให้มากที่สุดนั่นเอง อาจรวมถึงการทราบความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายและปรับให้ตรงกันเสียก่อนด้วยก็ได้
         สิ่งที่มองข้ามเสียไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือ การเตรียมสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ การตรวจสอบ เช็คดูว่าใช้ได้หรือไม่ เหมาะหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ก็มีความสำคัญ การจัดโต๊ะ เก้าอี้ตามที่เหมาะสม การเตรียมเครื่องมือการเรียนรู้บางอย่างเผื่อไว้ก่อน เช่น วีซีดี รูปภาพ เนื่องจากเวลาทำจริง สถานการณ์บางครั้งเอื้อให้เราใช้สื่อนั้นเพื่อสร้างการเรียนรู้ก็เป็นได้ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้มีผลต่อความรู้สึก การเรียนรู้ และผลได้ที่จะเกิดขึ้นจากเวทีมาก
          จัดการความรู้ขณะทำ  ต้องคอยสังเกตตลอดว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ ณ จุดไหน ของเป้าหมายการพูดคุย เช่น ได้เนื้อหามากแล้ว แต่ไม่ค่อยได้บรรยากาศ หรือได้บรรยากาศแต่ได้เนื้อหาน้อย ตรงนี้เป็น “ความสามารถในการวิเคราะห์” คนที่ร่วมในวงของคุณอำนวย การปรับเปลี่ยนเป้าหมายการพูดคุย วิธีการพูดคุยอาจจะเกิดขึ้นในระหว่างนี้  สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า การพูดคุยเป็นพลวัต คุณอำนวยจะปรับตัว ปรับเปลี่ยน ให้เข้ากับสถานการณ์อย่างไร หลายครั้งเราพบว่าสิ่งที่เราวางแผนไว้ก็ไม่เป็นไปตามนั้น กำหนดการที่คิดไว้ เอาเข้าจริงเปลี่ยนไปได้เสมอ                                                                                                                

                          
         การวิเคราะห์ สังเกต อากัปกิริยาผู้ร่วมกระบวนการอยู่ตลอดเวลาก็ช่วยคุณอำนวยได้มาก เช่น มีอาการเบื่อ อาการเมื่อย เกิดขึ้นหรือไม่ เราจะมีวิธีการแก้อย่างไร บางอย่างสามารถสรุปเป็นหลักการมาตรฐานของคุณอำนวยในฐานะคนออกแบบการเรียนรู้ในเวทีไปแล้ว เช่น หลักการเรียนรู้แบบสมดุลทั้ง หัว (head) หัวใจ (heart) และมือ (hand) การใช้หลักนี้จะทำให้การเรียนรู้ไม่เป็นบรรยายหรือใช้ความคิดมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ “หนักหัว” หรือเน้นสนุกสนานมากเกินไป ไม่ได้ความรู้ หรือ “เอามัน” เข้าว่า  หรือเน้นกิจกรรมลงมือทำเสียจนไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ทำให้เป็น “การเล่น” เสียมากกว่า
         สมดุลของการเรียนรู้นี้ อาจใช้อะไรนำก่อนก็ได้ บางครั้งเริ่มด้วยการให้แนวคิดก่อน แล้วชวนทำกิจกรรมจริง แล้วมาถอดความรู้สรุปสู่แนวคิดอีกครั้ง  บางครั้งเริ่มด้วยการลงมือเล่นหรือทำกิจกรรมก่อน แล้วค่อยสรุปสะท้อนหลังเสร็จกิจกรรมว่า จากกิจกรรมที่ผ่านมาได้ข้อคิดอะไร ได้ความรู้อะไร หรือมีความรู้สึกอย่างไร  หรือบางครั้งจะเริ่มด้วยการสร้างแรงบันดาลใจก่อน เช่น ให้ดูหนังบางเรื่อง ดูภาพหรือยกสถานการณ์บางอย่างที่กระแทกใจ ให้เกิดความรู้สึกร่วมก่อน เมื่อใจพร้อมแล้วจึงค่อยใส่เนื้อหาเข้าไป หากรู้สึกว่าจะหนักหัวมากเกินไป ก็ใช้วิธี “ทำสันทนาการแทรก” เพื่อให้ได้สมดุล สันทนาการบางอย่างถ้าสามารถโยงเข้าสู่เนื้อหาได้ด้วยก็จะดี
         สิ่งที่ลืมไม่ได้หลังเสร็จกระบวนการคือ การสรุปให้ผู้เข้าร่วมเวทีอีกครั้งว่า วันนี้เราได้อะไรบ้าง เป็นการตอกย้ำ เพราะบางครั้งความรู้สึกดีๆ สิ่งที่แต่ละคนได้ อาจเป็นส่วนๆ ไม่เห็นโครงทั้งหมดของความรู้ที่เกิดขึ้นในเวที หรือ “ไม่เห็นช้างทั้งตัว” นั่นเอง
         จัดการความรู้หลังทำ คุณอำนวยต้องทำอะไรบ้างหลังจบเวที เช่น สรุปความรู้ร่วมกับคุณสังเกตและคุณบันทึก การชวนถอดและสะท้อนการพูดคุย (AAR) บทบาทคุณอำนวยยังไม่จบในขณะที่เวทีจบไปแล้ว บางครั้งจะต้องชวนพูดคุยไปถึงการจัดการต่อด้วย บ่อยครั้งเราพบว่าเกิดวงคุยอย่างไม่เป็นทางการ (เป็นธรรมชาติ) ขึ้นหลังจากงานเสร็จสิ้นแล้ว การพูดคุยกันหลังจบแต่ละครั้งๆ นี้ หากเป็นการพูดคุยต่อเนื่องทั้งวัน หรือหลายวัน จะทำให้เกิดการทำความเข้าใจกันและวางแผนร่วมกันในช่วงต่อต่อไปหรือวันต่อไปได้เป็นอย่างดี ทำให้การจัดกระบวนการ มีการปักธงที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและเวลาดียิ่งขึ้น

อ้างอิง  ทรงพล เจตนาวณิชย์  เสนอในการประชุมภาคีจัดการความรู้ท้องถิ่น   ๑๗ มค. ๔๙

เคล็ดลับ “คุณอำนวย” (1)   เคล็ดลับ “คุณอำนวย” (2)

วิจารณ์ พานิช
๓ เมย. ๔๙

 
คำสำคัญ (Tags): #คุณอำนวย#km#ชุมชน
หมายเลขบันทึก: 22685เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
บทบาทของ "คุณอำนวย" ตามที่กล่าวมานี้น่าสนใจมากครับ ผมกำลังนึกถึงบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา หรือ ผอ.โรงเรียนตามบทบาทของ "คุณอำนวย" อยู่ หากผู้บริหารสถานศึกษาสามารถทำตัวเป็น "คุณอำนวย" ที่ดีและพยายามดำเนินกระบวนการจัดการความรู้ 3 ขั้นตอนที่ว่า คือ ก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำได้แล้ว การศึกษาไทยคงไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก แต่จะว่าไปแล้ว การจัดการความรู้ 3 ขั้นตอนนี้ ก็ไม่ค่อยแตกต่างไปจาก 4 องค์ประกอบของ "หัวใจนักปราชญ์" คือ สุ จิ ปุ ลิ หรือ ฟัง คิด ถาม เขียน เท่าไหร่เลยนะครับ

กราบเรียน คุณหมอวิจารณ์ ที่เคารพอย่างสูง

             กระผมได้ติดตามอ่าน "เคล็ดลับคุณอำนวย" ที่คุณหมอกรุณาเผยแพร่มาแล้ว นับว่ามีประโยชน์มาก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 17-18 เมษายน 2549 นี้ ทางสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ก็ได้ให้เกียรติเชิญกระผมเข้าร่วมเสาวนา "เวทีคุณอำนวย" (Knowledge Facilitator) ที่บ้านผู้หว่านด้วย   กระผมต้องขอกราบประทานอภัยท่านด้วยที่ไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้ ทั้งๆที่เป็นกิจกรรมกรรมที่อยู่ในความสนใจของกระผมและนับว่ามีประโยชน์มาก เพราะจะได้มีโอกาสเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการทำหน้าที่คุณอำนวย   เนื่องจากผมติดประชุมบอร์ดคุรุสภาและประชุมคณะอนุกรรมการกฎหมาย ในวันที่ 17-18 เมษายน 2549 ณ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมประจำเดือนและได้นัดหมายล่วงหน้านานแล้ว  อย่างไรก็ตามกระผมจะได้ติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเว็บบล็อกของท่านต่อไป  หากมีสิ่งหนึ่งประการใดที่กระผมพึงจะได้ร่วมมือสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของ สคส.ขอได้โปรดแจ้งให้กระผมทราบด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

            จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขอขอบพระคุณท่านไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูง

                                      ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

                                             ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท