ผมได้รับเชิญจาก สกว.
ให้ไปชมนิทรรศการการทดสอบผลงานวิจัย พัฒนา UAV
แต่ติดงาน โชคดีคุณวรวรรณิณี
เขียนเล่าไว้อย่างน่าสนใจ
จึงนำมาฝากด้วยความชื่นชมในความสามารถของนักวิจัยไทย
เบิ่งตา..ท้าแดด........ที่เมืองลิง
วรวรรณิณี สกว.
ไม่ต้องสงสัยค่ะว่าเมืองลิงเป็นเมืองหลวงของประเทศไหนในโลก
แต่เป็นจังหวัดลพบุรีซึ่งห่างจากกรุงเทพเมืองศิวิไลซ์เพียง 159
กิโลเมตรเท่านั้น นั่งรถไปก็ประมาณ 2 ชั่วโมง
ที่ได้ไปเบิ่งตาคราวนี้ก็ขอฝ่าย 5 เขาไปชมการสาธิต UAV (Unmaned
Aerial Vehicle Project) แปลเป็นไทยได้ว่า อากาศยานไร้นักบิน ขนาด
Half scale โดยมีความกว้างของปีก 3.5 เมตร ซึ่งมีนักวิจัยร่วมถึง 10
หน่วยงาน ได้แก่ กองพลทหารปืนใหญ่ โรงเรียนของ 3 เหล่าทัพ
จุฬาฯ ม.เกษตร ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ม.เทคโนโลยีมหานคร
ด้วยงบประมาณ 90 ล้านบาท
มีหลายคนคงสงสัยว่ามันต่างจากเครื่องบินบังคับอย่างไร
และทำไมต้องลงทุนวิจัยกันขนาดนี้ เดี๋ยวมีคำตอบ...
เริ่มต้นของการเบิ่งตา เราไปตั้งท่ากันที่สนามบินสระพานนาค
ศูนย์การบินทหารบก จ.ลพบุรี บรรยากาศคล้ายๆ ทะเลทรายนิดๆ
แบบว่ามันร้อนมาก มีการสาธิต 2 ครั้ง
ครั้งแรกสาธิตการบินแบบมีนักบินบังคับ บินวนไปมาประมาณ 5 นาทีก็ลงจอด
อันนี้ก็ยังไม่ค่อยเห็นว่ามันแตกต่างอย่างไรกับเครื่องบินบังคับที่เป็นของเล่นอย่างไร
พอจะบินครั้งที่ 2 ทหารเขาเปลี่ยนเครื่องบิน ลำนี้ดูดีๆ สีเทาๆ
แบบขรึมๆ ให้ความรู้สึกแบบหนังสงคราม
ก่อนจะเริ่มสาธิตเราก็เห็นภาพจากจอทีวี
มันแสดงให้เห็นภาพที่มองจากใต้ท้องเครื่องบิน
ซึ่งจะมีล้อของเครื่องบินบังอยู่นิดหน่อย
(ถ้านึกภาพไม่ออกให้นึกถึงหนังสงคราม action ของฝรั่ง) ก็จะมีภาพสั่นๆ
นิดหน่อยเนื่องจากสภาพพื้นของรันเวย์ พอเครื่องจะ take off
เราก็นึกว่ามันจะบินขึ้นได้ยังงัย กล้องก็หนักใบพัดก็นิดเดียว
แต่นักวิจัยบอกว่าไม่ต้องห่วงในส่วนการสร้างตัวเครื่องบินมีกลุ่มออกแบบและจัดทำโครงสร้างอากาศยานเป็นคนดูแล
จะมีการคำนวณโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์
หางจะยาวจะสั้นเท่าไหร่รู้ได้โดยการใส่ค่าของน้ำหนักและปริมาตรของอุปกรณ์ที่ต้องการติดตั้งทั้งหมดเป็นเท่าไหร่
แล้วเราก็จะได้สัดส่วนของตัวโครงสร้างเครื่องบินออกมา
พอเครื่องบินวิ่งออกไปที่รันเวย์ ใจมันตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่ามันจะบินได้ไหม
ปรากฏว่ามันบินขึ้นได้อย่างสวยงาม
แถมยังมีการบอกระดับความสูงและความเร็วของเครื่องบินได้
เหมือนเวลาเรานั่งเจ้าจำปีไปได้สักพัก
กัปตันก็จะประกาศความสูงและความเร็วอย่างงัยอย่างงั้นเลย
ในส่วนนี้ที่ทำได้เพราะมีกลุ่มระบบควบคุมการบิน ซึ่งจะสร้าง software
ที่จะควบคุมระบบการบินทั้งหมด ให้บินซ้ายขวาหรือขึ้นลงได้ปลอดภัย
และแถมยังมีการบินแบบ auto pilot
โดยสาธิตให้เห็นว่าจะมีการกำหนดจุดที่เครื่องบินจะต้องบินให้ถึงไว้ 4
จุด แล้วตั้งระบบเป็น auto pilot แล้วเครื่องบินจะบินไปแตะตามจุดนั้นๆ
ให้เห็น (อันนี้เขามีจอที่แสดงภาพเส้นทางการบินอยู่ที่ฐานข้างล่าง)
จึงพิสูจน์ได้
และก็มีคำถามว่าถ้าเราเปลี่ยนจุดในระหว่างการบินจะสามารถทำได้มั๊ย
ก็มีการพิสูจน์ให้เห็นอีกโดยมีการเปลี่ยนจุดระหว่างการบินแบบ auto
pilot โดยผู้สงสัย (กิตติมศักดิ์) ซึ่งเครื่องบินก็บินแตะจุดต่างๆ
ได้ตามที่กำหนด ซึ่งในวันที่ทำการสาธิตนั้นได้กำหนดให้เครื่องบิน
บินที่ความสูงประมาณ 1,000 เมตร และบินในระยะห่างจากฐาน 3
กิโลเมตร (อันนี้แหละที่มันต่างจากเครื่องบินบังคับของเล่น
ถ้าเป็นของเล่นเราต้องมองเห็นเครื่องบินจึงจะบังคับให้บินซ้ายขวาได้
แต่ UAV ไม่เห็นตัวเครื่องบินก็บินได้) แต่ที่เจ๋งสุดๆ
(ขออนุญาตใช้คำวัยรุ่นหน่อย เพราะได้อารมณ์จริงๆ)
คือการบินกลับบ้านเองได้ ถ้าเกิดการขาดการติดต่อ lost communication
จากทางศูนย์ควบคุม มีผู้ได้รับเชิญ (แบบกิตติมศักดิ์อีกแล้ว)
ให้ถอดปลั๊กเพื่อให้เกิดการ lost communication
(มีการออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่เกี่ยวนะถ้ามันกลับบ้านไม่ได้)
ขอตัดตอนมาเล่าถึงศักยภาพของเครื่องบิน UAV
ในช่วงที่บินอยู่ว่ามันสามารถส่งสัญญาณภาพมาที่ฐานได้
โดยจะมีภาพปรากฏบนจอทีวีข้างล่างถึงภูมิประเทศที่เครื่องบินได้บินผ่าน
มีการซูมภาพได้ในระยะใกล้ ปรับมุมกล้องได้รอบทิศทาง
และที่สำคัญเป็นแบบ real time ซึ่งเป็นระบบ digital
ซึ่งต่างจากที่กองทัพเคยซื้อ UAV
ที่เป็นเทคโนโลยีของอิสราเอลเมื่อประมาณ 10 ที่แล้วที่ยังเป็นระบบ
analog (ราคาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาประมาณ 200 ล้านบาท ถ้าซื้อตอนนี้
ก็ไม่แพงหรอกค่ะแค่ 1,000 ล้านเท่านั้น) ในการส่งสัญญาณภาพแบบ real
time ได้นั้นเกิดจากออกแบบและพัฒนาโดยกลุ่มระบบสื่อสารการบิน
ซึ่งจะออกแบบและพัฒนาระบบสื่อสาร
เพื่อการควบคุมและส่งสัญญาณภาพแบบสื่อสารระยะไกลได้
และการที่มีกล้องที่ซูมและหมุนได้รอบทิศแถมไม่สั่นและถ่ายทอดสัญญาณได้นั้น
เกิดจากการทำงานของกลุ่มระบบประมวลผลสื่อสารและอุปกรณ์การภาพ
เรามาติดตามกันต่อดีกว่าหลังจากเครื่องบินขาดการติดต่อกับฐานไปแล้วจะกลับบ้านได้มั๊ย
ก็ลุ้นสุดตัวค่ะ
บรรดาผู้ชมทั้งหลายจากที่นั่งกันอยู่ในเต้นท์ก็กรูกันออกไปนอกเต้นท์เงยหน้าท้าแดด
แถมต้องเบิ่งลูกตาสุดฤทธิ์เพื่อหาเครื่องบิน
(ขณะนั้นก็เป็นเวลาเที่ยงวันพระอาทิตย์อยู่กลางศีรษะพอดี
ที่ต้องเบิ่งตาและท้าแดดก็เพราะเหตุฉะนี้ละคะ) และแล้วก็เริ่มมีจุดดำๆ
ทางเมฆด้านเหนือขวามือของเต้นท์ เราก็จ้องอยู่นาน นานจนจุดดำๆ
เริ่มเห็นรางๆ จนเริ่มใหญ่ขึ้น จนเห็นเป็นเครื่องบินนั่นเอง
และแล้วเครื่องบินก็บินกลับบ้านเองได้อย่างปลอดภัย
(สงสัยถ้าเป็นคนที่บ้านเกิดการ lost communication อีก 3
วันถึงจะกลับบ้านได้เองแน่เลย) งานนี้หลายคนโล่งใจ
เพราะนักวิจัยเล่าว่าเคยมีเหมือนกันที่ไปแล้วไปลับไม่กลับมา
หลังจากจบการสาธิต
ก็เดินทางกลับมาฟังสัมมนากันต่อที่สโมสรนายทหารปืนใหญ่
และก็แยกย้ายเดินทางกลับกัน งานนี้มีผู้เข้าร่วมกันประมาณ 50 คน
มาจากหลากหลายหน่วยงาน ที่เห็นก็มีครบทั้ง 3 เหล่าทัพ ที่เดินทางไปกับ
สกว. ก็มี สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กฝผ.
กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และสำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
จากการสัมมนาพอจับใจความได้ว่า
ก็เพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้เห็นประโยชน์จากการทำวิจัยทั้งจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลงบประมาณแผ่นดิน
ตรวจสอบการใช้งบประมาณ และผู้ใช้ประโยชน์
โดยผู้ใช้ประโยชน์สามารถนำไปปรับความต้องการในการใช้ UAV
เพื่อใช้ในกิจการของหน่วยงานของแต่ละท่าน
ในอนาคตหากต้องการสามารถแจ้งความประสงค์พร้อมสั่งซื้อได้
ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นกำลังใจให้นักวิจัยที่คิดค้นงานวิจัยแล้วมีการนำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์
โดยไม่ต้องการให้งานขึ้นหิ้งนั่นเอง
ที่เล่ามานี้ยังเป็นเพียงแค่ half scale เท่านั้น ประมาณเดือนมิถุนายน
2549 นี้ จะมีการสาธิตแบบ full scale
ซึ่งเครื่องบินจะมีความกว้างของปีกถึง 7 เมตร
และสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 40 กิโลกรัมเลยทีเดียว สาวๆ สกว.
ที่มีน้ำหนักตัวน้อยๆ
ถ้าใจกล้าพอน่าจะลองขึ้นไปนั่งแทนกล้องถ่ายภาพได้นะ
พอจะมีใครสนใจมั๊ยเนี่ย?
![]() |
![]() |
ลำนี้แหละ Half scale UAV |
เปลี่ยนเส้นทางการบิน |
![]() |
![]() |
เบิ่งตา...ท้าแดด |
Flying |
วิจารณ์ พานิช