ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

การต่อสู้และการดิ้นรนครั้งสุดท้ายของ "ประมงพื้นบ้าน" ก่อนแตกหัก


การต่อสู้ของพี่น้องประมงพื้นบ้านอ่าสท่าสาลานครศรีธรรมราช เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

เรื่อง/ภาพ  : ทรงวุฒิ พัฒแก้ว

          จากกรณีเรือคราดหอยลาย เข้ามาในอ่าวจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2550 มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบสามเดือน ที่หายนะครั้งใหญ่ได้มาเยือนพี่น้องชาวประมงในแถบนี้ ทะเลที่เคยคึกคัก เต็มไปด้วยเรือประมงชาวบ้านในยามค่ำคืนเมื่อมองไปในทะเลแสงไฟจากเรือประมงจะสว่างไสวดุจมีเทศกาลในท้องทะเล ตอนนี้เงียบเชียบ เรือประมงถูกเข็นมาจอดบนฝั่ง หรือจะมีออกบ้างก็เป็นช่วงกลางวัน เพื่อหลบหลีกมรสุมร้าย และเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว  

          ตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีสามเกือบทุกคืน ในอ่าวจะมีเพียงเสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ทรัพยากรในอ่าวนี้เท่านั้น แต่ละลำจะคราดหอยลายได้ประมาณ 10,000 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 40 บาท คิดเป็นเงินลำละสี่ห้าแสนบาทต่อคืน จากค่าตอบแทนในการปล้นทรัพยากรที่คุ้มค่านี้เรือที่มาครั้งแรกไม่กี่สิบลำเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการคราดหอยลายในครั้งนี้นอกจากจะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศในวงกว้างแล้ว อวนประมงของชาวบ้านที่ออกไปวางจะถูกคราดติดไปด้วย เรือประมงที่ออกไปวางอวนนอกจากไม่มีสัตว์น้ำกลับเข้าฝั่งแล้ว แม้แต่เครื่องมือประมงก็ถูกทำลายสิ้น หากอวนของใครไม่ถูกคราดแต่จะโดนซากหอย ซากปะการัง ซากสิ่งสกปรก ที่ถูกคราดขึ้นมาจากใต้ดินเลนที่กำลังกระจายไปทั้งอ่าว จะถูกพัดมาติดอวนประมงชาวบ้าน จนยากที่จะแกะออกได้ สัตว์น้ำที่พอจับได้บ้างก็เป็นซากสัตว์ที่ตายแล้ว หรือสัตว์น้ำนั้นจะสิ่งกลิ่นเหม็นด้วยกลิ่นสาบโคลน แม้เรื่องนี้จะถูกหยิบยกเป็นประเด็นสาธารณะเพื่อหามาตรการเชิงรุกและจัดการปัญหาขั้นเด็ดขาด แต่ผ่านมาสามเดือนทางการจับเรือประมงคราดหอยได้แค่ 3 ลำ สร้างความสงสัยในกระบวนการทางกฎหมายในการเอาผิด อีกทั้งชาวบ้านเองก็ไม่ได้รับการประสานเพื่อการรับรู้ในการจับกุมเพื่อเป็นหูเป็นตาแทนพี่น้องที่ประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกัน

                มานะ ช่วยชู หัวหน้าโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ฯ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับพี่น้องชาวประมงมายาวนาน บอกว่า เนื่องจากกฎหมายมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถจับเรือที่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายได้ขณะที่เรือจอดอยู่ ต้องจับกุมขณะที่ทำการประมงเท่านั้น และเมื่อจับมาแล้วก็ไม่สามารถที่จะยึดเรือเป็นของหลวงได้ เพราะผู้ที่ถูกจับกุมมักจะอ้างว่าเรือที่ทำผิดนั้น เป็นเรือที่เช่ามา ซึ่งกฎหมายอาญาบอกว่า หากสิ่งของที่กระผิดนั้น เป็นของผู้อื่นก็ต้องคืนให้เจ้าของ นอกจากนี้กระบวนการจับกุมและการสืบสวนก็ไม่มีการเปิดเผยให้ชาวบ้านได้รับทราบ เมื่อเป็นเช่นนี้ เรือประมงเหล่านั้นก็สามารถกลับไปทำการคราดหอยได้อีก ไม่มีความหลาบจำ เพราะได้รับโทษปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กรณีของนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพยายามบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังมากขึ้น ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะขาดความเชื่อถือ

          ขณะที่ ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) บอกว่า สป. เคยมีข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาลเมื่อสองเดือนที่แล้ว ว่า การลักลอบทำการประมงที่ผิดกฎหมาย มีผลรุนแรงต่อการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ และก็ทำลายระบบนิเวศทางทะเล เช่น อวนรุน อวนลาก คราดหอย เรือปั่นไฟปลากระตัก ปัญหาสำคัญ คือการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลขาดประสิทธิภาพ ความเข้มงวด การเอาจริงเอาจัง ในข้อเสนอแนะยังบอกว่าให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง "ที่จริงกฎหมายระบุชัดว่าเรือและอุปกรณ์ประมงถือเป็นเครื่องประมง ในกรณีที่เรือทำการประมงผิดกฎหมาย ให้ริบของกลางนั้นเสีย เครื่องมือประมงรวมถึงเรือด้วย แต่จะมีช่องว่างทางกฎหมายว่า ปกติเมื่อถูกจับจะแจ้งพนักงานสอบสวนว่า เป็นเรือเช่า และทำสัญญาเช่ามาประกอบสำนวน ทำให้ต้องคืนเรือของกลาง ตรงนี้ไม่ได้เขียนในกฎหมายประมงแต่เป็นกฎหมายอาญา ว่าถ้าเจ้าของเรือไม่ได้รู้เห็นเป็นใจต่อการกระทำผิดให้คืนของกลาง ส่วนใหญ่เรือประมงใช้ช่องว่างทางกฎหมายนี้เข้ามาดำเนินการขอคืนเรือ เมื่อคืนเรือโทษจะเล็กน้อยคุ้มต่อการกระทำผิด ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ผล" ภาคภูมิกล่าว

          ภาคภูมิ บอกด้วยว่า ตอนนี้บ้านเราใช้ทรัพยากรทางทะเลมาถึงจุดที่เกินศักยภาพการผลิตของทะเลแล้ว นี้ยังไม่รวมมลภาวะที่เราพัฒนาบนฝั่งทิ้งลงทะเล จุดนี้ต้องหยุดยั้งไม่ให้ทะเลเสียสมดุลไปมากกว่านี้ ดังนั้นในเชิงนโยบายต้องบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านไปสองเดือนกับการนั่งรอความหวังของประมงพื้นบ้าน เกิดการรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง โดยพี่น้องชาวประมงและชาวอำเภอท่าศาลา พี่น้องอำเภอขนอม ได้เชื่อมต่อพี่น้องชาวประมงทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่อำเภอขนอม จนถึงอำเภอหัวไทร จนได้ข้อสรุปในการต่อต้านเรือคราดหอย และตั้งเป็น "เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช"

          ต่อมาในวันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2550 นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ได้เป็นหัวแรงหลักในการประสานงานเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ซึ่งประกอบด้วย ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ อ.ขนอม อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.เมือง อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทรนับร้อยคน เพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปราบปรามจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม ประมงจังหวัด และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชออกประกาศจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง ห้ามใช้เครื่องมือคราดหอยลายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32(2) แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ออกประกาศจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง กำหนดห้ามใช้เครื่องมือคราดหอยลายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และให้องค์การบริหารส่วนตำบลที่ติดกับชายฝั่งร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ดังกล่าวกำหนดเขตพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นแผนที่แนบท้ายประกาศ และให้เอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายการทำประมงหอยลายอย่างจริงจัง

           หลังจากการเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายรับปากว่าจะดำเนินการให้ตามที่ร้องขอ ในส่วนของชาวประมงพื้นบ้านก็เกิดการตื่นตัว ร่วมกันเฝ้าระวัง และได้กดดันไปยังเจ้าหน้าที่ตรวจการณ์ ตกลงอย่างดิบดีได้ไม่กี่วัน ชาวประมงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเรือประมงคราดหอยลายได้ 1 ลำ หน้าอ่าวอำเภอสิชล ซึ่งเข้ามาคราดหอยลายในเขตพื้นที่ใกล้กับชายฝั่ง หลังจากจับกุมได้ชาวประมงก็ได้เข้าไปตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่

          นายคเณศวร์ ขอวิวัฒน์ หัวหน้าชุดการจับกุม (หน่วยอำเภอสิชล) ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล จ.สงขลา เล่าว่า ได้รับแจ้งข่าวจากชาวประมง และออกไปตอนสี่ทุ่มเจอเรือคราดหอย 2 ลำ ลากอยู่ในเขตและได้แสดงตัวเข้าจับกุม แต่เรือคราดหอยไม่ยอมให้จับ จึงใช้เรือตรวจการณ์ไล่ จนสามารถเข้าเทียบได้และจู่โจมเข้าจับกุมได้ 1 ลำ ส่วนตัวเองพลาดพลั้งได้รับบาดเจ็บแขนหลุด "การเข้าจับกุมเรือผู้กระทำผิด มีความยากลำบากมาก เพราะเมื่อออกไปจับกุม เรือคราดหอยจะหนีและให้เรือตรวจการณ์วิ่งไล่จนน้ำมันหมด หรือเวลาได้รับการแจ้งข่าวจากชาวบ้านเมื่อออกไปจับกุมก็จะเจอเรือคราดหอยทำการนอกเขต 3,000 เมตร ซึ่งเราไม่สามารถทำอะไรได้" นายคเณศวร์บอก

                วันนี้ ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากได้ปรับตัวทำการประมงกลางวัน แต่ทุกคนยังยืนหยัดการต่อสู้เรียกร้อง แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จริงใจในการร่วมกับชาวบ้านแก้ปัญหา ก็คงต้องเริ่มต้นนับถอยหลัง วันที่ทรัพยากรทางทะเล อ่าวนครศรีธรรมราช เสียหายย่อยยับ

 

         

หมายเลขบันทึก: 226747เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2008 02:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท