ถอดบทเรียน ลปรร. เครือข่ายสิชล 20 ตุลาคม 2551


โครงการพัฒนาคุณภาพระบบประกันคุณภาพเครือข่ายบริการปฐมภูมิ (PMQA)

โครงการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้พิการจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Health Care)

  ถอดบทเรียนจากสถานีอนามัยบ้านเทพราช

คุณพนิดา  ยุติธรรม เป็นผู้นำเสนอ  กรณีศึกษาผู้ป่วยชายไทย วัยสูงอายุ อายุ 78 ปี   มีภาวะอ้วน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง เจ้าหน้าที่ได้จัดทำแฟ้มประวัติครอบครัวและมี อสม. รับผิดชอบ ผู้ป่วยรับการรักษาด้วยยาจากโรงพยาบาลสิชลอยู่ 3 ปี ต่อมารับประทานยาต้มสมุนไพร เนื่องจาก การรับยาที่โรงพยาบาลทำให้มีภาระแก่บุตรผู้พามาตรวจ จึงไม่ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่องจากโรงพยาบาล  ผู้ป่วยมีปัญหา เรื่องHygine Care เนื่องจากมีผู้ดูแลซึ่งเป็นภรรยา อายุ 75 ปี ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ต้องรอบุตรมาช่วยกันอาบน้ำผู้ป่วย ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง การขับถ่ายต้องขยับตัวผู้ป่วยให้ตรงกับร่องใต้ถุนบ้านและหาภาชนะรองรับใต้ถุนบ้าน

ปัญหาที่พบของกรณีศึกษา  คือ ช่วยเหลือตนเองได้น้อย แขนขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง   เดินเองไม่ได้ ต้องช่วยพยุงลุกนั่ง น้ำหนักตัวมาก ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้ มีภาวะอ้วนลงพุง ชอบ                   รับประทานอาหารรสเค็ม มัน หวาน มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วยและผู้ดูแล ภาวะเศรษฐกิจของ   ผู้ป่วยเนื่องจากมีรายได้เพียงอย่างเดียวคือรายได้จากสวัสดิการผู้พิการของผู้ป่วย 500 บาทต่อเดือน ส่วน  รายได้อื่น ๆ ต้อง รอเงินจากบุตรที่อยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานีส่งมาให้ และความปลอดภัยของผู้ดูแลในการ ขึ้นลงบ้านที่มีใต้ถุนสูง

การช่วยเหลือ แนะนำการออกกำลังกายแบบ Passive exercise แก่ผู้ดูแล แนะนำการ งดรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม มัน หวาน วัดรอบเอวผู้ป่วยได้ 40 นิ้ว ความดันโลหิตสูง

สิ่งที่ได้รับจากการไปเยี่ยมบ้าน คือ การเยี่ยมเป็นระบบ เห็นสภาพความเป็นจริงของผู้ป่วย สภาพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อม การตรวจสุขภาพของผู้ป่วยและผู้ดูแล พบว่าความดันโลหิตของ  ผู้ดูแลสูง จึงได้ผู้ป่วยที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้น สร้างกำลังใจที่ดีแก่ผู้ป่วย ไม่ให้รู้สึกถูกทอดทิ้ง และผู้เยี่ยมมีความ เห็นอกเห็นใจผู้ป่วยมากขึ้น

ประโยชน์จากการไปเยี่ยมบ้าน คือ การแนะนำการดูแลที่ถูกต้องแก่ผู้ดูแล ลดภาระของ   ผู้ดูแล และตรวจร่างกายของสมาชิกในครอบครัว

ปัญหาและอุปสรรคจากการไปเยี่ยมบ้าน ผู้ป่วยไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่องเนื่องจากคิดว่า  รับยาแล้วไม่ดีขึ้นและเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้ดูแลผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุขาดความรู้ และเจ้าหน้าที่   ผู้เยี่ยมขาดองค์ความรู้ ต้องการคำแนะนำเรื่องการช่วยพยุงตัวและประสบการณ์เพิ่มเติม

สิ่งที่ดำเนินการต่อไป คือ ให้ อสม.ที่รับผิดชอบเยี่ยมเดือนละ 1 ครั้ง มีการตรวจวัดความดันและระดับน้ำตาลในเลือด จัดทำแผนเยี่ยมบ้าน และประสานงานกับ อบต.เกี่ยวกับรายได้ของผู้ดูแล

ถอดบทเรียนจากสถานีอนามัยบ้านบ้านต้นเหรียง

คุณสุปราณี  บุญแสวง เป็นผู้นำเสนอ  วัตถุประสงค์ของการเยี่ยมบ้าน คือ ให้การดูแล  ต่อเนื่อง กระตุ้นครอบครัวในการดูแลสุขภาพ ค้นหาปัญหาของครอบครัวและวางแนวทางร่วมกัน และ  ติดตามผลการรักษา กรณีศึกษาผู้ป่วยชายไทย อายุ 61 ปี Case Old CVA ด้านขวา ไขมันในเส้นเลือดสูง ความดันโลหิตสูง พูดไม่ได้ มีแผลเจาะคอ ช่วยเหลือตนเองได้น้อย ทรงตัวเองไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น รับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ หลังรับประทานอาหารเที่ยงชอบรับประทานขนมหวาน สูบบุหรี่ใบจาก  วันละ 5-6 มวน อาศัยอยู่กับบุตรคนที่สอง มีสมาชิกในครอบครัว 4 คน ปัจจุบันรับประทานยาสมุนไพร ยาหม้อ ผลการตรวจร่างกายสัญญาณชีพปกติ  ระดับน้ำตาลในเลือด 91 mg% ปัจจุบันครอบครัวพาผู้ป่วยไปนวดที่อำเภอขนอม

ปัญหาที่พบของกรณีศึกษา คือ แขนขาอ่อนแรง ช่วยเหลือตนเองได้น้อย ต้องอาศัยภรรยาช่วยในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ไม่มีงานทำ

การช่วยเหลือ แนะนำการพบแพทย์ที่ต่อเนื่อง ให้รับประทานยาต่อเนื่อง ทดสอบสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย พบว่ากล้ามเนื้อแขนแข็งแรง เจ้าหน้าที่ผู้เยี่ยมช่วยในการหัดเดิน ฝึกพูด นัดเยี่ยมครั้งต่อไปโดยประสานงานกับทีมสหวิชาชีพ โดยเฉพาะนักกายภาพบำบัด

  ถอดบทเรียนจากสถานีอนามัยบ้านเขาใหญ่

คุณธิดารัตน์  ซังปาน เป็นผู้นำเสนอผู้ป่วยเยี่ยมบ้าน 2 case Case แรกกรณีศึกษาผู้ป่วย         ชายไทย Case ความดันโลหิตสูง อัมพาตครึ่งซีก มีผู้ดูแลซึ่งเป็นมารดาอายุ 70 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีสมาชิกในครอบครัว 8 คน อาชีพรับจ้าง ผู้ป่วยมีอาการแขนขาด้านซ้ายอ่อนแรง ด้านขวาสามารถช่วยเหลือได้บ้าง รับประทานอาหาร 2-3 มื้อต่อวัน กลางคืนนอนไม่ค่อยหลับได้ 4-5 ชั่วโมงและมีการนอนกลางวันมาก มีการบริหารกล้ามเนื้อแขนขาโดยใช้ยางยืด มีอาการท้องผูกบ่อย ซึ่งมารดาจะไปรับยาระบายให้ที่ สถานีอนามัย เศรษฐกิจของครอบครัวมีรายได้ของตนเอง 500 บาท/เดือน มารดา 500 บาท/เดือน ลูก ๆ     1,000 บาท/เดือน มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ โดยการดื่มน้ำมนต์

ปัญหาที่พบของกรณีศึกษา ปัญหาที่พบใหม่จากการตรวจร่างกายพบว่ามีความดันโลหิตสูง ปัญหาเดิม คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัญหาท้องผูก การทรงตัวเองไม่ได้ การเกิดอุบัติเหตุได้

การช่วยเหลือ คือ แนะนำการเคลื่อนไหวร่างกายโดยการพลิกตะแคงตัวบ่อย ๆ ทุก    2 ชั่วโมง แนะนำผู้ดูแลเรื่องการออกกำลังกาย การควบคุมอาหารรสเค็ม มัน แนะนำการใช้ยางยืดช่วยในการออกกำลังกาย แนะนำให้แช่เท้าด้วยน้ำอุ่น แนะนำการรับประทานอาหารที่มีกากใยและการดื่มน้ำ การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุโดยการเตรียมของใช้ไว้ใกล้ตัวผู้ป่วย อธิบายการเรื่องภาวะเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง   แนะนำการปฏิบัติตน การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายตามสมรรถภาพ

Case ที่สองเป็นมารดาและผู้ดูแลผู้ป่วย ตรวจร่างกายพบความดันโลหิตสูง รับประทานยาและพบแพทย์ไม่ต่อเนื่อง เสี่ยงต่อความปลอดภัยในการช่วยเหลือ case แรกในการลุกนั่งและการเข็นรถเข็นลงพื้น มีความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ รับประทานอาหารรสเค็มและอาหารกระป๋อง โดยเจ้าหน้าที่แนะนำให้งดอาหารประเภทนี้ กลางคืนนอนไม่หลับ ปัญหาที่พบคือการปฏิบัติตัว และการรับประทานอาหาร   เจ้าหน้าที่ผู้เยี่ยมจึงให้คำแนะนำและตรวจร่างกาย

กิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ผู้เยี่ยมให้กับครอบครัว ได้แก่ การใช้ยางยืด การปฏิบัติตัว การจัด  สิ่งแวดล้อมและสภาพที่อยู่อาศัย

สิ่งที่ได้รับจากการไปเยี่ยมบ้าน คือ สัมพันธภาพที่ดีกับทีมสุขภาพ ผู้ป่วยและครอบครัวเกิดกำลังใจ

ประโยชน์จากการไปเยี่ยมบ้าน คือ การให้ความรู้ การป้องกันอุบัติเหตุ การใช้อุปกรณ์ช่วยในการออกกำลังกาย และการมีคุณค่าของผู้ป่วยและครอบครัว

ปัญหาและอุปสรรคจากการไปเยี่ยมบ้าน คือ การขาดทีมสหวิชาชีพ และการดูแลไม่ต่อเนื่อง

สิ่งที่ดำเนินการต่อไป คือ การติดตามค่าความดันโลหิต การสังเกตการปรับเปลี่ยน             พฤติกรรมการบริโภคอาหาร อุปกรณ์ช่วยเหลือ และติดตามปัญหาใหม่

หมายเลขบันทึก: 226369เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2008 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท