"วัยรุ่นสายพันธุ์รู้ทันตนเองรู้เก่งใช้สื่อ"
โดย นิษฐา หรุ่นเกษม
โครงการสื่อสร้างสรรค์สุขภาพ ชุดโครงการการสื่อสารเพื่อสุขภาพ
ในโลกทุกวันนี้ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ท เทปและซีดี บริการต่างๆบนโทรศัพท์มือถือ และสื่อกิจกรรมจำพวกการจัดประกวดต่างๆ กลายเป็นตัวการที่ก้าวเข้ามา ครอบครองเวลาส่วนใหญ่ของเด็ก เป็นขาใหญ่ในการสร้างความคิด สร้างภาพแห่งความเป็นจริงในสมองของเด็ก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้และจำใจต้องยอมรับว่า สถาบันเก่าแก่ที่เคยมีบทบาทในการหล่อหลอมกล่อมเกลา อบรมบ่มเพาะพฤติกรรม ทัศนคติ ค่านิยมของเด็กๆ อย่างครอบครัว วัดหรือโรงเรียน ได้ล้มหายตายไปจากใจเด็กเกือบจะโดยสิ้นเชิง
แม้ในปัจจุบัน หน่วยงานหลายฝ่ายต่างพยายามที่จะรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนได้รู้เรื่องสื่อและ รู้เท่าทันสื่อ แต่ด้วยอำนาจแห่งกระแสทุนนิยมที่คอยชักใยให้สื่อนำเสนอ “สารกระตุ้น” ในปริมาณที่มากมายมหาศาลเพื่อให้เกิดความต้องการและเกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้า จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ในโลกยุคนี้ เห็นทีว่าจะสอนให้เด็กรู้เท่าทันสื่อแต่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอแล้วกระมัง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จับมือกับโครงการสื่อสร้างสรรค์สุขภาพ ภายใต้มูลนิธิมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และคณะทำงานเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต อันประกอบด้วยกลุ่มสมัชชาขาก๊วยและกลุ่มหอยขม โดยใช้ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่รวมพลังในการสร้างและพัฒนากลุ่มเยาวชนแกนนำจากภาคใต้ 8 จังหวัดให้ได้เป็นเยาวชนพันธุ์ใหม่ที่ “รู้เท่าทันตนเอง รู้เก่งใช้สื่อ” ด้วยการรู้จักคิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ และต่อรองต่อสิ่งที่ได้รับจากสื่อ พร้อมๆกับสามารถที่จะ “พัฒนา” และ “ใช้” ด้านดีของสื่อและการสื่อสารทุกประเภทมาใช้ในงานสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนต่อไป
เนื้อหาและกิจกรรมในค่ายเยาวชนรู้ทันตนเองรู้เก่งใช้สื่อนี้ปรับปรุงมาจากคู่มือการดำเนิน กิจกรรม “วัยมันส์เท่าทันสื่อ” ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2548 โดยพี่ๆคณะทำงานของโครงการสื่อสร้างสรรค์สุขภาพและกลุ่มละครมะขามป้อม โดยลำดับเนื้อหาของกิจกรรมถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ช่วงของการพัฒนาการรู้เท่าทันตนเอง และช่วงของการพัฒนาการรู้เก่งใช้สื่อและสาร เพื่อให้กลุ่ม แกนนำเยาวชนภาคใต้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะได้พัฒนาตนเองด้วยแล้ว ยังจะสามารถนำเอาความรู้ในเรื่องของการรู้เท่าทันดังกล่าวไปขยายผลและต่อยอดในจังหวัดของตนเอง
ในขั้นตอนของการรู้เท่าทันตนเองเป็นการใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือเพื่อฝึกให้กลุ่มเยาวชนได้รู้จักการคิดเชิงวิเคราะห์ผ่านการทำกิจกรรมวัยรุ่นสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้เกิดการ “รู้จักตัวเอง” ผ่านภาพสะท้อนของวัยรุ่นยุคปัจจุบัน ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวชี้วัดของสื่อ ว่าความสุขของเรา ตัวตนของเราจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบริโภคหรือการได้ครอบครองวัตถุสิ่งของที่มีลักษณะในแบบที่เรียกว่าดีกว่า ใหม่กว่า แพงกว่า เลิศกว่า ผลของการเรียนรู้จักตัวเอง คือความสามารถในการ “ปิดประตู” หรือปิดช่องทางที่อนุญาตให้สารในสื่อเข้ามาสร้างอิทธิพลต่อความรู้สึก จิตใจ และพฤติกรรมของเรา
สำหรับขั้นตอนของการรู้เก่งใช้สื่อ/สารน้องๆกลุ่มเยาวชนจะเริ่มต้นด้วยการดูหนังโฆษณาของสสส.ในเรื่องของเหล้าและบุหรี่ เพื่อให้เห็นจุดจูงใจและวิธีการนำเสนอของงานแต่ละชิ้นในสื่อ ที่มีเป้าหมายเพื่อการรณรงค์สร้างสุขภาพในสังคม ตลอดจนประเด็นเรื่องผลกระทบของการดื่มเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับได้รับมอบหมายงานในการผลิตสื่อ 2 ประเภทด้วยกัน คือ โปสเตอร์ และละคร ภายใต้แนวคิดหลักที่ว่า “สงกรานต์ภาคใต้ปีนี้…ไม่มีแอลกอฮอล์”
จากกระบวนการทำงานของกลุ่มแกนนำเยาวชนภาคใต้ สร้างความชื่นอกชื่นใจให้กับพี่ๆจากโครงการสื่อสร้างสรรค์สุขภาพ เพราะน้องแต่ละกลุ่มล้วนแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือล้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน และประเด็นงานที่ออกมานั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของน้องๆต่อผลกระทบและโทษภัยจากเหล้าและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในกรณีของ “เหยื่อ” ที่ไม่ได้ดื่มเหล้าแต่ต้องบาดเจ็บหรือล้มตายเพราะคนที่เมาแล้วขับ
ดังเช่น ละครของกลุ่มหนึ่งที่แสดงภาพให้เห็นว่า เมื่อคนเมาเหล้าแล้วออกไปขับรถตามถนน ก็ไม่ได้มีความระมัดระวังอะไร จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุชนหมาและชนคน หรือละครของอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงภาพให้เห็นว่า ครอบครัวของพ่อแม่ลูกที่กำลังเดินทางไปท่องเที่ยว แม้ว่าจะเป็นครอบครัวปลอดเหล้า แต่ก็กลับต้องเสียชีวิตหมดทั้งครอบครัว เพราะคนที่เมาแล้วขับรถน้องดา หรือสุไรดา ดาราแม็ง กลุ่มเยาวชนเพื่อสันติภาพ ที่เดินทางไกลจากจังหวัดปัตตานี เพื่อมาเข้าค่ายครั้งนี้ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกของตัวเองว่า “ตอนแรกก็สองจิตสองใจเหมือนกันว่าจะมาดีหรือเปล่า แล้วหนูเองก็ไม่เคยรู้เรื่องของสื่อมาก่อน แต่มาคราวนี้ เราได้เอาเรื่องที่เราเคยนึกไม่ทันหรือมองข้ามไป ได้กลับมาคิดวิเคราะห์ และลองทำ”
ในขณะที่ สุทธิณี หลีสาลา หรือน้องบ๊ะ จากกลุ่มสภาเยาวชนจังหวัดสตูล เล่าว่า “การเข้ามาค่ายนี้ทำให้เรามีความคิดใหม่ๆเกี่ยวกับการใช้สื่อ แล้วอีกอย่าง มิตรภาพของทุกคน ทำให้เรายังได้สร้างเครือข่ายของเราออกไปได้อีกเรื่อยๆด้วย”
รู้เท่าทันสื่ออาจจะยังไม่พอ แต่ถ้าต่อเติมด้วยการรู้เท่าทันตนเอง อาจรวมกันเข้าเป็นกระบวนการ ติดตั้ง “อาวุธทางปัญญา” และที่สำคัญ คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญของสุขภาวะที่ดีของประเทศไทย