(เมื่อผม) คุยกับประภาส ตอน “ 7 วิธีตีหินให้เป็นประกายไฟสร้างสรรค์” #1 (เกริ่น)


เมื่อพี่จิกเปิดคลินิกครีเอทีฟ

 

 

คำนำ

     เป็นโอกาสอันดีที่วันหนึ่งก็มีประกาศมาติดไว้ที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ว่าภายในบริษัทว่าพี่จิกเปิดคลินิกครีเอทีฟ ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนพี่น้องหลายคน (รวมทั้งคนที่เพิ่งรู้จักในหลายครั้ง) ที่เป็นแฟนคลับพี่จิก พอรู้ว่าผมทำงานที่บริษัทเวิร์คพ้อยท์ ก็จะถามผมว่าได้คุยกับพี่จิกบ้างหรือเปล่า พี่จิกตัวจริงเป็นยังไงบ้าง ผมก็ตอบไปตามจริงว่า ได้คุยบ้าง แต่หลาย ๆทีถ้าเป็นเรื่องงานผมก็แอบเกร็งอยู่บ้าง เพราะถึงแม้พี่จิกจะเป็นกันเองกับน้อง ๆ พนักงานมาก แต่คุณลองคิดว่าคุณทำงานอยู่แล้วรองประธานเรียกคุณคุยเรื่องผลงานของคุณดูสิครับ แล้วไอ้งานคิดรายการที่ผมทำอยู่นี่พี่เค้าก็เคยคิดและทำรายการระดับตำนานมานักต่อนัก (ผมออกจะเกร็งประเด็นหลังซะมากกว่า)

     ท้ายที่สุด หลาย ๆ คนเหล่านั้นก็บอกว่าอิจฉาผม เพราะแฟนคลับส่วนใหญ่อย่างมากก็ได้ฟังพี่จิกไปบรรยาย หรือได้รับการตอบจดหมายผ่านคอลัมน์คุยกับประภาสเท่านั้น ดังนั้นทุกตอนสายวันพุธ ถ้าไม่มีอัดรายการ ผมก็จะเข้าไปพูดคุยเสนอความคิดเห็นในคลีนิกของพี่จิกเสมอ (ซึ่งเรียกกันติดปากว่าไปเข้า “Class”พี่จิกกัน)

     และนี่คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมได้จากการเรียนรู้จากชายที่ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดคนหนึ่งของวงการโทรทัศน์ (หรือของประเทศไทย หรือของยุคสมัย แล้วแต่ความอินในพี่จิกของแต่ละคน) ในมุมมอง และภาษาของผมเอง ซึ่งได้ปรับเติม เสริมความคิดเห็นของผมลงไปด้วยพอสมควร ดังนั้นมันอาจจะไม่ใช่สำนวนสุภาพแบบกันเอง แบบที่คุณเคยได้อ่านคุยกับประภาส นะครับ

แต่คาดว่าสาระที่ได้น่าจะไม่ต่างกัน (หวังว่านะครับ..ผมทำเต็มที่แล้ว)

     สุดท้ายนี้ขอขอบคุณพี่จิกที่อุตส่าห์อ่านต้นฉบับจนจบ และอนุญาตให้เผยแพร่ได้โดยแทบไม่ได้แก้ไขอะไรเลย(ทำเอาผมแอบดีใจเล็ก ๆ ที่สำนวนผมผ่านด้วย)

                                      ขอบคุณครับ 

                                     ร่มไทร ศักดาเดช

                                พนักงานฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์

 

คำเตือน     โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ผู้ปกครองควรอ่านกับบุตรหลาน สตรีมีครรภ์อ่านให้ลูกให้ท้องฟังได้ แนะนำให้อ่านอย่างน้อย 2 ครั้ง (ครั้งเดียวก็ได้ แต่ 2 ครั้งดีกว่านะ)

ทุกคนล้วนแต่ต้องสร้างสรรค์

     ในคลินิกครีเอทีฟของพี่จิก ไม่ได้มีแต่พวกครีเอทีฟ (ที่จริงควรเรียกฝ่ายผลิตรายการ) เท่านั้น เพราะ Creative Idea นั้นเกิดขึ้นได้ในทุกแผนก และควรจะเกิดด้วย เช่น ถ้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีช่องทางการให้ข่าวใหม่ ๆ รายการก็จะมีคนดูมากขึ้น ตากล้องมีมุมกล้องใหม่ ๆ รายการก็จะสนุกขึ้น แมสเซนเจอร์เจอเส้นทางใหม่ ๆ งานก็จะไปส่งได้เร็วขึ้น คนเราถ้าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นหรอกครับ ทั้งตัวคุณเองและสิ่งรอบข้าง

     เพราะที่จริงแล้วการสร้างสรรค์มันก็คือการคิดแก้ปัญหาที่เกิดมาบนโลกนี้ และในโลกปัจจุบันที่แยกส่วนกันรับผิดชอบกันเป็นเฉพาะด้าน(specialization)นี้ เรียกการแก้ปัญหาว่าอาชีพ ใครถนัดด้านไหนก็ไปทำอาชีพนั้น ไปแก้ปัญหาทางนั้น เก่งด้านคิดเลขก็ไปเป็นนักบัญชีแก้ปัญหาตัวเลข เก่งเรื่องสอนก็ไปเป็นครูแก้ปัญหาคนไม่รู้หนังสือ ร้องเพลงเก่งก็ไปเป็นนักร้องแก้ปัญหาโลกเหงา เก่งหลายอย่างก็ไปเป็นนายกฯได้แก้หลายปัญหาเลยคราวนี้

     ก่อนอื่นขอนำนิทานมาเล่ากันสักเรื่อง นิทานอุปมาอุปไมยเรื่อง จับกระต่าย

(ระวัง! คุณอาจเคยฟังแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไรผมเล่าไม่ค่อยเหมือน)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เรากับเพื่อนอยากกินกระต่ายขึ้นมา (เริ่มเรื่องได้หน้าด้านมาก)   เรากับเพื่อนก็ต้องไปจับกระต่ายแต่จะจับยังไงดี เริ่มจากไปซุ่มเฝ้าสังเกตกระต่ายหน้าโพรงก่อน เผอิญว่าวันนั้นฟ้าร้อง เผอิญกระต่ายตกใจพุ่งออกมาจากโพรงชนก้อนหินที่เผอิญอยู่หน้าโพรงตาย เอาละเว้ยได้กระต่ายกินแล้ว วันนั้นเราเริ่มรู้แล้วว่ากระต่ายมันจะตกใจเสียงดัง แล้วถ้ามันกระโดดชนหินแล้วมันจะตาย นี่คือวิธีได้กระต่ายมากิน

     วันต่อมาหาโพรงกระต่ายโพรงใหม่ แต่ว่าเผอิญโพรงนี้ดันไม่มีก้อนหินวางไว้ข้างหน้า เพื่อนว่าไม่เป็นไรเราก็เอาหินไปวางไว้หน้าโพรง แล้วเผอิญวันนี้ฟ้าไม่ร้อง เราก็ทำเสียงเอาแล้วกันให้กระต่ายมันตกใจ มันจะได้มาชนหินตายอีก โอเค ลงมือเลย ในที่สุดก็ได้กระต่ายไปกิน

     วันที่ 3 ก็ทำเหมือนเดิม แต่กระต่ายเจ้ากรรมดันพุ่งออกมาไม่ชนหิน เอาไงดีเนี่ย จะได้กินมั้ย เพื่อนบอกว่าเอาอย่างนี้ เดี๋ยวเอ็งถือหินไปก้อนนึง ปีนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ พอกระต่ายมันออกจากโพรงมา เอ็งค่อยปล่อยหินใส่กบาลมัน เออ เข้าท่า ตกลงว่าวันที่ 3 ก็ได้กระต่ายไป                    

     วันที่ 4 เราก็เริ่มขี้เกียจแบกหินปีนขึ้นต้นไม้ แล้วเผอิญเพื่อนมันไม่ไปด้วยแล้ว เราเลยใช้วิธีเอาหินเขวี้ยงใส่หัวกระต่ายแทน วันที่ 35 เราพัฒนามาเป็นธนู ปีที่ 214 เราใช้ปืนยิง ปีที่ 2598 เราก็มีจรวดบินขึ้นไปหากระต่ายบนดวงจันทร์ แต่ว่ายังไม่เจอ

     ในขณะที่เพื่อนอีกคนเอากระต่ายไปเลี้ยงกินแทน เอากระต่ายมา 2 ตัวให้มันผสมพันธุ์กันออกลูก หมอนั่นทำฟาร์มกระต่าย หมอนั่นเจอกระต่ายอีกหลายชนิด หมอผสมข้ามสายพันธุ์ แล้วหมอก็ตัดแต่งพันธุกรรม จนตอนนี้หมอโคลนนิ่งกระต่ายกินแล้ว แต่กระต่ายก็ยังเหมือนเดิมมาหลายร้อยหลายพันปี ไม่มีเปลี่ยนพฤติกรรม...

     นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเราทุกคนต้องยกหินออกจากปากโพรงกระต่าย และหาวิธีใหม่กันได้แล้วถ้าอยากมีอะไรดีขึ้น ซึ่งในการแก้ปัญหานั้น แน่นอนว่าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

ตอนแรกเอาแค่นี้ก่อนแล้วกันครับ

 

หมายเลขบันทึก: 224898เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2008 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านได้แล้วค่ะ...ยินดีด้วย

เย้ ได้อ่านเวอร์ชั่นภาษาเขียนแล้ว

หลังจากได้ข่าวมาสักพักใหญ่ว่าจะเขียนให้อ่าน

และหลังจากได้ฟังเจ้าตัวเล่าเองด้วยความสนุกสนาน (ขำคนเล่า)

เดี๋ยววันนี้จะไล่อ่านให้ครบทุกตอนเท่าที่มีตอนนี้เลย

^_^

ร่ม พี่แวะมาบอกว่า พี่ไม่ได้อ่านเรียงลำดับล่ะ

อยากอ่านบันทึกไหนก่อนก็อ่าน ตามอารมณ์ตัวเองมากๆ

แต่ว่า...อ่านแล้วยังย้อนมาได้อ่านอีกล่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท