คนที่ได้ทำงานที่ตนรัก สู้คนที่สามารถรักงานที่ตนทำไม่ได้


คอลัมน์ปรับฐานรากเปลี่ยนฐานคิด ของ อ.เสรี พงศ์พิศ ในนสพ.สยามรัฐ ฉบับวันพฤหัสที่ ๒๐ พ.ย.๕๑ เรื่อง มหาวิทยาลัยชีวิต: สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน(1) มีข้อความว่าพ่อแม่จำนวนมากยอมกู้หนี้ยืมสินให้ลูกไปเรียนเพราะไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเอง ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่ามีพ่อแม่จำนวนมากคิดอย่างนั้นจริงๆ

แต่คิดอีกที มีงานหลายอย่างที่มีความยากลำบากมาก เพื่อนผมหลายคนก็รักและสนุกกับงานของตัวเองอยู่เสมอและตลอดมา แม้จะทำงานหนักมาก จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน โดยเฉพาะเพื่อนที่ทำธุรกิจ หากมีปัญหา มีความยากลำบาก เขาก็ถือเป็นเรื่องท้าทาย เขาบอกว่า "ปัญหามีไว้ให้แก้นี่นา"

ที่บ้านเกิดผมมีค่ายมวยและนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น พุฒิ ล้อเหล็ก เป็นรุ่นพี่คนบ้านเดียวกัน อาชีพนักมวยเป็นอาชีพที่ลำบากลำบนมากในสายตาผม ต้องเจ็บตัวอยู่ตลอดเวลา แต่นักมวยเหล่านั้นก็ชอบที่จะทำงานนั้น แสดงว่าเขารัก "งาน" ของเขา

ในทางกลับกัน หากคนๆ หนึ่งคิดว่างานที่ตนทำต้องทนทำด้วยความลำบากลำบนไม่อยากให้คนอื่นต้องมาทำแล้วลำบากอย่างตน แสดงว่าเขากำลังเกลียดงานของตัวเอง ดังเช่นพ่อแม่ที่พยายามให้ลูกไม่ต้องมาทำงานอาชีพเดียวกับตัวเอง

มีข้อมูลจากงานวิจัยใครทำจำไม่ได้ว่า มูลเหตุแห่งหนี้สินลำดับต้นๆ ของชาวบ้านในชนบท นอกจากหนี้จากการกู้มาลงทุนแล้ว ยังมีหนี้ที่กู้เพื่อการศึกษาของลูก และหากการกู้ยืมนั้นมาจากความคิดที่ว่าการงานอาชีพที่ตนเองทำอยู่เป็นงานที่ลำบากไม่อยากให้ลูกหลานทำงานอย่างตน ก็แสดงว่า มีชาวบ้านจำนวนมาก ไม่ชอบ ไม่ชื่นชม ไม่รัก งานที่พวกเขาทำอยู่

ผมเชื่อว่าหากเรารักในงานใดจริง(อย่างนักมวย) แม้จะเป็นงานหนักเราก็มีความสุขและสนุกที่จะทำงานนั้นได้ และเราก็จะอยากให้ลูกหลานสืบทอดงานนั้นต่อไป เราจะไม่เกิดความรู้สึกว่า "ลูกเอ๋ย ไปเสียเถอะ อย่าทำการงานอย่างพ่อแม่เลย มันลำบาก ทำแล้วมีแต่ความทุกข์"

ถ้าเกิดความรู้สึกแบบนี้บ้างเป็นครั้งคราวก็ยังไม่เท่าไร แต่ถ้าเกิดอยู่ตลอดเวลา หรือตลอดชีวิตการทำงาน หมายความว่า ต้องอยู่กับความเกลียดงานของตัวเองตลอดชีวิต คนนั้นจะมีความสุขในชีวิตได้อย่างไร?

เพื่อนคนหนึ่งของผมมีอาชีพรับราชการ เป็นคนที่มีอุดมการณ์สูง มีความตั้งใจในการทำงานมาก แต่กี่ครั้งกี่ครั้ง เมื่อถามเรื่องการงานก็จะเล่าแต่เรื่องงานที่เขาผิดหวังตลอด ทั้งระบบงาน ทั้งผู้ร่วมงาน คล้ายกับว่าต้อนทนทำงานที่ทำอยู่ ต้องทนหัวหน้า ทนเพื่อนร่วมงาน และก็ดูเหมือนจะต้องทนต่อไปอีกหลายปีกว่าที่จะเกษียณ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ ผมเพิ่งมาคิดออกว่า ถ้าคนทำงานทุกคนต่างคิดว่า เราเท่านั้นที่มีอุดมการณ์ เราเท่านั้นที่คิดถูก งานที่ทุกคนต้องมาทำร่วมกันก็ยากที่จะสำเร็จ ผมเคยถามเขาว่า มีคุณคนเดียวหรือเปล่าทั้งหน่วยงานที่คิดอย่างนี้ เขาก็บอกว่าใช่ ผมเองก็เชื่อมั่นในตัวเขา เพราะรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก แต่ขณะที่เชื่อมั่นก็รับรู้ได้ถึงความทุกข์ของเขา ทีพยายามผลักดันอะไรต่อมิอะไรอยู่เพียงลำพัง ขณะเดียวกันผมก็สงสัยว่าเพื่อนร่วมงานเขาเป็นสิบเป็นร้อยคน นอกจากเขาแล้วล้วนไม่ดีหมด ล้วนทำสิ่งที่ไม่สมควรทำหมด อย่างนั้นหรือ?

อ.เสรี บอกว่า คนที่ได้ทำงานที่ตนรัก สู้คนที่สามารถรักงานที่ตนทำไม่ได้ ครั้งแรกที่ฟัง ผมไม่เข้าใจว่าจะให้คนที่ไม่ชอบงานที่ทำอยู่ สามารถหันมารักงานของเขาได้อย่างไร เพิ่งมาเข้าใจเมื่อได้มาร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้* วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน ๓ (สปช.๓)** แก่นักศึกษาปีสุดท้ายในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ที่กำลังจะสำเร็จหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตจาก ๔ มหาวิทยาลัย*** ในเทอมนี้

การจัดกระบวนการเรียนรู้ในวิชานี้เราให้นักศึกษามาร่วมกันทำกิจกรรมคิดทบทวนเรื่องการงานของตัวเอง แล้วสะท้อนประสบการณ์ออกมา มีอะไรที่คุณชอบและไม่ชอบในงานของคุณบ้าง แล้วก็ร่วมกันในกลุ่มช่วยกันให้ความหมายของคำว่า "งาน" จากนั้นให้แต่ละคนคิดโครงงานพัฒนาการงานอาชีพของตน แล้วมารายงานผลการทำโครงงานของตนในปลายภาค โดยจัดเป็นลักษณะสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันอีกครั้งหนึ่ง

นักศึกษาหลายคนรักงานที่ตนเองทำอยู่ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ชอบไม่รักงานที่ตนทำอยู่ บางคนไม่ชอบแต่ก็ต้องทำเพราะพ่อแม่บังคับ บางคนไม่ชอบแต่ทนทำเพราะปัญหาเศรษฐกิจบีบบังคับ

แต่ดูเหมือนทุกคนจะเห็นด้วยกันในบางข้อ เช่น การทำงานทำให้เรารู้สึกตัวเองมีค่า มีศักดิ์ศรี มีความหมาย การทำงานเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่เรามีต่อครอบครัว สามี-ภรรยา-ลูก คือไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบงานที่เราทำ งานนั้นก็มีส่วนดีอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

ผมมีประเด็นหนึ่งให้นักศึกษาได้ถกกัน คือ ทำไมเกษตรกรบางคนจึงรักในงานของเขา อย่างเช่นคุณมนูญ เทศนำ นักศึกษา ม.ชีวิตคนหนึ่งที่ดอยสะเก็ด เชียงใหม่ ล้มเหลวจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัว ปัจจุบันเขาหันมาเดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตอนนี้ไม่เครียดแล้ว เพราะหนี้สินเริ่มลดลง และมีความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะสามารถปลดหนี้ทั้งหมดด้วยตนเอง ไม่ต้องให้ใครมาช่วย เขาขลุกอยู่ในนาในสวนของตัวเองทั้งวันอย่างมีความสุข ความสุขนั้นยังแบ่งปันมาถึงสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งชาวบ้านย่านนั้นที่ได้กินพืชผักไร้สารเคมี****จากสวนของคุณมนูญ

ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ชาวนาอำเภอศรีประจันต์ สุพรรณบุรี ก็รักในอาชีพเกษตรของตัวเอง เห็นคุณค่า-ความหมาย-ศักดิ์ศรีในงานการเกษตรของตัวเอง มีความภูมิใจในอาชีพการเกษตรกันทั้งครอบครัว กระทั่งลูกชายลุงทองเหมาะจบการศึกษาปริญญาโทก็มาสืบทอดอาชีพทำนา มีความรักความภาคภูมิใจในอาชีพของครอบครัว

มีเกษตรกรอีกเป็นหมื่นๆ ครอบครัวที่ไม่ได้รู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นงานที่ลำบาก เขาสามารถมีความสุขอยู่กับกลิ่นโคลนสาปควาย  ตรงกันข้าม ท่านเหล่านั้นมีความรัก เห็นคุณค่า ความหมายของงานที่ตนทำ และยังพยายามถ่ายถอดอาชีพที่ตนรักนี้ต่อไปยังลูกหลานด้วย ผมกำลังนึกถึงเกษตรกรอย่างผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ที่ อ.สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา พ่อเชียง ไทยดี ที่ อ.ศรีขรภูมิ สุรินทร์ น้าประยงค์ รณรงค์ ที่ อ.ฉวาง นครศรีธรรมราช และใครต่อใครมีมากมาย

คำตอบที่หลายคนช่วยกันตอบคือ เกษตรกรเหล่านั้นเป็นผู้ที่ "รู้คิดรู้ทำ" โดยมีหลักการสำคัญบางอย่างยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและในการทำงาน เช่น หลักแห่งความพอเพียง(เดินสายกลาง ไม่โลภ) หลักคุณธรรม หลักการพึ่งตนเอง ฯลฯ

อาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเกษตรก็เช่นกัน เช่นในสถานประกอบการ มีคนที่ทำพอให้ผ่านไปวันๆ มีคนที่ทำเพี่ยงเพื่อให้ได้เงินอยู่  แต่ในสถานประกอบการนั้นก็มีคนที่ทำด้วยความรักในงาน ทำอย่างมีความสุข ขนาดที่ผู้มาติดต่อหรือใช้บริการสามารถสัมผัสได้

มีคนถามว่าผู้ที่อายุมากเกษียณแล้ว ไม่มีอาชีพอะไรแล้ว จะทำโครงงานพัฒนาอาชีพอะไร แม่บ้านเต็มเวลาคนหนึ่งก็บอกว่าไม่รู้จะทำโครงงานอะไรเพราะไม่มีงานอาชีพ ผมถามท่านที่เกษียณแล้วว่า ท่านทำอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน ท่านก็บอกว่าช่วยงานวัดบ้าง ไปช่วยเป็นกรรมการตรวจสอบของกลุ่มร้านค้าบ้าง ผมก็ถามว่าท่านมีความสุขกับงานที่ทำหรือเปล่าครับ ท่านก็บอกว่ามีเพราะท่านชอบและอยากทำ จึงอาสาสมัครไปทำ ผมก็เลยถามว่า ท่านจะพัฒนางานนั้นให้ดีที่สุดได้ไหม

แม่บ้านก็เช่นเดียวกัน เวลากรอกใบสมัครเป็นนักศึกษาระบุอาชีพอะไร เธอบอกว่า อาชีพแม่บ้าน ผมก็ถามว่าอาชีพนี้ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ซี่งไล่ไปไล่มาก็มีงานเยอะแยะไปหมดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทั้งดูแลบ้าน ดูแลลูกและสามี แล้วยังมีพ่อแม่อีก คุณไม่คิดหรือว่าคุณกำลังทำ "งาน" ที่ยิ่งใหญ่มาก คุณมี "ตำแหน่งงาน" ตั้งหลายตำแหน่ง เช่นเป็น "แม่" ของลูกๆ เป็น "ลูก" ของพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เป็น "ภรรยา" ของสามี ถ้าคุณไม่ทำ "งานบ้าน" เหล่านั้น สามีคุณจะสามารถทำงานอาชีพของเขาได้ดีไหม 

หลังจากนั้น ผมสังเกตเห็นแววตาแห่งความภาคภูมิใจในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองจากงานที่เธอทำฉายออกมา เธอคงคิดออกด้วยตัวเองแล้วว่าจะสามารถพัฒนา "งาน" ที่มีความหมาย มีคุณค่า และความภาคภูมิใจนี้ต่อไปอย่างไร

ผมเคยอ่านเจอเรื่องเล่าเก่าแก่เรื่องหนึ่งของอิตาลีในหนังสือเกี่ยวกับการสร้างความสมดุลย์ให้ชีวิตเล่มหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า พระรูปหนึ่งถามช่างตัดหินสามคนที่กำลังทำงานอยู่กลางแดดเปรี้ยงว่า "โยมทำอะไรอยู่หรือ?"

          คนแรกตอบว่า "ผมกำลังตัดหินอยู่ครับ"
          คนที่สองตอบว่า "ผมกำลังทำเงินวันละ ๑๐๐ บาทอยู่ครับ"
          คนที่สามตอบว่า "ผมกำลังสร้างโบสถ์แสนงามอยู่ครับ"

ความจริง การทำงานเพราะมันเป็นงานตรงหน้าที่ต้องทำ หรือการทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีวิตล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่การที่บางคนสามารถมีความสุขกับงานที่กำลังทำและมีเหตุผลที่จะรักในงานที่กำลังทำอยู่(แม้กลางแดดเปรี้ยง)ได้อย่างช่างตัดหินคนที่สาม เป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่า

เรื่องนี้ช่วยยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เพียงเราสามารถเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับงานของเรา ความรู้สึกนึกคิดของเราต่องานที่ทำอยู่ก็เปลี่ยนไปได้ กลายเป็นคนที่โชคดีที่สามารถรักงานที่ตนเองทำอย่างเต็มที่ มีความสุขกับงานอย่างที่ อ.เสรี บอกได้

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
พ.ย.๕๑

________________________________________________________________________
* ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตเราเน้นการเรียนไม่เน้นการสอน(สอนน้อย-เรียนมาก)โดยจัดกระบวนการให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ตรงและสร้างความรู้ใหม่ขึ้นด้วยตนเองจากการลงมือทำ เราจึงมักหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าการสอน เพราะคำว่า การสอน ให้ความรู้สึกของการมีผู้เชี่ยวชาญไปบรรยายความรู้แบบสำเร็จรูปที่บอกต่อๆ กันมา ให้ท่องจำ รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ผมเองกระตุ้นให้นักศึกษาตั้งคำถามกับความเชี่ยวชาญของผู้บรรยายอยู่เสมอ หากใครไม่เคยทำเรื่องนั้นเพียงแต่ฟังมาอ่านมา ไม่ถือว่า "รู้จริง"

** วิชา สปช.๓ เป็นวิชาที่เรียนต่อจากวิชา สปช.๑ และวิชา สปช.๒ ในวิชา สปช.๑ นักศึกษาทำโครงงานพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองในด้านสุขภาพ ลด-ละ-เลิกอบายมุข สิ่งเสพติด แก้ปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว วิชา สปช.๒ นักศึกษาร่วมกิจกรรมเพื่อการรู้จักตัวเอง แล้วทำโครงงานพัฒนาพฤติกรรม-บุคลิกภาพตนเอง วิชา สปช.๓ นักศึกษาทำโครงงานพัฒนาการงานอาชีพ

*** มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, ศรีสะเกษ, ชัยภูมิ และพระนคร

**** "ผักไร้สาร" คือผักที่ไม่มีสารเคมีเลยตลอดกระบวนการผลิต เช่น ผักจากเกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ และเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ต่างกับ "ผักปลอดสาร" ซึ่งใช้เคมีเช่นปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชในกระบวนการผลิต แต่งดใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวตามที่บริษัทผลิตสารเคมีบอกว่าเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

หมายเลขบันทึก: 224410เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
สมุทรเจริญ อัมพรพชร

สวัสดีครับ อาจารย์

ผมชอบครับ ไม่ใช่ชอบในบทความครับ แต่ผมชอบวิธีคิดครับ ไม่ใช่วิธีคิดของตัวละคอนครับแต่ชอบวิธีคิดของแนวการนำเสนอให้ผู้อ่านมองตามแบบไม่บังคับ และสามารถยกตัวอย่างได้อย่างสม่ำเสมอ มองเห็น เดินตามอย่างช้า ๆ

ภาษาที่อ่านง่ายแบบฟังคนอื่นเล่าเรื่อง ไม่ต้องแต่งติมออกไปไกลมาก ไม่ต้องมีฉากหลังแบบ หนังญี่ปุ่นสไตล์ แบคไลท์มากมาย

ดีครับ อาจารย์

ขอให้อาจารย์มีความสุขครับ

อายุวันโน สุขังพลัง

สมุทรเจริญ

สวัสดีครับท่านอาจารย์

ผมดีใจที่มีบทความดีๆที่หาค่อนข้างยากในปัจจุบันอ่าน ได้อ่านบทความของท่านแล้วชอบใจและประทับใจในส่วนของ "การเรียน" ซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่มีมาแต่กำเนิด

ผมขออนุญาตสำเนาเอกสารนี้เพื่อเผยแพร่ให้กับสาธารณในทุกที่ที่ผมเดินทางมา ณ ที่นี้นะครับ

รักและเคารพท่านอาจารย์ยิ่ง

โดม เลือดชาวดิน

เฮ้...โดม

+ ดีใจที่เพื่อนมาอ่านและเขียนความเห็นในเว็บบล็อกนี้

+ เรื่องที่จะไปสำเนาเผยแพร่ก็เชิญได้เลย

+ คิดถึงเพื่อนอยู่เสมอ

SV (TRAFS #13)

    งานทุกอย่าง เป็นงานที่มีเกียรติ และ มีคุณค่า  ถ้ามีใจ...ครับ

"งานทุกอย่าง" ที่คุณ small man~natadee บอก ผมเข้าใจครับว่า หมายถึงงานสุจริตทั่วไป เป็นงานที่มีเกียรติและมีคุณค่า เห็นด้วยครับ

อ่านคุณ small man แล้วมีความคิดอันหนึ่งผุดขึ้นมา

นั่นคือ แล้วงานที่ไม่มีเกียรติ ไม่มีคุณค่า ไม่ได้ทำด้วยใจ มีไหม เป็นอย่างไร

เคยอ่านผ่านๆ ที่ไหนสักแห่ง ว่างานใดที่ทำแล้วไม่กล้าบอกคนที่เรารัก (เช่นพ่อแม่ ลูก ภรรยา หรือสามี)แสดงว่างานนั้นต้องมีอะไรพิกล (เช่น ค้ายาเสพติด) ถ้าเป็นอย่างนี้ควรเลิกทำโดยเร็ว

ผมเชื่อว่าลึกๆ คนที่ทำแบบนี้ก็รู้ว่ามันไม่มีคุณค่าอะไรต่อตัวเองและคนอื่น

คนทำเองก็มีความรู้สึกอยู่ข้างในที่มันบอกตัวเขาเองอยู่

สวัสดีครับท่านรองสุรเชษฐ์

ติดตามงาน ของอาจารย์เสรีบ่อยมาก ชอบ

คนเครือข่ายรู้จักท่านดี

ยินดีที่ทำให้ได้นึกถึง พุฒิ ล้อเหล็ก ที่เด็กๆไม่คุ้นชิน

ท่าน รองน่าจะเขียนเล่า ประวัติ พุฒิ มาให้ หาย "นึง"น่ะครับ

สวัสดีคะ พี่เชษฐ

แค่อ่านชื่อเรื่องก็โดนใจ

นี่เป็นจุดที่ตัวเองนึกทบทวนตัวเองมานานแล้ว และกำลัง ทำการบ้านอยู่

อ่านแล้วได้มุมมอง ดีดี !

จริงเสียด้วย!!

แค่ มีความสุขกับงานที่กำลังทำ

เพียงเราสามารถเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับงานของเรา

ความรู้สึกนึกคิดของเราต่องานที่ทำอยู่ก็เปลี่ยนไปได้

เพราะบางทีคนเราก็ไม่สามารถได้รับโอกาสที่ตัวเองต้องการได้

แต่การเลือกที่จะคิดรู้สึก ต่อโอกาสที่ตัวเองได้รับ สำคัญกว่า

ขอบคุณมากคะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์สุรเชษฐ

ขอบคุณมากนะคะที่ท่านเขียนบทความดีๆ ที่เป็นประโยชน์ มีสาระดีมากค่ะ

ใช่ค่ะ เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมองไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ,เรื่องครอบครัว หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม ทำให้เรามีความสุขในสิ่งที่เราทำ

ปัจจุบันนี้นัทก็ใช้แนวนี้แหละค่ะ ทำให้ตัวเองมีความสุขกับงานที่ตัวเองทำ แล้วผลงานที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจของเราด้วยค่ะ

ปล.ปกติจะไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาอ่านสักเท่าไหร่ แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้ท่านเขียนบทความดีๆ ต่อๆไปนะคะ

ด้วยความเคารพค่ะ

น้องนัทค่ะ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากน้องนัท

ขอบคุณผึ้งที่เข้ามาให้ความเห็น

ต้องขออภัย "บังหีม" เรื่องประวัติ พุฒิ ล้อเหล็ก ผมไม่ได้รู้อะไรมาก

ทราบเพียงแต่ว่ากลับไปอยู๋ที่ตรัง ทำงานบริษัทขนส่งอยู่พักหนึ่ง

แต่ตอนนี้ออกแล้ว ก็ไม่ทราบว่าทำอะไรต่อจากนั้น

อ่านดูแล้วได้ความเห็นว่า ทุกคนมีดีอยู่ในตัวของตนเองทั้งสิ้น แต่ใครจะค้นพบตนเองเท่านั้นแหละที่เป็นส่วนสำคัญ ฉะนั้นหากว่าตอนนี้ยังมองตนเองไม่ออกก็บอกให้คนอื่นช่วยดูตนเองให้ด้วย จักขอบคุณมากครับผม

มาอ่านค่ะ และรายงานว่า แอ๊ดบล็อกค่ะ

ขอบคุณค่ะสำหรับบันทึกดี ๆ

ชอบประโยคของคุณ sermpak thirakul 
"...แต่ใครจะค้นพบตนเองเท่านั้นแหละที่เป็นส่วนสำคัญ..."

และ "...หากว่าตอนนี้ยังมองตนเองไม่ออกก็บอกให้คนอื่นช่วยดูตนเองให้ด้วย"

แสดงว่าตนก็ค้นตนด้วย ขอความกรุณาผู้อื่นช่วยดูด้วย

ตอน "ค้นตน" นี่ใครมีประสบการณ์อะไรบ้างครับ วิธีการที่ใช้กันมีอะไรบ้าง?

กำลังศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังอยู่ครับ (ทำวิจัยอยู่) 

นุชจรินทร์ พันสนิท

สวัสดีค่ะอาจารย์สุรเชษฐ์

ได้อ่านบทความของอาจารย์แล้วทำให้ตัวเองมีความรู้สึกดีดีเพราะหนูก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ทำงานที่ตัวเองไม่ชอบไม่เคยชอบเลยสมัยตอนเอ็นฯก็ไม่เลือก อุตสาห์ไปทำงานที่อื่น(กทม.)แต่สุดท้ายก็ต้องได้ทำงานที่โรงพยาบาลแรกๆก็รู้สึกไม่ดีขัดกับความรู้สึกมากแต่ต้องทำใจยอมรับเพราะไม่สามารถเลือกได้สักพักก็เริ่มชินและปรับตัวได้ดีกว่าไม่มีงานทำจนทุกวันนี้ถึงไม่ชอบงานแต่ก็รู้สึกเฉยๆไม่เกลียด ทุกข์ขังอนิจจังอนัตตา สังขารไม่เที่ยง ยังดีที่ได้ช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์แม้จะเพียงชั่วขณะก็ตาม(ปกติก็ชอบช่วยเหลือคนอื่น)พอๆกับที่เรียนสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นไม่ได้เต็มใจสมัครหรอกนะค่ะตอนนั้นคิดว่าดีกว่าอยู่ว่างๆหาความรู้ใส่ตัวดีกว่าทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยมีความรู้ดีเลยสมัครพอเรียนได้1ปีขึ้นปีที่2ถึงได้รู้ว่าทุกอย่างมีคุณค่าหมดเรามองสิ่งที่อยู่ไกลตัวเกินไปไม่เคยมองสิ่งที่อยู่รอบตัวทุกอย่างมีธรรมชาติที่สวยงามอยู่ในตัวอยู่แล้วจนวันนี้หนุ้สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้เพราะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรานี่เอง(จากที่หนีมาเกือบสิบปีและไม่สามารถจบปริญญาได้เพราะมัวเสียเวลากับกิเลสหัวโขนยึดติดความโก้หรูตามวัยรุ่นเลือกเรียนอะไรที่ยากๆท้าทาย ณ ขณะนี้เมื่อได้อ่านบทความอาจารย์มีความรู้สึกว่ามีคนที่คิดเหมือนเราอยู่เหรอคนส่วนใหญ่ในที่ทำงานเขาก็เลือกเรียนและทำงานงานในสิ่งที่ชอบทั้งนั้นก็เลยชักไม่แน่ใจ

ยินดีกับคุณนุชรินทร์ดัวยที่มีความเพียรเรียนจนสำเร็จ ขอให้ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ทำประโยชน์แก่ตนและคนอื่นต่อไปนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะได้กระตุ้นให้คิด

ในเรื่องมุมมอง ในการทำงาน...

ได้ทำงานที่รักและรักในงานที่ทำ ก็มีความสุขอย่างหนึ่งแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อาจารย์ขา เข้าใจแล้ว ที่อาจารย์สอนวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ เหตุผลก็เพื่อให้รักงาน และพัฒนางานที่ตนทำให้ดีขึ้น

และอีกหลายอย่าง เข้าใจบทเรียนมากขึ้น ว่าทำไมต้องสร้างเสริมประสบการณ์ ทั้งที่ประสบการณ์ก็มีแล้ว ดีแล้ว ก็ยังมาเสริมอีก

แม้ว่าจะเป็นบทความที่อาจารย์เขียนไว้นานแล้ว  แต่นักศึกษาพึ่งได้มีโอกาสเข้ามาอ่านแล้วเข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงอย่างชัดเจน

จึงขอชื่นชมอาจารย์ที่ได้เขียนบทความนี้ไว้ เพราะถ้าหากนักศึกษาไม่ได้มาอ่าน จะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายเลย  แล้วก็ทำรายงานไม่เป็น  หรือไม่ถูกวัตถุประสงค์ของวิชา

อาจารย์คะเรียนปริญญษตรีจบแล้ว  ไม่สามารถต่อ โทได้ เพราะสุขภาพ ไม่ไหว และการงานที่บ้าน เกี่ยวกับรายได้ก็รัดตัว  ทิ้งไม่ได้ต่อไปอีกแล้ว  เพราะช่วงที่เรียน ปล่อยปละละเลยมาก ยอดตก

เมื่อยอดตก  ก็หมายถึงรายได้ตกด้วย ขอใช้เวลาที่มีอยู่บริหารกิจการก่อนนะคะ  แล้วจะเข้ามาเยี่ยมอ่าน บันทึกของอาจารย์ เมื่อว่าง ถือว่าเรียนด้วยตนเอง แม้ไม่มีวุฒิรับรองก็ไม่เป็นไร อาชีพอิสระ ไม่ได้ใช้วุฒิการศึกษา ใช้แต่ความขยัน และได้วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ มาเป็นบทเรียนการสอนแล้ว คงจะพัฒนาตนเองให้ดีได้ แบบยั่งยืนคะ

ตอบ คุณสุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ราชภัฏพระนคร อ.กระนวน จ.ขอนแก่น

แต่ละคนก็ต้องวิเคราะห์เองว่า อะไรสำคัญ ไม่สำคัญ เร่งด่วน ไม่เร่งด่วน

"สำคัญกว่าก็ทำก่อน" ขอให้สามารถพัฒนาตนแบบยั่งยืนตามที่ตั้งใจได้ต่อไปครับ

สุรเชษฐ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท