งานลอยกระทง...ประเพณีการแห่โคมสาย...ความสุขจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น


ชาวชุมชนบ้านวังหม้อได้ร่วมใจกันฟื้นฟูประเพณีการแห่โคมเข้าวัด ....ใบหน้าที่เปื้อนยิ้มและแววตาที่ฉายแววของความสุขเป็นภาพที่สามารถอธิบายคำว่า “ความสุข” ได้เป็นอย่างดี

โครงการสืบสานและถ่ายทอดภูมิปัญญา การทำโคมบ้านวังหม้อ ลำปาง

 

ความเป็นมาของการรื้อฟื้นประเพณีการแห่โคมเข้าวัด

ประเพณีการแห่โคมบอก(โคมสาย)

ชุมชนบ้านวังหม้อเป็นชุมชนเก่าแก่มีศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามสืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน ผู้คนในชุมชนล้วนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่มาตั้งถิ่นฐานแต่ดั้งเดิมสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน ทุกคนในชุมชนจึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบันทำให้วิถีชีวิตคนเริ่มเปลี่ยน จากวิถีชีวิตดั้งเดิมในสังคมเกษตรกรรมที่กลายเป็นวิถีชีวิตของคนในเมืองมากขึ้น เด็กและเยาวชนใช้เวลาในการเรียนมากขึ้น ผู้ใหญ่ต้องออกจากบ้านทุกเช้าเพื่อไปทำงานและกลับเข้าบ้านในตอนเย็นหรือค่ำ แต่ด้วยความรักท้องถิ่น ความยึดมั่นศรัทธาในศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลาย ตลอดจนความเข้มแข็งของชุมชนทำให้การรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีการทำโคมและการแห่โคมเข้าวัด ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวชุมชนบ้านวังหม้อสามารถเป็นจริงได้ โดยการริเริ่มของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสล่ามณฑล ปินตาสี สล่าพื้นบ้านซึ่งได้สืบทอดองค์ความรู้มาจากบรรพบุรุษ ด้วยความภาคภูมิใจในศิลปะที่งดงาม สล่ามณฑลจึงอยากเห็นองค์ความรู้ที่เขามีอยู่ถูกถ่ายทอดไปยังอนุชนรุ่นหลังและคนอื่น ๆ ในชุมชนที่มีความรักความสนใจในศิลปะการทำโคม

สล่ามณฑล  ปินตาสี

 

จากการประชุมพูดคุยกันในชุมชนโดยใช้สถานที่ในวัดวังหม้อ ซึ่งท่านพระครูพิพิธพัฒนธิธาน  เจ้าอาวาสวัดวังหม้อท่านก็สนับสนุนและกรุณาให้ชาวบ้านมาใช้สถานที่ในวัดในการจัดประชุมหลายครั้งหลายครา

และแล้วงานแรกก็เกิดขึ้น คืองานลอยกระทงปี 2550

ชาวชุมชนบ้านวังหม้อได้ร่วมใจกันฟื้นฟูประเพณีการแห่โคมเข้าวัด โดยแต่ละซอยบ้านในชุมชนได้ร่วมกันประดิดประดอยโคมไฟ รูปแบบต่าง ๆ ที่เคยทำกันมาแต่โบราณ ประกวดประขันกัน แล้วพากันแห่มาถวายพระในวัดวังหม้อแล้วทำพิธีถวายซึ่งทำกันในพระอุโบสถ ท่านเจ้าอาวาสก็ได้กรุณาเล่าถึงประวัติความเป็นมาของประเพณีกาแห่โคมเข้าวัดในอดีตว่าเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทำเพื่อเป็นพุทธบูชาในวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันลอยกระทง

 

พ่ออุ๊ย สอนคนรุ่นหลังทำโคมบอกหรือโคมสาย

 

คนหนุ่มๆ ช่วยกันตกแต่งซุ้ม

 

การแห่โคมในวันนั้นทำให้ผู้คนในชุมชนได้รื้อฟื้นความทรงจำในอดีตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่อยู่ในวัย 30 ปี ขึ้นไปยังจำได้ว่าเคยเห็นงานแบบนี้สมัยที่ยังเป็นเด็ก ส่วนผู้ที่สูงวัยกว่านั้นไม่ต้องพูดถึงว่าเขาจะมีความสุขขนาดไหน ใบหน้าที่เปื้อนยิ้มและแววตาที่ฉายแววของความสุขเป็นภาพที่สามารถอธิบายคำว่า ความสุข ได้เป็นอย่างดี

จากความสำเร็จในวันนั้น ทีมงานของเราเริ่มขยับต่อโดยเปิดห้องเรียนเพื่อถ่ายทอดการทำโคมโดยมีสล่ามณฑล เป็นพ่อครู พร้อมด้วยลูกศิษย์รุ่นใหญ่ของชุมชนบ้านวังหม้อของเราเอง ท่านเจ้าอาวาสวัดวังหม้อก็เมตตาพวกเรามาก ท่านอนุญาตให้นักเรียนรุ่นใหญ่ของเราเรียนกันในวัด โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยท้องถิ่น (สกว) เป็นผู้อุปถัมภ์รายการเช่นเดิม

บรรยาการการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำโคม

 

ด้วยหลักสูตรเร่งรัด ประกอบกับความเก่งของพ่อครู และความเก๋าของลูกศิษย์ทำให้ทุกคนจบหลักสูตรและเริ่มร้อนวิชา ในปีนี้เราจึงมีการจัดประกวดการประดิษฐ์โคมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เราเลือกโคมแปดเหลี่ยมเป็นโจทย์ นักเรียนรุ่นแรกของวัดวังหม้อได้ไปชักชวนเพื่อน ๆ ในซอยบ้านตนเอง มาร่วมทีมประดิษฐ์โคมเพื่อส่งเข้าประกวด ซึ่งมีทั้งหมด 8 ทีม ทุกคนในทีมร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน ตั้งแต่เริ่มเหลาไม้ทำโครงจนสำเร็จออกมาเป็นโคมที่งดงาม สร้างความหนักใจให้กรรมการเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามประเด็นหลักของการประกวดไม่ใช่เรื่องของการแพ้หรือชนะ แต่อยู่ที่การที่นักเรียนรุ่นแรกของเราได้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้เพื่อนร่วมทีม และบรรยากาศของการพูดคุยระหว่างการประดิษฐ์โคมประกอบกับผู้คนในชุมชนที่ไม่ได้เข้าร่วมแข่ง แต่สถาปนาตัวเองเป็นหน่วยส่งกำลังบำรุง หอบหิ้ว เสบียงอาหารมาสนับสนุนผู้ที่ร่วมกิจกรรมอยู่ในวัดอย่างเต็มที่ เรียกว่า งานนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด ถ้าจะวัดค่า Gloss National Happiness  (GNH) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ในวันนี้ชาวชุมชนบ้านวังหม้อมีค่า GNH พุ่งสูงกว่าที่ใด ๆ

ความภาคภูมิใจของชาวบ้านวังหม้อที่มีต่อวัฒนธรรมที่ดีงาม ตลอดจนศิลปการประดิษฐ์โคมไม่ได้สงวนไว้เฉพาะในชุมชนเท่านั้น เรากำลังสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่ผู้สนใจ ตลอดจนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานของชาวชุมชนเองซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อกับชาวชุมชนได้โดยตรง

                                                                                                                                เล่าเรื่องโดย  อ.สุชญา   วรามิตร

                                                                                                                                [email protected]

 

 

หมายเลขบันทึก: 224279เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนอ.ธิติวัฒน์

เป็นความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ร่วมเรียนรู้ ร่วมสืบสาน โดยผ่านภูมิปัญญาโบราณ และภูมิปัญญาของคนรุ่นใหม่นำมาขยายผล ได้เห็นรากเหง้า เห็นอดีต เห็นปัจจุบัน จินตนาการสู่อนาคตที่งดงามของชาววังหม้อ เกิดการเชื่อมประสานวัฒนธรรมอันดีงามสู่สังคมไทยซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤตมาก

ถ้าเราไม่เยื้อแย่ง แข่งดีกัน ด่าทอกัน แต่เรามาร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดในหัวใจคน แม้เพียงกลุ่มหนึ่ง ขยายสู่หมู่บ้าน ชุมชน และสังคม เป็นการทำให้สังคมนี้ ประเทศนี้น่าอยู่ สุข สงบ ร่มเย็นไม่น้อย

ขอร่วมเป็นกำลังใจ และสนับสนุนการสืบสานงานของอาจารย์ และ ชาววังหม้อค่ะ

เดี๋ยวนี้เค้ามีปีที่ 2 กันแล้วคะ เพิ่งจัดไปเมื่อปี 2551 ปีที่แล้วนี่เองคะ ขบวนแห่สวยงามไม้แพ้ปีที่แล้วเลยคะ ชาวบ้านสามัคคีกันดีมากเลย เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุกคนในหมู่บ้านล้วนแต่ช่วยกันทำความสะอาดหน้าบ้าน บริเวณรอบบ้านเพื่อให้ซอยของตนเองนั้นสวยที่สุด เป็นภาพที่น่าประทับใจมากคะ ซึ่งหาดูได้ยากนะคะ คนในเมืองน่าจะรักกันแบบนี้บ้าง....เห็นแล้วอยากย้ายบ้านไปอยู่แถวนั้นบ้างนะคะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท