ข้าวสวย ตอน 2


"พลังของสายฝนแรกทำให้ดินที่เคยแตกระแหงกับสมานกันเป็นแผ่นดินที่เรียบที่ถูกกระทำโดยธรรมชาติ หญ้าที่คล้ายว่าจะตายไปเริ่มแตกผุดหน่อเห็นใบสีเขียวๆมากขึ้น ต้นไม้ที่ผลัดใบออกจนหมด และเริ่มผลิใบอ่อนดูสดชื่นขึ้นมาในทันตา"

ข้าวสวย

การที่ได้เกิดเป็นลูกชาวนานั้นได้ให้คุณค่าเป็นอย่างมากในการดำเนินชีวิต ได้เรียนรู้อย่างเข้าใจในการเกิดทั้งตัวเราเองและสิ่งที่เราได้รับประทานเป็นอาหาร รวมถึงการอยู่ร่วมอยู่กับสภาพแวดล้อมต่างๆที่เป็นธรรมชาติ  ทำให้ชีวิตชาวนามีคุณค่าทั้งแก่ตนเอง สังคม และความเชื่อที่เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันต่อมา โดยเฉพาะข้าวที่เราได้รับประทานกันอยู่ทุกวันทุกเม็ดกว่าที่เราจะได้กินในแต่ละมื้อผ่านเรื่องราวที่ผมจะเล่าผ่านเรื่องราวชีวิตของผม ให้ฟังโดยย้อนหลังกลับไปเกือบห้าสิบปีดังต่อไปนี้

ฝนเริ่มตกลงมาหลังจากที่แดดแผดเผาท้องทุ่งที่เรามองออกไปจากบ้าน มีไอแดดระยิบระยับท้องทุ่งมีแต่หญ้าแห้งและพื้นดินที่แตกระแหง พลังของสายฝนแรกทำให้ดินที่เคยแตกระแหงกลับสมานกันเป็นแผ่นดินที่เรียบที่ถูกกระทำโดยธรรมชาติ หญ้าที่คล้ายว่าจะตายไปเริ่มแตกผุดหน่อแตกใบเห็นใบสีเขียวๆมากขึ้น ต้นไม้ที่ผลัดใบออกจนหมด และเริ่มผลิใบอ่อนดูสดชื่นขึ้นมาในทันตา พ่อ และพี่ชายผมกำลังเตรียมตรวจสอบ ความพร้อมอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็นไถ คราด จอบ เชือก ฯ ผมเพียงแต่ช่วยดูควายไม่ให้ไปไกลจากสายตา เมื่อฝนเริ่มตกมาครั้งแรกของปี และก็จะตกมาถี่ขึ้นจนพอมีน้ำขังในท้องทุ่งนา

พ่อรอฟังข่าวทางวิทยุว่าวันไหนพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกทำพิธีพืชมงคล และพ่อก็ถือเอาวันนั้นเป็นวันเริ่มต้นของการทำนาของบ้านเราที่พ่อบอกว่าปู่ก็ยึดถือมาอย่างนี้เช่นเดียวกัน  วิทยุทรานซิสเตอร์ที่ทุกบ้านมีเอาไว้ฟังข่าว และรายการบันเทิงต่างๆ การทำนาเริ่มขึ้นแล้วตามที่พระเจ้าอยู่หัว ทรงนำ พ่อ และพี่ๆตื่นแต่เช้า เช้าเท่าไรผมไม่ทราบพอผมตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นแล้ว แม่ก็ทำอาหารให้เรากินกันและก็พาเรา (พี่น้องผม) เอาข้าวไปให้พ่อ และพี่ๆที่ท้องนาบางครั้งก็ติดบ้าน บางวันก็ไกลออกไป ไกลสุดก็สักกิโลครึ่ง ช่วงเรายังเล็กๆดูเหมือนว่าไกลมาก ผมก็จะไม่ได้ไปทุกวัน หากแม่เรียกให้ไปก็จะเป็นวันที่ต้องช่วยแม่ถือข้าวของบางอย่างเพื่อเบ่งเบาแม่ที่หาบของพะรุงพะรัง ตอนหลังๆแม่ก็ออกไปทำนาตั้งแต่เช้า ถอนกล้า พี่สาวผมมีหน้าที่เตรียมอาหารให้พวกเราที่ต้องไปโรงเรียนและนำอาหารออกไปให้พ่อ แม่ และพี่ชายที่อยูในทุ่งนา ผมรู้แต่เพียงว่าพี่ๆผมออกจากโรงเรียนทีละคนๆและเข้ามาอยู่ในท้องนาในขณะที่ผมและพี่ชายอีกคนต้องไปโรงเรียนพร้อมน้องๆ

การไถนานั้นทำ 2 ครั้ง ๆ แรกพ่อบอกว่าต้องเปิดหน้าดินเพื่อให้ดินโปร่ง ไม่แน่น และยังเอาฟางข้าว และหญ้าพลิกลงไปเป็นปุ๋ยไว้ใต้ดินไถทิ้งไว้สัก 1-2 เดือนพ่อเรียกว่าไถดะ โดยใช้ควายที่ผมเลี้ยงไถนา ไถมีอยู่สองลักษณะ คือไถเดี่ยว (ไถโดยใช้ควายตัวเดียวเอาแอกมาใส่บ่า จากแอกมีเชือก 2 ข้างวางรอบตัวควายเลยขาหลังและเอาไถต่อตรงนี้มีชื่อเรียกที่ผมจำไม่ได้แล้ว) และไถคู่ (ใช้แอกยาวเกือบตรงเทียมคอของควาย 2 ตัวใช้เชือกกับอะไรไม่ทราบแบบๆผูกติดไว้ตรงใต้คอ แล้วเอาไถมาผูกกับแอกตรงระหว่างกลางอีกที่) ไถคู่จะมีหัวหมูและผาน (ส่วนที่ทำหน้าที่พลิกหน้าดิน) จะใหญ่กินพื้นที่มากประมาณ 2 เท่าของหัวหมูและผานไถเดี่ยว ดูเหมือนว่าตั้งแต่วันเริ่มแรกการทำนาที่พวกเราเรียกว่าหน้านา  พ่อ แม่ และครอบครัว รวมทั้งตัวผมจะดูเหมือนว่าจะห่างกันความรู้สึกนะครับ และได้พบหน้ากันช่วงสั้นในตอนเช้าและตอนค่ำ ในบางคืนที่เดือนหงาย (พระจันทร์เต็มดวง) พ่อ แม่ และพี่ยังคงถอนกล้าอยู่จนดึกโดยอาศัยแสงจันทร์ที่บางวันพวกเราก็ต้องนอนก่อน (พวกผมที่ยังช่วยอะไรได้ไม่มาก) แต่วันโกน และวันพระ เราก็ได้อยู่พร้อมหน้ากัน เป็นวันที่หยุดการทำนา ควายก็ได้พัก ซึ่งเป็นวันที่พวกเรามีความสุขมาก ในบางวันของวันโกน พ่อ แม่จะไปชื้อของที่ตลาดมาเก็บเอาไว้ใช้ตลอดการทำนา ซึ่งห่างบ้านสัก 3 กิโลเมตร ด้วยการเดินเท้ากว่าจะกลับมาก็บ่าย พี่ชายผมก็ต้องเป็นผู้ดูแลน้องๆ 4-5 คนในตอนนั้นที่ผมจำได้ อีกสักระยะผมก็มีน้องเพิ่มมาอีก 4 คน รวมเป็น10 คนครับพี่น้องผม

.............................................................................

ยังไม่ได้เริ่มปลูกข้าวเลยครับ ตอนที่ 3 จะเห็นการปลูกข้าวชาวนาอย่างพ่อของผม

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 223647เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นชาวนาต้องอดทนครับ

แวะมาอ่านครับ

อ.สบายดีไหมครับ

คิดถึงๆๆๆๆ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • แวะมาอ่านค่ะ

อิอิ...ชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ มีที่นาเยอะแยะก็แบ่งให้พอลล่าบ้างนะคะ อิอิ

ครูโย่ง ครับที่ผมเห็นครูที่ฟากข้าว เป็นการเกี่ยวแบบพันกำใช่นะครับช่วยขยายความหน่อยก็ดี ผมคงได้แต่ชื่อเป็นลูกชาวนา แต่บางอย่างผมก็จำไม่ค่อยได้ มันนามมากเลยครับ เวลาลูกชายผมมาอ่านเขาจะได้เห็นจิตวิญาณของปู่ ย่า บ้าง ช่วยผมบ้างนะครับในบางเรื่องราวการทำนาที่ผมจะทำให้เห็นเม็ดข้าวสวย

คิดถึงเช่นกันครับ

  • อาจารย์ครับ ผมเขียนเรื่องราว นี้ตอนผมกลับบ้านตอนปิดเทอมครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yong2551/221196

          อาจารย์พอลล่า และคุณมณีแดง ผมคิดว่าเรื่องราวของชาวนาไทยค่อยหายไปครับ แม้แต่ผมเองก็ลูกชาวนาก็พึงจะเล่าเรื่องราวของตนเองที่เกี่ยวข้องกับการทำนาที่ผลิตข้าวสวยมาให้เรารับประทาน นาที่มีอยู่ก็จะพยายามรักษาเอาไว้ตามเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ หากต้องทำกินเล็กน้อย น่าจะพอแบ่งให้ใช้ได้ที่จริงพ่อผมเคยบอกว่าเป็มสมบัติของแผ่นดิน ลูกหลานมีหน้าที่ต้องรักษา  อ่านแล้วหากเป็นความรู้ใหม่ก็ขยายผลช่วยด้วยนะครับให้เรื่องราวเหล่านี้เล่าขานต่อไปในสังคมไทยน่าจะยังไม่สายนะครับ

แวะมาให้กำลังใจลูกชาวนาด้วยกันค่ะ..

ตอนนี้อยากกินข้าวใหม่ค่ะ...

ขอบคุณครับพี่ เพียงกำลังใจพลังใจก็เกิดแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท