พัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่แบบ “มีจุดเน้นพิเศษ”


ถ้าทุกเขตพื้นที่การศึกษา มีจุดเน้นพิเศษในการพัฒนางานที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน โดยมีการพัฒนางานตามจุดเน้นพิเศษกันอย่างจริงจัง มีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลกันเป็นระยะ ๆ เชื่อว่า คุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศจะมีความก้าวหน้า หรือมีพัฒนาการมากขึ้นอย่างแน่นอน

ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่ในแต่ละรอบปี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)มีการกำหนดกลยุทธ์หรือแนวปฏิบัติหลัก ๆ ในการพัฒนาการศึกษาของเขตพื้นที่ ซึ่งโดยทั่วไป พบว่า เขตพื้นที่มักจะกำหนดกลยุทธ์สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  เช่น ในปี 2551-2552 สพฐ.ได้กำหนดกลยุทธ์ 5-6 ประการการ ในการนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ก็มักประกาศกลยุทธ์อย่างสอดคล้องกัน 5-6 ประการ เช่นกัน

เนื่องจากเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ มีบริบทที่แตกต่างกัน ปรากฏสภาพปัจจุบัน-ปัญหาที่แตกต่างกัน  ในขณะที่กำหนดกรอบกลยุทธ์สอดคล้องกับ สพฐ. เขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ควรกำหนดจุดเน้นพิเศษที่แตกต่างกันตามบริบทของเขตพื้นที่   เขตพื้นที่ที่ประสบปัญหา เช่น คุณภาพการศึกษาต่ำ ก็จะต้องประกาศจุดเน้นพิเศษในเชิงมุ่งแก้ปัญหาวิกฤติๆ ในรอบปี ในขณะที่เขตพื้นที่ที่มีคุณภาพสูงก็ควรประกาศจุดเน้นเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศเฉพาะทางหรือ มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2551 ผมได้ไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา กทม.เขต 2  ในที่ประชุมได้พูดถึงจุดเน้นในการพัฒนางานของเขตพื้นที่การศึกษาในปีงบประมาณ 2552ซึ่งได้ร่างจุดเน้นหลายประการที่เห็นว่าสอดคล้องกับบริบทของเขตพื้นที่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. ส่งเสริมให้เด็กในเขตพื้นที่  ได้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน อย่างทั่วถึงและเสมอภาค

2. ส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมพื้นฐาน ให้ความสำคัญกับจิตสาธารณะ หรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในสถานศึกษา

3. ส่งเสริมการสร้างนิสัยรักการอ่าน และสร้างเยาวชนยอดนักอ่านช่วงชั้นที่ 3-4

4. ส่งเสริม พัฒนาสมรรถนะเยาวชน ก้าวสู่ระดับสากล(ความสามารถด้านภาษา และทักษะวิชาการระดับนานาชาติ)

5. ส่งเสริม พัฒนาความสามารถของเยาวชนในการคิด วิเคราะห์  คิดสร้างสรรค์  การประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างนวัตกรรมในระดับชาติ หรือนานาชาติ

6. พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้และระบบดูแลช่วยเหลือเด็ก ส่งเสริมศักยภาพของศูนย์สาระการเรียนรู้  สนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้หรือนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ ที่หลากหลาย ต่อเนื่อง

7. ส่งเสริมการเป็นโรงเรียนต้นแบบความเป็นเลิศเฉพาะทาง ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มในเด็ก และโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านจอภาพ  e-School

8.   ส่งเสริมกระบวนการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม หรือ การบริหารจัดการแบบธรรมาภิบาลในทุกองค์กร ทุกระดับ

9.  พัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของครู ส่งเสริมการพัฒนาเข้าสู่วิทยฐานะ และประเมินศักยภาพตามมาตรฐานวิทยฐานะ อย่างต่อเนื่อง

ตามตัวอย่างข้างต้น ในขณะนี้ การประกาศจุดเน้นพิเศษของเขตพื้นที่ยังไม่มีข้อยุติสุดท้าย คงจะต้องมีการหารืออีก 1-2 ครั้ง แล้วประกาศให้เป็นที่รับทราบตรงกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อใช้เป็นกรอบในการสนับสนุนงบประมาณ หรือกรอบในการนิเทศ ติดตาม หรือส่งเสริมเป็นพิเศษในปีการศึกษา 2552-53(กรรมการเขตพื้นที่ มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี)

ในการประกาศจุดเน้นบางประการ อย่างเช่น จุดเน้นพิเศษที่ 9 เรื่องมาตรฐานการปฏิบัติงานของครูและการประเมินเพื่อป้องกันวิทยฐานะ เรื่องเช่นนี้ จะต้องหารือและวางแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจดำเนินการโดย อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ภายใต้หน้าที่ที่ระบุว่า “1. พิจารณากำหนดนโยบายการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการ ก.ค.ศ.ในเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งการกำหนดจำนวนและอัตราตำแหน่งและเกลี่ยอัตรากำลังให้สอดคล้องกับนโยบาย การบริหารงานบุคคล ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด”

ถ้าทุกเขตพื้นที่มีจุดเน้นพิเศษที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน มีการพัฒนาตามจุดเน้นพิเศษกันอย่างจริงจัง มีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลกันเป็นระยะ ๆ ผมเชื่อว่า คุณภาพการจัดการศึกษาของทุกเขตพื้นที่จะมีความก้าวหน้า หรือมีพัฒนาการมากขึ้นอย่างแน่นอน

....อย่าลืม...จุดเน้นพิเศษเหล่านี้ จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน จำจุดเน้นได้ และร่วมมือกันพัฒนาตามทิศทางที่เป็นจุดเน้น แบบพร้อมเพรียงกัน

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 223273เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • ขอบคุณมากค่ะ ที่นำข้อมูลที่ดีที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน  ให้เป็นไปในแนวเดียวกัน  เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนและครูผู้สอนด้วย
  • ดังนั้น การปฏิบัติงานที่อยู่ในเนื้อหาเดียวกัน  ก็ควรที่จะปฏิบัติในแนวเดียวกัน  เช่น   การรับนักเรียนใกล้บ้าน....มีปัญหาทุกปี ที่ผู้ปกครอง  เลือกโรงเรียนให้ลูก  โดยไม่สนใจว่า...จะปฏิบัติตนถูกตาม..จุดเน้น นี้ หรือไม่

ขอบคุณค่ะ  อาจารย์

ครูอ้อย

  • ในกรณีของ สพท.กทม.2 ในเรื่องจุดเน้นที่ 1 ตามที่ยกตัวอย่าง เป็นเรื่องใหญ่มากครับ  โรงเรียนในเขตพื้นที่ กทม.2 เป็นโรงเรียนดัง ๆ มีชื่อเสียง คนแห่สมัครเข้าเรียนจำนวนมาก  ดังนั้นอาจเกิดปัญหา ทำให้เด็กที่อยู่ในเขตบริการ เข้าเรียนไม่ได้ หรือได้ไม่หมด เพราะโควต้าถูกแย่งไปโดยนักเรียนจำนวนหนึ่งที่อยู่นอกเขตพื้นที่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ต้องหาทางออกและร่วมมือกันแก้ปัญหาอีกพอสมควร

ข้อยชอบแบบว่า ระดับ ผอ.เขตการศึกษาไม่ต้องคัดมาหรอก ก็รู้อยู่ว่า"มหาบัณฑิต" และ "ดุษฎีบัณฑิต" ล้นประเทศอยู่นี่มีแต่สายการศึกษาทั้งนั้น(เพราะลงทุนน้อยและจบง่ายแถมได้ดอกเตอร์เหมือนกัน) ให้ชาวเราเลือกเพื่อนสายงานทางการศึกษานี่แหละดีแล้ว ส่งมาให้เดี๋ยวเดียวก็เปิดดากหนีอีกแหละ งานอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยหนีแล้ว จัดงานวิชาการที่อำเภอคง(โคราช)อยู่ดี ๆ ได้ยินว่า ผอ.เขตเดินทางมา หมู่ผู้บริหารทั้งหลายแย่งกันไปจนรถแทบชนกันตาย พวกข้อยนั่งทำตา"ปริบ ๆ" แล้วที่บอกให้จัดอย่างดี มันบอกหาพระแสงดาบคาบค่ายอะไรกันจ้ะ เซง ๆ ๆ ๆ จ้ะ

เรียน อ.นิรนาม

  • จะให้มีการเลือก ผอ.เขต เลย หรือครับ เอาจริงหรือ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท