รู้และพันผูก ชาวนาไร่ “เหนือ-อีสาน”


ประเพณีวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นเบ้าหลอมที่สำคัญที่บ่มเพาะความเป็นมนุษย์ให้กับครอบครัวชาวนาชาวไร่ นั่นคือการสอนให้รู้จักเคารพในบรรพบุรุษผู้ที่ถากถางวิถีการกินอยู่มาก่อน สั่งสมเป็นองค์ความรู้ให้ลูกหลานได้ใช้ในการดำรงชีพ สอนให้รู้จักบุญคุณและกตัญญูต่อสรรพสิ่ง ทั้งดินข้าวปลาธัญญาหาร น้ำ ฟ้า ป่าเขา ที่ให้ความเป็นชีวิตของข้าวและชาวนาไร่ และที่สำคัญคือการสอนให้รู้จักการแบ่งปัน

 

ข้าวคือชีวิต และ ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ แต่นับวันเกียรติภูมิของชาวนาเริ่มลดน้อยลงไป ในมุมมองวิธีคิดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เห็นเพียงข้าวและชาวนาเป็นเพียงปัจจัยการผลิตอันหนึ่งของกลไกการตลาด คุณค่า และศักดิ์ศรีของข้าวและชาวนาจึงถูกแทรกซึมเข้ามาด้วยระบบการค้าเสรี ทุนนิยมสุดโต่ง ข้าว จึงเป็นเพียงแค่สินค้าตัวหนึ่ง ชาวนาเป็นเพียงเครื่องจักรตัวหนึ่งที่ผลิตข้าว

แต่ความเป็นแก่นแท้ของ ชาวนา นั้น ข้าว เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งในการอยู่รอดของชีวิต เพราะข้าวมิเพียงแค่เป็นอาหารของชาวนา หากแต่เป็นวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี การเรียนรู้ และการคงอยู่ของครอบครัวและชุมชนด้วย ข้าว จึงมิได้หมายถึงสินค้า หากแต่หมายถึงความเป็นชีวิตของชาวนา

ในวันที่ ๖-๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ในท่ามกลางการผลิบานของข้าวที่ออกรวงเหลืองอร่ามและลมหนาวกำลังมาเยือน เครือข่ายชาวนาเหนือ-อีสาน ได้มาร่วมเวทีแกลเปลี่ยนเรียนรู้ เทคนิคเกษตรกร ครั้งนี้มีศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน เป็นเจ้าภาพ มีเครือข่ายเกษตรปลูกข้าวจากเหนือและอีสาน สถาบันวิชาการด้านข้าว และองค์กรต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมหลากหลายองค์กร กระบวนการเรียนรู้เริ่มจากลงไปศึกษาเรียนรู้ในแปลงนาข้าวในพื้นที่เกษตรกรในเครือข่ายโรงเรียนชาวนา หลังจากนั้นได้มีการนำเสนอเทคนิคของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของแต่ละพื้นที่ ทั้งอีสานและเหนือ มีการถกคิดแลกเปลี่ยนกันถึงองค์ความรู้ เทคนิค และทักษะของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ มีประเด็นที่หลากหลายมาก

สรุปเรื่อง กระบวนการเรียนรู้ของชาวนาไร่ ได้ดังนี้

๑. ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ ความเชื่อและความศรัทธาที่ชาวนามีต่อ ข้าว และ แม่โพสพ นำมาซึ่งวัฒนธรรม ประเพณี ที่เชื่อม ใจ” & วิธีคิด ของชาวนาไปสู่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวนา ผ่านวิถีวัฒนธรรม อันหลากหลายของแต่ละพื้นถิ่น เช่น บุญดอกผ้า, บุญกุ้มกิ๋น, บุญคุณลาน, บุญข้าวจี่ ของชาวนาอีสาน, บุญข้าวใหม่ของชาวนาชาวไร่ของภาคเหนือ เป็นต้น งาน บุญ ไม่เพียงเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อและความศรัทธาชาวนาชาวไร่ต่อเรื่อง บุญ และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เทวดาฟ้าดินที่ให้น้ำให้ฝน และดินอุดมสมบูรณ์ จนทำให้ชาวนาชาวไร่ปลูกข้าวได้ผลผลิตที่ดี พออยู่ พอกิน และพอที่จะนำมาแบ่งปันทำบุญทำทานให้แก่บรรพบุรุษ เทวดาฟ้าดิน ทั้งหลาย

ประเพณีวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นเบ้าหลอมที่สำคัญที่บ่มเพาะความเป็นมนุษย์ให้กับครอบครัวชาวนาชาวไร่ นั่นคือการสอนให้รู้จักเคารพในบรรพบุรุษผู้ที่ถากถางวิถีการกินอยู่มาก่อน สั่งสมเป็นองค์ความรู้ให้ลูกหลานได้ใช้ในการดำรงชีพ สอนให้รู้จักบุญคุณและกตัญญูต่อสรรพสิ่ง ทั้งดินข้าวปลาธัญญาหาร น้ำ ฟ้า ป่าเขา ที่ให้ความเป็นชีวิตของข้าวและชาวนาไร่ และที่สำคัญคือการสอนให้รู้จักการแบ่งปัน วัตรปฏิบัติที่ชาวนาไร่หลังการเก็บเกี่ยวที่เห็นคือการนำข้าวมาทำบุญ และแบ่งปันกัน เมล็ดพันธุ์ข้าวดีดี จึงถูกนำมาแสดง มาแบ่งปันกันในงานบุญข้าวใหม่ ความรู้และประสบการณ์ของชาวนาไร่ในปีนี้จึงถูกนำมาเล่าขานและบอกต่อๆ กันในงาน บุญข้าวนี้

๒. การสืบค้น-พัฒนาต่อยอด องค์ความรู้ เป็นกระบวนการสำคัญในการเรียนรู้ของชาวนาชาวไร่ ในการที่เรียนรู้ในการปลูกข้าวเพื่อการดำรงชีพ เป็นภูมิความรู้ที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดสืบทอดมาเรื่อยๆ ภูมิความรู้บางอย่างเลือนหายไปไม่มีการสืบต่อ บางเรื่องก็มีการสืบค้นนำมาปรับใช้ใหม่ หรือนำเอาเทคนิควิชาการใหม่ๆ มาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การหว่านกล้า การไถนาเตรียมดิน การปลูกกล้า การดูแลให้น้ำให้ปุ๋ย การดูแลนาข้าว ไร่ข้าว และการเก็บเกี่ยวข้าวสู่ยุ้งฉาง ภูมิปัญญาที่สำคัญได้แก่ การคัดเมล็ดพันธุ์, การปรับปรุงพันธุ์ข้าว, การปลูกข้าวเส้นเดียว, การปลูกข้าวเป็นรวง, การทำปุ๋ยหมัก, จุลินทรีย์ชีวภาพ เป็นต้น

นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางองค์ความรู้ของชาวนาไร่ที่สามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ มีกรณีตัวอย่างหลายพื้นที่ เช่น กรณีของนายหวัน เรืองตื้อ ชาวนาบ้านคาดเค็ด ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ที่สามรรถปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์หวัน๑ และหวัน ๒ เป็นที่ยอมรับของชาวนาและนำไปปลูกใช้ในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดน่าน

๓. การสืบต่อองค์ความรู้ การสืบค้น-พัฒนาต่อยอดนั้นสามารถทำได้ทั้งแบบปัจเจกและแบบกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าการรวมกลุ่มในการเรียนรู้และช่วยกันและกันสามารรถทำได้อย่างมีพลังและทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้เร็ว สามารถเรียนรู้ทางลัดได้ ที่สำคัญการเรียนรู้มีหลากหลายประเด็นมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ของชาวนาที่จะช่วยกันสืบต่อองค์ความรู้ที่ได้สั่งสมและพัฒนาต่อยอด จึงได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรและจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้และแบ่งปันความรู้กันในรูปแบบต่างๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน, โรงเรียนชาวนา, โรงเรียนเกษตรกร เป็นต้น ศูนย์ต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเสมือนห้องเรียนของชาวนาไร่ ที่จะมาพบปะแลกเปลี่ยน เรียนรู้เทคนิคต่างๆ และฝึกปฏิบัติในการเกษตร และเป็นห้องเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอีกด้วย

ในหลายๆ พื้นที่มีการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาในระบบเข้ามาสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนศรีนครน่าน ที่นำนักเรียนมาเรียนรู้กับศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา, โรงเรียนศรัทธาศิลาเพชร ที่นำนำเรียนมาเรียนรู้กับโรงเรียนชาวนาบ้านทุ่งฆ้อง และเริ่มปลูกข้าวในพื้นที่ของโรงเรียน เป็นต้น นับเป็นการบูรณาการเรียนการสอนของโรงเรียนเข้ากับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำการเรียนรู้จากแปลงนาไปสู่การเรียนรู้ในห้องเรียน และนำการเรียนรู้ในห้องเรียนไปสู่แปลงนา ชาวนา จึงมีคุณค่าและความหมายต่อเด็ก เยาวชน และนักเรียน ชาวนาจึงมิเพียงเป็นคนปลูกข้าว หากแต่เป็น ครู ของเด็กๆ ครู ของคุณครู ที่มิเพียงแต่สอนปลูกข้าว หากแต่สอนการปลูกชีวิตไปด้วย

๔. การสานเครือข่ายการเรียนรู้ การรวมกลุ่มของชาวนาไร่ ล้วนแต่ต้องมีการจัดการที่ดี การเรียนรู้ข้ามกลุ่ม ข้ามเนื้อหา ข้ามพื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญของชาวนาไร่ เพราะโลกหมุนไปตลอดเวลา กระแสการเปลี่ยนแปลงภายนอกส่งผลกระทบต่อชาวนาไร่ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกการตลาด การค้าเสรี การตัดต่อพันธุกรรม และสิทธิบัตรข้าว สิ่งที่เป็นความรู้และภูมิปัญญาของชาวนาไร่ถูกลิดรอน แทรกแซงด้วยกลไกของทุนและรัฐอย่างมาก การสานกันเป็นเครือข่ายทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคนิค วิชาการ และการเข้าถึงแหล่งทุนระหว่างชาวนาไร่ด้วยกัน นอกจากนี้เครือข่ายเกษตรกรยังได้ร่วมกันจัดตั้งโรงสีชาวนา การแปรรูปผลผลิตข้าว เพื่อมิให้ชาวนาไร่ตกเป็นเบี้ยล่างของพ่อค้าคนกลางหรือนายทุน และยังเป็นการต่อรอง คานอำนาจกับระบบทุนและรัฐ เพื่อให้ชาวนาไร่มี สิทธิ และ อำนาจ ในสิ่งที่ตนมีอยู่ การสานเครือข่ายของชาวนาไร่ผ่านการหนุนเสริมขององค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิ, เครือข่าย, สมาคม ฯลฯ ทำให้เกิดมีพลังในการเรียนรู้ มีพลังปัญญาในการจัดการ และพลังอำนาจในการพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมของชาวนาไร่

กระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนในกลุ่มพี่เลี้ยงผู้หนุนเสริมและสถาบันวิชาการต่างๆ ยังมีการพูดถึงทางเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มเกษตรกร องค์กรพี่เลี้ยง และสถาบันวิชาการต่างๆ ว่ามีมีที่ทางในการเชื่อมต่อ หนุนเสริมพลังของเกษตรกรได้อย่างไร มีการพูดถึงเทคนิควิชาการ การบริหารจัดการ ว่าที่ผ่านมาดูเหมือนสถาบันวิชาการยังอยู่อีกฟากฝั่งคู่ขนานกับกระบวนการของเกษตรกรอยู่เสมอ ทำอย่างไรจะเป็นวิชาการที่ลงสู่ชีวิตจริงของชาวนาไร่ มีการพูดถึงสิทธิของชาวนาไร่ในการอนุรักษ์หวงแหนและใช้ประโยชน์ในฐานทรัพยากรของตนเอง และที่สำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้ชาวนาไร่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าหรือนายทุน

และในช่วงค่ำคืนแสงจันทร์สาดส่องหน้า ได้แปรลานหน้าพระวิหารวัดอรัญญาวาสเป็นลานขันโตกกินข้าวแลง(อาหารเย็น) มีการร้องรำทำเพลงพื้นบ้านแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมอีสานและเหนือ สลับกับการเสวนาเรื่อง สิทธิชาวนาในการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช ในมุมมองของนักวิชาการและชาวนา ในมุมของนักวิชาการมองว่าพัฒนาการส่งเสริมชาวนาไร่ให้ได้พัฒนาความรู้ วิชาการ และปฏิบัติการได้ก้าวพ้นจากความขาดแคลนมาสู่ความสมบูรณ์มั่งคั่งได้เพราะวิทยาการความรู้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ได้พัฒนาขึ้นมาก และเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั่นสามารถให้การคุ้มครองภูมิปัญญาและสิทธิของชาวนาได้อย่างเป็นธรรม ในขณะที่กลุ่มชาวนาไร่กลับมองว่าชาวนาไม่ได้มีการปรับปรุงข้าวเพื่อการค้า การไปจดสิทธิบัตร ต้องเสียเงิน การปรับปรุงพันธุ์ข้าวของชาวบ้านเป็นเพียงการพัฒนาเพื่อการอยู่รอดของตนเอง ได้ผลดีก็มีการแบ่งปันมิใช่ค้าขาย และพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงได้นั้นก็ยังมีคำถามอีกว่าจะเป็นสิทธิของชาวนาแบบปัจเจก หรือของกลุ่ม หรือชุมชน เพราะข้าวที่นำมาปรับปรุงก็เป็นข้าวพื้นถิ่นของชุมชน กระบวนการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ก็เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่ม และการหนุนเสริมของพี่เลี้ยง จะเห็นได้ว่าชาวนามองไปที่การใช้ประโยชน์ร่วมกันและแบ่งปันกันและกัน หากแต่มุมของกฎหมายอาจมองไปที่คุ้มครองสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งก็มีคำถามว่า ใครคือเจ้าของที่แท้จริง และ เป็นคุ้มครองสิทธิหรือลิดรอนสิทธิชาวนาไร่ การถกคิดให้ตกผลึกในเรื่องของสิทธิชาวนาไร่ในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวคงต้องกระทำให้เกิดความรู้แตกฉานอย่างกว้างขวาง

ไม่ว่าบทสรุปของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้จะเกิดการเชื่อมหนุนเสริมจากสถาบันวิชาการอย่างไรต่อไปหรือไม่ แต่สิ่งที่เกษตรกรชาวนาไร่ของวัฒนธรรม(อีสาน-เหนือ) ได้ร่วมกันคือ ความรู้ ความพันผูก อันเกิดจากการกินข้าวร่วมวงเดียวกัน ไม่ว่าโลกจะหมุนไปอย่างไร ชาวนาไร่ ยังคงปลูกข้าวและกินข้าว นี่คือความจริงแท้ และนี่คือเกียรติภูมิอันยิ่งใหญ่ของ ชาวนาไร่ ที่ควรแก่การเชิดชูยิ่งนัก

            พ่อน้องซอมพอ

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

หมายเลขบันทึก: 221935เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2008 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

หนังสือ เรื่องเรียนรู้เรื่อง ข้าว กับพี่พอ น้องเพียง ของครูใหม่ จะคลอด แล้วนะคะ

ดีจังเลยครับ อยากอ่านไวๆ เอาไปให้น้องซอมพออ่านด้วย

  • ครับ เรื่องกระดูกสันหลังของชาติเป็นเรื่องที่น่ายกย่องเสมอ
  • เรามีทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีข้าวนี่เเหละครับ
  • ขอบคุณชาวนาและสิ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกสิ่งครับ

 

สวัสดีครับ น้องพอแวะมาเยี่ยมครับ เก่งจัง ขอชื่นชม

ขอบคุณชาวนาไร่ และขอบคุณคนกินข้าวครับ

คนไทยเราเปลี่ยนไปมากทั้งวิถีชีวิตดั้งเดิมและจิตใจ

เราตามทุนนิยมมากเกินไปผลก็เป็นอย่างนี้

คงต้องรอผู้นำที่เห็นคุณค่ากลับมาพอเพียง

ความเชื่อ ความศรัทธาสิ่งนี้ผมว่าเป็นกำลังใจให้ชาวนาเสมอล่ะครับ

ผมเคยเห็นเขาทำพิธีแล้วรู้ได้ถึงความภาคภูมิใจของเขาเหล่านั้นเลยล่ะครับ ถึงแม้ว่าปีนั้นข้าวจะราคาตก น้ำท่วม และแล้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหวไหม แต่หลังจากมีพิธีเขาก็ดูมีแรงที่จะสู้ต่อไปล่ะครับ ผมก็แอบเป็นกำลังใจให้เขาเหมือนกัน ถึงแม้ในใจลึกๆของผมนั้นมันบอกว่า จะสู้กับแล้งนี้ไม่ไหวแล้ว

ชื่นชม ชื่นใจแทนพี่น้องเมืองน่าน ที่มีองค์กรดีๆคอยประสานให้ชาวบ้านได้ทำงานเพื่อบ้านเกิด วันก่อนเจอพี่อำนวย ขอบคุณมากๆที่คุณพี่คอยแนะนำทุกเรื่อง

ผมมีผลงานวิจัยปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มชาวนา พบแนวทางแก้ไขง่าย ๆ หลายวิธี สามารถทำให้เป็นเศรษฐี รวยกว่าพ่อค้า ดีกว่าข้าราชการ ได้มากกว่ากองทุนเงินล้าน มีเงินให้รัฐาลก้ยืม รวยจากการให้ ได้จากความสามัคคี ยิ่งนายิ่งรวย ด้วยการพึ่งตนเอง ลองเข้าไปอ่านในอินเทอร์เน็ตหัวข้อ msgent of thai สงสัยติดต่อสอบถาม [email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท