บางคนเคยกล่าวไว้ว่า “ สายน้ำไม่เคยไหลกลับฉันใด อดีตไม่สามารถจะย้อนคืนกลับมาได้เช่นกัน ” แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือความทรงจำ
ความทรงจำที่ดีๆ ของดิฉัน เกิดขึ้นกลายคราในช่วงชีวิต ตั้งแต่จบมัธยมแล้วได้เข้าไปเรียนที่เชียงใหม่ ความทรงจะดีๆ ในรั้วสีม่วงแถวตีนดอยเป็นช่วงหนึ่งที่ไม่อาจลืม และช่วงชีวิตหนึ่งที่ยังประทับใจไม่ลืมคือช่วงที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางต้นไม้และสายน้ำ ริมแควใหญ่ เมืองกาญจนบุรี ภายใน “ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ” หรือ ซัมเมอร์ฮิลล์เมืองไทย
ย้อนหลังไป 12-13 ปี ดิฉันได้มีโอกาสเข้าทำงานเป็น “ เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร หรือเป็นครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ” ซึ่งจะเรียกว่าครูก็ไม่เชิงนัก เพราะไม่ได้สอนจริงจัง แต่ส่วนใหญ่ดูแลเด็กๆ ที่บ้านเด็กหญิง และดูแลห้องสมุด ให้เด็กๆมีหนังสือดีๆ อ่านเยอะๆ
รูปนี้ถ่ายเมื่อปี 36 มีดิฉันในภาพด้วยค่ะ
ห้องสมุด ที่สร้างบริจาคโดยชาวญี่ปุ่น
มีพี่ๆครูสมัยนั้นเคยบอกดิฉันว่า
คนภายนอกมักจะมองว่าที่นี่เป็นคอมมิวนิสต์รึป่าว ( ฮา )
เพราะเป็นโรงเรียนที่เหมือนหมู่บ้าน
เนื่องจากแยกไม่ออกระหว่างบ้านกับอาคารเรียน บางชั้นเรียนใต้ถุนบ้าน
เรียนใต้ต้นไม้ก็มี ที่สำคัญคือ ไม่มีเสาธงชาติ
แต่นานๆไปดิฉันก็เริ่มเข้าใจ และไม่ใส่ใจความแปลกของที่นี่
เพราะคิดว่ามันไม่สำคัญเท่ากับปรัชญาของโรงเรียน
ที่เน้นการสอนให้เด็กมีความสุข มากกว่าการบังคับ
และให้เด็กมีเสรีภาพ
เพราะเด็กเหล่านี้ถูกทำร้ายและทอดทิ้งมาพอแล้ว
ที่แปลกกว่าภายนอกอีกอย่างคือ เด็กๆจะเรียกครูว่า แม่.. ตามด้วยชื่อ จะมีบ้างบางคนที่อายุน้อย เค้าก็จะเรียกว่าพี่ สำหรับดิฉัน เด็กอนุบาลและเด็กเล็ก จะเรียกว่า แม่... เด็กโตส่วนใหญ่จะนับถือเป็นพี่มากกว่า
กิจวัตรประจำวันของเด็กหมู่บ้านเด็ก คือ เช้ากินข้าวที่บ้านพัก แล้วไปโรงเรียน กลางวันหลังระฆังดัง ต้องถือจานหรือถาดหลุมมาเข้าแถวรับอาหาร ( แรกๆที่ไปอยู่ เคอะเขินไงไม่รู้ ที่ต้องถือถาดหลุมหรือจานไปรอรับข้าวเหมือนเด็กๆ แต่นานๆไปก็ชินค่ะ ) บ่ายฝึกอาชีพ เช่นทำเกษตร ทอผ้าบาติก ตก 4 โมงเย็น เวรคุณครูจะมาเคาะระฆังเพื่อให้เด็ก “ ลงท่าน้ำ ” ซึ่งก็คือให้เด็กๆ หอบเสื้อผ้าลงไปอาบน้ำริมแม่น้ำแควใหญ่
บรรยากาศที่ดิฉันรู้สึกว่ามีความสุข สดใสมากคือช่วงพาเด็กลงท่าน้ำ พอระฆังดัง หง่าง หง่าง เด็กๆ เค้าจะเตรียมเสื้อผ้ามาคอยแล้ว เด็กโตจะมีเวรเอากาละมังซักผ้าให้เด็กเล็ก ผงซักฟอก สบู่มาด้วย พอถึงท่าน้ำ ต่างคนต่างก็โดดลงน้ำ ตูมม ตูมม แม่น้ำแควน้อย ถ้าไม่ใช่หน้าน้ำหลาก น้ำจะใส น่าเล่นมาก
ทุกสัปดาห์ในวันพฤหัส ( ถ้าจำไม่ผิดนะคะ เพราะผ่านมานานหลายปีเหลือเกิน ) จะมีเวรครูและเด็กโตขึ้นรถคอกหมู ( หรือรถสองแถวคันสูงๆ ) ไปซื้อกับข้าวมาตุนไว้ที่โรงครัว
วันศุกร์จะเป็นวันประชุมสภาโรงเรียน บรรยากาศก็จำลองสภาผู้ใหญ่มาเลยค่ะ แถมมีประธานเป็นเด็กด้วย เด็กที่นี่รักประชาธิปไตยมาก พอมีคนฟ้องว่าใครทำผิด จะต้องกำหนดบทลงโทษ จะมีเด็กๆ กล้ายกมือแสดงความคิดเห็นกันทุกคน
ห้องประชุมสภาโรงเรียน และใช้ดูทีวีร่วมกันด้วยค่ะ
ส่วนวันเสาร์จะเป็นกิจกรรมการแสดงบนเวที รายการนี้ก็ฟรีสไตล์ เด็กที่นี่จะกล้าแสดงออก ใครอยากแสดงอะไรให้เพื่อนดู ก็สามารถขึ้นไปบนเวทีได้ บางทีครูเองที่ต้องมาประชุมดูการแสดงด้วย ยังอดเล่นสนุกกับกิจกรรมโยกซ้าย ย้ายขวาของเค้าไม่ได้เลย
เด็กๆในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กไม่มีโทรทัศน์ให้ดูตามบ้านหรอกนะคะ จะมีโทรทัศน์ส่วนกลางคือที่ห้องประชุม ฉะนั้นวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้นจึงจะได้ดูรายการทีวี เช่นการ์ตูน หนังไทย หนังฝรั่ง และสารคดี ( ไม่แน่ใจเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่หรือเปล่าน๊อ ไม่ได้ไปเยี่ยมซะนานมาก )
เด็กๆที่ดิฉันเคยอาศัยอยู่ด้วย หลายคนคงโตมากแล้ว มีเด็กผู้ชายซนๆ ที่อยู่บ้านเดียวกันคนหนึ่งชื่อ “ โอ” มีวีรกรรมดื้อเหลือรับประทาน วิ่งไล่จับมาอาบน้ำ มากินข้าว ไม่รู้กี่หน แต่ก็ยังผูกพันและนึกถึงจนทุกวันนี้ ป่านนี้คงโตเป็นหนุ่มแล้วล่ะ
บ้านพักของเด็กๆหมู่บ้านเด็ก จะพักอยู่ร่วมกับผู้ใหญ่ บ้านหนึ่งจะมีครูผู้ใหญ่อยู่ดูแลประมาณ 1-2 คน ส่วนเด็กจะมีเด็กเล็กเด็กโตปะปนกันไป และแยกพักระหว่างบ้านผู้ชาย กับผู้หญิง ยกเว้นเด็กอนุบาล จะพักบ้านครูผู้หญิงได้ เพราะจะดูแลดีกว่า
บ้านแม่ณี หลังนี้เคยนอน
พี่สาวที่เป็นคุณครูใจดีบ้านเดียวกันกับดิฉันชื่อ แม่ณี หรือพี่ณี “ คุณครูอรุณี บุญโย ” ดิฉันทราบจาก Website มูลนิธิเด็กว่า ปัจจุบันเธอยังเป็นคุณครูอยู่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กเหมือนเดิม ต้องยอมรับนับถือในอุดมคติของแม่ณีจริงๆ เพราะพี่ณีเป็นครูที่เอาใจใส่เด็ก สอนเด็กเก่งมาก และยังเป็นแม่ที่ดูแลเด็กที่นี่มาถึง 16 ปี ขนาดมีหนังสือพิมพ์นำเอาเรื่องราวของเธอไปลงในคม ชัด ลึกเลยค่ะ
ถ้ามีโอกาสเจอหรือมีโอกาสได้เห็นงานเขียนนี้ อยากบอกพี่ณีว่า ยังคิดถึงพี่ณีเสมอ
ต้องขอบคุณแม่แอ๊ว หรือคุณครู รัชนี ธงไชย
ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก
ที่ให้โอกาสดิฉันได้เข้าทำงานที่นั่น ทำให้ได้ประสบการณ์มากมาย
ที่แม้ตำราหรือในห้องเรียนก็หาไม่ได้
ถ้าใครอยากรู้จักโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก
ลองแวะเข้าไปชมได้ที่นี่นะคะ http://www.ffc.or.th/mbd/
คำสำคัญ (Tags)#มหาวิทยาลัยนเรศวร#วัฒนธรรม#การเขียน#วรรณกรรม#หนังสือและการอ่าน
หมายเลขบันทึก: 22108, เขียน: 01 Apr 2006 @ 11:41 (), แก้ไข: 06 Sep 2013 @ 17:19 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 5, อ่าน: คลิก