47. เยี่ยมชมหมู่บ้านไท อาหมที่โชเปน


ไทเดียวกัน

 

 

ชาวอัสสัมทานมื้อเช้า 2 ครั้งๆ แรกราวแปดโมงทานขนมกับชานม พอสิบโมงทานอาหารหนัก อาหารเที่ยงจะทานราว 13.30 น. เป็นต้นไป ราวห้าโมงเย็นทานชากับขนมอีกรอบ อาหารเย็นทานราวสองทุ่มเป็นต้นไป สรุปแล้ววันหนึ่งๆ ทานหลายมื้อมาก

หลังจากทานข้าวเช้าราว 10.00 น. แล้ว อาจารย์ ก และครอบครัวรวมทั้งดิฉัน 5 คนเบียดกันไปในรถเล็กซูซูกิของอาจารย์ ออกมาภายนอก เมืองเงียบมาก เพราะร้านรวง ผู้คนหยุดกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมด  นานๆ จึงจะมีรถสวนทางมา ดูไปแล้วคนในรถเฉยๆ ดิฉันถามลูกสาวอาจารย์ว่าทราบได้อย่างไรว่าต้องหยุดกิจกรรม ได้รับคำตอบว่าเพราะพวกที่ข่มขู่ (ผู้ก่อการร้าย) ลงหนังสือพิมพ์แจ้งล่วงหน้าว่าให้ประชาชีหยุดประท้วงกี่วัน วันนี้หยุดวันเดียว ที่อัสสัมเดือนหนึ่งจะถูกบังคับให้หยุดราว 6-7 ครั้ง หากขัดขืนอาจถูกพวกผู้ก่อการร้ายมายิงตายคาร้านเลยก็มีมาแล้ว ชาวบ้านกลัวจึงยอมทำตาม นี่เป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของบ้านเมืองวิธีหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะยุติลงด้วยวิธีการอย่างไร

ดิฉันก็นั่งชมวิวไป ผ่านไร่ชา โรงงานผลิตชา หมู่บ้านโช เปนห่างจากมอรานราว 20 กิโลเมตร ถนนสายหลักคือสายที่ดิฉันนั่งรถผ่านมาเมื่อวานนั่นเอง พอถึงทางเข้าหมู่บ้านถนนเป็นโลกพระจันทร์หรืออังคารไปโน่นเลยค่ะ ถนนเป็นฝุ่น ลูกรัง สงสารรถที่ต้องขับอย่างระมัดระวังมาก แถมบรรทุกผู้โดยสารเสียแน่นเอียด กระแทกกระทั้น รถแทบพังจริงๆ ค่ะ รถแบบนี้ไม่เหมาะกับสภาพเช่นนี้อย่างแน่นอน เส้นทางผ่านเรือกสวนไร่นาสวยงามเขียวขจี มีไร่ชาบ้างเป็นหย่อมๆ มีทั้งไร่แปลงใหญ่ แปลงเล็กที่ปลูกในบ้านคนก็มี เหมือนปลูกไว้ทานเอง เหลือก็ขายอะไรทำนองนั้น  ทุ่งนาว่างเปล่าเพราะเป็นหน้าแล้งและหมดหน้านาแล้ว บ้านชาวบ้านแถบนั้นส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว แต่ปลูกอยู่ในพื้นที่กว้างก็มี ที่แคบก็มี ที่เป็นกระท่อมดินก็มีมาก รถแล่นไปสักพัก เห็นแท่นขุดเจาะน้ำมัน 2-3 แท่น อาจารย์ก็บ่นๆ ว่านี่พวกเดลลีมาขุดไป รถบรรทุกใหญ่ๆ วิ่งมาเอาน้ำมันออกไปทำให้ถนนพัง ไม่มีการบูรณะซ่อมแซมให้ดีเลย

 

ดิฉันก็แปลกใจว่าความขัดแย้งหรือคู่ตรงข้ามที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านโช เปนนี้น่าคิด น้ำมันเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับทั้งรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลาง แต่ในเวลาเดียวกันชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นกลับไม่ได้รับอานิสงส์จากการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นมูลค่าแต่อย่างใด วิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นไม่บอกเลยว่าสอดคล้องกับปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดได้ (หรือน้ำมันในบ่อใกล้หมดแล้วก็ได้) เป็นเหมือนขั้วตรงข้าม ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ไม่สงสัยว่าทำไมชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นกลุ่มไท และกลุ่มมองโกลอยด์อื่นๆ จึงมีปฏิกิริยาโต้ตอบรัฐบาล ที่มาหมู่บ้านนี้เพราะเป็นญาติๆ ของอาจารย์ ดังนั้นเรามานี่เขารู้แล้ว เพราะอาจารย์โทร. มาล่วงหน้า มีคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกมารับกลางทาง เราแล่นรถตามกันไป บ้านญาติอาจารย์จะแต่งงานลูกสาวในสัปดาห์หน้า อาจารย์เลยนำของขวัญมาให้ก่อนล่วงหน้า ดิฉันเห็นภรรยาอาจารย์ให้กระเป๋าเดินทางเป็นของขวัญ เพราะอาจารย์บอกว่าวันจริงคงไม่ได้มา ถนนหนทางแบบนี้เข้าออกบ่อยๆ เป็นไปไม่ได้ รถพังจริงๆ ค่ะ ดิฉันกล้ายืนยัน

บ้านชาวไท อาหมหลังนี้ที่เป็นญาติอาจารย์เป็นบ้านชั้นเดียว ติดดิน หลังใหญ่คล้ายตัว L ในพื้นที่กว้าง เจ้าบ้านต้อนรับด้วยชาร้อนใส่นม และขนม เราทานกัน นั่งคุยสักพัก อาจารย์พาดิฉันและหนุ่มไทอาหมที่เป็นลูกหลานอาจารย์นั่งรถเข้าไปในหมู่บ้านต่อไปอีก ชายคนนี้อายุประมาณ 30 ปีเศษเป็นผู้ที่เรียนรู้ภาษาไทอาหม พูดได้มาก พูดกับดิฉันได้พอรู้เรื่องบ้าง แต่ส่วนใหญ่เขาพูดเป็นคำๆ มากกว่าเป็นประโยคยาวๆ แกทำหน้าที่เป็นไกด์พาไปบ้านโน้น บ้านนี้ ชาวบ้านที่นั่นทำนา ทำสวน บ้านแต่ละหลังมีพื้นที่เป็นของตัวเอง บางบ้านทำสวนครัว มีลานตากข้าว มีสระน้ำหน้าบ้าน บรรยากาศเป็นท้องทุ่ง เงียบสงบ น่าอยู่ค่ะ เสียแต่ถนนหนทางแย่มากๆ  บางบ้านที่เราแวะไปเป็นเรือน ทำด้วยไม้บ้าง ดินบ้าง มีอยู่หลังหนึ่งที่มีตัวหนังสือไท อาหม และอักษรไทยของเราติดฝาบ้านไว้คู่กัน ลูกชายบ้านนี้เขียนไว้

 

อาจารย์เสนอว่าอยากให้รัฐบาลไทยช่วยเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้กับคนไทกลุ่มนี้ ดิฉันไม่ทราบว่าจะช่วยได้อย่างไร หากจะให้ความช่วยเหลือยั่งยืนน่าจะเป็นระหว่างรัฐต่อรัฐ เพราะการช่วยแบบส่วนตัวทำได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่ยั่งยืน เพราะต้องไม่ลืมว่าที่นี่มีปัญหาเรื่องของอัตลักษณ์ ความเป็นเรา เป็นอื่นอยู่ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องคำนึงถึง ดิฉันขอฝากท่านผู้อ่านที่อาจจะช่วยได้กรุณารับไว้พิจารณาด้วย

ตัวอย่างภาษาไท อาหม

จมูก----ดัง

บ้าน----เรือน

ผม----ฝม

เสือ----สว๋า

พลู---เบิว ปลู้

หมาก---หมาก โม้

ฟัน----เขียว

หน้า---หนา

เป็นต้น

ระหว่างที่รถวิ่งไปวิ่งมา เห็นกลุ่มชาวบ้านพร้อมรถตำรวจ ตอนแรกนึกว่ามีการประท้วงอะไร อาจารย์บอกว่าพวกเจ้าหน้าที่มาเจรจากับชาวบ้าน ไม่ทราบว่าเรื่องอะไรเหมือนกัน อ้อ! ในหมู่บ้าน ร้านเล็กร้านน้อยไม่หยุดกิจการนะคะ

 

ดิฉันได้แวะไปบ้านหลังหนึ่งกำลังมีพิธีรำลึกถึงผู้ตาย มีการตั้งเต้นท์ ขึงผ้าล้อมรอบเหมือนบอกเขตพิธี มีผู้อาวุโสชายนั่งรายล้อมอยู่ด้านใน มีของเซ่นไหว้หลายอย่างอยู่ตรงกลาง ดิฉันเข้าไปนั่งไหว้ทุกท่าน สักพักออกมานั่งที่เก้าอี้ที่เขาจัดไว้ให้ เสร็จแล้วมีคนมาชวนเข้าไปด้านในให้ไปทดลองทานอาหาร เขาตักยำรสจัดมาให้ลองชิมหนึ่งช้อนประกอบด้วยหอมแดง หอมใหญ่ มะเขือเทศ พริกแล้วยำ รสแซ่บแบบไทยเลยค่ะ เผ็ดจริงๆ นี่แหละที่เรียกว่า ไทเดียวกัน เสร็จแล้วมีสรถ (สุราเถื่อน) ที่ทำจากข้าวให้ลองชิม ทุกบ้านทำเหล้าเป็นเพื่อใช้ดื่มฉลองเวลามีงาน รวมถึงเทศกาลต่างๆ นี่ก็ ไทเดียวกัน เหมือนกันเพราะชาวอินเดีย ฮินดูส่วนใหญ่ไม่ดื่มเหล้า เสร็จแล้วขอตัวลากลับออกมา

 

อาจารย์พาไปแวะบ้านญาติหรือเพื่อนอีกสองบ้าน แล้วเรากลับไปบ้านแรกที่ครอบครัวอาจารย์รออยู่ เราทานอาหารกลางวันกันสามคนๆ อื่นทานหมดแล้ว อาหารก็มีหมูสามชั้นผัดกับมันฝรั่ง ปลาต้ม แกงผัก แกงหน่อไม้ ผักตำ ดิฉันทานทุกอย่าง อิ่มมากๆ มีเหล้ามาแถมอีกแล้ว ดิฉันดื่มไม่ไหว ทานเสร็จนั่งคุยกันสักพัก ดิฉันช่วยเงินหลานสาวอาจารย์ที่จะแต่งงาน เขาขอบคุณและให้ของชำร่วยเป็นผ้าฝ้ายใช้เช็ดหน้า สักพัก ก่อนลากลับถ่ายรูปร่วมกัน เพวกเราก็นั่งรถโขยกเขยกออกมา อาจารย์พาไปแวะปั๊มซึ่งเจ้าของเป็นเพื่อนอาจารย์ เป็นไทอาหม เหมือนกันและหยุดกิจการในวันนี้

เพื่อนอาจารย์และภรรยาเลี้ยงรับรองพวกเราด้วยชานมร้อน และขนม นี่เป็นวัฒนธรรมชาวอัสสัมจริงๆ ค่ะ ทุกบ้านที่ไปต้องมีสองสิ่งนี้ไว้ทานเอง และพร้อมที่จะเตรียมไว้รับแขก ก่อนกลับ ดิฉันได้รับผ้าพันคอผ้าฝ้ายทอมือสีขาวแดงซึ่งเป็นของขวัญที่ชาวอัสสัมมอบให้กัน ไปเที่ยวนี้ดิฉันได้รับสิบกว่าผืน หลากหลายลวดลายค่ะ

พวกเรามาถึงตัวเมืองราวห้าโมงกว่า ตลาดกลับมาติดเหมือนเดิม ผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อของมากขึ้น วันนั้นทานข้าวเย็นสามทุ่มกว่า อาหารเย็นมีผัดมันฝรั่ง แกงถั่วเหลือง มะเขือยาวทอดเกลือเค็มๆ ทานกับข้าวสวย อาหารที่ทานจะเรียบง่าย บางวันเป็นอาหารเจ สัปดาห์หนึ่งจะทานเนื้อสัตว์สัก 2 ครั้ง เช่นไก่ หรือ ปลา เท่านั้น อาหารที่นี่ใส่เครื่องเทศน้อยกว่าอาหารอินเดียภาคอื่น ภรรยาอาจารย์ทำอาหารอร่อยทุกมื้อค่ะ

 

------------------

ขอเชิญท่านที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับอินเดีย สมัครเรียนในหลักสูตรปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา วิชาเอกอินเดียศึกษา ตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 โปรดเข้าชมรายละเอียดใน www.lc.mahidol.ac.th โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3101 โทร. 02-800-2323

 

 

หมายเลขบันทึก: 220326เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2008 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อ.โสภนาคะ ดิฉันสงสัยว่าชาวไทอาหมในอัสสัมนี่เป็นฮินดูแล้วก็พูดฮินดีใช่มั้ยคะ แล้วก็ที่อัสสัมนี่อันตรายเหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรามั้ยคะ เพราะเพิ่งสองสามวันนี่เองที่มีข่าวระเบิดหลายจุดในอัสสัมแล้วก็มีคนตายไปเยอะทีเดียว คือว่าอ่านบทความอ.เมื่อวานน่ะค่ะ วันนี้ก็เลยแวะมาอ่านใหม่ ขอบคุณสำหรับความรู้ที่มีอยู่ในโลกอิินเตอร์เนตนะคะ

อาจารย์โสภนาครับ

น่าสนใจมาก

น่าจะมีโครงการสำรวจของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันนะครับ จะได้ช่วยกันมองในมิติต่างๆ

ที่ผมสนใจคือด้านวัฒนธรรมและและศาสนา

หากสามารถเชื่อมโยงและเชื่อมสายใยกันได้ จะเป็นงานที่เป็นประโยชน์สำหรับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศครับ

สวัสดีครับ

น่าสนใจมากครับ ได้ความรู้ใหม่ๆเยอะเลย

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

ผมว่าการเชื่อมโยงกลุ่ม "คนไท"แบบไม่เป็นทางการ หรือแบบง่ายๆนั้น สามารถเริ่มได้จากการเผยแพร่แผ่นวิดีทัศน์การขับการลำพื้นเมืองต่างๆ แบบแลกเปลี่ยนกันเรียนรู้น่าจะดีครับ

เคยพบนักวิชาการท่านหนึ่งที่เวลาท่องเที่ยวไปในตลาดในเมืองเล็กๆในลาวก็พยายามซอกหา แผ่นวีซีดี ลำไทแดง ไทดำ ผู้ไทใหญ่ มาสะสมไว้

ดีใจที่ได้รู้ว่าชาวไทอาหมยังพูดภาษาไทได้อยู่

ขอบคุณครับ

 

เรียน คุณตั้งใจผ่านมา

      ชาวไทอาหมนี่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ภาษาที่ใช้คือภาษาอัสสัมมิส (Assamese) เพราะรัฐธรรมนูญอินเดียระบุให้ใช้ภาษาอังกฤษ หรือ ฮินดี หรือ อัสสัมมิส เป็นภาษาราชการได้ค่ะ

     ส่วนเรื่องความปลอดภัย ดิฉันเรียนตามตรงว่าไม่ทราบข้อมูลในเรื่องการใช้ความรุนแรงมากนัก แต่เท่าที่เห็นในช่วงที่ไปบรรยากาศไม่น่ากลัวอะไร โดยเฉพาะคนไทยที่หน้าตาเป็นมองโกลอยด์ค่ะ ดิฉันคาดว่าจะน่ากลัวมากเพราะเคยได้ยินข่าวคราวด้านลบมาบ้าง แต่พอได้ไปมาแล้วบอกได้เลยว่าผู้คนน่ารักมากๆ ค่ะ

เรียน ท่านพลเดช

ในอดีต มีนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยไปศึกษาเรื่องราวของกลุ่มไท อาหมค่ะ

เพียงแต่ไม่ได้นำมาขึ้นบล็อกอย่างนี้

สำหรับการสานสายสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีค่ะ ดิฉันยินดีร่วมมือด้วยหากจะสามารถช่วยท่านได้บ้าง

อจ.โสภนาครับ

ขอบคุณครับ

ผมคิดว่าวัฒนธรรมไทยมีศักยภาพ ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ไม่แพ้มหาอำนาจอื่นๆ

การเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนมนุษย์ ความรู้ ระหว่างกันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ

เรียน ท่านพลเดช

     ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ในภูมิภาคระหว่างรัฐต่อรัฐเป็นทางการจะได้แค่ระดับบน หากจะให้เข้าถึง และเข้าใจกันอย่างแท้จริง ต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันให้มากขึ้นค่ะ

สวัสดีครับ อจ.โสภนา

ตอนนี้ผมอยู่ที่อินเดีย เมื่อวานได้พบเพื่อนไทอาหม

ได้พูดคุยกันหลายเรื่อง และขอฝากประชาสัมพันธ์ กลุ่มรื้อฟื้อภาษาและวัฒนธรรมไท ในอินเดีย

จัดตั้งโดยชาวไท ในอินเดียเอง เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ภาษา รวมถึงวรรณกรรมไท กลุ่มต่างๆ

ในอินเดีย

สมาชิกคนหนึ่ง คือ จ้าวอ้าวแสง หรือ จ้าวเมธินี (เป็นผู้ชายนะครับ อย่าเข้าใจผิด)

เป็นเพื่อนผมเอง

สนใจ เมลไปคุยกันได้นะครับ

ที่ [email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท