การเป็นอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต


หน้าที่สำคัญของอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียน และให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ การเรียนโดยไม่มีการลงมือปฏิบัติไม่ทำให้ใครรู้จริง

คำบรรยาย หัวข้อ

"การเป็นอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต"

โดย อ.สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม 2551

ท่านกรรมการบริหารหลักสูตร ท่านผู้อำนายการศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต ท่านผู้ประสานงานรายวิชา ท่านอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ทุกท่าน 

                เมื่อวานนี้ผมก็ได้ขึ้นมานั่งพูดในเรื่องเดียวกันนี้ กับคณาจารย์และผู้บริหารศูนย์เรียนรู้ ในหัวข้อเดียวกัน แต่เมี่อวานกลุ่มไม่ได้ใหญ่ขนาดวันนี้ ที่ท่านคณบดีรายงานต่อท่านอธิการบดีตะกี้นี้ว่ามีถึง 250 คน

                กลุ่มที่เข้าร่วมสัมมนาเมื่อวานนี้เป็นคณาจารย์และผู้บริหารที่ผ่านประสบการณ์มหาวิทยาลัยชีวิตมา 2 ปีแล้ว ผมจึงใช้เวลาพูดกับท่านเหล่านั้นเพียงประมาณ 20 นาที เพื่อให้ท่านได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ปรึกษากันในกลุ่มวิชาต่างๆ แต่วันนี้จะขอเพิ่มเป็น 30 นาที เพราะถือว่าเป็นอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้รุ่นใหม่  เมื่อเทอมที่แล้ว เทอมที่ 1 ท่านอาจารย์เสรี  พงศ์พิศ ได้พูดกับพวกท่านถึงแนวคิดและทิศทางของมหาวิทยาลัยชีวิต ในภาคเรียนที่ 2 นี้ ท่านให้ผมมาพูดแทน ก็จะลงรายละเอียดเพิ่มขึ้น

                พิธีกร อาจารย์เฉลิมชัยได้กล่าวแนะนำไปบ้างแล้วว่า หลักสูตรนี้มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เพื่อชีวิต เรียนแล้วชีวิตต้องดีขึ้น ภายในหลักสูตร 3 ปี ไม่ใช่จะดีขึ้นหลังเรียนจบ แต่ต้องดีขึ้นในขณะเรียนด้วย  อันนี้เป็นหัวใจของปรัชญาการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่เลย  การเรียนในมหาวิทยาลัยชีวิตคือการเรียนรู้เพื่อตอบสนองชีวิตนั่นเอง เราจึงเรียกว่า มหาวิทยาลัยชีวิต

                มีอาจารย์บางท่านบอกผมเมื่อวานนี้ว่า นักศึกษาขาดเรียนเยอะ ผมก็ตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรให้เขาอยากมาเรียน ให้วันที่จะพบกันเป็นวันแห่งการรอคอยของผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งท้าทายอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตมาก แต่เราก็มีศูนย์เรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้อยู่หลายศูนย์ เมื่อเทอมที่แล้ว ผมไปสอนที่เชียงใหม่ ศูนย์เชียงดาวกับศูนย์พร้าวเขาจัดการเรียนการสอนร่วมกันที่วิหารของวัดแห่งหนึ่ง นักศึกษารวมกัน 2 ศูนย์ทั้งหมด 98 คน ปรากฏว่ามาเรียน 97 คน คนที่ไม่ได้มาเขาติดไปต่างประเทศ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีของศูนย์ทั้งสอง สิ่งที่ผมสนใจก็คือเขาทำอย่างไรให้การมาพบกลุ่มเรียนเป็นเรื่องที่ผู้เรียนอยากมาร่วม เป็นวันที่เขารอคอย

                เรื่องที่ผมจะเล่าให้ท่านฟังต่อไปนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผมรู้มาก่อน แต่เป็นเรื่องที่รู้มาจากพวกท่าน ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

                ข้อดีของการจัดแบบศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่นก็คือ ไม่ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ไม่ต้องเดินทางไกล

                ก่อนที่จะกล่าวต่อไปถึงกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิต จะขอสรุปวิชาที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยชีวิตอีกครั้งเพื่อปูพื้น ก็มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ

                กลุ่มแรก เราเรียกว่า GE - General Education หรือกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไป เกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาพื้นฐานทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งในเทอมนี้เราก็มีอยู่ 2 วิชา คือการสืบค้นสารสนเทศ และภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร วิชาในกลุ่มพวกนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดกันเองว่าผู้ที่จะจบเป็นบัณฑิตต้องรู้กว้างๆ ในเรื่องพวกนี้ วิชาในกลุ่มนี้มีทั้งหมดประมาณ 10 วิชา

                กลุ่มที่สอง เราเรียกว่ากลุ่ม LM - Life Management หรือกลุ่มวิชาการจัดการชีวิต ซึ่งกลุ่มนี้ใน สสวช. ผมดูแลอยู่ มี 4 วิชา คือ การจัดการความรู้ การวางเป้าหมายและแผนชีวิต และ สปช.1 สปช.2 และ สปช.3 เรียงกันไปเลย สรุปแล้วทั้ง 3 ปี เรียนทุกปีเลย  เทอมแรกเรียนวิชาการจัดการความรู้ การวางเป้าหมายและแผนชีวิต เทอมที่ 2 สปช.1  เทอมแรกเริ่มที่จะวางเป้าหมายเพื่อการเจริญเติบโตของชีวิตทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม  พอเทอมที่ 2 เริ่มทำโครงงานต่างๆ ที่ลงรายละเอียดให้ลึกซึ้งขึ้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผู้เรียนแต่ละคนเลือกเอง ประสบการณ์ที่นักศึกษาได้ในวิชา สปช.1 มี 2 อัน คือ

                หนึ่ง นักศึกษาได้รู้วิธีทำโครงงานพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบ

                สอง ได้ประสบการณ์ตรงกับบางเรื่องที่เรายกมาเป็นหัวข้อของโครงการที่เกี่ยวกับตัวเองด้วย  เราจึงกำหนดให้ชื่อโครงงานต้องมีคำว่า "ของข้าพเจ้า" ต่อท้ายอยู่ด้วยเสมอ

                พอขึ้นปี 2 เรียน สปช.2 ก็เริ่มให้ทบทวน ให้พิจารณาชีวิตด้านในของตัวเองเพื่อการรู้จักตัวเอง แล้วก็ทำโครงงานพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเอง

                พอปีที่ 3 เรียน สปช.3 ก็นำเอาประสบการณ์ในวิชาการจัดการความรู้ การวางเป้าหมายและแผนชีวิต วิชา สปช.1 และ สปช.2 มาพัฒนาการงานอาชีพทีตนเองทำอยู่ ความจริงก็ให้ใช้ความรู้และประสบการณ์จากทุกวิชาที่เรียนมาทั้ง 3 ปี ด้วย เรียกว่า บูรณาการทั้งหมด

                กลุ่มที่สาม เราเรียกว่ากลุ่ม CM - Community Management ก็คือกลุ่มจัดการชุมชน อันนี้คือกลุ่มใหญ่สุดเลย มี 20 กว่ารายวิชา สาขาของเราเรียกว่า สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นก็ต้องเรียนเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น วิชาในกลุ่มจัดการชุมชนนี้แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มวิชาย่อย ในแต่ละกลุ่มมี 3 หรือ 4 วิชาที่นักศึกษาต้องเรียน เช่น ในกลุ่มแผนแม่บทชุมชน ก็มีวิชาการเป็นวิทยากรกระบวนการ วิชาการทำแผนแม่บทชุมชน วิชาสัมมนาแผนแม่บทชุมชน 1 และวิชาสัมมนาแผนแม่บทชุมชน 2  ส่วนวิชาในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็มี 3 วิชา กลุ่มเกษตรและสิ่งแวดล้อมก็มี 3 วิชา กลุ่มสุขภาพชุมชน และอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

                ที่พูดมาข้างต้นเป็นเรื่องที่เมื่อวาน (วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2551) ไม่ได้พูด เพราะผู้ฟังทราบดีอยู่แล้ว ต่อจากนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ผมพูดเมื่อวาน มี 3 หัวข้อ คือ

                1. กระบวนการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ควรเป็นอย่างไร เทอมที่แล้วก็พูดไปบ้างแล้วแต่เทอมนี้จะทบทวนสักหน่อย

                2. คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต เราไม่อยากเรียกว่าอาจารย์ซึ่งมักจะทำให้เข้าใจว่าเป็นผู้บรรยายความรู้ ของเราเน้นที่การจัดกระบวนการเรียนรู้

                3. เรื่องการบูรณาการ ที่หลายคนกล่าวถึงกันอยู่ตลอดเวลา ก็อยากเสนอความเห็นเพื่อกระตุ้นให้ท่านทั้งหลายคิดต่อในเรื่องนี้ด้วย

                เรื่องแรก กระบวนการเรียนรู้ มีหลายประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่วันนี้จะยกขึ้นมาเพียงบางประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญ นั่นคือ จะทำอย่างไรที่เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียน เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง นั่นคือ ชีวิตผู้เรียนจะต้องดีขึ้นในขณะเรียนเลย เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิดที่สำคัญของมหาวิทยาชีวิตข้อนี้ในวิชาที่เรารับผิดชอบอย่างไร  

                เวลาผมออกข้อสอบในวิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต ผมให้นักศึกษาทำเครื่องหมายถูกหรือผิดหน้าข้อความเพื่อตรวจสอบแนวคิดของเขาหลายข้อ มีข้อหนึ่ง มีข้อความว่า  นักศึกษาในโครงการมหาลัยชีวิตจะนำความรู้ในขณะเรียนไปปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นหลังจบการศึกษาแล้ว ผมดีใจที่นักศึกษาส่วนมากทำเครื่องหมายผิดหน้าข้อความนี้ เพราะเขาทราบว่าข้อความนี้มันไม่จริงสำหรับมหาวิทยาลัยชีวิต เพราะชีวิตเขาจะต้องดีขึ้นในขณะเรียนทันทีเลย ไม่ใช่หลังจากจบการศึกษาแล้วค่อยดีขึ้น

                ปรัชญาของเราที่ท่านอาจารย์เสรีย้ำอยู่ตลอดเวลาก็คือ เรียนแล้วต้องได้ทั้งปริญญาบัตรและปริญญาชีวิต  หากก่อนมาเรียนเป็นความดัน เป็นไขมันในเลือดสูง หรือมีปัญหาสุขภาพ มาเรียนแล้วสุขภาพต้องดีขึ้น เท่าที่ติดตามมา 2 - 3 ปี นักศึกษาหลายร้อยคนความดันลดลง ไขมันลดลง ปวดเข่าปวดข้อน้อยลง บางคนก็หายไปเลย หล่อขึ้นสวยขึ้น หุ่นดีขึ้น แล้วก็ไม่ต้องกินยาอะไรอีกหรือหมอสั่งลดยาเขาลง เพราะเขาแข็งแรงขึ้น เศรษฐกิจครัวเรือนก็เช่นเดียวกัน ต้องดีขึ้น ต้องมีการออม ต้องมีความมั่นคงทางการเงินขึ้น ความสัมพันธ์ที่เขามีกับตัวเอง กับคนอื่นๆ ในครอบครัว ในชุมชน ต้องดีขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองขึ้น เพราะคำขวัญอันหนึ่งของเรา คือ เรียนแล้วต้องสามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นต่อไปได้

                ปลายปีนี้เราจะมีพิธีมอบรางวัล เรียกว่า รางวัลปริญญาชีวิต ให้กับนักศึกษาจากทั้ง 118  ศูนย์ โดยให้ ผอ.ศูนย์เรียนรู้แต่ละแห่งคัดเลือกมา โดยกำหนดว่าต้องเป็นนักศึกษาชั้นปี 2 และ ปี 3 เท่านั้น  จะมีทุนการศึกษาให้จำนวนหนึ่ง และมีรางวัลชมเชยเป็นประกาศนียบัตร เพราะเราไม่มีเงินพอจะให้ทุกศูนย์ สรุปก็คือชีวิตต้องดีขึ้นในขณะเรียนและเมื่อเรียนแล้วก็ต้องได้ทั้งปริญญาชีวิตและปริญญาบัตร

                ในแง่ของชุมชน นักศึกษาได้คะแนนจากการเรียน แต่ตัวชี้วัดความสำเร็จของการเรียนที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงของชุมชน เราอยากกระตุ้นให้ท่านทั้งหลาย ที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มวิชาการจัดการชุมชน ว่าชุมชนที่ผู้เรียนอาศัยอยู่ต้องดีขึ้น ใช้ตรงนั้นเป็นโจทย์ในการเรียน เพราะมันสัมพันธ์กับชีวิตเขา เวลาทำโครงงานไม่ต้องไปทำชุมชนอื่น การไปทำชุมชนของคนอื่นมีประโยชน์แค่ได้ทำแบบฝึกหัด  ที่ควรเป็นก็คือใครอยู่ชุมชนไหนก็จับกลุ่มกันทำในชุมชนนั้นเลย ทำแล้วมันมีความหมายกับชีวิตของผู้ทำ เพราะถ้าชุมชนแก้ปัญหาบางอย่างได้ ชุมชนปลอดยาเสพติด ชุมชนปลอดแหล่งอบายมุข ชุมชนมีสุขภาวะ มันก็สะท้อนกลับมาสู่ครอบครัวสู่ลูกหลานของของผู้เรียนเอง ทำเช่นนี้แล้ว ทุกคนจะอยากมาเรียน มี 50 คนก็มา 50 คน เพราะมันเป็นเรื่องของเขาเอง

                ถ้าเราทำตัวเป็นอาจารย์บรรยายความรู้แบบในการเรียนการสอนกระแสหลัก ที่ทำตัวเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญไปถึงศูนย์เรียนรู้ก็บรรยายทั้งวันเสาร์วันอาทิตย์ ผู้เรียนฟังตลอดทุกเสาร์-อาทิตย์ก็เบื่อ ถ้าผมเป็นผู้เรียนผมก็เบื่อ ฝากเพื่อนอัดเทปไว้ก็ได้ แต่การสอนแบบไม่บรรยายหรือบรรยายน้อยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะเพียงแค่บอกว่าอาจารย์มาพบกลุ่มนักศึกษาแล้วอย่าบรรยายนะ ให้จัดกระบวนการให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ คนไม่เคยทำก็จะงง เราจึงต้องมีการสัมมนากันก่อนเปิดภาคเรียนทุกภาค เพื่อมาออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ครอบครัว และชุมชนของเขาเอง

                ผมอยากจะแนะนำท่านทั้งหลายว่า ให้นักศึกษาจับกลุ่มเรียนผ่านการปฏิบัติในทุกวิชาในชุมชนของเขาเองตลอดทั้ง 3 ปีเลย ทุกวิชาลงชุมชนเดิมนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง 3 ปี เพราะตัวชี้วัดที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยชีวิตไม่ใช่คะแนน แต่ดูกันที่ผลของการปฏิบัติจริง เรียนวิชาชีวิตแล้วชีวิตเขาต้องดีขึ้น เรียนวิชาการจัดการชุมชนแล้ว ชุมชนเขาก็ต้องดีขึ้น ก็ดูกันว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างใน 3 ปีที่ได้ทำอะไรหลายอย่างในวิชาต่างๆ

                การเรียนที่ไม่ได้ผ่านการปฏิบัติไม่ได้ลงมือทำหาใช่การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ ไม่มีใครรู้จริงโดยไม่เคยลงมือทำ เช่น ท่องตำราขั้นตอนการว่ายน้ำท่าผีเสื้อแล้วมาตอบมาเขียนให้ครูดูได้ ได้คะแนนสอบ แต่ยังไม่เคยลงไปว่าย ก็ยังไม่ถือว่าว่ายเป็น

                เรื่องที่สอง คุณสมบัติผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ที่สำคัญก็คือท่านจะสามารถสร้างแรงบัลดาลใจให้ผู้เรียนได้อย่างไร มีคำสองคำที่ใกล้เคียงกัน คำหนึ่งคือแรงบันดาลใจ อีกคำหนึ่งคือแรงจูงใจ ในภาษาฝรั่งเขาใช้คำแยกกันชัดเจน แรงบันดาลใจตรงกับคำ inspiration ส่วนแรงจูงใจตรงกับ motivation ซึ่งแรงจูงใจมักเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น คะแนน ปริญญาบัตร  แต่แรงบันดาลใจมันมีคำว่า in นำหน้า คือ มันต้องออกมาจากข้างใน อย่างที่ในหลวงท่านบอกว่า ระเบิดจากข้างใน

                แต่ว่าอาจารย์จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนยังไง จะจัดกระบวนการเรียนรู้ยังไง ให้คนเขารู้สึกอยากจะมา นี่เป็นเรื่องสำคัญ  แรงบันดาลใจจึงไม่ใช่แค่การใช้คะแนนล่อ เราใช้ทั้งสองอย่าง ใช้ทั้งแรงจูงใจและแรงบันดาลใจ

                มีอันหนึ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอๆ คือ การใช้การดำเนินชีวิตของเรานั่นแหละเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ท่านปัญญานันทภิกขุเคยเทศน์ออกอากาศวันหนึ่งท่านบอกว่า การทำตัวเป็นตัวอย่างนั่นแหละคือคำสอนที่ดีที่สุด ซึ่งก็ตรงกับที่อัลเบิร์ต ชไวเนอร์ นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่ได้รางวัลโนเบิลไพรส์ในปีที่ผมเกิดพอดี ผมจึงจำได้ ท่านอุทิศตัวเพื่อรักษาคนในอัฟริกา ท่านเชื่อว่า มีแต่ตัวอย่างเท่านั้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ ไม่มีอย่างอื่น ในกระบวนการเรียนการสอนเราจึงเน้นให้มีการดูงาน การไปพบปะกับผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

                ด้วยเหตุนี้การมาเป็นอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต ทำอย่างไรให้การดำเนินชีวิตของเราเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เรียน ข้อคิดที่ผมมีก็คือ การกระทำต่างๆ ในชีวีตของเราเป็นอันหนึ่งกันเดียวกับสิ่งที่เราพูดเราสอน หากเราพาร่างกายที่น้ำหนักตัวเกินขนาดมากๆ หรือน้ำหนักตัวน้อยขนาดลมพัดก็เซแล้วไปจัดกระบวนให้คนอื่นหันมาให้ความสนใจดูแลสุขภาพตัวเอง ก็ยากที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้ อย่างไรก็ตาม เราทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม แต่เราก็สามารถทำให้เขาเห็นว่าเราก็อยู่ในกระแสแห่งการพัฒนาตัวเองอยู่เช่นกัน เช่นที่อาจารย์รุ่งนภา การบุญ ตอนนี้เปลี่ยนนามสกุลไปแล้ว ท่านเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้วิชาการวางเป้าหมายและแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตศูนย์เชียงดาว ท่านเป็นภูมิแพ้ทั้งผิวหนัง ทั้งในระบบทางเดินหายใจ จามแล้วจามอีกทุกเช้าที่ลืมตาตื่นขึ้นมา เมื่อท่านให้ผู้เรียนทำโครงงานสุขภาพ ท่านก็ทำของตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย ทั้งการกิน การอยู่ การออกกำลัง ทำอย่างตั้งใจ ตอนนี้ท่านไม่มีอาการอะไรอีกแล้ว แข็งแรงขึ้น หลังจากนั้นท่านก็แต่งงานและมีลูกแล้ว ท่านได้ใช้การดำเนินชีวิตของท่านนั่นแหละเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เรียน ผมคิดว่าคงไม่ได้เป็นการเรียกร้องท่านทั้งหลายมากเกินไปนะครับ เพราะท่านทั้งหลายส่วนใหญ่ก็เป็นแบบอย่างที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ผมเชื่อว่า เราไม่อาจให้อะไรกับใครในสิ่งที่เราไม่มีได้

                เรื่องสุดท้าย บูรณาการ เราพูดถึงเรื่องบูรณาการกันเยอะ ผมก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราบูรณาการอะไรกันบ้าง และจะทำยังไงให้การเรียนการสอนมันมีบูรณาการกับชีวิตของเขา แล้วผมก็คิดว่าอย่างน้อยน่าจะมีบูรณาการกับชีวิตส่วนตัวของผู้เรียน กับครอบครัว กับชุมชน และการบูรณาการกันระหว่างวิชาต่างๆ

                การบูรณาการการเรียนกับชีวิตของผู้เรียน ในกลุ่มวิชาการจัดการชีวิตทั้ง 4 วิชา ต้องบูรณาการอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของชีวิตตรงๆ ในวิชาเหล่านี้ในวันสุดท้ายของการพบกลุ่มเรียน ผู้เรียนต้องมานำเสนอผลการปฏิบัติโครงงานพัฒนาชีวิตตัวเองกัน  เราก็ขอให้ผู้เรียน เชิญสามี เชิญภรรยา ลูก พ่อแม่ ญาติมิตร เชิญมาเลย เชิญมาฟังรายงานการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตข้าพเจ้า มาร่วมแสดงความยินดี  วิชาในกลุ่มการจัดการชุมชนก็เหมือนกัน เทอมนี้มีวิชาการทำแผนแม่บทชุมชน มีสัมมนาแผน เชิญชาวบ้านมาร่วมฟังด้วย ว่าได้เรื่องได้ราวอย่างไรบ้าง เชิญมาสิครับ ให้พวกเขาได้เข้ามาร่วมวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ท่านได้ค้นพบด้วย

                ที่เราต้องบูรณาการกันระหว่างวิชาต่างๆ นั้น เพราะชีวิตคนเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง คือเป็นองค์รวม ไม่ได้แยกส่วนหรือลดทอนลงเป็นวิชาๆ อย่างที่เราแยกศึกษากัน ชีวิตครอบครัว ชีวิตของชุมชนก็เช่นเดียวกัน มันมีหลายเรื่อง และทุกเรื่องก็สัมพันธ์กันไปหมด ดังนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่รับผิดชอบวิชาที่ท่านสอนแล้ว ก็ให้ความสนใจว่าในเทอมนี้ เทอมที่ผ่านมา เทอมต่อไปเขาเรียนอะไรกันบ้าง เขามีงานอะไรมีโครงงานอะไรที่ต้องทำ เวลาลงไปชุมชนให้เขาเก็บข้อมูลทีเดียวได้ทุกวิชาเลยได้ไหม เวลาทำรายงานชิ้นเดียวส่งได้หลายวิชา เพียงแต่ให้มีส่วนที่ใช้แนวคิด ใช้มุมมองของแต่ละวิชาให้ตรงกับเรื่องนั้นๆ ด้วย การทำเช่นนี้จะช่วยลดเวลาของผู้เรียนลงด้วย เขาจะได้ไม่บ่นว่าเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตแล้วต้องทำงานส่งอาจารย์เยอะเหลือเกิน การบูรณาการระหว่างรายวิชาจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตในชุมชน เริ่มจากการที่ท่านทั้งหลายต้องหันหน้าเข้ามาคุยมาเล่าให้กันฟังว่าเนื้อหาสาระ มวลประสบการณ์ที่จะเกิดกับผู้เรียนในวิชาของท่านมีอะไรบ้าง ประสบการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจากงานเดี่ยว-งานกลุ่มกี่ชิ้น จะทำร่วมกันไปได้อย่างไรบ้าง

                สุดท้ายก่อนจะจบนี้ก็ขอฝากคำถามให้ท่านแต่ละคนไปคิดไปพัฒนากันต่อว่า ท่านจะจัดกระบวนการเรียนรู้ในวิชาของท่านอย่างไรให้ผู้เรียนได้บูรณาการกับชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ชุมชนของเขา ผมเองก็อยากเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับท่านทั้งหลายด้วย

                ขอให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในเทอมนี้ดังที่กล่าวมา

                ขอบคุณครับ.

หมายเลขบันทึก: 219554เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2008 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

น่าสนใจมากคะ

มีเพื่อนๆสนใจด้วยคะ จะส่งให้เพื่อนอ่านด้วยคะ

งานและกระบวนการสอน ของมหาวิทยาลัยชีวิต นี่น่าชื่นชม จังคะ

มีภาพการฝึกอบรมอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้วิชา การสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน ๒ (การรู้จักตัวเอง - พัฒนาบุคลิกภาพ)ที่ http://www.rulife.net/html/SLW2/LFtrainingSLEW2_51.pdf

ชัดเจนมากค่ะอาจารย์ขออนุญาติsave เพื่อนำไปให้เพื่อนๆอ่านนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ตอบ มยุรา ตุ่นแก้ว

เมื่อ ศ. 31 ต.ค. 2551 @ 07:37

ยินดีครับ ไม่เพียงแต่อาจารย์ นักศึกษาอ่านก็ได้ประโยชน์ในการเรียน

ขอบคุณอาจารย์มาก ๆ

เมื่อได้สำรวจพฤติกรรมของตนเองแล้วนำมาปรับปรุงใน สปช1-2 แล้วทำได้ (สติ สมาธิ ) ทำให้เพื่อนหลาย ๆ คน ทักว่าเปลี่ยนไปมากเลยนะเรา

อันว่าครูนั้น สำคัญไฉน สำคัญเปียงใด จักไขบอกแจ้ง
ครูจักสอนใผ เต๋มใจ๋บ่แสร้ง ใจ๋ต้องฮักแปง ก่อนกู๊

ถัดมาตี้สอง ต้องมีความฮู้ ในเรื่องตี้อู้ ดัดแปลง
สามศิษย์เฮาไซร้ คนใหญ่ตึงแผง ผู้นำเปลี่ยนแปลง แข็งขันจุผู้
ต้องเอาปัญหา ขึ้นมาฟู่อู้ หื้อเขาลองดู แก้มัด

ใจ้ว่ายับมา ฝึกเขียนฝึกคัด ในห้องอึดอัด หน้าดู
ยึดพื้นที่นั้น แม่มั่นสวยหรู ตึงศิษย์ตึงครู ต้องดูตี้หั้น
พื้นที่ชุมชน เจริญเต็มขั้น เป็นสิ่งยืนยัน เถิงศิษย์

วัดผลนั้นหนา บ่ถ้าไปคิด ติดอยู่ตี้หั้น คะแนน
ถ้วนตี้สี่นั้น สำคัญหลายแสน ถือว่าเป๋นแดน สำเร็จว่าอั้น
ตัวครูเอง ต้องเก่งแลหมั้น พฤติกรรมอั้น เหมาะเพาะ

จักสอนอย่างใด ทำได้ก่อนเนาะ มันถึงจะเหมาะ เปิงงาม
สอนเปิ้นดีแต๊ แต่ตั๋วบ่ต๋าม มัวฟู้เอางาม น้ำใสซ่วยหน้า
ทำตั๋วหื้อดู ความฮู้แกร่งกล้า ศิษย์ก็ศรัทธา ยอมฮับ

จะไปตางใด ใผก็คำนับ พร้อมฮับเอาด้วย วิชชา
ส่วนตั๋วม่อนไซร้ ทำได้ก่อหา อันนี้ต้องมา แอ่วหาจ๋าถ้อย แอ่วหาจ๋าถ้อยฯ

สวัสดีครับอาจารย์สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ ผมอ่านแล้วดีมากครับ

เมื่อไรมาสอนที่แก่งคอยครับเปิดเทอมแล้ว 8 พฤศจิกายน

ตอบคุณสุรภรณ์ โสอุบล

เมื่อ อา. 02 พ.ย. 2551 @ 20:19

เทอม ๒/๕๑ จะไปสอน สปช.๒ ที่แก่งคอยครับ

แต่ยังไม่เห็นตารางสอนเลยยังไม่รู้วันไหน

สวัสดึค่ะ มาเรียนรู้ด้วยคนค่ะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ครับ

กำลังหาคำตอบให้เพื่อนๆ ชาวสาธารณสุขอยู่พอดี

อาจารย์ ดร. เสรี พงศ์พิศ จะมาแนะแนวการศึกษาที่

อำเภอผมวันนี้นะครับ 5 พย. 2551

สวัสดีคะ อาจารย์

อ่านแล้ว เข้าใจชัดเจน ดิฉันใช้ชื่อว่าโครงงานดูแลงานบ้านให้เป็นศาสตร์และศิลป์ของข้าพเจ้า ไม่ทราบว่าเข้าประเด็นหรือเปล่า เพราะที่ศูนย์มีข้อโต้แย้งกันรุนแรงมากคะ ในเรื่องการทำโครงงาน

ตอบคุณสุภัสสรา,

เรื่องงานบ้านเข้าประเด็นครับ

งานแม่บ้านเป็นงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของโลกเลยแหละครับ

อาจารย์คะศูนย์ดิฉันนักศึกษาชอบมาเรียนอย่างน้อย 90% แต่ไม่มีผู้อำนวยการศูนย์มาอำนวยความสะดวกเลยค่ะ ทำยังไงคะ

แล้วก็ชอบวิชาสปช.มากเพราะได้จัดการชีวิต ตัวเองตั้งแต่วางแผน,ร่างกายและจิตใจ

ไม่ทราบคุณเด็มดวงอยู่ศูนย์ไหน ผอ.ศูนย์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ทุกครั้งครับ

แต่ก็คงไม่ถึงขนาดที่ไม่เคยอยู่เลย

เรียนอาจารย์สุรเชษฐ์ ครับ ผนอยู่ที่ศูนย์บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ทราบว่าเมื่อไรอาจารย์จะมีแผนมาบรรยายหรือเยี่ยนมชมอาจารย์และนักศึกษาที่ศุนย์บ้านนาสารบ้างครับ ผมจะได้ถามวิธีการเขียนโครงงาน 3 ปี ให้ชัดเจนครับ

เรียนอาจารย์สุรเชษฐ

ผมได้อ่านบทความของอาจารย์รู้สึกมีความรู้มากๆ ซึ่งได้อ่านแล้วรู้สึกเป็นการจัดการการศึกษาที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ซึ่งผมพึ่งได้รู้จักกับมหาวิทยาลัยชีวิต เมื่อ 2 เดื่อนมานี้เอง ซึ่งตอนนี้ผมก็พยามผลัดดันนโยบายการศึกษาอยู่ อาจต้องขอความเห็นจากท่านอาจารย์ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากได้ร่วมงานกับท่านอาจารย์ (ผมจบการศึกษานอกระบบ แต่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านนี้เท่าไหร่) ขอบคุณมากครับ และจะติดตามผลงานเขียนอาจารย์ต่อไป

อรันดา

ตอบ คุณปรีชา รักษ์เมือง

ผมจะต้องไปแน่นอนครับ ถ้าไม่ระหว่างเตรียมความพร้อมก็เมื่อเปิดภาคการศึกษาแล้ว

สุรเชษฐ

ตอบ คุณอรันดา

การเอาชีวิตผู้เรียนเป็นตัวตั้ง (ไม่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง)เป็นการศึกษาดีที่สุดสำหรับการศึกษาผู้ใหญ่ ไม่ว่าในหรือนอกระบบ

ตอนนี้โครงการ ม.ชีวิต กำลังหาผู้ร่วมงานเพิ่มครับ

สุรเชษฐ

เรียนอาจารย์สุรเชษฐ ที่เคารพ

กระผมนายปรีชา อาจารย์ประจำศูนย์บ้านนาสาร วันนี้มีเรื่องที่จะปรึกษาอาจารย์สุรเชษฐ มันเป็นเรื่องของชุมชน ผมเองเป็นคนชอบช่วยเหลือชุมชน คือที่ชุมชนห้วยมุด ต.นาสาร อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฏร์ธานี เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีประปาของชุมชนแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการผลิตนำประปาออกมาให้บริการชาวบ้านไม่เพียงพอต่อความต้องการ การบริโภคและนำไม่มีคุณภาพชาวบ้านเดือดร้อนโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง กระผมจึงขอรบกวนปรึกษาอาจารย์สุรษฐ ว่าอาจารย์พอจะมีแนวทางที่จะช่วยเหลือชุมชนได้หรือไม่ครับ เรื่องที่จะขอความช่วยเหลือ คือ การของบประมาณจากสำนักงานวิสาหกิจชุมชนมาช่วยปรับปรุงระบบประปาชุมชนและติดตั้งระบบแผงซูลาเชลล์พลังแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิตประปาชุมชน กระผมต้องขอโทษอาจารย์ด้วยครับที่รบกวนเวลาอาจารย์ เพียงแต่ผมต้องการหาทางช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนให้มีนำประปาที่มีคุณภาพเท่านั้น ถ้าหากอาจารย์สุรษฐมีแนวทางที่จะช่วยได้กระผมขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากไม่สามารถกระทำได้ก็ไม่เป็นไรครับ

ขอแสดงความนับถือ

นายปรีชา รักษ์เมือง

เรียน อ.ปรีชา

สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.) ไม่มีงบประมาณสนับสนุน "โครงการ" แก้ปัญหาด้านวัตถุ (เช่นปรับปรุงระบบประปา หรือติตตั้งระบบโซล่าเซลล์พลังแสงอาทิตย์) ให้ชุมชน ด้วยความถ่อมตัวว่าเราเป็น "คนนอก" ชุมชน ไม่มีทางรู้เรื่องของชุมชนดีกว่าเจ้าของชุมชน และเชื่อว่าชาวบ้านแก้ปัญหาเองได้หากร่วมมือกัน และเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของท้องถิ่นครับ ท้องถิ่นเขามีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว ทุก่ตำบลก็เคยทำแผนแม่บทชุมชนมาแล้ว (แม้จะทำโดยชาวบ้านร่วมมือกันจริงบ้างไม่จริงบ้างก็ตาม)

สสวช.ทำเรื่อง "การเรียนรู้" ของชุมชน ตามสโลแกน "ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง" เป็นหลักครับ ด้วยเหตุนี้เราจึงทำโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต โครงการแก้หนี้แก้จน เริ่มต้นชีวิตใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการต้นกล้าวิสาหกิจชุมชน

อาจารย์แนะนำให้ชาวบ้านเขาปรึกษากับ อบต.หรือเทศบาล หรือ อบจ.น่าจะดีกว่าไหมครับ? (บางทีเขาอาจจะมีอะไรในแผนของเขาอยู่แล้วก็ได้)

สุรเชษฐ

เรียนอาจารย์สุรเชษฐ ที่เคารพ

ดีใจคะที่ปรากฏชื่อศูนย์เรียนรู้เชียงดาว -พร้าว ในบทความของอาจารย์ ในฐานะที่ดิฉันเป็นอาจารย์ผู้ร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้คนหนึ่งในศูนย์ดังกล่าว อยากบอกเคร็ดลับที่จะจูงใจให้นักศึกษาอยากมาเรียน สิ่งหนึ่งซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากๆก็คือ "ผู้สอนต้องอยากมาสอน" พวกเราทุกคน(อาจารย์ผู้สอน)จะพบกันเกือบจะทุกเย็นของทุกวันก็ว่าได้ บ้างทีก็พกข้าวห่อมากินด้วยกัน พบกันเพื่ออะไร ก็พูดคุยกันว่าจะทำอะไรกันบ้างในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ทุกคนจะเสนอแนวคิดในการจัดกิจกรรม บางที่วางแผนยาวกันตลอดทั้งปีเลย เรานึกมโนภาพตามแล้วพวกเราทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เรามีความสุขและรอคอยว่าเมื่อไหร่จะถึงวันเสาร์-อาทิตย์ สักที

ขอบคุณ อ.มยุรา มาก โดยเฉพาะเคล็ดลับ

เรียน

ท่านอาจารย์คณะผูบริหาร ม ชีวิตทุกท่าน ดิฉันอยากทราบว่าเมื่อไหร ศูนย์เรียนรู้ช้างกลางจะลงทะเบียนเรียนได้ค่ะ

นี่ก็เรียนเตรียมความพร้อมมาปีกว่าแล้ว นักศึกษาทุุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเบื่อและเสียเวลาค่ะ เรียนไปก็ไม่มีความหวัง

ไม่รู้เมื่อไหร่จะจบการศึกษา ฝากด้วยนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท