พาไปชมงานใส่บาตร-รับธรรม(ออกพรรษา)ของแรงงานมอญ-พม่าที่สมุทรสาคร


 

...

วันที่ 14 ตุลาคม 2551 เป็นวันออกพรรษาที่แรงงานชาวมอญ-พม่าภาคภูมิใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่พวกเขาร่วมกันสร้างพระเจดีย์ที่วัดหงษ์ สมุทรสาคร

แน่นอนว่า พระเจดีย์คงต้องเป็นทรงเดียวกับพระมหาเจดีย์ชเวดากอง

...

ภาพที่ 1 > เสาหงษ์ที่วัดเจริญสุขาราม สมุทรสาคร

  • เสาหงษ์เป็นเครื่องมหายแห่งสถาปัตยกรรมแบบมอญ

...

แรงงานมอญ-พม่าที่นี่ยังคงรักษาความเป็นพุทธบริษัทไว้เป็นอย่างดี วันทำงานก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน อยู่อย่างประหยัดแบบสุดๆ เพื่อจะได้หาเงินส่งให้ทางบ้าน

ปรากฏการณ์ทางการเงินของพม่า ลาว และกัมพูชานั้นเป็นอย่างที่อาจารย์กวาง ไกด์ชาวไทยใหญ่กล่าวไว้ในปี 2550 ตอนนำทัวร์จากย่างกุ้งไปกราบพระธาตุอินทร์แขวน นั่นคือ "เงินถูก-ของแพง"

...

เงินไทยบาทต่อบาทแลกเป็นเงินพม่า ลาว หรือกัมพูชาได้หลายจัต หลายกีบ และหลายเรียล ทว่า... ถ้านำไปซื้อของจะแพงกว่าเมืองไทย

ปัญหา "รายได้น้อย ของแพง" เป็นธรรมดาของประเทศยากจน ตัวอย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยวในโรงพยาบาลมโหสถ เวียงจันทน์ ลาวราคาประมาณชามละ 40 บาทในปี 2549 ก๋วยเตี๋ยวในย่างกุ้ง พม่าราคาประมาณชามละ 27 บาทในปี 2550 เฉลี่ยแล้วแพงกว่าไทยด้วย และแพงมากสำหรับรายได้ที่แสนน้อยด้วย

...

ภาพที่ 2 > ตอนสายๆ ช่วยกันจัดพิธีใส่บาตรฉลองพระเจดีย์ที่วัดหงษ์ สมุทรสาคร

  • โปรดสังเกตคนเดินนำถือธงชาติไทยกับธงในหลวง "ภปร." ชาวมอญ-พม่าให้เกียรติเมืองไทยมากๆ เนื่องจากเป็นเมืองพระพุทธศาสนา

...

  • ปีนี้ (2551) ผู้เขียนไปส่งพระไทยที่เมาะละแหม่งและไปปฏิบัติธรรมช่วงสั้นๆ พบอดีตแรงงานมอญ-พม่า อดีตแรงงานพม่า(ชาวทวาย)หลายท่าน พอรู้ว่า ผู้เขียนเป็นคนไทย ท่านก็ให้การต้อนรับอย่างดี
  • ปี 2550 แรงงานมอญ-พม่าก็บวชถวายเป็นพระราชกุศลหลายร้อยรูป ทว่า... ไม่เป็นข่าว

...

...

ภาพที่ 3 > แรงงานมอญ-พม่า (ประมาณ 70% เป็นชาวมอญ ที่เหลือเป็นชาวพม่า และชาวพม่าตอนใต้หรือชาวทวายปนๆ กัน รอใส่บาตร

...

...

ภาพที่ 4 > พระเจดีย์ฝีมือแรงงานมอญ-พม่าที่วัดหงษ์ สมุทรสาคร

  • โปรดสังเกตเสาหงษ์ยุคใหม่ สร้างโดยแรงงานมอญ-พม่า ดูคล้ายกับเสาหงษ์รุ่นเก่าที่วัดเจริญสุขาราม (สร้างโดยชุมชนชาวมอญในไทย)

...

...

ภาพที่ 5 > ชีวิตชาวพุทธแท้ๆ

  • แรงงานมอญ-พม่าส่วนหนึ่งยังคงเคร่งครัดกับการปฏิบัติธรรมมากๆ วันธรรมดาไปทำงาน วันหยุดจะไปวัด รับศีล(แปดหรืออุโบสถ)
  • คนที่ถือศีลแปดจะนุ่งขาว มีสไบเป็นผ้าถัก(แบบโครเชต์) นำมาปูให้พระเดินผ่าน

...

...

ภาพที่ 6 > ภาพอุบาสิการับศีล(แปดหรืออุโบสถ)

  • วันนี้เป็นวันพระ และเป็นวันออกพรรษา

...

...

ภาพที่ 7 > ภาพแรงงานมอญ-พม่ารอใส่บาตร

  • ถ้าเทียบกับชาวพม่าในเมืองใหญ่ๆ ของพม่าแล้ว... ชาวมอญมีการแต่งกายมากไปด้วยสีสัน ขณะที่ชาวพม่ามีแนวโน้มจะแต่งกายด้วยสีพื้นๆ แม้แต่ผ้าพาดไหล่(สไบ)ก็ดูจะต่างกัน ชาวพม่านิยมใช้สีกลักน้ำตาลสีเดียว ส่วนชาวมอญจะใช้สีต่างๆ กัน

...

...

ภาพที่ 8 > โสร่งฟ้า

  • ก่อนไปร่วมงาน... ผู้เขียนเดาว่า คงจะมีคนสวมโสร่งแดงลายสก๊อตกันมากมาย เนื่องจากโสร่งแดงลายสก๊อตเป็นโสร่งประจำชาติของชาวมอญ

...

  • ทว่า... พอไปร่วมงานกลับพบ "โสร่งฟ้า" เต็มไปหมด เรื่องนี้ชาวมอญเชื้อสายมอญ-กะเหรี่ยงท่านหนึ่งที่เคยมาทำงานที่สมุทรสาครประมาณ 14 ปี หรือศิษย์เก่าเมืองไทยท่านหนึ่งไปปฏิบัติธรรมที่วัดพะเอ้าตอย่า เมืองเมาะละแหม่ง เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ใช้โสร่งสีทั่วไปก็ดีเหมือนกัน ไปได้ทุกที่ ประหยัดดี (ชาวพม่านิยมใช้โสร่งสีพื้นๆ เรียบๆ มากกว่าสีฉูดฉาด และชาวมอญส่วนหนึ่งก็ไม่กล้าแสดงตัวว่า เป็นมอญต่อหน้าชาวพม่าในพม่า เพราะกลัวถูกแกล้งหรือหางานทำไม่ได้)

...

  • ไม่นานก็มีคนมาช่วยอธิบายว่า ทำไมงานนี้ต้องนุ่งโสร่งฟ้า... เรื่องของเรื่องคือ ชาวมอญ-พม่านิยมทำบุญกันเป็นกลุ่มๆ และเชื่อว่า ชาติต่อๆ ไปจะได้ทำบุญร่วมกัน ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปจนกว่าจะได้บรรลุธรรม และปรินิพพาน
  • ฝ่ายชายรวมตัวเป็นกลุ่มสวดพระมหาปัฏฐาน(ส่วนหนึ่งของพระอภิธรรมที่จะเสื่อม หรืออันตรธานก่อนส่วนอื่นๆ) ตกลงกันว่า งานนี้จะขอสวมโสร่งสีฟ้าให้เหมือนๆ กัน

...

  • ฝ่ายหญิงก็ไม่น้อยหน้า... รวมกันเป็นกลุ่มสวดพระสูตร มีพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นต้น

...

ภาพที่ 9 > ภาพงานใส่บาตร

  • พระเจดีย์ที่วัดหงษ์นี้อยู่ใกล้ถนนใหญ่ ไปมาสะดวก ต่อไปจะเป็นที่เคารพสักการะของชาวมอญ-พม่า ทำให้ไม่เหงา(อีกต่อไป)

...

  • ตามธรรมเนียมของชาวมอญและชาวพม่านั้น... เมื่อจะสร้างบ้านแปงเมืองต้องหาทำเลสร้างพระเจดีย์ก่อน จากนั้นจึงจะสร้างวัด และสร้างบ้านทีหลัง
  • แรงงานมอญ-พม่ามาอยู่เมืองไทยจึง "ตกใจ" นิดหน่อย เพราะหาพระเจดีย์ไม่พบ ทำให้ขวัญและกำลังใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อสร้างพระเจดีย์ทรงพระมหาเจดีย์ชเวดากองสำเร็จแล้ว ขวัญจึงจะกลับคืนมา

...

...

ภาพที่ 10 > คนใส่บาตรกันมาก ต้องมีคนถือถุงปุ๋ยตาม และต้องมีรถใส่ถุงปุ๋ยตาม

  • นิมนต์พระ-สามเณรมาหลายรูปแล้ว ทว่า... คนใส่บาตรมีมาก ของใส่บาตรก็มีมาก เลยต้องแบ่งพิธีใส่บาตรเป็น 2 วัน
  • ชาวมอญและชาวพม่าถือว่า การได้ทำงานพระเจดีย์หรือทำงานวัดเป็นเรื่องงานบุญ และเป็นหน้าเป็นตาในสังคม จึงต้องทำให้ดีที่สุด กัปปิยะหรือคนทำให้สมควร(หมายถึงคนทำงานให้พระเจดีย์ วัด หรือสงฆ์)จะนำของใส่บาตรไปให้พระถึงที่วัดเลย

...

  • ประเทศในโลกที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท หรือเคารพพระไตรปิฎก-อรรถกถามีเพียง 5 ชาติในโลกได้แก่ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา
  • ทว่า... การใส่บาตรได้อันตรธานหรือสาบสูญไปจากแผ่นดินศรีลังกาเกือบหมดแล้ว ยังคงเหลือชาติที่มีการใส่บาตรเพียง 4 ชาติได้แก่ พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา

...

  • ท่านพระอาจารย์สมบัติ นันทิโก กล่าวว่า การใส่บาตรคงจะสูญไปจากโลกภายใน 50 ปีข้างหน้า (ท่านกล่าวเมื่อประมาณปี 2547)
  • เพราะฉะนั้นใครมีโอกาสใส่บาตร... ขอเรียนเชิญให้รีบใส่ไว้ ไม่ต้องดูไกล... ดูที่ภาคเหนือจะพบว่า หลายจังหวัด เช่น ลำปาง ฯลฯ หาพระบิณฑบาตได้ยาก หาคนใส่บาตรได้ยากเช่นกัน

...

ภาพที่ 11 > ภาพคนรอใส่บาตรที่มหาชัยวิลล่า สมุทรสาคร

  • แรงงานต่างด้าวที่สมุทรสาครส่วนใหญ่(ประมาณ 70% เป็นชาวมอญ) ที่เหลือเป็นชาวพม่าบ้าง ชาวทวาย(พม่าตอนใต้)บ้าง
  • สิ่งที่เหมือนกันคือ ท่านเหล่านี้เป็นชาวพุทธเต็มหัวใจ อีกอย่างที่น่าสังเกตคือ ส่วนใหญ่(ประมาณ 80%)เป็นผู้หญิง

...

ภาพที่ 12 > ภาพคนรอใส่บาตร

...

ภาพที่ 13 > โปรดสังเกตเงากะโหลก

  • ผู้เขียนสังเกตว่า กะโหลกแบบชาวพม่านั้นด้านหน้า (frontal bone) จะค่อนข้างดิ่งลงมาตรงๆ ชาวพม่ามีโครงสร้างกระดูกใหญ่กว่าชนกลุ่มน้อยและใหญ่กว่าคนไทย (ถ้าไม่ขาดอาหาร) แถมยังมีเส้นเลือดดำใหญ่ที่ท้องแขน (antecubital veins) ข้างละ 2 เส้นชัดเจน เหมาะกับการบริจาคเลือดมาก ทว่า... ชาวพม่านี่ส่วนใหญ่จะกลัวเข็มแบบสุดๆ เช่นกัน

...

  • ชาวพม่าจัดเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาพม่า-ธิเบต... ท่านพระอาจารย์อาคมที่เคยไปเรียนในมัณฑะเลย์(พม่าตอนกลาง) และเมาะละแหม่ง(เขตมอญตอนใต้ ระดับใกล้เคียงกับเมืองกาญจนบุรี) กล่าวว่า คนพม่ากับคนธิเบตนับตัวเลข "ติ๊ด นิด ตง เล งา (1,2,3,4,5,...)" เหมือนกันเลย

...

  • กะโหลกด้านหน้าของชาวมอญและไทยใหญ่ (ฉาน... พม่าเขียนว่า "สยาม" ออกเสียง "ชาน") คล้ายกันคือ เป็นรูปโค้ง
  • ผู้เขียนสังเกตว่า กะโหลกชาวไทยใหญ่ รัฐฉานจะโค้งมากกว่ากะโหลกชาวมอญ ส่วนกะโหลกชาวกะเหรี่ยงจะมีลักษณะพิเศษคือ รูปร่างมองจากด้านหน้ารูปคล้าย 4 เหลี่ยม (คล้ายๆ ท่านนายกฯ ทักษิณ)

...

  • เงากะโหลกในภาพเป็นเงากะโหลกแบบมอญ ทว่า... อดีตที่ผ่านมา ชาติที่ชนะสงคราม(พม่า)มักจะกวาดต้อนฝ่ายแพ้สงคราม(ชนกลุ่มน้อย)ไปเป็นทาส เชลย หรืออาจมีการผสมข้ามกัน เช่น แต่งงานกัน ข่มขืนกัน ฯลฯ ทำให้รูปแบบกะโหลกปนๆ กันไปได้

...

...

ภาพที่ 14 > โปรดสังเกตป้ายเตือนเรื่องยาเสพติด 2 ภาษา

  • และโปรดมองไปทางด้านหลังห้อง... จะเห็นอ่างอาบน้ำเด็ก

...

  • ข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่งถ่ายทำเป็นข่าวว่า ชาวมอญ-พม่าอยู่กันแบบประหยัดจริงๆ บางห้องอยู่กัน 3 ครอบครัว (พิมพ์ไม่ผิดครับ... 3 ครอบครัว ไม่ใช่ 3 คน) ส่วนจะใช้ลังกระดาษ ใช้ผ้า หรือใช้ไม้อัดกั้นพอบังตาก็ว่ากันไปตามอัตภาพ
  • พระภิกษุชาวพม่าที่เคยไปพักที่โรงไม้แห่งหนึ่งแถวๆ สุขุมวิทเล่าว่า อยู่กันแบบประหยัดจริงๆ ค่ำลงก็สวดมนต์กันเงียบๆ ห้องหนึ่งอยู่กัน 5-6 คน

...

...

ภาพที่ 15 > โฆษณาซิมเพื่อนบ้าน 2 ภาษา

  • ซิมพม่า(ในพม่า)จริงๆ นั้นแพงมาก ปีนี้ (2551) ประมาณชิ้นละ 70,000 บาท... นี่ก็พิมพ์ไม่ผิดเช่นกัน (70,000 บาท ไม่ใช่ 70,000 จัต) ซิมไทยร้อยกว่าบาท เลยเห็นแรงงานมอญ-พม่าใช้โทรศัพท์มือถือกันหลายคน

...

...

ภาพที่ 16 > ภาพแรงงานมอญ-พม่าตัวปลอม

  • ผู้เขียนนำโสร่งไปด้วย จะได้ไม่เกิดอาการแปลกแยกจากคนส่วนใหญ่ ถ้าจะให้สุภาพกว่านี้... ควรสวมเสื้อแขนยาวสีขาวให้เหมือนคนอื่น
  • เวลาสวมโสร่งให้สวมจากด้านล่าง(จากด้านเท้า)ขึ้นมา อย่าสวมจากหัวลงไป... ชาวพม่าถือว่า โสร่งเป็นของต่ำ ไม่ควรสวมจากหัวลงไป

...

...

ภาพที่ 17 > ภาพเด็กๆ ลูกหลานแรงงานมอญ-พม่า

  • ถ้าให้เดา... คนซ้ายมีกะโหลกแบบพม่ามากกว่า (แนวด้านหน้ากะโหลกจะดิ่งกว่า) คนขวามีกะโหลกแบบมอญมากกว่า (แนวด้านหน้ากะโหลกจะโค้งกว่า)
  • นอกจากนั้น... ถ้าให้ดูรูปกะโหลกตามสมัยนิยมแล้ว คนซ้ายมีโอกาสจะเป็นลูกหลานชาวพม่าหรือทวาย(พม่าตอนใต้สุด)มากกว่า เนื่องจากกะโหลกจัดรูปจากการนอนคว่ำ หรือนอนตะแคง ชาวพม่ายุคหลังนิยมให้หัวยาวๆ แบบฝรั่ง หรือเรียกกันว่า เป็นหัวแบบอเมริกัน

...

ภาพที่ 18 > โปรดสังเกตฉัตรสีเขียวที่หมุนเวียนใช้ (reuse) มาตั้งแต่งานใส่บาตรฉลองพระเจดีย์ภาคเช้า

  • งานใส่บาตร-รับธรรมตอนเย็นเป็นงานภายใน มีหัวหน้าอัญเชิญพระพุทธรูปนำ มีคนถือถุงปุ๋ยเดินตามเช่นเคย

...

ภาพที่ 19 > ใส่บาตรแล้วมีการรับธรรมหรือฟังธรรม

  • อย่าแปลกใจว่า ทำไมสวรรค์ถึงมีนางฟ้ามาก... ให้สังเกตว่า เวลาทำบุญอะไร คนที่ทำบุญส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

...

ภาพที่ 20 > ถนนธรรม

  • ตอนนี้ถนนไม่ได้กลายเป็นถนนคนเดินแบบเชียงใหม่ ทว่า... เป็นถนนคนฟังธรรมไปพลางก่อน เนื่องจากชาวมอญ-พม่านิยมฟังธรรมมาก ที่ในศาลาไม่พอ
  • พวกผู้ชายอยู่วงนอก นั่งยองๆ บ้าง ยืนบ้างฟังธรรม

...

ภาพที่ 21 > ชีวิตวันหยุด

  • แรงงานมอญ-พม่าใช้ชีวิตวันหยุดที่วัด ไปรักษาศีล ฟังธรรม(รับธรรม)ตามกุฏิพระ (ภาพที่วัดเจริญสุขาราม สมุทรสาคร)
  • ภาพนี้เป็นภาพตอนบ่าย ผู้เขียนอาศัยนอนอยู่ที่นอกชานอีกด้านหนึ่งของกุฏิ

...

ภาพที่ 22 > ภาพคนรอใส่บาตร

  • น่าทึ่งและน่าเคารพมากๆ ว่า ทั้งๆ ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ลำบากยากเย็น ท่านเหล่านี้ก็ยังขวนขวายทำการบุญมิได้ขาด
  • กล่าวกันว่า ชาวมอญ-พม่าทำบุญด้วยศรัทธาอันแรงกล้า หวังว่า ชาติหน้าคงจะดีกว่าชาตินี้ และมีหลายท่านตั้งความปรารถนาจะมาเกิดในแผ่นดินไทยด้วยความปรารถนาว่า แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินที่มีพระพุทธศาสนา ทั้งยังเป็นบ้านเมืองที่มีความสงบร่มเย็นตามสมควร

...

การมีแรงงานมอญ-พม่าเข้ามาทำงานในไทยส่งผลดีต่อประเทศไทยหลายอย่าง เช่น ทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนค่าแรงต่ำลง พอจะสู้กับสินค้าราคาถูกจากจีนและเวียดนามได้

แรงงานเหล่านี้เข้ามาแล้ว... ไม่ได้เข้ามาเปล่าๆ เช่น ไม่ได้เข้ามาเป็นขอทาน ฯลฯ ทว่า... ตั้งอกตั้งใจทำมาหากิน ทำให้โรงงานในไทยที่อาศัยค่าแรงถูก (labor-intensive industries) พอจะค้าขายในระดับนานาชาติได้

...

เมื่อเข้ามาแล้วมีการใช้เงินใช้ทอง เช่น เช่าที่พัก ซื้อหาปัจจัยสี่ เช่น อาหาร เสื้อผ้า ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจไทยหมุนเวียนไปด้วยดี

ทว่า... ถ้าเมืองไทยเราต้องการให้ได้ประโยชน์จริงๆ แล้ว ควรส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม เช่น หาทางจัดทำสถาบันวัฒนธรรมพม่า มอญ ลาว กัมพูชาในไทย ฯลฯ ทำพิพิธภัณฑ์ ส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยว เช่น พระเจดีย์ ฯลฯ ใหม่ๆ

...

นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้ครูบาอาจารย์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสอนอะไรใหม่ๆ ในเมืองไทย เช่น ให้ชาวอินเลมาสอนวิธีพายเรือด้วยเท้า สอนจนมีการแข่งพายเรือด้วยเท้านานาชาติในไทย ฯลฯ

สิงคโปร์เคยจ้างคนไทยไปทำธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ทำฟาร์มจระเข้ ฯลฯ มาก่อน ไทยเราก็น่าจะหาทางพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เชิงวัฒนธรรมให้ได้ เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ทุกวันนี้เริ่มอิ่มตัวแล้ว

...

การส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัยด้านพม่าศึกษา มอญศึกษา ลาวศึกษา กัมพูชาศึกษา ฯลฯ จะทำให้คนไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านดี

ท่านซุนวูว่า ถ้ารู้เขารู้เรา-รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ทว่า... ทุกวันนี้เมืองไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านน้อยมาก ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ทำการศึกษาแนวนี้ โดยเฉพาะพม่าศึกษาไปไกลที่สุด คือ สิงคโปร์

...

คนไทยก็น่าจะทำได้ และน่าจะทำได้ดีด้วย เพราะเรามีเมตตา เรามีความจริงใจ เรามีความโอบอ้อมอารีสูงเป็นทุนเดิม

เราน่าจะทำได้... ถ้าตั้งใจและยืนหยัดที่จะทำ(อะไรดีๆ)

...

ผู้เขียนได้ร่วมทำบุญกับชาวมอญ-พม่าหลายอย่าง เริ่มจากการอนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านเหล่านี้ พิจารณากรรมและผลของกรรมอันจะให้ผลเป็นอุปนิสัย(อุปนิสสยปัจจัย)ที่ดี เป็นจิตนำเกิด(ปฏิสนธิจิต)ที่ดี ให้ผลหลังเกิด(ปวัตติกาล)ที่ดี และได้ร่วมสมทบทุนสร้างลานพระเจดีย์ พระพุทธรูป และสิ่งก่อสร้างโดยรอบพระเจดีย์ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

ขอผลแห่งบุญนี้พึงสำเร็จแด่ญาติทั้งหลาย รวมทั้งคุณป้าสว่าง จิตต์สมบูรณ์ที่เป็นชาวมอญในไทยผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอชาวไทยและชาวมอญ-พม่าพึงได้เมตตาซึ่งกันและกัน และขอท่านผู้อ่านทุกท่านพึงได้รับอานิสงส์แห่งบุญทั้งหมดนี้โดยทั่วกันเทอญ

...

ที่มา                                      

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง
  • 23 ตุลาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 218452เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวสดีค่ะ คุณหมอ

krutoi อยู่สมุทรสาคร ค่ะ ขอบคุณค่ะทีนำมุมมองมาเผยแพร่ ภาพน่ารักนะค่ะ อาจเป็นเพราะเราอยู่กับชาวต่างประเทศ กลุ่มนี้ จนเคยชิน

เพิ่งรู้ว่ามีด้วยน๊ะครับ ขอบคุณคร้าบ

ที่โรงเรียนเราต้องสอนเด็กพม่า มอญ เขมร และลาว รวมทั้งกระเหรี่ยง แรงงานเหล่านี้มีมาก หากคุณหมอได้ไปที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร จะพบว่า มีชาวต่างประเทศมากกว่าคนไทยไปรอการรักษา คนไทยก็ต้องรอคิว ไม่มีสิทธิ์พิเศษใดๆ เพราะคุณหมอ เน้นความเป็นมนุษย์ธรรมได้ดีมากๆ ชาติไหนก็ได้ ป่วยหนักเข้าก่อน ป่วยอ่อนๆก็รอ ได้ค่ะ

แวะมาอ่าน

และมาทำบุญด้วยคนค่ะ

ขอท่านสุขภาพแข็งแรงนะคะ

ขอขอบคุณ... คุณ krutoi

  • ขอขอบคุณประสบการณ์ตรงจากคุณ krutoi มากๆ ครับ
  • ผมได้ยิน แต่ไม่เคยไปดูของจริงที่สมุทรสาคร
  • ไปแล้วรู้สึกคล้ายๆ กับได้เดินทางไปเขตมอญแถวๆ เมาะละแหม่ง พม่าเลย (เคยไปปฏิบัติธรรมช่วงสั้นๆ ที่วัดพะเอ้าตอย่า (วัดป่ากบใต้)

ดีใจกับคุณ sumsom

  • ผมดีใจที่คนไทยรู้จักแรงงานมอญ-พม่ามากขึ้น

สื่อมวลชนไทย โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ลงแต่เรื่องร้ายๆ

  • เรื่องดีๆ ไม่เคยนำมาลงเลย
  • ผมอยากให้คนไทยมองแรงงานมอญ-พม่าตามเป็นจริง คือ มองทั้งด้านดี และด้านร้าย ไม่ใช่มองแต่ด้านร้าย

ขอขอบคุณ... คุณ krutoi

  • ขอขอบพระคุณมากๆ สำหรับประสบการณ์ตรงของอาจารย์
  • ผมได้ยินแต่ว่า แถวสมุทรสาครมีคนมอญ พม่ามาก
  • ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่า มีกะเหรี่ยง(เข้าใจว่า มาจากพม่า โดยเฉพาะแม่สอด) ลาว เขมรครบ

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลเจตนาของคุณครูบาอาจารย์ไทยทุกท่านที่มีเมตตาธรรมสูงมากๆ เช่นกัน

ขอขอบคุณ... คุณสายธารเช่นกันครับ

 

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคุณใบบุญครับ...

  • สาธุ สาธุ สาธุ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท