วิธีทำบุญได้ง่าย ๆ ตอนที่ 2


6. ปัตติทานมัย   บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ  คือเมื่อทำบุญ ได้บุญแล้ว ก็ให้ส่วนบุญอีกก็ได้บุญเพิ่มอีกเพราะเป็นการให้ เป็นการสละอย่างหนึ่งเหมือนกัน บางคนไม่เข้าใจคิดว่าอุตส่าห์ตื่นตี 4 ประกอบอาหาร ทำภัตตาหารคอยใส่บาตร เสร็จแล้วอุทิศให้คนอื่นเสียหมดแล้วตัวเองจะได้อะไร มันไม่ใช่อย่างนั้น 

 

เราทำบุญ ได้บุญแล้ว  เราอุทิศบุญแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่นเราก็ได้บุญอีก

ยิ่งได้บุญมากขึ้น ได้บุญสองต่อ

 

         เปรียบเหมือนมีเทียนอยู่เล่มหนึ่ง เราจุดเทียนไว้เพื่อให้แสงสว่าง  คนอื่นมีเทียนเหมือนกัน  แต่ยังไม่ได้จุด  เขามาขอต่อเทียน(จุดเทียน)จากเรา  เราก็ให้เขาจุดต่อ  เทียนของเราก็ไม่ได้หายไปไหน ยิ่งเราแบ่งให้คนอื่นจุดต่อไปมากเท่าไร แสงสว่างก็ยิ่งมากขึ้นเป็นจำนวนเท่านั้น ยิ่งให้ยิ่งได้ ฉะนั้น ผู้ที่ฉลาดในการทำบุญท่านทำบุญกุศลเสร็จแล้ว ก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ ก็ยิ่งได้บุญ นี่เรียกว่าเป็นผู้ฉลาดในการทำบุญ

          7. ปัตตานุโมทนามัย   บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา  คือคนอื่นเขาทำความดี คนอื่นมีความเจริญรุ่งเรือง เราพลอยร่วมยินดีกับเขา  ยินดีในบุญที่เขาทำ  อนุโมทนา แปลว่า พลอยยินดี  เมื่อผู้อื่นมีความสุขความเจริญรุ่งเรือง บำเพ็ญบุญกุศล ทำความดีอะไร เราพลอยยินดีไปกับเขาด้วย ช่วยสนับสนุนได้ก็ช่วย ไม่อิจฉาริษยา อาจจะแปลกใจว่าเราไม่ได้เป็นคนทำสักหน่อยแค่พลอยยินดีได้บุญด้วยหรือ ทำไมมันได้ง่ายอย่างนั้น ไม่ใช่ง่ายนะ บางคน นอกจากบุญไม่ทำแล้วยังทำบาป อย่างเช่นเห็นคนอื่นใส่บาตร ซุบซิบกันแล้ว เนี่ย ! ดูสิทำเป็นใส่บาตร ทำบุญ จะให้เขาชมว่าเป็นคนใจบุญละสิ  ทำบุญเอาหน้า  อย่างนั้นอย่างนี้  ตัวเองไม่ทำแล้วยังทำบาปอีก ถ้าใจริษยาก็พลอยยินดีกับใครไม่ได้

นี่เห็นไหม ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตอกุศล ไม่เป็นผู้ฉลาดในการทำบุญ ก็สร้างบาปได้ทุกวันเหมือนกัน แต่ถ้าฉลาดในการทำบุญก็สามารถทำบุญได้ทุกขณะ เมื่อก่อนสมัยอาตมาเป็นนักเรียนมัธยม นั่งรถเมล์ไปโรงเรียนแต่เช้า หกโมงกว่าก็ถึงโรงเรียนแล้ว ในระหว่างทางที่นั่งรถเมล์ไปนั้น เห็นคนใส่บาตรก็อนุโมทนา สา...ธุ  ยินดีในบุญที่เขาทำ อนุโมทนาในการทำบุญกุศลด้วยการตักบาตร อาตมาก็ได้บุญแล้วทุกเช้า

อีกอย่างหนึ่ง การอนุโมทนาเป็นการรับส่วนบุญที่ผู้ทำบุญเขาอุทิศให้ เราต้องอนุโมทนาจึงจะได้ถ้าไม่อนุโมทนาก็ไม่ได้ เปรียบเหมือนมีคนให้ของเรา เราไม่รับเราก็ไม่ได้ ทุก ๆ เช้าประเทศไทยมีคนใส่บาตรทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลกันมากมาย   ถ้าเราอนุโมทนาเราก็ได้บุญมาก ถ้าไม่รู้จักอนุโมทนาก็ไม่ได้บุญสักนิด

            8. ธัมมัสวนมัย   บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม  อย่างที่เราอ่านธรรมะอยู่ตอนนี้ ก็เป็นบุญแล้ว  ประโยชน์ของการฟัง มีหลายประการ เช่น  ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ สิ่งที่รู้แล้วแต่ยังสงสัยย่อมทำให้แจ่มแจ้ง ทำจิตให้สงบ ดังนี้เป็นต้น ฟังธรรมแล้วได้คติสอนใจ ได้สิ่งที่เป็นสารประโยชน์ แต่ไม่จำเป็นจะต้องไปที่วัด นั่งประนมมือฟังเป็นกิจจะลักษณะก็ได้ บางคนเป็นผู้ฉลาด เปิดฟังรายการธรรมะหรือว่าเป็นเทปธรรมะก็ได้ เช้าขึ้นเปิดเลย ทำกิจวัตรต่างๆ เข้าห้องน้ำ แต่งตัว ทำโน่นทำนี่ เปิดให้ดังทั่วบ้าน แต่ว่าพอให้ดังทั่วอยู่แต่ในบ้านนะ ไม่ต้องเผื่อบ้านอื่นเดี๋ยวเขาจะรำคาญ ทั้งสามี ภรรยา ลูกหลาน ปู่ย่าตายายในบ้านได้ฟังหมดเลย

เช้าขึ้นได้ยินธรรมะ ได้ยินสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์ ได้ยินเรื่องดีๆ ได้ยินคำที่เป็นกุศล ได้ยินทุกวัน ถึงไม่ได้ตั้งใจฟัง มันก็ต้องได้บ้างวันละนิดวันละหน่อย ใกล้ชิดกับธรรมะ ใกล้ชิดกับคุณงามความดี ทำให้จิตใจอ่อนโยน จิตใจใฝ่ธรรมน้อมนำไปในทางบุญกุศล แต่ถ้าตื่นเช้าขึ้นมา  เอาแล้ว ขัดใจกันโน่นบ้าง นี่บ้าง พ่อแม่ทะเลาะกัน ตายายก็เบื่อ ลูกได้ยินก็เศร้าใจ  ข้าวปลาก็ไม่กินแล้ว ไปกินที่โรงเรียนดีกว่า  ออกไปข้างนอกเลย  จิตใจขุ่นมัวแต่เช้า  มันก็ต่างกัน แล้วจะมาบ่นว่า โอ๊ย! ลูกเดี๋ยวนี้มันไม่มีความกตัญญู ลูกมันพร้อมที่จะทำให้พ่อแม่น้ำตาไหลได้ทุกขณะ ก็ตัวเองไม่นำ ไม่ทำตัวเป็นตัวอย่าง ตัวเองไม่หาต้นแบบดีๆ หาสิ่งดีๆ มาให้ลูก แล้วจะไปโทษใคร มันต้องปลูกฝัง ค่อยๆ ซึมเข้าไป วันละนิดวันละหน่อย

 

ธรรมะ คือ ธรรมชาติ  ธรรมะเป็นเรื่องใกล้ตัว  เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน

 

เราต้องนำธรรมะไปใช้สร้างโอกาส  ทำให้คนรอบข้างใกล้ชิดธรรมะ  เปิดฟังทุกวัน  บางคนขับรถไปบริษัท  ไปสอน ไปทำงาน  ฯลฯ  เปิดฟังเลยตอนนั้นแหละได้บุญแล้ว   ดีกว่าไปฟังเพลงฟังอะไรให้ใจขุ่นมัว

          9. ธัมมเทสนามัย   บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ไม่ใช่ว่าการแสดงธรรมเป็นเรื่องของพระเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นพระก็แสดงธรรมได้ พวกเราก็สามารถแสดงธรรม แนะนำลูกหลานเพื่อนพ้อง ญาติสนิทมิตรสหาย ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา แนะให้เขาทำความดี ละเว้นความชั่ว นี่เป็นการแสดงธรรมแล้ว  หรือไม่ต้องให้ธรรมทานโดยตรงก็ได้ เรียกว่า วิทยาทาน คือให้ความรู้เป็นทาน แนะนำวิธีทำงาน  สอนทำกับข้าวช่วยแก้ปัญหาชีวิต ฯลฯ ก็ได้บุญแล้ว 

 

การให้ธรรมะเป็นทานเป็นการให้ที่ได้บุญมากกว่าการให้ชนิดใดๆ

การให้ใดก็ไม่ยิ่งใหญ่และประเสริฐเท่าการให้ธรรมะ

 

อย่างอาตมาแสดงธรรมอยู่ขณะนี้  อาตมาก็ได้บุญ โยมอ่านธรรมะโยมก็ได้บุญเหมือนกัน  ไม่ใช่มีได้ต้องมีเสีย  พุทธศาสนาสอนวิธีที่ได้ทุกฝ่ายเจริญทุกฝ่าย

            10. ทิฏฐุชุกรรม   การทำความเห็นให้ตรง   ธรรมะหมวดต่างๆ เหมือนกับเป็นยาชุด คือมีตัวยาหลายชนิดประกอบกัน แต่ตัวยาคือธรรมโอสถ  ข้อที่สำคัญที่สุดมักไม่อยู่ประการแรกก็ประการสุดท้าย   บุญกิริยาวัตถุก็เหมือนกัน ข้อที่สิบนี้สำคัญที่สุด ทิฏฐุชุกรรม ทำความเห็นให้ตรง คือมีความเห็นถูกต้อง หมายถึงเชื่อว่า บุญมีจริง บาปมีจริง  อย่างนี้เป็นต้น มีความเห็นตรงตามสัจธรรม คือความจริงแท้ ถ้าไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้ เห็นว่าไม่มีการเวียนเกิดเวียนตาย ไม่มีบุญ ไม่มีบาป  แล้วจะเป็นอย่างไร ?  เขาก็ไม่ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศล

 

ถ้าเขาเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ เขาก็จะทำคุณงามความดี

คนเราจะดำเนินชีวิตที่เป็นบุญหรือบาปเริ่มจากตรงนี้

 

มีตรงนี้เป็นพื้นฐาน ถ้าเขามีความเห็นผิดเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ นี่เป็นบาปมาก บาปที่สุดเลย คือเมื่อใจมีความเห็นผิดแล้วก็เป็นพื้นฐาน  ให้ทำอะไรทุกอย่างออกจากตรงนี้ มันก็ผิดไปหมด คิดผิด พูดผิด ทำผิด บาปก็เกิดขึ้นมากมาย  ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำความเห็นให้ถูกต้อง ทำความเห็นให้ตรง   ที่เราศึกษาธรรมะกันอยู่นี้ก็เพื่อทำความเห็นให้ตรงนี่แหละ

            คนไทยมักคิดว่าตัวเองรู้จักเรื่องของการทำบุญดีแล้ว  แต่ส่วนใหญ่รู้จักแค่ทานเท่านั้น ทำกันแต่ในเรื่องทาน ส่วนเรื่องศีลเรื่องภาวนาไม่ค่อยได้ทำ  ยิ่งบุญข้อ 4 ถึงข้อ 10 ด้วยแล้ว  ยิ่งไม่รู้จักไม่ให้ความสำคัญกันนัก 

 ที่จริงแล้วบุญนี้ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมีเงินมีทอง มีวัตถุสิ่งของจึงจะทำบุญได้ บุญนี้ทำได้หลายอย่างหลายทาง อะไรที่เป็นความดี  ทุกอย่างที่เป็นความดีล้วนเป็นบุญทั้งสิ้น ทำความดีนั่นแหละเป็นบุญ ไม่จำเป็นต้องมาถึงวัด ไม่จำเป็นต้องไปหาพระจึงจะทำบุญได้ นั่งอยู่ที่นี่ก็ทำได้ 

บุญนั้นทำได้ 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ บัดนี้เรามีพร้อมมาแล้วใช่ไหม   กายเราก็เอามา  วาจาเราก็มี  ใจเราก็อยู่ตรงนี้ เอามาพร้อมหมดแล้ว ทำบุญได้แล้ว   ขอให้เริ่มทำบุญกันให้ครบ   เพื่อชีวิตที่ครบสมบูรณ์

อย่าเห็นว่าเป็นความชั่วเพียงเล็กน้อยแล้วจึงทำ

และอย่าเห็นว่าเป็นความดีเพียงเล็กน้อยแล้วจึงไม่ทำ

 ตีพิมพ์ในนิตยาสาร  การศึกษาอัพเกรด  ฉบับที่  036

ประจำวันพฤหัสบดี ที่  28  มิถุนายน  -  5  กรกฎาคม  2550

หมายเลขบันทึก: 217225เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2008 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-กราบนมัสการพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ

-krutoi มาร่วมอนุโมทนาแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท