หน่วยที่5เทคโนโลยีการสอน


หน่วยที่5เทคโนโลยีการสอน
หน่วยที่ 5 เทคโนโลยีการสอน Feb 25, '08 8:30 AM
for everyone

ได้มีผู้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ว่า "เทคโนโลยีหมายถึงการใช้วิธีการเชิงระบบในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้สาขาต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสมกับงาน" ซึ่งความหมายในที่นี้เป็นการมองเทคโนโลยีในลักษณะกระบวนการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นการมองเทคโนโลยีในลักษณะเครื่องมือที่เกิดจากผลผลิตทางอุตสาหกรรม ในทางการศึกษานั้น เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด โดยเน้นในการนำวิธีการหรือกระบวนการต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสม ดังนั้น เทคโนโลยีการสอน จึงเน้นเฉพาะการใช้วิธีการเชิงระบบ โดยอาศัยพื้นความรู้จากศาสตร์สาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

 

เทคโนโลยีการสอน

 ปัจจุบัน ได้มีการออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดผลสูงสุดต่อผู้เรียน โดย อาศัยหลักการทางมนุษยศาสตร์ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีการสอนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบอิงเกณฑ์ การศึกษาตามเอกัตภาพและวิธีเรียนอย่างรอบรู้ ต่างก็ได้อิงหลักการข้างต้นทั้งสิ้น
         
1.2.1 พื้นฐานของเทคโนโลยีการสอนปัจจุบัน
          ปัจจุบันเทคโนโลยีการสอนมีหลายรูปแบบและต่างก็มีรากฐานมาจากทฤษฎีเก่าแก่ ที่มีมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีของโสเครติส เปสตาลอซซี่ และแฮร์บาร์ดก็ตาม ต่างก็ถูกนำมาดัดแปลงและประยุกต์กับวิธีสอนร่วมสมัย เทคโนโลยีการสอนหลายต่อหลายวิธี ก็ดัดแปลงทฤษฎีต่างๆ ข้าด้วยกัน และเกิดเป็นแบบแผนของตัวเอง

1.2.2 แนวคิดพื้นฐานของทฤษฏีการเสริมแรง
          ทฤษฎีของสกินเนอร์เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงื่อนไขการกระทำ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างไปจากทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์อื่นๆ สกินเนอร์ได้กล่าวถึงทฤษฎีนี้ว่า ความคิดเรื่องการตอบสนองของมนุษย์ในระยะแรกๆ มักจะเป็นการอธิบายเพียงการตอบสนองของอวัยวะบางอย่างของร่างกายเท่านั้น แต่สกินเนอร์สนใจในการตอบสนองของมนุษย์ที่เป็นแรงผลักดันให้กระทำสิ่งต่างๆ มากกว่า
          เบื้องหลังทฤษฎีการเสริมแรงของสกินเนอร์คือ แนวคิดเกี่ยวกับการเสริมแรงที่เขาเชื่อว่า ผล ของพฤติกรรมที่ตอบสนองนั้น เกิดจากความพอใจไม่ใช่เกิดจากการเรียนรู้และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นก็มาจากความพอใจ ซึ่งจะเป็นวัฏจักรให้เกิดการตอบสนองต่อไปอีก ผลแห่งความพอใจ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า การเสริมแรง

 ตัวเสริมแรงคือ เหตุการณ์หรือสิ่งของใดๆ ที่เป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดพฤติกรรมก่อนหน้านั้นซ้ำอีกหรือทำให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้น สิ่งของใดๆ ก็ตามอาจจะเป็นตัวเสริมแรงได้ ถ้าสิ่งนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม สิ่งของสิ่งหนึ่งอาจเป็นตัวเสริมแรงให้แก่บุคคลผู้หนึ่งในสถานการณ์หนึ่งแต่อาจไม่เป็นสิ่งที่น่าสนใจเลยกับบุคคลอื่นหรือบุคคลคนเดิมภายใต้สถานการณ์อีกอย่างหนึ่ง

          พฤติกรรมทุกอย่างในเวลาใดๆ ก็ตามถ้ามีการจัดกระบวนการเสริมแรงให้อย่างทันทีทันใดพฤติกรรมนั้นก็จะปรากฏการกระทำซ้ำได้อีก และเราสามารถนำพฤติทาง (Prompt) ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งเร้าให้ผู้เรียน ตอบสนอง (Response) และ เมื่อผู้เรียนตอบสนองแล้วก็จะได้รับ การเสริมแรง (Reinforcement)

          บทเรียนโปรแกรม เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาการเรียนการสอนที่ผู้เรียนไม่ค่อยได้มีส่วนร่วม และบทเรียนโปรแกรมสามารถปรับปรุงใช้ตามความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน และผู้เรียนได้เรียนโดยมีส่วนร่วมอย่างกระฉับกระเฉง รู้คำตอบที่ถูก ได้รับการเสริมแรง ทฤษฎีการเสริมแรง เป็นมโนทัศน์สำคัญที่นำมาใช้กับเทคโนโลยีการสอน


การสอนแบบโปรแกรม

                ตามความหมายเดิม การสอนแบบโปรแกรม (Programmed Instruction) หมายถึง รูปแบบการเสนอเนื้อหาต่อผู้เรียนในลักษณะสิ่งพิมพ์

บทเรียนโปรแกรม (Programmed Lesson) จัดเป็นเทคโนโลยีการสอน ที่ได้พัฒนาโดยนำเอาหลักการของศาสตร์แห่งการเรียนรู้มาใช้ ลักษณะสำคัญของบทเรียนโปรแกรม ได้แก่
          1. เป็นการเสนอเรียงลำดับของสิ่งเร้า
          2. ผู้เรียนจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยวิธีการเฉพาะ
          3. การตอบสนองของผู้เรียนจะได้รับการเสริมแรงทันที
          4. ผู้เรียนจะได้ศึกษาต่อเนื่องไปทีละน้อย
          5. ผู้เรียนจะตอบผิดเพียงเล็กน้อย แต่จะได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้องมากๆ
          6. ผู้เรียนจะได้เรียนในสิ่งที่คาดหวัง และเตรียมการเอาไว้ อย่างไรก็ตามการทดลองบางอย่างพบว่า การให้เนื้อหามากๆ แทนการให้เนื้อหาทีละน้อย ทำให้ผู้เรียนเรียนได้ดีในบางกรณี การไม่ให้ข้อมูลย้อนกลับทันที แต่รอเอาไว้ก่อนซึ่งก็ไม่นานเกินไปได้ผลดีกว่า และการเสนอเนื้อหาโดยไม่เรียงลำดับตามขั้นตอน ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ส่วนการใช้รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาทีละน้อยตามลำดับ อาจทำให้นักเรียนบางคนเกิดความเบื่อหน่ายต่อการเรียนได้

 

การสอนแบบทบทวน
          การสอนแบบทบทวน (Programmed Tutoring) หมายถึง วิธีการสอนตัวต่อตัวที่ผู้ให้การทบทวนเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดโปรแกรมล่วงหน้า โดยการใช้สื่อที่อยู่ในรูปของสิ่งพิมพ์ ผู้ทบทวนจะมีคู่มือพร้อมคำเฉลย ส่วนผู้เรียนจะมีแบบฝึกหัดแต่จะไม่มีคำเฉลย ผู้ทบทวนจะเลือกขั้นตอนการทบทวน โดยพิจารณาจากการตอบสนองแต่ละครั้งของผู้เรียน

 

การเรียนรายบุคคล
          การเรียนรายบุคคล เป็นเทคโนโลยีการสอนชนิดหนึ่ง ที่นำเอาทฤษฎีการเสริมแรงมาใช้โดยผู้เรียนเรียนด้วยตนเองจากสื่อการเรียนต่างๆ  สื่อการเรียนแบบนี้จะจัดไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนไปเป็นขั้นตอน และต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถเรียนได้ดี ก่อนที่จะย้ายไปเรียนขั้นตอนต่อไปโดยมีการทดสอบไปเรื่อยๆ มีผู้ช่วยสอนหรือผู้เรียนที่เก่งช่วยแนะนำและจัดการเรื่องการทดสอบ หลังการทดสอบ ผู้ช่วยสอนหรือผู้เรียนเก่งจะช่วยทบทวนอีกครั้ง ถ้าผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะต้องทดสอบด้วยข้อสอบใหม่เรื่อยๆ นักเรียนสามารถทดสอบใหม่ได้ถึง 4 ครั้ง การเรียนลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเรียนเป็นรายบุคคลโดยครูเป็นผู้วางแผน จัดการและมีผู้ช่วยหรือนักเรียนที่เก่งเป็นผู้คอยแนะนำ

หลักการของการเรียนรายบุคคล ประกอบด้วย
          1) เสนอเนื้อหาข้อมูลที่เหมาะสมกับผู้เรียน
          2) ผู้เรียนตอบสนองต่อเนื้อหาข้อมูลนั้น ๆ
          3) ได้รับข้อมูลย้อนกลับในทันทีทันใด

 

ระบบการสอนทบทวนด้วยเทปเสียง
            ระบบการทบทวนด้วยเทปเสียง (Audio-Tutorial Systems) เป็นการให้ความรู้หลากหลายแก่ผู้เรียน โดยผ่านทางสื่อเทปเสียง ไม่ใช้วิธีการบรรยายเนื้อหาแต่เป็นการทบทวนพูดคุยระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน โดยยึดหลักการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และมีครูผู้สอนในชั้นเรียนคอยให้ความช่วยเหลือแนะนำอย่างใกล้ชิด ผู้เรียนจะเรียนได้ช้าหรือเร็วตามความสามารถของตนเองในการเรียนด้วยวิธีการนี้ อาจใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบการเรียนได้ เช่น เครื่องมือการทดลองวิทยาศาสตร์ ฟิล์มสตริป สี กระดาษ เป็นต้น โดยทั่วไปจะสามารถแยกกระบวน การเรียนวิธีนี้มี 2 ขั้นตอน คือ
          1. ขั้นการเรียนเป็นกลุ่มใหญ่โดยไม่มีรูปแบบที่แน่นอน
          2. ขั้นการเรียนเป็นรายบุคคล อาจเป็นกลุ่มเล็ก 6-10 คนก็ได้ ภายหลังจากที่มีการพบกันในกลุ่มใหญ่แล้ว จุดมุ่งหมายของขั้นนี้ เพื่อการสำรวจดูว่าผู้เรียนแต่ละคนได้เข้าใจหลักการทฤษฎีต่างๆ มากน้อยเพียงใด
เทคโนโลยีการสอนประเภทนี้ ยึดหลักการและทฤษฎีของศาสตร์การเรียนรู้ของมนุษย์ ดังนี้
          1. การสนทนาด้วยเทปเสียง ยึดหลักการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
          2. เน้นสื่อที่เป็นรูปภาพ เช่น สไลด์ ภาพยนตร์ ของจริง ที่จะช่วยให้เกิดความรู้โดยให้ได้รับข่าวสารข้อมูลที่มีความหมาย
          3. ยึดหลักความสามารถและความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน ตลอดจนรูปแบบการเรียนและอัตราการเรียนที่แตกต่างกัน
          4. ยึดจิตวิทยาเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์โดยส่วนรวม เหตุผลที่กล่าวว่า การเรียน ลักษณะนี้ เป็นเทคโนโลยีการสอนชนิดหนึ่งก็เพราะ ยึดหลักการสอนเป็นหน่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน มีข้อมูลย้อนกลับให้ได้ทราบทันที

 

หน่วยการสอนย่อย
            หน่วยการสอนย่อย (Modules) อาจเรียกชื่อได้หลายอย่าง เช่น ชุดการเรียนด้วยตนเองชุดกิจกรรม หน่วยการสอนย่อยโดยปกติออกแบบไว้สำหรับการเรียนด้วยตนเอง แต่ก็มีบ้างที่ใช้ในการเรียนแบบกลุ่ม เช่น เกม สถานการณ์จำลอง หรือประสบการณ์ภาคสนาม เทคโนโลยีที่นำหน่วยการสอนย่อยไปใช้คือ การเรียนด้วยตนเอง (PSI) และการทบทวนด้วยเทปเสียง (A-T) อย่างไรก็ตามหน่วยการสอนย่อยนี้มิใช่เทคโนโลยีการสอนโดยตัวของมันเองแต่จะเป็นส่วนที่ประกอบอยู่กับเทคโนโลยีชนิดต่าง ๆ

คุณลักษณะของหน่วยการสอนย่อย 
            1. หลักการเหตุผล โดยชี้ให้เห็นว่าทำไมผู้เรียนจึงควรเรียนเนื้อหานี้
          2. จุดประสงค์ หมายถึง สิ่งที่ผู้เรียนคาดว่าจะได้รับจากการเรียนเนื้อหานี้
          3. การทดสอบก่อนเรียนเพื่อวัดทักษะความสามารถของผู้เรียนก่อนการเรียนเนื้อหา
          4. กิจกรรมการเรียน บอกแหล่งสื่อและข้อมูลที่จะเรียน ซึ่งตัวเนื้อหาที่เรียนนี้ จะไม่ถูกบรรจุลงในหน่วยการเรียนโดยตรง
          5. การทดสอบย่อย เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของตนเอง
          6. การทดสอบหลังการเรียน เพื่อประเมินครั้งสุดท้ายว่า ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

 

สถานการณ์จำลอง และเกม
           สถานการณ์จำลอง (Simulation) หมายถึง การย่อส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ส่วนเกม (Games) หมายถึง กิจกรรมที่มีการแข่งขันอันมีกฎเกณฑ์ที่อยู่บนพื้นฐานของจุดมุ่งหมายเฉพาะ คำทั้งสองอาจแยกหรือรวมกันก็ได้

 

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
               คอมพิวเตอร์ มีลักษณะเช่นเดียวกับหน่วยการเรียนย่อย คือตัวมันเองไม่ใช่เทคโนโลยีการสอน แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่สามารถเสนอการสอนแบบโปรแกรม หรือโปรแกรมการติว สถานการณ์จำลองและเกมและรูปแบบการเรียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การสอนด้วยครู เรียกว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction : CAI) นอกจากนั้น คอมพิวเตอร์ยังสามารถช่วยจัดการเรียน (Computer Managed Instruction : CMI) เช่น การเรียนรายบุคคล (PSI) และการทบทวนด้วยเทปเสียง (A-T) ได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้คนอีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 216824เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท