สุขภาวะที่นากระตาม ๒


เรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ สรุปบทเรียน สู่การจัดการตนเอง

ผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างสุขภาวะตำบลนากระตาม ....

ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม

                1. การสร้างกลุ่มแกนนำ    กองทุนหลักประกันสุขภาพส่วนท้องถิ่นตำบลนากระตาม มีแนวคิดในการสร้างกลุ่มแกนนำเพื่อเป็นผู้นำในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน  โดยพิจารณาจากทุนทางสังคมที่มีอยู่ เช่น  อสม.   ผู้นำชุมชน  กลุ่ม/ชมรม   ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาชุมชน กระบวนการและผลการดำเนินงานดังนี้

                กรรมการกองทุนฯ ... จุดเริ่มต้นการพัฒนา     เนื่องจากตำบลนากระตามได้รับคัดเลือกให้จัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพระดับองค์การบริหารส่วนตำบลนำร่อง ปี 2549  จึงได้กำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมาจากหลายภาคส่วน แต่ทั้งนี้จะเป็นกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของบุคคลในพื้นที่อยู่แล้ว    โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ ส่วนหนึ่งจะมาโดยตำแหน่ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองโดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่รับผิดชอบ   จึงส่งผลให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างเป็นระบบและประชาชนเข้าถึงระบบบริการมากขึ้น

                เครือข่ายพันธมิตร ค้นคน ค้นโรค      เกิดขึ้นจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน  เพื่อจัดการกับโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี  โดยใช้ยุทธศาสตร์การสร้างพลังในกลุ่มบุคคลที่มีจิตอาสาต่อการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข  สร้างองค์ความรู้โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการคัดกรองโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง และวิธีปฏิบัติตนเมื่อมีความเสี่ยง การส่งต่อผู้ป่วยเมื่อสงสัยเป็นโรค ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมติดตามประเมินผล ในบริบทที่แตกต่างตามศักยภาพและนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ให้เกิดกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง   สามารถขยายแนวคิดแบบต่อยอดของการพัฒนาภายหลังจากการประเมินผลการดำเนินงาน  ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของศูนย์สุขภาพชุมชนนากระตาม

                ชมรมสร้างสุขภาพ  .... ออกกำลังกายสร้างสุขภาพ    เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเกิน  โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง   การมีพฤติกรรมการที่ไม่เหมาะสมทั้งการรับประทานอาหารมากเกินความจำเป็น การรับประทานอาหารรสหวาน รสมันที่ทำให้น้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน  รวมทั้งการขาดการออกกำลังกาย  การมีภาวะเครียด การใช้เวลาว่างในการดื่มสุรา   ผู้ที่เข้าร่วมในชมรมสร้างสุขภาพจะได้รับความรู้  และมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต   ให้มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ตามหลัก  6 อ  คือ  ออกกำลังกาย  อาหาร  อารมณ์  อโรคยา  อนามัยสิ่งแวดล้อม และอบายมุข  การดำเนินการของชมรมสร้างสุขภาพยึดหลัก  3 ก   คือ   มีคณะกรรมการ    มีกองทุน และมีกิจกรรมต่อเนื่อง 

                ชมรมผู้สูงอายุ...เตรียมความพร้อมผู้สูงวัย      ชมรมผู้สูงอายุตำบลนากระตามได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2539 และกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตามได้ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของชมรมมาโดยตลอด  ผู้สูงอายุทุกคนที่เข้าร่วมชมรมจะได้รับการตรวจสุขภาพ   อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ อาหารและโภชนาการและโรคที่ควรระวังในผู้สูงอายุ  ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการการละเล่นพื้นบ้าน เช่น  ลำตัด เพลงเรือ  ดนตรีไทย  มโนราห์  หนังตะลุง โดยให้มีเวทีนำเสนอในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ    ในปี พ.ศ. 2551  กองทุนหลักประกันสุขภาพได้จัดมหกรรมสร้างสุขที่นากระตาม ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.  2551   นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมกิจกรรมศึกษาดูงานของผู้สูงอายุ   ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ นี้ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี  และมีสัมพันธภาพทางสังคมเนื่องจากมีการรวมกลุ่มเพื่อการพบปะพูดคุยกันทำให้มีสุขภาพจิตดี ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกชมรมจะเป็นตัวอย่างและเป็นแกนนำทางด้านสุขภาพอนามัย ให้แก่ผู้สูงอายุโดยทั่วไปในชุมชน 

                กลุ่มสตรี ... สร้างอาชีพ สร้างรายได้    เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานและส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น  จึงได้สนับสนุนให้กลุ่มสตรีได้มีการพัฒนาด้านอาชีพและรายได้ เช่น การผูกผ้าตามงานต่าง ๆ    การผลิตน้ำยาล้างจาน  การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ  การจัดซื้อเครื่องครัวสำหรับเช่า  กลุ่มแปรรูปน้ำผลไม้  เป็นต้น  ซึ่งบางกลุ่มก็ได้มีการพัฒนาจนมีความเข้มแข็งและสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง  ส่งผลให้สามารถลดปัญหาการว่างงานของประชาชน สมาชิกกลุ่มมีทักษะ มีความรู้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มสตรียังมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอีกด้วย

 

                2. แหล่งเรียนรู้และข้อมูลข่าวสาร   กระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับชุมชนตำบลนากระตาม นอกจากการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นผ่านกลุ่มแกนนำต่าง ๆ แล้ว กองทุนสุขภาพตำบลนากระตามยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาการเรียนรู้ให้กับประชาชนอย่างเป็นระบบ โดยการให้ข้อมูลข่าวสารผ่านแหล่งเรียนรู้ชุมชน   และให้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายวิทยุชุมชนในพื้นที่  ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในภาคีการพัฒนา

                สำนักงานกองทุน ฯ ... แหล่งเรียนรู้ชุมชน       สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 อาคารสถานีอนามัยตำบลนากระตาม  ซึ่งจัดเป็นที่ทำการของกองทุนและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน  เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแท้จริง

 

                วิทยุชุมชน .. .คลื่นใสใส ห่วงใยชุมชน       

                สถานีวิทยุชุมคลื่นความถี่ 93.5 MHZ.   ชื่อสถานีวิทยุ  happy radio  ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 บ้านควนทราย ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ  จังหวัดชุมพร    ประธานคณะกรรมการกองทุนฯ  ได้ร่วมจัดรายการวิทยุชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทุนฯ  ร่วมทั้งเป็นเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนกับคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                3. การทำงานแบบมีส่วนร่วม   กระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลนากระตาม  นอกจากมีกลุ่มแกนนำซึ่งเป็นตัวแทนประชาชน มีบทบาทในการพัฒนาด้านต่าง ๆ แล้ว กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม ได้เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้ครบทั้งกระบวนการ จึงได้ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนแก้ไขปัญหา และการจัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน

                ประชาคม...เวทีวางแผนชุมชน   ในการจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน  กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม ได้เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยจัดทำในรูปของเวทีประชาคมหมู่บ้าน  และเวทีประชาคมตำบล   เวทีประชาคมหมู่บ้านได้ดำเนินในทุกหมู่บ้านโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไป  ส่วนเวทีประชาคมตำบลผู้เข้าร่วมทำประชาคมประกอบด้วย  ผู้นำชุมชน สมาชิก อบต.  กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข  คณะกรรมการหมู่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุ  ครู/นักเรียน  พระภิกษุ  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ตัวแทนของกลุ่ม/ชมรมในชุมชน  ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะเรื่อง  โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะช่วยกันระดมความคิดเห็นในการวิเคราะห์ปัญหา และวางแผนแก้ไขปัญหา จัดทำเป็นแผนพัฒนาตำบล โดยกำหนดเป็นโครงการ/กิจกรรม   ซึ่งการประชุมจะทำให้ได้รับรู้ปัญหาและความต้องการของชุมชน ตลอดจนทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง   ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้ องค์การบริหารส่วนตำบลนากระตามมีแผนพัฒนาตำบลประจำปี  โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตามจะสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณและวิชาการ แผนที่ได้จะสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นจริงและตรงกับความต้องการจำเป็นประชาชน ทำให้เกิดความร่วมมือที่ดีของประชาชน และที่สำคัญคือมีโครงการ/กิจกรรมการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชน  และจะนำไปปฏิบัติโดยผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นประชาชน อบต.จะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน   โครงการ/กิจกรรมที่สำคัญได้แก่

 

                - โครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า  โดยกองทุนสุขภาพตำบลนากระตาม ร่วมกับปศุสัตว์และอาสาสมัครสาธารณสุข  จัดให้มีการอบรมภาคทฤษฎีเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า  พร้อมทั้งสาธิตวิธีการฉีดวัคซีน จัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า โดยมีอาสาสมัครให้บริการฉีดสุนัขและแมวที่บ้าน จำนวน 1,500 ตัว ผลการดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

                -โครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก   ปัญหาโรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาที่สำคัญของตำบลนากระตาม มีการระบาดและแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง กองทุนสุขภาพตำบลนากระตาม ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขดำเนินการควบคุมโรคอย่างเป็นระบบทั้งในบ้าน ในโรงเรียนและในชุมชน   ในการสร้างองค์ความรู้  เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการเป็นหมู่บ้านปลอดลูกน้ำยุงลาย ได้เครือข่ายการควบคุมและป้องกันโรคในชุมชนที่ประกอบด้วยสมาชิกจากประชาชนในชุมชน โรงเรียน นักเรียน ครู อสม. ผู้นำชุมชนและองค์กรส่วนท้องถิ่น   ผลของการณ์ดำเนินโครงการสามารถควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกและลดอัตราป่วยของโรคไข้เลือดออก  อัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก 59.61 ต่อแสนประชากร

                - โครงการช่วยเหลือเมื่อยามยาก    องค์การบริหารส่วนตำบลนากระตามได้ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน  โดยการให้การช่วยเหลือเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเอดส์  ที่เป็นบุคคลที่มีฐานะยากจน  ขาดผู้ดูแล และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานใดๆ   โดยได้สนับสนุนเบี้ยยังชีพจำนวน 500 บาท/เดือน ให้กับบุคคลเหล่านี้จำนวน 230 คน ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติในกระบวนการส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนเพิ่มสมรรถนะในการควบคุมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตตนเอง  ให้บรรลุถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

                - โครงการคัดกรองโรคเรื้อรังในชุมชน    โรคเรื้อรังในชุมชนโดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง   มะเร็งเต้านม  มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาที่สำคัญ และยังมีประชาชนที่ยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้   ดังนั้นกองทุนหลักประกันสุขภาพจึงส่งเสริมให้มีการตรวจคัดกรองโรคเหล่านี้ขึ้น  เพื่อมุ่งหวังให้กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและสามารถส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ที่เป็นโรคอย่างทันท่วงที  โดยอบรมให้ความรู้แก่ทีมอาสาสมัครที่มีความพร้อมและมีจิตอาสา และลงมือปฏิบัติการคัดกรองในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ทุนทางสังคมที่มีอยู่และการสนับสนุนจากองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม

                - ชุดสิทธิประโยชน์บริการทันกรรม     กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตามได้จัดซื้อชุดสิทธิประโยชน์จากโรงพยาบาลท่าแซะ ให้กับเด็กนักเรียนจำนวน  4 โรงเรียน ในเขตพื้นที่ตำบลนากระตาม โรงเรียนละ  2 ครั้ง ให้บริการตรวจภาวะช่องปาก ขูดหินปูน ถอนฟัน  ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากได้ในระดับหนึ่ง

                - โครงการฝากครรภ์คุณภาพ     กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม  ได้สร้างแรงจูงใจให้กับหญิงมีครรภ์  ให้ฝากครรภ์ครบ 4 ครั้งตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย และมีกล่องของขวัญสำหรับเด็กเกิดใหม่  โครงการนี้ ส่งผลให้หญิงมีครรภ์มาฝากครรภ์ที่สถานีอนามัย  ทำให้การติดตามเยี่ยมหลังคลอดมีความครอบคลุมมากขึ้น

 

 ปัจจัยที่นำสู่ความสำเร็จ

                กระบวนการจัดการของกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม ภายใต้การนำขององค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จอยู่หลายปัจจัย สรุปได้ดังนี้ 

                1. ลักษณะผู้นำ  ผู้นำมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายในการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งในด้านการจัดการด้านสุขภาพของชุมชน ผู้นำที่มีบทบาทต่อกระบวนการจัดการด้านสุขภาพของกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม ได้แก่    นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม    หัวหน้าสถานีอนามัยตำบลนากระตาม  คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม  ลักษณะเด่นของผู้นำที่มีผลต่อกระบวนการพัฒนา มีดังนี้

                                1.1 เป็นนักวิเคราะห์ที่มีวิสัยทัศน์ (vision)  กว้างไกล   มีความสามารถในการคิด วิเคระห์  และสรุปบทเรียนการพัฒนาที่ผ่านมา มีความคิดรอบด้าน คิดอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ปัญหา กำหนดทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนา   ดังจะเห็นได้จากการวิเคราะห์ของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตามที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์พัฒนาว่า  ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนา ประชาชนยังไม่ค่อยรู้จัก อบต. ใน 2-3 ปีแรก  เราเน้นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างถนนหนทาง ถนนพังประชาชนจะต้องนึกถึง อบต. ขอให้ซ่อมถนนให้ ผมมาคิดดูแล้วหากยังคงดำเนินการพัฒนาในลักษณะนี้ต่อไป การมีส่วนร่วมของประชาชนคงไม่เกิดขึ้นแน่นอน   (สัมภาษณ์นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม)   จากแนวความคิดดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการพัฒนาจากเดิมที่เน้นการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน สู่การพัฒนาด้านสังคมและคุณภาพชีวิตโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

                                1.2 เป็นผู้มีความรอบรู้ในงานที่รับผิดชอบ    นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม    หัวหน้าสถานีอนามัยตำบลนากระตาม  ซึ่งเป็นผู้นำหลักในการดำเนินงานในชุมชน  เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานมาก ทำให้รู้ลักษณะและรายละเอียดของงานที่ทำได้เป็นอย่างดี สามารถหารูปแบบและวิธีการทำงานเพื่อจัดการปัญหา และพัฒนาชุมชนที่เหมาะสม  

                                1.3 เป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชน   การที่ผู้นำเป็นคนในพื้นที่ มีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อส่วนร่วม ทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม มีผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาชน  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตามได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 สมัย  แนวคิดและนโยบายในการทำงานจึงถูกนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและเกิดผล  ประชาชนส่วนใหญ่พอใจและยอมรับในความสามารถของผู้นำ

                2. ระบบการสนับสนุน    ระบบการสนับสนุนเป็นปัจจัยนำเข้าที่จำเป็นและมีผลต่อกระบวนการพัฒนา  การมีระบบการสนับสนุนที่ดี จึงทำให้งานบรรลุผลสำเร็จได้ กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตามมีระบบการสนับสนุนที่ดีส่งผลต่อการพัฒนา ได้แก่

                                2.1 การสนับสนุนด้านงบประมาณ   กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม มีความพร้อมในด้านงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ  โดยมีงบประมาณที่มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เงินอุดหนุนหรืองบประมาณที่ได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบล  เงินสมทบจากชุมชนหรือกองทุนชุมชน  และรายได้อื่น เช่น ดอกเบี้ย  แต่ทั้งนี้หากมีกลุ่มองค์กรหรือกลุ่มบุคคลใดในตำบลหรือหมู่บ้าน ต้องการจะดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่ของตนเองให้มีการพัฒนาด้านการดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น  ก็จะมีการบริจาคหรือร่วมสมทบเงินหรือทรัพย์สินเข้ากองทุนเพิ่มเติมเพื่อให้กองทุนมีความเข้มแข็งและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็ได้

                                2.2 การสนับสนุนด้านวิชาการและการบริหารจัดการ   กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม  มีศักยภาพในการสนับสนุนด้านวิชาการและการบริหารจัดการ  ตลอดจนการประสานความร่วมมือจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น การจัดอบรม อสม. ได้ประสานการเชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล สถานีอนามัย มาให้ความรู้และสอนทักษะที่จำเป็นในการทำงาน การหาวิทยากรมาเป็นผู้นำในการออกกำลังกายของชมรมสร้างสุขภาพ การประสานงานกับพัฒนาสังคมและพัฒนาการอำเภอมาสอนฝึกฝนอาชีพ แก่กลุ่มสตรี   การเชิญวิทยากรจากสำนักงานปศุสัตว์มาบรรยายให้ความรู้และสาธิตฝึกปฏิบัติในโครงการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า

3. การจัดการที่ดี     เนื่องจากตำบลนากระตามมีหมู่บ้านถึง 11 หมู่บ้าน  ปัญหาสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละหมู่จึงแตกต่างกันไป  แต่เนื่องจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม มีระบบการจัดการที่ดี  จึงทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ สามารถดำเนินการสำเร็จลุล่วงได้ เช่น การจัดตั้งกลุ่ม/แกนนำต่าง ๆ ทำให้ผู้นำในการพัฒนาและแก้ไขปัญหารวมถึงการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมที่สำคัญ คือ  มีการวางแผนโดยใช้กระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า ประชาคม ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสในการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และทำกิจกรรมการแก้ไขปัญหาร่วมกัน สามารถแก้ไขปัญหาได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และการมีส่วนร่วมจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

4.  ความร่วมมือของชุมชน    แม้ว่าประชาชนของตำบลนากระตามมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป   แต่ประชาชนตำบลนากระตามก็ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เป็นยอย่างดี ในการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ มีประชาชนเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเป็นจำนวนมาก และในการจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวมตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มสตรี  กลุ่ม อสม. ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมสร้างสุขภาพ  ก็มาร่วมกันจัดกิจกรรม ทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

จากปัจจัยเอื้อต่าง ๆ ในการพัฒนาและการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพ ทำให้การจัดการสุขภาพของชุมชนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง กล่าวคือ มีกลุ่มแกนนำด้านสุขภาพและมีการเคลื่อนไหวเพื่อจัดการสุขภาพชุมชน ทั้งในด้านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพประชาชน ทำให้ช่วงที่ผ่านมาสถานะสุขภาพของชุมชนโดยรวมอยู่ในภาวะปกติ  ไม่มีโรคระบาดรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้  ไม่มีการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเป็นปัญหา  และจากการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม ได้รับการคัดเลือกให้เป็น อบต. ต้นแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานสุขภาพชุมชน

ปัญหา/อุปสรรค

1.  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมิได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานที่ชัดเจน (พี่เลี้ยง) ในการส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพในการ เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ  โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีการศึกษาจากเอกสาร ตำรา คู่มือและนำไปปฏิบัติ

2. การดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการเชิงรุก (ด้านการส่งเสริมป้องกันโรค) ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและภาคส่วนเท่าที่ควร เพราะการประชาสัมพันธ์กองทุนยังมีน้อย จึงทำให้ประชาชนบางส่วนขาดการรับรู้และการเข้าถึงบริการของกองทุน

3. การขาดความรู้ ความเข้าใจ ของสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ และเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของหน่วยงานสาธารณสุข อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเท่าที่ควร

4. ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของตนเอง จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างแท้จริง

 

ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงาน

 การนำองค์กร

1.  ควรสร้างความเข้าใจในเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับกองทุนให้กับหน่วยงานและองค์กรในพื้นที่ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

2.  ควรมีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล เพื่อนำไปสู่การขยายผล ประเมินจัดลำดับความพร้อมตามศักยภาพของพื้นที่

การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์

2. สาธารณสุขจังหวัดควรกำหนดเป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้ชัดเจนขึ้น โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นดำเนินการเชิงรุกโดยประชาสัมพันธ์  รณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคภัย และใส่ใจในสุขภาพตนเอง และคนในครอบครัว รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้ท้องถิ่น จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชน จัดกีฬาระหว่างชุมชน จัดกีฬากลางแจ้ง ฯลฯ

3.  สาธารณสุขจังหวัดควรมีการขอสนับสนุนจากแหล่งอื่นในจังหวัด เช่น มูลนิธิ ฯลฯ เพื่อลดภาระของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับภาระค่ารักษาพยาบาลของผู้ไม่มีสิทธิ เช่น ผู้ไร้สัญชาติ หรือแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียน 

การจัดการกระบวนการบริหารจัดการกองทุนฯ

4. ตำบลนากระตามได้ดำเนินโครงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยใช้ระบบงบประมาณในรูปแบบกองทุนรวม และจัดสรรงบประมาณให้กับพื้นที่ตามสภาพความต้องการและสภาพปัญหาในท้องที่นั้น ๆ  จึงเป็นปัญหาสำหรับหมู่บ้านที่ไม่ทำโครงการของบประมาณในการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ตัวแทนไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาในหมู่ของตนได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินโครงการได้ไม่ครอบคลุม จึงขอให้คณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคในเรื่องของระบบและวิธีการ เพื่อให้เกิดความครบคลุมและความเสมอภาค และเป็นธรรมกับทุกพื้นที่ ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเป็นจริงของแต่ละสภาพพื้นที่

5. คณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม  ควรให้ความสำคัญในการประชุม เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย และการพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

6. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการติดตาม ประเมินผล ในการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เรื่องการใช้งบประมาณในทุกกิจกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และประเมินผลได้อย่างแท้จริง ว่าหากจะดำเนินการโครงการดังกล่าว ในขอบเขตทุกท้องถิ่นแล้ว ผลที่ได้จะคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้จัดสรร และจะลดภาระงานในส่วนของจังหวัด หรือของส่วนกลาง ลงได้ในสัดส่วนเดียวกัน เพราะหากในอนาคตจะดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ไม่สามารถตัดงบประมาณจังหวัดได้ ก็จะเป็นภาระกับงบประมาณของรัฐบาล

 สรุป ...... การสร้างหลักประกันสุขภาพ  ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพโดยไม่มีขีดจำกัดทางด้านเศรษฐกิจนั้น      ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม     ทุ่มเทแรงกายแรงใจของทุกๆฝ่าย    กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม  เกิดขึ้นจากแนวคิดต้องการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน   ภายใต้การทำงานแบบมีส่วนร่วม ของชุมชน  องค์กร    และภาคีเครือข่าย  ที่ประกอบด้วย  องค์การบริหารส่วนตำบล  สถานีอนามัย    ชุมชน   วัด   โรงเรียน    ปราชญ์ชาวบ้าน   ซึ่งมีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกันคือ   การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น   หากแต่การดำเนินของกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตามยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชน   จึงต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์การจากทำงานที่ผ่านมาโดยเฉพาะคณะกรรมการของกองทุนหลักประกันสุขภาพ  จะต้องเป็นผู้ดำเนินการหลักโดยให้หน่วยงานภาคราชการเป็นเพียงผู้ประสานงาน   ซึ่งส่งผลให้แนวคิดของการทำงานไม่ถูกตั้งอยู่ในกรอบ    มีอิสระและสามารถค้นหากิจกรรมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่    "สุขภาวะ"  ในระดับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเป็นจริงและยั่งยืน

คำสำคัญ (Tags): #social chumphon
หมายเลขบันทึก: 216621เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 02:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท