สุขภาวะที่นากระตาม ๑


การรู้จักหยุดเพื่อทบทวนบทเรียนให้กระจ่าง คือทางออกที่ควรกระทำ

หนึ่งบทเรียนที่ทีมคนสร้างสุขนากระตามได้บันทึก  โดยคุณนวลจัทรน์  รัตนาพร  และผมเป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการจัดการความรู้ภายใต้โครงการดับบ้านดับเมือง  เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้  ....

 

หลากหลายบริบทของนากระตาม

 

ตำบลนากระตามตั้งอยู่ในอำเภอท่าแซะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดชุมพร  ที่ได้ชื่อว่าตำบลนากระตาม  มีผู้แก่ได้เล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตำบลนากระตามไว้  3   ประเด็น  คือ

ประเด็นที่ 1   ตำบลนากระตาม  เป็นพื้นที่ราบลุ่ม  มีแหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย  อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำ  จึงทำให้มีผู้คนมาอาศัยเป็นจำนวนมาก   และส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา    เมื่อถึงฤดูผลิต  จะมีน้ำท่วมขังทำให้ฝูงนาคมาหาอาหารทุกปีและแต่ละปีจะมีฝูงนาคเพิ่มมากขึ้น  ชาวบ้านสันนิฐานว่าฝูงนาคคงจะตามๆกันมาและเรียกว่า    บ้านนาคตาม    ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น   บ้านนากระตาม   

ประเด็นที่ 2  กล่าวกันว่าท้องที่แห่งนี้ ประชาชนมีอาชีพทำนา แต่ละครอบครัวมีการปรับพื้นที่เป็นที่นาสำหรับปลูกข้าวติดต่อกันไปอย่างต่อเนื่อง  บ้านนี้ก็ทำนา บ้านโน้นก็ทำนา  ชาวบ้านเรียกว่า "นาตาม" ซึ่งหมายถึง การทำนาตาม ๆ กัน ต่อมามีการปรับภาษาให้ทันสมัยขึ้น จากคำว่า  "นาตาม" กลายเป็น "นากระตาม" ดังชื่อในปัจจุบันนี้

ประเด็นที่ 3   สมัยโบราณตำบลนากระตาม   เป็นทางผ่านในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างพื้นที่ ตำบล อำเภอ  เนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มมีแหล่งน้ำ  ทำให้ประชาชนมาอาศัยอยู่มาก      จากการเป็นเส้นทางเดินทางไปมาหาสู่กัน มีชาวบ้านคนหนึ่งได้พาเต่ากระตัวใหญ่เดินทางมาด้วย และเต่ากระตัวใหญ่ได้หลุดหายไปในระหว่างเดินทาง  จากนั้นได้ชักชวนพรรคพวกตามหาเต่ากระที่ราบลุ่มแห่งนี้  ต่อมาจึงได้เรียกชื่อว่า   นากระตาม      ปัจจุบันจุดที่เรียกว่านาตาม   คือ  พื้นที่นาหมู่ที่  5  ซึ่งเป็นที่นาบริเวณกว้าง  และในปี พ.ศ.2541  หลังเกิดพายุซีต้า    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จบริเวณพื้นที่ดังกล่าว  ในโครงการพระราชดำริ แก้มลิง    เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้กับจังหวัดชุมพร        

สภาพทั่วไปทางกายภาพ ตำบลนากระตามเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอท่าแซะ  จังหวัดชุมพรพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของตำบลนากระตาม มีเนื้อที่ประมาณ  38.5 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอท่าแซะทางทิศใต้ ประมาณ 8 กิโลเมตร ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน  ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มสลับภูเขา และเป็นที่รวมของลำคลอง 2 สาย คือ คลองท่าแซะและคลองรับร่อ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำท่าตะเภา ทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปี มีฤดูฝนยาวนานและมีฝนตกชุก อากาศชุ่มชื้นอยู่เสมอ  ประชากรที่อาศัยอยู่ มีทั้งสิ้น 1,419 หลังคาเรือน จำนวน 5,032 คน เป็นชาย 2,399 คน เป็นหญิง 2,633 คน  ลักษณะทางกายภาพ ทิศเหนือติดต่อกับตำบลท่าแซะ  ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลสะพลี อำเภอปะทิว ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ  ทิศใต้ติดต่อกับตำบลบางลึก อำเภอเมือง

สภาพทางเศรษฐกิจ  ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ร้อยละ 93.52   และร้อยละ 6.48 ประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม    ค้าขายและรับราชการ  พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่  สวนปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทำนาข้าว  ประกอบอาชีพ ค้าขายและรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม  มีร้านขายของชำจำนวน  26 แห่ง ร้านซ่อมรถ 2 แห่ง ฟาร์มเลี้ยงสุกรจำนวน 3 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 2 แห่ง

สภาพทางสังคมและวัฒนธรรม   การศึกษามีโรงเรียนประถมศึกษา 4 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน 1 แห่ง ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน 11 แห่ง  ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร 1 แห่ง  สถาบันองค์กรทางศาสนามีวัด 6 วัด  การสาธารณสุข มีสถานีอนามัย 1 แห่ง  กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล 1 แห่ง อัตราการมีและใช้ส้วม ร้อยละ 100 การบริการพื้นฐานในการคมนาคม มีทางหลวงแผ่นดินถนนเพชรเกษมผ่าน 1 สาย ถนนหมู่บ้าน13 สายและทางหลวงชนบท 1 สาย ด้านการโทรคมนาคม มีไปรษณีย์หมู่บ้าน 1 จุด มีโทรศัพท์สาธารณะ 13 แห่ง โทรศัพท์บ้าน 150 เลขหมาย  มีโทรศัพท์มือถือเกือบทุกหลังคาเรือน การไฟฟ้าเข้าถึงทั้ง 11 หมู่บ้าน มีระบบประปา 15 แห่ง  บ่อบาดาล 20 แห่ง สระน้ำ 35 แห่ง คลอง 7 สาย และแม่น้ำ 1 สาย  ชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่กันแบบเครือญาติพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกันและกันภายในครอบครัวรวมทั้งเพื่อนบ้าน ไม่ค่อยมีความขัดแย้งหรือการใช้ความรุนแรง  วัฒนธรรมประเพณีที่ยังคงสืบทอดมาจากครั้งบรรพบุรุษ คือ การสรงน้ำพระและการรดน้ำดำหัวให้กับผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ การทำพิธีไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษไทย  ประเพณีสลากภัตในเดือน 5 ของทุกปี การละเล่นพื้นบ้านประกอบด้วย เรือบก นิยมเล่นในประเพณีทอดกฐินช่วงหลังจากวันออกพรรษา  หนังตะลุง  มโนห์รา   นิยมแสดงในงานวัดและงานบุญต่าง ๆ

 

 

หลากหลายหุ้นส่วนในการพัฒนา . นากระตาม

 

ตำบลนากระตาม  มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หลากหลายลักษณะ  มีการดึงเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนในการเชื่อมต่อทั้งในและนอกระบบอย่างท้าทาย   เป็นจุดแข็งที่โดดเด่นยิ่งของตำบลนากระตาม  แปรเป็นทุนที่สำคัญในการสร้างโอกาสการพัฒนา   แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ก็ไม่ยากเกินกำลัง

สถานีอนามัยตำบลนากระตาม    สถานบริการสาธารณสุขที่ให้บริการใกล้ชิดกับประชาชน มาโดยตลอด มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจดังนี้

                พ.ศ. 2504  ก่อตั้งเป็นสำนักงานผดุงครรภ์โดยทุนผูกพันของนางสุนีย์ ผลทวี

                พ.ศ. 2512  ยกระดับเป็นสถานีอนามัย โดยนางกลั่น กุ้ยติ้ว เป็นผู้บริจาคที่ดิน

                พ.ศ. 2532  ประสบวาตภัย พายุไต้ฝุ่นเกย์  ได้รับงบประมาณมาก่อสร้างใหม่

                พ.ศ. 2539  ยกระดับเป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่(ต่อเติม) ได้รับบริจาคที่ดินจากพระครูคีรีรัตนารักษ์และประชาชนจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม

                พ.ศ. 2548  พัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนนากระตาม

                พ.ศ. 2549  ได้รับงบลงทุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพรต่อเติมอาคารชั้นล่างและเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นมา

สถานีอนามัยตำบลนากระตาม มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวน 4 คน เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 2 คน นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 1 คน  มีการแบ่งหมู่บ้านรับผิดชอบ    มีอาสาสมัครสาธารณสุขจำนวน 147 คน   เป็นกำลังสำคัญในการทำงานเชิงรุกร่วมกันในชุมชน

องค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม   ตั้งอยู่หมู่ที่ 5  ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เดิมเป็นสภาตำบล ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ได้รับประกาศจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อ ปี 2539  มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจและความอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง  มีบุคคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 10 คน  

ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม   เป็นไปในทางที่ดี คือ ถ้าองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตามมีการจัดประชุม จัดการฝึกอบรมให้ความรู้ หรือจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ  ชุมชนส่วนใหญ่โดยรวม  จะรับรู้และให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมร้อยละ 75  ซึ่งในเวลาปกติแล้วชาวบ้านในชุมชนจะไม่ค่อยเข้าไปขอความช่วยเหลือหรือรบกวนการทำงานของ อบต. มากนัก หากไม่ใช่เป็นเรื่องที่ได้รับความเดือดร้อนหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในชุมชนส่วนมากก็มักเป็นแบบเครือญาติกัน คอยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือช่วยเหลือตนเองไปก่อนเมื่อประสบปัญหา ชาวบ้านส่วนใหญ่ของชุมชนนั้นมีความสนใจและให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมประจำหมู่บ้านดี หากผู้ใดไม่มีกิจธุระสำคัญก็จะเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เสมอ หรือหากไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองก็จะมีความสนใจที่จะติดตามสอบถามข้อมูลจากผู้อื่นที่เข้าประชุมแทน และยังให้ความสนใจในการเข้าร่วมเวทีประชาคม ทั้งในระดับหมู่บ้านและระดับตำบลทุกครั้งที่มีหนังสือเชิญหรือได้รับการบอกกล่าวจากผู้นำชุมชน  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และในบางครั้งจะมีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าร่วมประชุมเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญให้รับทราบทุกครั้ง

ทุนของชุมชนตำบลนากระตาม   ประกอบด้วยทุนมนุษย์ ทุนสถาบัน ภูมิปัญญา และทุนทางธรรมชาติ

              ทุนมนุษย์  มีกลุ่มอาชีพและสร้างรายได้ในตำบลนากระตาม ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแปรรูปผลไม้ กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มแม่ครัว กลุ่มทำเครื่องแกง กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืด  กลุ่มผูกผ้า 

              ทุนสถาบัน  ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบล สถานีอนามัย โรงเรียน วัด สถาบันครอบครัว  ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข   ชมรมผู้สูงอายุ  ชมรมสร้างสุขภาพ

              ภูมิปัญญา    ประกอบด้วย หมอสมุนไพร  หมองู หมอทำภูมิ หมอดู  หมอจับเส้น

             ทุนธรรมชาติ  ประกอบด้วยแม่น้ำท่าตะเภา คลองพนา คลองท่าแซะ คลองละมุ เขาแก้ว เขาค้อ

 

หลากหลายภารกิจการสร้างสุขภาวะนากระตาม

                ตำบลนากระตามเป็นตำบลขนาดกลาง  มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ หลายลักษณะ ทั้งในเชิงบวกและลบ  เช่น เป็นตำบลที่อยู่ติดถนนเพชรเกษม  การคมนาคมสะดวก  จึงมีแขกบ้านแขกเมืองมาตรวจเยี่ยมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตามซึ่งมีภารกิจงานถึง 245 ภารกิจ   วิสัยทัศน์ ความพร้อมและประสบการณ์ของผู้นำ ส่งผลให้โครงการใหญ่ๆ มีเป้าหมายอยู่ที่ตำบลนี้หลายโครงการ ได้แก่ โครงการดับบ้านดับเมือง  เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้ ,  โครงการพัฒนาทุนทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน , การจัดตั้งกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะโครงการนำร่อง    ในปี พ.ศ. 2551 กำนันตำบลนากระตาม  ( นายวิโรจน์  มิตรเมฆ) ได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันดีเด่นของจังหวัดชุมพร  นอกจากนี้หน่วยงานในตำบลต่างก็มีภารกิจที่หลากหลายเช่นเดียวกัน  สถานีอนามัยตำบลนากระตามได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งแรกของอำเภอท่าแซะ และได้รับการคัดเลือกให้พัฒนาเป็นสถานีอนามัยต้นแบบของอำเภอท่าแซะ   ส่วนลักษณะในเชิงลบเช่น  เกิดอุบัติเหตุริมถนนเพชรเกษมบ่อยครั้ง  และตำบลนากระตามเป็นที่ราบลุ่มทำให้เกิดอุทกภัยในช่วงมรสุมเกือบทุกปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่เสมอ    ลักษณะดังกล่าว ทำให้ตำบลนากระตามไม่มีช่องว่างของเวลาที่จะหยุดพักได้เลย

 บทเรียน  ทำงานเสริมสร้างสุขภาพในชุมชนตนเอง...ไม่ไกลเกิน

 จุดแรกเริ่ม... ของการเดินทาง     

ด้านหน้าคือ สะพานข้ามแม่น้ำสายที่เล็กที่สุดในประเทศไทย  "แม่น้ำท่าตะเภา"   บ้านวังครก หมู่ที่ 9 ตำบลนากระตาม  หมู่บ้านที่มีคำขวัญเล่าสืบต่อกันมาสู่คนรุ่นหลังว่า  วัดมีคลอง  หนองมีไหล  ใจเป็นเจ้า  เฝ้าพระธรรม   คงต้องอธิบายซักนิดว่าในความหมายคือ วัดวังครกมีแม่น้ำท่าตะเภาไหลผ่าน ที่สำคัญคือมีจุดวัดระดับน้ำเพื่อประมาณว่า จะเกิดอุทกภัยในตัวจังหวัดชุมพรหรือไม่  ห่างออกไปมีชุมชนเล็กเล็กแห่งหนึ่งเรียกว่า หนองไหล ลักษณะพื้นที่เป็นนาข้าว มีความอุดมสมบูรณ์ เล่ากันว่า เป็นแหล่งที่มีสัตว์น้ำจืดอาศัยอยู่ชุกชุม โดยเฉพาะปลาไหลจะมีชุกชุมมาก  และในสมัยก่อนชุมชนแห่งนี้จะเป็นชุมชนที่มีลักษณะของความมีน้ำใจ เอื้ออาทร  เมื่อมีงานบุญต่าง ๆ ก็จะช่วยเหลือ ไม่ทิ้งกัน  อยู่เป็นเพื่อนเสมือนเป็นเจ้าภาพงานกันจนถึงตอนเช้าเลยทีเดียว  และที่แห่งนี้ก็เป็นถิ่นกำเนิดของ นายประทีป  แสงจันทร์  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม  บุคคลผู้เป็นกลไกสำคัญในการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม  เล่าเสียยืดยาว  ย้อนกลับไปที่สะพานข้ามแม่น้ำ ท่าตะเภา เมื่อเดินทางจากตัวจังหวัดชุมพรมาถึงสะพานแห่งนี้แสดงว่า ต้องเตรียมตัว  เตรียมสัมภาระเพื่อลงจากรถโดยสารแล้ว  เพราะอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึง สถานีอนามัยตำบลนากระตาม  จุดเริ่มต้นของหนทางสู่สุขภาวะที่นากระตาม

 

เตรียมความพร้อม...ก่อนเดินทาง

เมื่อต้องเดินทางไป ณ ที่แห่งหนึ่ง เราจำเป็นต้องทราบเป้าหมายในการเดินทางนั้น  เดินทางโดยวิธีใด ไปเพื่ออะไร ไปเช้า เย็นกลับ หรือต้องพักค้างคืน ซึ่งหากเป็นสถานที่ที่ไม่เคยไปก็อาจมีความตื่นเต้น วิตกกังวล ยิ่งใกล้ถึงวันก็ยิ่งมีความเครียด นักเดินทางจึงต้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ จัดกระเป๋าเดินทาง บางครั้งก็มีชะลอมของฝาก มีคนมาส่งที่ท่ารถ อวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ  เฉกเช่นเดียวกับการสมัครเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพ ในจังหวัดชุมพรไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน แน่นอนว่าคงเป็นการเดินทางที่ท้าทายมาก   ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม ได้เล่าถึงการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพเริ่มแรกในโอกาสรับการตรวจเยี่ยมจากทีมงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอท่าแซะ ในวันที่  10 กรกฎาคม 2551  ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตามว่า หน่วยงานแรกที่เข้ามาคือประชาสังคมจังหวัดชุมพรและหน่วยงานตัวแทนจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยคุณทวีวัตร เครือสาย    ตำบลนากระตามถูกคัดเลือกจากความเป็นเพื่อน  และต้องยอมรับว่า แม้ อบต.จะมีภารกิจงานที่มากมายถึง 245 ภารกิจ แต่ก็มองว่าภารกิจด้านสาธารณสุขเป็นมือไม้ที่สำคัญของการดำเนินงานของ อบต.เช่นกัน เพราะที่ผ่านมา อบต.ก็ได้สนับสนุนการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่มาก่อนแล้ว ประกอบกับกำนันตำบลนากระตามและผู้นำท้องถิ่นก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด  การตอบรับกองทุนหลักประกันสุขภาพจึงเกิดขึ้นโดยทันที  

ปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกของการสมัครเข้ากองทุน   คณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพตำบลได้มาจากการคัดเลือก เพราะมีข้อจำกัด ไม่มีเวลาพอที่จะจัดเวทีสรรหา    โดยผู้นำท้องถิ่นพิจารณาคัดเลือกผู้ ที่มีประสบการณ์  มีความโปร่งใส  มีส่วนร่วมในชุมชน   และสอบถามถึงความพร้อมและมีจิตอาสาในการทำงาน   คณะกรรมการอยู่ในวาระคราวละ 2 ปี

ด้านการบริหารจัดการ  แม้ว่าตำบลนากระตามจะสมัครเข้ากองทุนฯ ในปี พ.ศ.2549 หากแต่งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้โอนให้กับกองทุนฯ ในปี 2550 รายรับเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตามมีดังนี้

1. สปสช.สนับสนุนงบประมาณเฉลี่ย 37.50 บาท/หัวประชากร โดยโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตามปี2550 จำนวน190,537.50 บาท ปี2551 จำนวน 188,887.50 บาท

2. องค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม ได้สมทบงบประมาณ ปี 2549 จำนวน 20,000  บาท ปี 2550 จำนวน 70,000  บาท  ปี 2551 จำนวน  100,000  บาท

3. เงินสมทบจากชุมชน ในปี 2551 ได้รับเงินสมทบจากชุมชนจำนวน 12,000 บาท

4. รายได้อื่นของกองทุนเช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก

การเบิกจ่ายเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนฯ บางแห่งไม่กล้าใช้งบประมาณ  แต่สำหรับตำบลนากระตามอยู่ใกล้ถนนเพชรเกษม มีคณะกรรมการในระดับเขต เดินทางสัญจรไป - มาตลอดเวลา เขาบอกว่า ห้ามนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ให้ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคได้ทุกอย่าง  กองทุนสุขภาพตำบลนากระตามจึงกล้าใช้งบประมาณเป็นแห่งแรกแรก ตอนหลังเลยกลายเป็นวิทยากรของจังหวัดชุมพรในการแนะนำกองทุนอื่น

ท่านนายกประทีป  แสงจันทร์  ยังเล่าต่อไปว่า  " มีกองทุนฯ หนึ่ง นำเงินไปสร้างบันไดให้กับสถานีอนามัย  เขาไม่ตอบว่าผิดหรือถูก  บางแห่ง นำงบประมาณไปตัดแว่นให้กับผู้สูงอายุทั้งหมด ถามว่า ผิดหรือไม่ ตอบว่า ไม่น่าจะผิดเพราะการใช้เงินระบุว่าต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ  และเขาต้องทำต่อไป เพราะแว่นยังได้ไม่ครบทุกคน นี่คือ กล้าใช้เงิน แต่ไม่สอดคล้องกับกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ    "  เหล่านี้คือคำบอกเล่าของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม จากการที่ท่านได้มีโอกาสไปรับรู้การดำเนินงานกองทุนในระดับจังหวัด

บทเรียนนี้สรุปได้ว่า  ความพร้อมก่อนเดินทางยังไม่สมบูรณ์  คณะกรรมการยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในระบบของกองทุน  งบประมาณในปีแรกก็ค่อนข้างล่าช้า  แต่ทีมงานจิตอาสาทราบดี ว่า นี่คือช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน  การแสวงหาโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการกองทุนฯ  น่าจะเป็นทางออกที่ดี ภายใต้ความเชื่อที่ว่า   สายใยแห่งการทำงานที่มีเป้าหมายร่วมกันจะกลายเป็นพลังสร้างสุขให้เกิดขึ้นที่นากระตาม

 

ระหว่างทางเดิน

ระยะทางอันยาวไกลในการขับเคลื่อนสู่ตำบลสุขภาวะ   มีผู้ร่วมทางมากมาย  จะมีกี่คนที่มีเป้าหมายในการเดินทางเช่นเดียวกัน   จะมีกี่คนไปถึงจุดหมายที่ต้องการ

สถานการณ์ด้านสุขภาพ   ปัญหาสุขภาพของตำบลนากระตาม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่มารับบริการ มีปัญหาเรื่องโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน โรคติดต่อทางระบาดวิทยาที่ต้องเฝ้าระวังที่เป็นปัญหาของชุมชน คือ โรคอุจจาระร่วง และโรคเรื้อรังที่พบมากขึ้นคือ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เนื่องจากประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย  โรคติดต่อประจำถิ่นที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก ปรากฏการณ์ของโรคจะมีการระบาด 2 ปีต่อครั้ง   นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยวัณโรค จำนวน 2 ราย   เมื่อพิจารณาโครงสร้างประชากรพบว่า  กลุ่มผู้สูงอายุ มีถึงร้อยละ12.30

การดำเนินงานของกองทุน   ดำเนินงานภายใต้กรอบของคณะกรรมการบริหารของกองทุน ซึ่งมองประเด็นสุขภาพเป็นหลักและเป็นความต้องการของชุมชนโดย

  • 1. ผ่านเวทีประชาคมของหมู่บ้าน
  • 2. ผ่านหน่วยงานในพื้นที่ สอ./โรงเรียน/ เห็นชอบและกลั่นกรองโครงการ
  • 3. ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการกองทุนฯ
  • 4. นายกเป็นผู้อนุมัติโครงการ
  • 5. ผู้เสนอโครงการ/รับผิดชอบโครงการ ดำเนินการตามโครงการที่ได้รับอนุมัติและรายงานผลเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ

การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปี   กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนากระตาม ได้จัดทำสรุปผลการดำเนินงานประจำปี เพื่อเสนอต่อ สปสช.  ,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ,สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัยและ อบต.  ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสารสาธารณะรูปแบบต่าง ๆ       ทุกสิ้นปีงบประมาณ (30 กันยายนของทุกปี)  คณะกรรมการบริหารระบบฯ  จะรวบรวมผลการดำเนินงานของกองทุน เพื่อให้ทราบว่าในรอบ 1 ปี   กองทุนได้สนับสนุนกิจกรรมประเภทใดบ้าง  ชื่อกิจกรรมอะไร ให้แก่ใคร มีวัตถุประสงค์/ เป้าหมายอย่างไร  งบประมาณสนับสนุนเท่าไร  และผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร (ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ)

                จัดทำสรุปงบดุล - รายรับ - รายจ่าย ประจำปี แนบไว้ในรายงานผลการดำเนินงานด้วย ตามแนวทางและรูปแบบการจัดทำบัญชีที่กำหนดไว้

                รายงานดังกล่าวได้ส่งให้ สปสช. สาขาเขตพื้นที่เขตและ สปสช. (จังหวัด) ทราบ ภายในไม่เกินเดือนธันวาคมของทุกปี   เพื่อส่งให้ สปสช. ส่วนกลางสรุปรายงานผลในภาพรวมทั้งประเทศต่อไป

การจัดทำระบบฐานข้อมูล   ฐานข้อมูลแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • - ข้อมูลพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบล/ เทศบาล
  • - ข้อมูลกิจกรรมสุขภาพ
  • - ข้อมูลรายงานการเงิน

ในการดำเนินการระยะที่ 1 (มิถุนายน - ธันวาคม 2549) สปสช. จะใช้แบบฟอร์มในการบันทึกข้อมูลเพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลไว้ที่ สปสช. ส่วนกลาง ในการดำเนินการระยะที่ 2 สปสช. ส่วนกลางจะพัฒนาฐานข้อมูล และลงโปรแกรมให้องค์การบริหารส่วนตำบลนำร่อง นำไปใช้ในการจัดเก็บข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ และเพื่อสะดวกในการเผยแพร่ข้อมูลทางเวปไซค์ต่อไป

 

ข้อสรุปของการเดินทาง คือ

1. มีจุดหมายปลายทางชัดเจน คือ การที่ชุมชนสามารถรับมอบความรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาสุขภาพของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์

2. บรรลุจุดหมายปลายทางตามเวลาที่กำหนด

3. ความเร็วช้าของการเดินทางขึ้นอยู่กับศรัทธาและการยอมรับ

4.บรรลุจุดหมายปลายทางตามกระบวนการที่ได้ปรึกษาหารือและตามข้อตกลงที่กำหนดไว้

5. ผู้นำการปฏิบัติไปสู่จุดหมายปลายทางคือ คนนากระตามทุกคน

บางคนจำกัดตัวเองให้แคบอยู่แค่งานตัวเองอย่างเดียวคงไม่ได้ ภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบันต้องมีโลกทัศน์ที่กว้างเพื่อร่วมกับทุกภาคส่วนแสวงหาหนทางในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ตั้งใจว่า เป็นนักสาธารณสุข  การเดินทางจะพยายามทำตัวให้เหมือนเหยี่ยว บินได้สูง มองเห็นกว้างไกล ขณะเดียวกันก็สามารถมองได้ลึกและชัดแม้บินอยู่สูงลิบ เป็นเหยี่ยวไม่ได้  ขอเป็นนกก็แล้วกัน  เพราะอาจารย์เคยสอนเสมอว่า ให้มองอย่างนก  อย่ามองอย่างหนอน ที่เห็นแค่ตัวเอง 

สำคัญที่สุด จะระลึกไว้เสมอว่า การรู้จักหยุดเพื่อทบทวนบทเรียนให้กระจ่าง คือทางออกที่ควรกระทำ

คำสำคัญ (Tags): #social chumphon
หมายเลขบันทึก: 216620เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 02:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การรู้จักหยุดเพื่อทบทวนบทเรียนให้กระจ่าง คือทางออกที่ควรกระทำ

นั่นสิครับ

บางครั้งเราำแต่งานไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้คิดในเรื่องของผลที่เกิดขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท