กองทุนสุขภาพตำบล


กองทุนสุขภาพ เครื่องมือการเรียนรู้ใหม่ของท้องถิ่น

กองทุนสุขภาพตำบล ( กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น  อบต.ละแม )

                กองทุนสุขภาพตำบลละแมจัดตั้งขึ้นโดยใช้เวทีประชาคม ในการสรรหากรรมการ  ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละแม  เป็น ประธานกรรมการ , ตัวแทนสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลละแม  2 คน ,  ผู้แทนหน่วยบริการสาธารณสุข , ตัวแทน  อสม.2  คน  , ผู้แทนหมู่บ้าน  19  คน   เป็นกรรมการ ,  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลละแม  เป็น กรรมการ/เลขานุการ  และ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน  เป็น    กรรมการ/ผช.เลขานุการ

โครงสร้างดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ  จำนวน  27  คน  และคณะอนุกรรมการ  3  ส่วนได้แก่  คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเสริมสร้างสุขภาพ  จำนวน  9  คน / คณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนงานสุขภาพ  จำนวน  9  คน / คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล  จำนวน  7  คน  และในปี 2549 ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  อุดหนุน  37.5 บาท / จำนวนประชากร  เป็นเงิน  491,137.50  บาท , องค์การบริหารส่วนตำบลละแม สมทบ  75.34 %  เป็นเงิน  370,000 บาท

กระบวนการดำเนินงานของกองทุนฯ นั้นจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ และอนุกรรมการ  เฉลี่ยสองเดือนต่อครั้ง เพื่อพิจารณาโครงการและติดตามผลการดำเนินงาน  และได้จัดระเบียบคู่มือการดำเนินงาน   มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีและไปศึกษานอกพื้นที่    ในส่วนการสนับสนุนงบประมาณให้แก่สถานบริการสุขภาพ   หน่วยงาน  และชุมชน เป็นผู้เสนอโครงการต่าง ๆ มายังกองทุนฯ เมื่อโครงการอนุมัติจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้รับผิดชอบโครงการและกองทุน ใช้เงื่อนเบิกค่าใช้จ่ายเป็น  2  งวด  ได้แก่  ก่อนดำเนินโครงการ  และดำเนินงานแล้วเสร็จพร้อมระบบการรายงานผล   โดยให้ผู้รับผิดชอบโครงการฯจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมเอกสารประกอบ เช่น  ใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญรับเงิน  ภาพถ่าย  รายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการ  เอกสารอื่นๆ   ตามแบบฟอร์มรายงานในคู่มือฯ   สำหรับการติดตามและประเมินผล   ใช้เวทีประชุมในการติดตามประเมินผล  และจะมีการประเมินเชิงลึกบางโครงการ เช่น  โครงการค่ายครอบครัวอุ่นรัก  โดยการมอบหมายคณะกรรมการเข้าร่วมโครงการ  ใช้แบบสอบถาม ,โครงการแพทย์แผนไทย/ทางเลือก  ประเมินโดยการตรวจสอบการทำงานการให้บริการหลังเข้าอบรม เป็นต้น 

ผลการดำเนินงานนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติในปี 2550 โครงการจำนวน  14  โครงการ  โดยจำแนกในสามด้าน  ได้แก่  หนึ่ง อุดหนุนสถานบริการสาธารณสุข             เป็นเงิน  242,900.-   ดำเนินการ  242,900  บาท เช่น  โครงการตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองของผู้ป่วยเบาหวาน    สองจัดซื้อชุดสิทธิประโยชน์       เป็นเงิน    239,300 บาท เช่น เครื่องวัดความดัน    สามสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพแก่ชุมชน  เป็นเงิน  268,300  เช่น โครงการ ค่ายครอบครัวอุ่นรัก  ,โครงการพัฒนาแพทย์แผนไทย / ทางเลือก , โครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตในชุมชน  เป็นต้น

                ผลกระทบที่เกิดขึ้น  

1.)  เกิดความเข้าใจอันดีในการทำงานระหว่างกรรมการกองทุนฯ / เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลละแม กับ สถานบริการสาธารณสุข และผู้นำชุมชน   

2.) คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น  เห็นได้ชัดจากหลายๆโครงการ  เช่น  โครงการค่ายครอบครัวอุ่นรัก  สามารถให้วัยรุ่นและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเข้าวัดร่วมกับพ่อแม่ในวันพระ , ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ ,  อสม.หมูที่  19  มีศูนย์จัดการสุขภาพประจำหมู่บ้านเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และบริการสุขภาพขั้นเบื้องต้นแก่ประชาชน

3.)  เกิดนวัตกรรมจัดการสุขภาพ  เช่น การจัดค่ายครอบครัวอุ่นรัก , การจัดบริการแพทย์แผนไทยบ้านคลองสง , การให้ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพและการดูแลสุขภาพเบาหวานความดัน  เป็นต้น

4)  มีทีมบุคลากรในดำเนินงานสุขภาพของตำบล ( จนท. สาธารณสุข , อสม. , ผู้นำชุมชน ) ที่มีความรู้ในการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม  หลังจากร่วมกันดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ

5)  ประชาชนมาสนใจสุขภาพมากขึ้น  และสามารถถ่ายทอดความรู้แก่ครอบครัวได้

               

บทเรียนสำคัญต่อการขับ เคลื่อนสร้างสุขภาวะตำบลละแม

เงื่อนไข/ปัจจัยหรือข้อจำกัดสำคัญต่อการขับเคลื่อนงาน

                จากการดำเนินงานที่ผ่านมานั้นคณะทำงาน ตำบลได้สรุปบทเรียนปรากฏว่ามีเงื่อนไขของความสำเร็จและข้อจำกัดต่อการดำเนินงานบางประการที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จหรือไม่สำเร็จจำแนกได้ดังนี้

  • 1. การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ข้อมูลและองค์ความรู้พร้อมการสื่อสารสาธารณะเป็น

เครื่องมือในการดำเนินการจะทำให้เกิดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ

  • 2. การกำหนดเป้าหมายร่วม และยุทธศาสตร์ร่วม หรือแผนความร่วมมือการจัดการสุขภาพ

ในการจัดการสุขภาพของท้องถิ่นนั้น  ต้องมีหลายฝ่ายของท้องถิ่นได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีฉันทามติหรือสัญญาประชาคมร่วมกันที่จะขับเคลื่อน

  • 3. การดำเนินงานบูรณาการสร้างสุขภาวะ ทุกฝ่ายจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และท่าทีใน

การทำงานร่วมกันของท้องถิ่นควรยึดหลัก "  แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง"  ของแต่ละฝ่าย

  • 4. การขับเคลื่อนงานพัฒนาในท้องถิ่น นั้นมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคเข้ามากระทบ เช่น

สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง   คณะทำงานตำบลหรือทีมประสานงานจะต้องหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   

คำสำคัญ (Tags): #social chumphon
หมายเลขบันทึก: 216618เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 02:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท