ยาปฏิชีวนะคืออะไร?


ยาปฏิชีวนะคืออะไร?


ยาปฏิชีวนะคืออะไร?
top.gif (127 bytes)
Redtones.gif (2134 bytes)

ยาปฏิชีวนะมาจากคำว่า antibiotic ในภาษาอังกฤษ แปลตรงตัวว่าสารต่อต้านการดำรงชีวิต
โดยข้อเท็จจริงหมายถึงสารที่ผลิตตามธรรมชาติโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า จุลินทรีย์
ประเภทหนึ่งแล้วมีอำนาจยับยั้งหรือทำลายชีวิตของจุลินทรีย์อีกประเภทหนึ่งอันเป็นลักษณะ
ของการรักษาสมดุลย์ระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น ยาปฏิชีวนะชื่อว่าเพนนิซิลลิน
ผลิตโดยเชื้อราชนิดหนึ่งแล้วมีผลทำลายชีวิตของเชื้อแบคทีเรียอื่นที่อยู่ใกล้เคียง มนุษย์นำ
ประโยชน์ตรงนี้มาประยุกต์เป็นยารักษาโรคติดเชื้อ ซึ่งคำว่าโรคติดเชื้อนี้แปลเอาความได้ว่า
เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการรุกรานของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย มนุษย์จะคัดแยกสารปฏิ-
ชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคมาปรุงแต่งเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ
เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด แล้วให้กับผู้ป่วยเมื่อเกิดโรคติดเชื้อที่คาดว่าหรือพิสูจน์ว่าเกิด
จากเชื้อต้นเหตุดังกล่าว ยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้กันมักจะมีชื่อทั่วไปที่ลงท้ายด้วยคำว่ามัยซิน
เช่น อีริโทรมัยซิน คลาริโทรมัยซิน เจนตามัยซิน ลงท้ายด้วยคำว่าซิลลิน เช่น เพนนิซิลลิน
แอมพิซิลลิน อะม็อกซิซิลลิน ลงท้ายด้วยคำว่าซัยคลิน เช่น เตตร้าซัยคลิน ด้อกซี่ซัยคลิน
เป็นต้น แต่มียาปฏิชีวนะหลายตัวที่อยู่นอกเหนือกฏเกณฑ์นี้ เช่น คลอแรมเฟนิคอล เซฟา-
โซลิน ไรแฟมปิซิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีศัพท์อีกหลายคำที่เรามักจะได้ยินได้ฟังหรือพูดกัน เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาต้าน
แบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ ศัพท์เหล่านี้เป็นคำที่มาจากการ
มองยารักษาโรคติดเชื้อในแง่มุมที่ต่างกัน ยาต้านจุลชีพเป็นคำรวมที่หมายถึงยาต่อต้านการ
ดำรงชีวิตของเชื้อโรคซึ่งได้มาจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากธรรมชาติหรือจากการ
สังเคราะห์ทางเคมีก็ตาม ยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส หมายความถึงยาต่อ-
ต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคส่วนใหญ่ซึ่งแยกเป็นประเภทต่างๆ ตามชื่อที่บ่งบอก
ยาฆ่าเชื้อหมายถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อโรคที่ใช้นอกร่างกายและเป็นคำหนึ่งที่คน
ทั่วไปมักใช้เรียกแทนยารักษาโรคติดเชื้อ ยาแก้อักเสบเป็นอีกคำหนึ่งที่คนทั่วไปใช้เรียกแทนยา
ปฏิชีวนะซึ่งคำนี้สื่อความหมายที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากชื่อของโรคติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเรียก
ตามชื่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อแล้วตามด้วยคำว่าอักเสบ เช่น หลอดลมอักเสบ
ปอดอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น ทำให้คนทั่วไปจึงเรียกยารักษาโรคติดเชื้อว่ายาแก้อักเสบ
ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วซึ่งยาปฏิชีวนะไม่มีผลแก้ไขตรงจุดการอักเสบนี้ ยาเพียงแต่ทำลายเชื้อโรค
ที่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของอาการอักเสบ โดยข้อเท็จจริงแล้วการอักเสบเป็นอาการบาดเจ็บ
ที่เกิดจากความบอบช้ำของเนื้อเยื่ออันมีได้หลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากการฉีก
ขาดของกล้ามเนื้อ ไขข้ออักเสบจากการสะสมของกรดยูริค เป็นต้น ดังนั้นคำว่ายาแก้อักเสบ
ควรใช้กับยาที่รักษาอาการอักเสบดังกล่าวจริงๆ ไม่ควรใช้กับยารักษาโรคติดเชื้อเพราะจะทำให้
เข้าใจจุดประสงค์ของการใช้ยาผิดไปจากความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกชื่อจะต่างกันแต่ยาเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในการใช้เหมือนกันคือ
ทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคที่รุกรานให้ลดน้อยอยู่ในวิสัยที่กลไกป้องกันตนของ
มนุษย์ เช่น ภูมิต้านทาน สามารถกำจัดมันได้ และในบรรดาจุลินทรีย์ที่สามารถทำลายโดยการ
ใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ได้แก่ แบคทีเรียส่วนใหญ่ เชื้อราหลายชนิด และไวรัสบางชนิด

เหตุใดจึงเกิดโรคติดเชื้อและยาปฏิชีวนะรักษาโรคดังกล่าวได้อย่างไร? top.gif (127 bytes)
Redtones.gif (2134 bytes)

ต้องขอเน้นในชั้นต้นว่ายาปฏิชีวนะสามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น แต่ในสภาพ
ปัจจุบันปรากฏว่าประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างพร่ำเพรื่อ หรือโดยไม่จำเป็น หรือทั้งที่ความ
เจ็บป่วยนั้นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ จนทำให้มูลค่ายาปฏิชีวนะที่ใช้แต่ละปีสูงมากจนอยู่ในอันดับ
ต้นๆ ของรายการยาที่ใช้ทั้งหมด

จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทุกหนแห่งในสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ อาหาร น้ำ และดิน ตลอดจนในร่างกาย
ของมนุษย์เองโดยเฉพาะตามบริเวณผิวหนัง ช่องปาก ทางเดินหายใจส่วนบน ลำไส้ใหญ่และ
อวัยวะเพศ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ (เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เป็นต้น) มักจะอยู่รวมกับ
มนุษย์ในภาวะสมดุลย์และไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ในโอกาสที่สมดุลย์นี้เสียไปเนื่องจากมนุษย์เอง
มีภูมิต้านทานลดลงหรือจุลินทรีย์ทวีจำนวนและความร้ายแรงมากขึ้น เมื่อนั้นจะเป็นหนทาง
นำไปสู่การติดเชื้อซึ่งจุลินทรีย์จะรุกรานเข้าในเนื้อเยื่อต่างๆ ทวีจำนวนมากขึ้นและก่อให้เกิด
ผลเสียหรืออันตรายต่อมนุษย์

อย่างไรก็ดีร่างกายมนุษย์จะมีกลไกต่างๆ ที่ใช้ป้องกันตนเองจากการรุกรานของจุลินทรีย์
กลไกที่สำคัญนั้นได้แก่ ผิวหนังซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการแทรกซึมเข้าของเชื้อโรค สารขับ-
หลั่งและจุลินทรีย์บางประเภทบนผิวหนังซึ่งจะคอยยับยั้งการเจริญของเชื้อโรค สารขับหลั่ง
ในทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจและทางเดินระบบสืบพันธุ์จะคอยดักจับ ทำลาย หรือยับยั้ง
การเจริญของเชื้อโรค การไอ การกลืนและการบีบตัวของลำไส้หรือเซลที่คอยพัดโบกทาง-
เดินของระบบต่างๆ จะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคออกจากร่างกาย เซลชนิด
หนึ่งในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ จะทำตนเสมือนหนึ่งพนักงานเทศบาลคอยดักจับและย่อย
สลายเชื้อโรคหรือเศษหักพังของเซล กระบวนการอักเสบก็เป็นการตอบสนองของร่างกาย
ต่อสิ่งแปลกปลอม สารเคมี หรือแม้แต่การบอบช้ำของเนื้อเยื่อ การอักเสบจะจำกัดหรือ
ทำลายตัวต้นเหตุออกไปเพื่อให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นสามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติได้ ดังนั้น
จะเห็นได้ว่าในสภาวะปกติของร่างกายแล้วมนุษย์มีวิธีการต่อสู้โดยธรรมชาติต่อเชื้อโรค
อยู่แล้วหลายประการ

ในบางกรณี อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่บั่นทอนกลไกป้องกันตนดังกล่าวของร่างกายซึ่งทำให้
เรามีโอกาสพ่ายแพ้ต่อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคได้ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่

ภาวะเม็ดเลือดขาวลดต่ำ และความบกพร่องอื่นๆ เกี่ยวกับระบบเลือด

ภาวะทุโภชนาการหรือขาดอาหาร

สุขภาพพลานามัยที่ทรุดโทรม

โรคเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ

วัยสูงอายุ

การกดระบบภูมิต้านทานจากยาบางประเภท เช่น ยากดภูมิต้านทาน ยารักษามะเร็ง
และสารประกอบประเภทสเตอรอยด์ เป็นต้น

การทำลายจุลินทรีย์ปกติในช่องทางเดินของระบบอวัยวะต่างๆ โดยการใช้ยาต้าน
จุลชีพอื่น

ปัจจัยข้างต้นทั้งหลายที่กล่าวมาจะทำให้มนุษย์มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเมื่อเกิด
เป็นแล้วการรักษาให้หายขาดหรือการฟื้นตัวจะใช้ทั้งความพยายามและเวลามากกว่าปกติ

เมื่อเกิดโรคติดเชื้อ เชื้อต้นเหตุโรคจะรุกรานเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยแล้วเจริญและแบ่งตัวขยาย
พันธุ์โดยเบียดบังปัจจัยดำรงชีวิตจากร่างกายผู้ป่วย ทั้งยังผลิตสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อ
ผู้ป่วยอีกด้วย ผลประการหนึ่งจากการติดเชื้อคือทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในบริเวณ
ที่เชื้ออาศัยอยู่ เกิดอาการบวม แดง ร้อน และเนื้อเยื่อเสื่อมทำลายที่บริเวณดังกล่าว นอกจาก
นั้นมักมีอาการไข้ร่วมด้วย ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อโดยยับยั้งการเจริญหรือการขยายพันธุ์
ของเชื้อต้นเหตุโรค ยาปฏิชีวนะแต่ละตัวจะเลือกออกฤทธิ์โจมตีเซลเชื้อโรคตรงจุดที่แตกต่าง
จากเซลของมนุษย์ หรืออาจจะกล่าวว่ายาปฏิชีวนะมีพิษเฉพาะต่อเชื้อโรคโดยไม่มีพิษหรือมี
พิษน้อยต่อเซลร่างกายผู้ป่วย ส่วนใหญ่ยาปฏิชีวนะจะลดจำนวนเชื้อโรคลงจนเหลือน้อยและ
อยู่ในวิสัยที่ระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะทำลายเชื้อโรคจำนวนนั้นได้ ดังนั้นภูมิต้านทาน
ของร่างกายจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคติดเชื้อ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำหรือ
บกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDS) ผู้ที่ใช้ยากดภูมิต้านทาน หรือผู้ที่ขาดสารอาหารเรื้อรัง
เมื่อเกิดการติดเชื้อจึงรักษาให้หายขาดได้ยาก

ผลเสียและอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

top.gif (127 bytes)
Redtones.gif (2134 bytes)

เนื่องจากยาปฏิชีวนะเป็นสารแปลกปลอมที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลเสีย
และอันตรายต่อร่างกายได้หลายประการ มีทั้งที่เป็นผลเสียที่เกิดจากคุณสมบัติเฉพาะของยา
ปฏิชีวนะแต่ละตัวและที่เป็นผลเสียโดยรวมของยาปฏิชีวนะทั้งหมด ผลเสียเฉพาะตัวนั้นมี
รายละเอียดปลีกย่อยมากมาย แต่ผลเสียโดยรวมนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ

  1. การแพ้ยา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากการใช้ยาปฏิชีวนะแทบทุกตัว แต่มี
    โอกาสมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี การแพ้ยาเป็นผลจากการตอบโต้ของภูมิ
    ต้านทานร่างกายต่อยาปฏิชีวนะอย่างเกินเหตุ มีอาการได้ตั้งแต่ขั้นเบาเช่น มีผื่นตาม
    ผิวหนัง เป็นไข้ ลมพิษ เป็นต้น จนถึงขั้นสาหัสซึ่งเป็นการแพ้อย่างอย่างฉับพลัน
    รุนแรงที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกาย จนทำให้เกิดสภาวะช้อคและเสียชีวิตได้
    โดยทั่วไปถ้าหากเกิดอาการแพ้ที่อาการรุนแรงกว่าการมีผื่นตามผิวหนังแล้วมักจะหยุด
    การใช้ยาปฏิชีวนะนั้นหรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่มีผลรักษาเหมือนกันแทน ปัจจุบัน
    การแพ้ยาเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการรักษาโรคติดเชื้อเนื่องจากเรามี
    โอกาสถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานต่อยาปฏิชีวนะได้โดยไม่รู้ตัว เช่น จากการ
    บริโภคผลิตภัณฑ์นมหรือเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่

  2. การดื้อยา ในกรณีนี้หมายถึงการดื้อของเชื้อโรคต่อยา เป็นภาวะที่เชื้อโรคสามารถ
    ทนทานต่อฤทธิ์ของยาซึ่งเคยใช้ได้ผลกับมันมาก่อน อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือ
    รวดเร็วก็ได้ในระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้ยาติดต่อกัน
    นานๆ ในทางปฏิบัติเราควรจะตั้งข้อสังเกตุว่าเชื้อโรคเกิดดื้อยาถ้าพบว่าเมื่อใช้ยา
    ปฏิชีวนะแล้วอาการของโรคติดเชื้อไม่ดีขึ้นหรือกลับมีสภาพเลวลง ส่วนใหญ่การดื้อยา
    เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อโรคทำให้มันกลายพันธุ์เป็นชนิดที่
    สามารถทนทานต่อยาได้ และโดยทั่วไปเชื้อโรคซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวใดตัวหนึ่งมักจะ
    พลอยดื้อต่อยาปฏิชีวนะอื่นที่อยู่ในประเภทเดียวกันหรือมีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกัน
    ซึ่งทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะประเภทอื่นหรือที่มีสูตรโครงสร้างต่างออกไป

  3. การติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นสภาวะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นเมื่อสมดุลย์ของจุลินทรีย์ซึ่ง
    มีอยู่ตามปกติในร่างกายถูกกระทบกระเทือนหรือทำลายไป ในสภาพปกติจุลินทรีย์
    เหล่านี้บางชนิดมีประโยชน์โดยทำหน้าที่เหมือนองครักษ์พิทักษ์ร่างกายคอยปราม
    จุลินทรีย์ชนิดอื่นที่ก่อโรคให้สงบ การใช้ยาปฏิชีวนะนั้นในบางกรณีนอกจากจะทำลาย
    เชื้อต้นเหตุโรคแล้วยังพลอยทำให้จุลินทรีย์ชนิดนี้ถูกทำลายไปด้วย ซึ่งทำให้จุลินทรีย์
    ชนิดที่ทนทานต่อยาซึ่งหลงเหลืออยู่มีโอกาสแบ่งตัวขยายพันธุ์มากขึ้นและก่อให้เกิด
    การติดเชื้อชนิดใหม่ การติดเชื้อแทรกซ้อนอาจสังเกตุได้จากอาการของโรคที่เปลี่ยน
    ไปจากลักษณะเดิมที่เคยเป็นอยู่แต่แรก เช่น การติดเชื้อเดิมทำให้เจ็บคอ แต่ครั้นเมื่อ
    ใช้ยาปฏิชีวนะไประยะหนึ่งอาการเจ็บคออาจทุเลาลงแต่กลับมีอาการท้องเสียรุนแรง
    หรืออักเสบในช่องคลอด เป็นต้น สภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนนี้อาจเกิดได้ง่ายเมื่อใช้
    ยาปฏิชีวนะที่มีขอบเขตทำลายเชื้อกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้เป็นเวลา
    นาน และมักเป็นปัญหาต่อการรักษาเนื่องจากเชื้อต้นเหตุโรคติดเชื้อใหม่นั้นมักเป็น
    สายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้กันทั่วไป วิธีที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
    คือหยุดใช้ยาปฏิชีวนะที่กำลังใช้อยู่พร้อมกับพยายามจำแนกเชื้อที่เป็นต้นเหตุการ
    ติดเชื้อแทรกซ้อนนั้นให้ถูกต้อง แล้วรีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอื่นที่สามารถทำลายเชื้อ
    ดังกล่าวได้ดี

หลักการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีประสิทธิภาพ

top.gif (127 bytes)
Redtones.gif (2134 bytes)

การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้และการปฏิบัติอย่าง
ถูกต้อง ซึ่งสรุปเป็นหลักการทั่วไปได้ดังต่อไปนี้

  1. ประการแรกต้องแน่ใจว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อ สิ่งนี้อาศัย
    การวินิจฉัยด้วยประสพการณ์ของแพทย์ผู้ทำการรักษาซึ่งจะสังเกตุจากตำแหน่งของ
    การเกิดโรค ลักษณะอาการของโรค และยืนยันด้วยผลพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการจุล-
    ชีววิทยาว่ามีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคอยู่แถวบริเวณที่เกิดความเจ็บป่วย เช่น ตรวจ
    เพาะเชื้อจากเสมหะ เลือด หรือเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ

  2. ควรวินิจฉัยว่าจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อนั้นคืออะไร ส่วนใหญ่แพทย์มัก
    สรุปเชื้อต้นเหตุโรคจากข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรค และถ้าจะให้สมบูรณ์แบบ
    ควรตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าเชื้อต้นเหตุโรคดังกล่าวคือเชื้ออะไรและถูก
    ทำลายด้วยยาปฏิชีวนะชนิดใดบ้าง เนื่องจากเชื้อโรคแต่ละชนิดมักจะสยบต่อยา
    ปฏิชีวนะต่างชนิดกัน เชื้อโรคบางชนิดหรือบางสายพันธุ์จะทนทานต่อยาปฏิชีวนะ
    บางตัวซึ่งถ้าหากไม่ทราบเชื้อต้นเหตุโรคแล้วใช้ยาโดยการคาดคะเน อาจเลือกยาผิด
    ทำให้การรักษาอาจล้มเหลวและเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้

  3. เมื่อทราบเชื้อต้นเหตุโรคแล้วต้องเลือกใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วย
    แต่ละรายไป ไม่จำเป็นว่ายาที่เลือกใช้จะต้องเป็นยาที่มีอำนาจทำลายเชื้อต้นเหตุโรค
    ได้สูงสุด เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เป็นตัวช่วยกำหนดอีกหลายประการ อาทิเช่น
    กำลังภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยว่ามีมากน้อยเพียงใด ผู้ป่วยมีความผิดปกติหรือพยาธิ
    สภาพอื่น เช่น โรคเกี่ยวกับตับไตร่วมอยู่หรือไม่ ผู้ป่วยแพ้ยาปฏิชีวนะตัวใดบ้าง แม้แต่
    สถานภาพของผู้ป่วยว่าเป็นคนไข้นอกหรือคนไข้ใน หรือราคายา ก็อาจมีผลกระทบต่อ
    การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้เช่นกัน ยาที่เลือกใช้ควรจะเป็นยาตัวที่พิจารณาจากองค์
    ประกอบและปัจจัยส่งเสริมทุกประการแล้วเล็งเห็นว่าจะยังประโยชน์สูงสุดต่อการ
    รักษาโรคติดเชื้อของผู้ป่วยเฉพาะรายนั้น

  4. ใช้ยาที่เลือกสรรแล้วด้วยแผนการให้ยาที่ถูกต้อง กล่าวคือต้องใช้ยาด้วยวิธี ขนาดยา
    และกำหนดเวลาที่เหมาะสม เรื่องนี้เป็นการประยุกต์ทั้งศาสตร์และศิลป์ทางเวชบำบัด
    ที่แพทย์ต้องนำมาใช้ร่วมกัน เนื่องจากโรคติดเชื้อแต่ละชนิดมักจะมีแผนการให้ยาที่
    แตกต่างกันไปตามความสาหัสของโรค ดังนั้นจึงไม่อาจกำหนดตายตัวได้ว่ายาปฏิ-
    ชีวนะตัวหนึ่งต้องใช้วิธี ขนาดยา และกำหนดเวลาอย่างไร แต่อาจจะยึดเป็นหลัก
    เบื้องต้นว่าไม่ควรหยุดการให้ยาในทันทีที่อาการของโรคหายไป ควรใช้ยาต่อไปอีก
    สักระยะหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อต้นเหตุโรคในร่างกายได้ถูกกำหราบโดยสิ้นเชิงแล้ว
    เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนชนิดไม่รุนแรงควรใช้ยาปฏิชีวนะ
    ประมาณ 5-7 วัน

  5. หลีกเลี่ยงปฏิกริยาต่อกันของยาปฏิชีวนะกับยาอื่นที่ได้รับในเวลาเดียวกัน หลักการ
    ข้อนี้เป็นสิ่งที่มักจะถูกเมินอยู่เป็นนิจเนื่องจากเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วไม่แสดงผลเสีย
    ให้เห็นอย่างชัดเจน และในหลายกรณีก็ไม่อาจคาดคะเนได้ล่วงหน้า อย่างไรก็ดีการ
    รักษาโรคในปัจจุบันมักใช้ยาร่วมกันหลายตัว ซึ่งยาที่ใช้ดังกล่าวอาจมีปฏิกริยาต่อกัน
    และมีผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีผลพิษต่อไตร่วมกับ
    ยาอื่นซึ่งมีพิษต่อไตจะเสริมฤทธิ์กันและอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการพิษต่อไต
    รุนแรงจนถึงขั้นไตวาย ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรจะต้องทราบปฏิกริยาต่อกันที่สำคัญ
    ของยาปฏิชีวนะหาทางหลีกเลี่ยงเสมอ

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ

top.gif (127 bytes)
Redtones.gif (2134 bytes)

เมื่อรับประทานยาปฏิชีวนะต้องรับประทานให้ครบขนาดและกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากการทำลายเชื้อโรคนั้นต้องให้เชื้อโรคในร่างกายสัมผัสกับยาในระดับที่สูงพอ
อย่างต่อเนื่อง เมื่อเรารับประทานยาขาดหรือไม่ตรงเวลาจะทำให้ระดับยาในเลือดไม่สูง
พอจะทำลายเชื้อโรค ถ้าเรารับประทานยาไม่ต่อเนื่องจนครบกำหนดเชื้อโรคส่วนที่ยัง
เล็ดรอดอยู่จะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก โรคติดเชื้อก็จะไม่หาย มิหนำซ้ำในบางกรณีเชื้อโรค
ที่เล็ดรอดไปได้จะคุ้นเคยกับยาและกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อโรคที่ดื้อยา ทำให้เกิดปัญหา
ในการรักษาเมื่อเกิดโรคติดเชื้อเดิมอีกครั้ง

เมื่อเกิดอาการที่สงสัยว่าเป็นการแพ้ยาให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีอาการแพ้
รุนแรงควรหยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบนำยาที่ใช้ขณะนั้นทั้งหมดไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือ
เภสัชกร เมื่อทราบว่าแพ้ยาใดแล้วจะต้องจดจำไว้เพื่อหลีกเลี่ยงยาดังกล่าวในการรักษา
โรคครั้งต่อๆ ไป

ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ใช้มากๆ เนื่องจากการติดเชื้อนั้นจะต้องใช้ยาให้เหมาะกับ
เชื้อต้นเหตุซึ่งในแต่ละครั้งอาจแตกต่างกันไป จึงควรพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกร
ทุกครั้งที่สงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อเพื่อจะได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง เช่นเดียวกันไม่ควร
แบ่งปันยาปฏิชีวนะของตนให้ผู้อื่นที่เป็นโรคติดเชื้อเนื่องจากอาจเกิดจากเชื้อต้นเหตุ
ต่างชนิดกับที่ตัวเองเป็นอยู่

ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่สงสัยว่าเสื่อมหรือหมดอายุแล้ว อาจสังเกตุได้จากวันหมดอายุ
ซึ่งพิมพ์อยู่บนแผง กล่อง หรือขวดยา หรือลักษณะโดยทั่วไปของยา เช่น เม็ดยาชื้น
สีซีดจาง หรือแตกร้าว เป็นต้น ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งที่ต้องละลายน้ำก่อนใช้
ควรเก็บยาที่ละลายแล้วไว้ในตู้เย็นและใช้ให้หมดภายในเวลา 7 วัน เนื่องจากยาน้ำ
ดังกล่าวมักไม่คงตัวอยู่นาน

ยาปฏิชีวนะบางอย่างมีข้อควรระวังพิเศษในการใช้ เช่น ทำให้คลื่นไส้อาเจียน มีผลพิษ
ต่อไต มีปฏิกริยาต่อกันกับยาอื่นแล้วอาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรง เป็นต้น กรณีของยา
เหล่านี้เภสัชกรจะให้คำชี้แจงแก่ผู้ใช้ยาเสมอถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยง ตัวอย่าง
ของกรณีดังกล่าว เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะอีริโทรมัยซินหรือยาต้านเชื้อราคีโตโคนาโซล
มีผลลดความสามารถทำลายยาของตับ ถ้าหากใช้ร่วมกับยาแก้แพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วง
บางตัว เช่น เทอร์เฟนนาดีนหรือแอสเตมิโซลจะมีผลให้ยาแก้แพ้ดังกล่าวถูกทำลาย
น้อยลงจนเป็นเหตุให้เกิดผลพิษต่อหัวใจ โดยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งมี
อันตรายร้ายแรง เป็นต้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกหลักการทำได้ยากกว่ายารักษาโรค
ทั่วไป เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเกิด
ความเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ อย่าได้ลองรักษาตัวเองด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะ
มารับประทานโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน เพราะถ้าโชคดีความเจ็บป่วยนั้น
อาจจะบรรเทาลงได้ แต่ถ้าโชคร้ายความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวผู้ป่วยเองจะมากกว่าที่คาดคิด
ไว้ เช่น โรคลุกลามจนถึงขั้นรุนแรง เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น ผลเสียจากการใช้ยา
ปฏิชีวนะไม่ถูกหลักการยังมีผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น กระตุ้นให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ที่ดื้อยา
ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาโรคติดเชื้อนั้นกับผู้ป่วยรายอื่นๆ

ท้ายที่สุดอยากฝากคำขวัญสั้นๆ ไว้ว่า “ปลูกข้าวพึ่งชาวนา ใช้ยาพึ่งเภสัชกร”

หมายเลขบันทึก: 216504เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2008 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท