เมื่อแม่ป่วยหนัก


สิทธิแห่งการตาย

 

ดับไม่เหลือ

อย่าเข้าใจว่าต้องเรียนมาก ต้องปฏิบัติลำบากจึงพ้นได้

ถ้ารู้จริงสิ่งเดียวก็ง่ายดาย รู้ดับให้ไม่มีเหลือเชื่อก็ลอง

เมื่อเจ็บไข้ความตายจะมาถึง อย่าพรั่นพรึงหวาดไหวให้หม่นหมอง

ระวังให้ดีดีนาทีทอง คอยจดจ้องให้ตรงจุดหยุดให้ทัน

ถึงนาทีสุดท้ายอย่าให้พลาด ตั้งสติไม่ประมาทเพื่อดับขันธ์

ด้วยจิตว่างปล่อยวางทุกสิ่งอัน สารพันไม่ยึดครองเป็นของเรา

ตกกระไดพลอยโจนให้ดีดี จะถึงที่มุ่งหมายได้ง่ายเข้า

สมัครใจดับไม่เหลือเมื่อไม่เอา ก็ " ดับเรา " ดับตนดลนิพพาน

 

เพื่อท่านพุทธทาส

โดย น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ 

 

ท่านพุทธทาสภิกขุ อาพาธด้วยโรคหลอดเลือดในสมองแตก ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ หลังจากที่ท่านเคยอาพาธมาหลายครั้งด้วยโรคต่าง ๆ ตามวัยและสังขารตามธรรมชาติในการอาพาธครั้งนี้ ท่านหมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) แพทย์บอกว่า ถ้าเป็นในคนหนุ่มสาวคงตายแล้ว เพราะในคนหนุ่มสาว เนื้อสมองจะแน่นเต็มกะโหลกศีรษะ เลือดออก       ไม่มากนักก็กดเนื้อสมองได้มาก ทำให้ตายได้อย่างรวดเร็ว แต่ในคนสูงอายุ เนื้อสมองหดเล็กลง (สมองฝ่อ) จึงมีช่องว่างให้เลือดออกมาแทรกอยู่ได้โดยไม่กดเนื้อสมองมากนักอย่างไรก็ตาม ในกรณีของท่านพุทธทาส เลือดที่ออกได้กดเนื้อสมองมากจนทำให้หายใจเองไม่ได้ และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว จึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และต้องใช้ยาช่วยหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด และอื่น ๆ เพื่อไม่ให้ท่านมรณภาพเมื่อครั้งที่ท่านพุทธทาสอาพาธด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในเดือนตุลาคม ๒๕๓๔ คณะแพทย์ต้องการนิมนต์ท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯ ท่านตอบว่า "สำหรับกรุงเทพฯ ไม่ถูกกับอาตมา โดยรูป โดยกลิ่น โดยเสียง โดยรส โดยโผฏฐัพพะ มันไม่ถูกกับอาตมา" ท่านยืนยันที่จะรักษาตนอยู่ที่วัด และท่านก็หายจากการอาพาธได้อย่างเรียบร้อย เช่นเดียวกับการอาพาธจากหลอดเลือดในสมองแตกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ หลังจากนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุได้ปรารภเกี่ยวกับสังขารของท่านเรื่อยมา แม้ในเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนการอาพาธหนักครั้งนี้ ท่านก็ยังปรารภว่า

 

"เราจะตาย แต่เขาไม่ยอมให้ตาย" (น.พ.บัญชา/กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖)

"เราเบื่อชีวิต เราเบื่อที่จะฉันอาหาร เบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง รักนิพพานมากขึ้นเรื่อย ๆ " (น.พ.ดวงศักดิ์/พฤษภาคม ๒๕๓๖)

"น่ากลัวอาการเดิมจะมา อาการเดิมที่เป็นคราวก่อน... พรเทพเอาย่ามของเราไปเก็บ แล้วก็เอากุญแจในกระเป๋านี่ไปด้วย     เราไม่อยากตายคากุญแจตู้เอกสาร...." (ท่านพรเทพ/เช้าวันที่ ๒๕ พฤภาคม ๒๕๓๖)

 

การยืดการตายในผู้ป่วยที่สูงอายุและป่วยหนักหลายครั้งแล้ว และยังได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า "จะขอตายตามธรรมชาติ อย่าใช้เครื่องช่วยหายใจ อย่าใส่ท่อใส่สายยาง เจาะนั่นเจาะนี่และขอตายที่วัด" นั้น เป็นการถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือ? ถ้าท่านพุทธทาสเป็นเพียงพระเงื่อม หรือหลวงตาแก่ ๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง ท่านคงจะได้จากไปด้วยความสุขสงบตามควรแก่อัตตภาพมาหลายวันแล้ว แต่ทำไมคนที่ทำดีปฏิบัติดี กลับต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสในวาระสุดท้ายเช่นนี้เล่า ?

ท่านพุทธทาสได้วิริยะอุตสาหะปฏิบัติธรรมและเผยแพร่ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ไม่แปรเปื้อนด้วยพิธีกรรมและเดียรัจฉานวิชาที่บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ท่านจึงเป็นที่ชื่นชม บูชา และเลื่องลือไปทุกสารทิศ รวมทั้งนานาอารยประเทศแต่กรรมดีที่ท่านได้พากเพียรปฏิบัติและสั่งสมมาตลอดชีวิต กลับตามสนองให้วาระสุดท้ายของท่านตกอยู่ในความทุกข์ทรมาน ในสภาพ "จะตายก็ตายไม่ได้ จะเป็นก็เป็นไม่ได้" ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ใน ไอซียู หรือ อาร์ซียู ของโรงพยาบาลอย่างอ้างว้างโดดเดี่ยวเหลือเกินในวาระสุดท้าย เพราะคนที่เคยอยู่ใกล้ชิดไม่สามารถเข้าไปอยู่เคียงกายคอยปรนนิบัติท่านได้เราที่เป็นพุทธศาสนิกชน ควรตอบแทนคุณงามความดีของท่าน ด้วยการกระทำที่ขัดกับเจตนารมณ์ของท่านอย่างนั้นหรือ ?

 

การอ้างว่า การรักษาพยาบาลเหล่านั้นเป็นการช่วยชีวิต และจะทำให้ท่านพุทธทาสหายเป็นปกติได้ เป็นการสร้างความหวังที่มิอาจเป็นจริงได้ เพราะการกระทำเหล่านั้นมิได้เป็นการช่วยชีวิต มันเพียงแต่ช่วยเพิ่มตัวเลขอายุ (เป็นวันหรือเป็นเดือน) ตัวเลขชีพจร ตัวเลขความดันและอื่น ๆ โดยผู้ที่ถูกยืดการตายนั้นต้องทนทุกข์ทรมานอย่างสาหัส บางคนอาจจะแย้งว่า ผู้ป่วยหมดสติแล้วไม่ทรมานหรอก หรือถ้ามีสติ แพทย์ก็ให้ยานอนหลับและยาแก้ปวดให้ไม่ต้องทรมานได้คนที่ชอบแย้งเช่นนั้น น่าจะลองให้แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ ใส่ท่อให้อาหารทางจมูก ใส่ท่อสวนปัสสาวะ และมัดมือมัดเท้ากันดิ้นจนไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย แล้วจะได้รู้ซึ้งถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น

 

การทรมานตนเอง ย่อมเป็นบาป

การทรมานผู้อื่น ยิ่งเป็นบาปหนัก

 

แต่เราก็ยังยอมให้คนที่เรารักและบูชาต้องถูกทรมานโดยความประสงค์ของเรา หรือโดยการกระทำของเรา เรายอมให้คนที่เรารักและบูชา ต้องทนทุกข์ทรมานเพียงเพื่อเราจะได้รู้สึกว่า   ท่านยังอยู่กับเราท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใด เราไม่สนใจ ขอเพียงแต่ให้ท่านอยู่กับเราต่อไป แม้จะอยู่ในสภาพ "จะตายก็ตายไม่ได้ จะเป็นก็เป็นไม่ได้" ก็ตาม นับว่าความต้องการเช่นนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเราเองโดยแท้ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ที่เรารักและบูชาแต่อย่างใด จึงนับว่าเป็นความเห็นแก่ตัว

หากความเห็นแก่ตัวเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ ท่านพุทธทาสที่เรารักและบูชาจะต้องทนทุกข์ทรมานต่อไปอย่างไม่มีกำหนดเจตนารมณ์ที่จะปลงสังขารตามธรรมชาติในวัดที่ท่านสร้างและได้พำนักมาตลอด ได้ถูกทำลายลงโดยไม่ได้สำเหนียกถึงพุทธธรรมและธรรมชาติที่ท่านพุทธทาสได้พร่ำสอนอบรมให้ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการยืดการตายท่านพุทธทาสจึงไม่ใช่ท่านพุทธทาส แต่กลับเป็นบุคคลต่าง ๆ เช่น

๑.) ผู้ที่ต้องการทำตามความปรารถนาของตนมากกว่าความปรารถนาของท่านพุทธทาส เพราะต้องการลดความห่วงหาอาลัยของตนลงเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึง ท่านพุทธทาส ของ ท่านพุทธทาส

๒.) แพทย์พยาบาลที่ได้มีโอกาสทดลองวิธียืดการตายแบบต่าง ๆ

๓.) ผู้เข้าใจผิดเป็นเหตุให้ท่านพุทธทาส ได้รับความทุกข์ทรมานในวาระสุดท้าย ทำให้จิตใจของ ท่านพุทธทาส ไม่สามารถนิ่งสู่ความสงบและบรรลุนิพพานได้ เนื่องจากความทุกข์ทรมานทางกายและความวุ่นวายของแพทย์พยาบาลต่าง ๆ เป็นต้น   สังคมไทยบางส่วนได้เปลี่ยนไปเป็นสังคมที่โหดเหี้ยมถึงเพียงนี้แล้วหรือ ?

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทเรียนจากกรณีอาพาธ ของท่านพุทธทาส 

 

โดย น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖

ในขณะที่เขียนบทความนี้ (คืนวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖) การอาพาธของท่านพุทธทาสได้ทรุดลงอย่างมาก เช่น

๑. ไตของท่านหยุดทำงานหรือทำงานไม่พอ (ไตวาย) จนท่านบวมทั้งตัว และต้องทำการฟอกเลือด

๒. ปอดอักเสบ สายเสียงอักเสบ คออักเสบ ฯลฯ เพราะใส่ท่อช่วยหายใจมานานจึงต้อง "เจาะคอ" ช่วยหายใจแทน

๓. หัวใจทำงานไม่ไหว (หัวใจวาย) เพราะต้องแบกรับภาระการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ที่กำลังจะหมดแรงทำงานเช่นเดียวกัน และเพราะเป็นโรคหัวใจอยู่ด้วย

๔. สมองของท่านก็อาจถือได้ว่าเกือบไม่ทำงานแล้ว (สมองวาย)

การอาพาธของท่านพุทธทาส ได้ให้บทเรียนแก่เราชาวไทยและเราชาวพุทธหลายประการ

ก. ด้านแพทย์ เช่น

    ก.๑ ความคาดหมาย (การอนุมานโรค) ต่าง ๆ ของแพทย์ ผิดพลาดอย่างมหันต์ เช่น การคาดหมายว่า

            (๑) ท่านพุทธทาสจะดีขึ้นถ้าได้รับการเคลื่อนย้ายมารักษาที่กรุงเทพฯ

(๒) ท่านพุทธทาสจะหายเป็นปกติ หรือหายจนสามารถเทศน์ให้ญาติโยมฟังใหม่ได้

    ก.๒ คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ของแพทย์ เชื่อไม่ได้ เช่น

(๑) ไม่เจาะคอแน่ ๆ ก็ได้ทำการเจาะคอแล้ว

(๒) ไม่เจาะนั่นเจาะนี่หรือผ่านั่นผ่านี่ ก็ได้ทำแล้ว เช่น การผ่าตัดใส่สายต่าง ๆ การฟอกเลือดเป็นต้น

    ก.๓ แถลงการณ์ของแพทย์ไม่โปร่งใสและสร้างความสับสนแก่ประชาชน เช่น แทนที่จะแถลงว่า "อาการดีขึ้น เลวลง หรือคงเดิม" กลับแถลงถึงตัวเลขชีพจร อุณหภูมิ ความดันเลือด จำนวนปัสสาวะ และผลการตรวจเลือด แล้วสรุปว่าปกติหรือใกล้ปกติ แต่ยิ่งรักษา อาการอาพาธยิ่งทรุดลง จนทำให้สงสัยว่า แถลงการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดจาก อวิชชา (ความโง่เขลา) ตัณหา (ความทะยานอยาก) หรืออุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่นอย่างหลงผิด) กันแน่

 

ข. ด้านการรักษาพยาบาล : จากกรณีของท่านพุทธทาส ทำให้เห็นได้ชัดว่าการรักษาพยาบาลที่ขัดกับเจตนารมณ์ของผู้ป่วยสามารถกระทำได้ในประเทศไทย ต่อไปในอนาคตคงจะไม่ต้องให้ผู้ป่วยเซ็นชื่ออนุญาตให้แพทย์ผ่าตัดได้ หรือรักษาพยาบาลใด ๆ เพราะแพทย์จะทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ยอมไปโรงพยาบาล แพทย์ก็สามารถจะไปเอาตัวมาจากบ้าน และถือว่าเป็นผู้ป่วยของตน และของโรงพยาบาลได้ การรักษาพยาบาลเพื่อยืดการตาย แม้จะเป็น "การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" เป็นการทำลายทรัพยากร (ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เป็นการทรมานผู้ป่วยและญาติมิตร และเป็นการเบียดเบียนผู้ป่วยอื่นและสังคม แต่กลับยอมรับกันว่าถูกต้อง เพราะได้กระทำอย่างครึกโครมและมีเกียรติ (ได้ออกโทรทัศน์ด้วย

 

ค. ด้านศาสนา : แม้จะมีผู้อ้างว่าท่านพุทธทาสได้ "ดับขันธ์" แล้ว ตั้งแต่วันที่ ๒๕ หรือ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๖ แต่เราคงจะต้องยอมรับว่า กระบวนการยืดการตายได้กระตุกภาวะ "ละร่าง" หรือ "ละขันธ์" นั้น ให้กลับมาใหม่เป็นครั้งเป็นคราวได้ จนคณะแพทย์ถึงกับออกแถลงการณ์หลายครั้งว่า "ท่านกระดิกนิ้วได้แล้ว ลืมตาแล้ว รู้เรื่องแล้ว เพราะแววตาของท่านแสดงว่าท่านรู้เรื่อง" เป็นต้น ทำให้การ "ละขันธ์" ของท่านต้องถูกกระชากกลับเป็นครั้งคราว ไม่อาจบรรลุสู่ความสุขสงบอันเป็นนิรันดรได้

 

ง. ด้านค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ : การรักษาพยาบาลท่านพุทธทาสและการแถลงข่าวอย่างครึกโครม สร้างความมั่นคงให้แก่ค่านิยมใหม่และวัฒนธรรมใหม่ เช่น

(๑) การยอมรับการตายในโรงพยาบาล (โดยเฉพาะการตายใน ไอ.ซี.ยู. ในโรงพยาบาล) ว่าเป็นการตายที่ดีที่สุด

(๒) การยอมรับคำวินิจฉัยและคำตัดสินของแพทย์โดยไม่มีเงื่อนไข หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ แพทย์จะทำอะไรก็ได้ ผู้ป่วยและญาติจะปฏิเสธไม่ได้ แม้แพทย์จะผิดคำมั่นสัญญาหรือขาดวิจารณญาณที่ดีก็ตาม

(๓) การยอมรับการแทรกแซงจากผู้อื่น (ที่ไม่ใช่ญาติของผู้ป่วย) โดยแพทย์ ในการเคลื่อนย้ายและการักษาพยาบาลผู้ป่วย

ท่านพุทธทาสได้ให้คุณประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาลทั้งในยามปกติและยามป่วย การอาพาธของท่านได้ให้บทเรียนแก่มนุษยชาติอย่างมากมายถ้ามนุษยชาติไม่สามารถนำบทเรียนเหล่านี้มาศึกษาให้เข้าใจแล้ว ความทุกข์ทรมานจากการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นและไม่ถูกต้อง ย่อมจะเกิดขึ้นอีกและจะเกิดขึ้นตลอดไป.

 

 

๘ กรกฎาคม ครบรอบปี มรณกาล ท่านพุทธทาส

 

โดย น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๓

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกฺขุ (อินฺทปัญโญ) ได้จรรโลงพุทธศาสนาที่แท้จริงตามหลักธรรม

"ธรรม" ในความหมายของท่านคือ:-

๑. ธรรมชาติ

๒. กฏของธรรมชาติ

๓. หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ

๔. ผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่

พุทธศาสนาตามหลักธรรมหรือพุทธธรรม จึงเป็นวิทยาศาสตร์ รู้เองเห็นเองได้ (สันทิฏฐิโก) ไม่ขึ้นกับกาลเวลา (อะกาลิโก) และเป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ (เอหิปัสสิโก)ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า "พระพุทธศาสนา" ที่ต้องพึ่งพาพิธีกรรม ไสยศาสตร์ การปลุกเสก การมอมเมาและอื่น ๆ ที่ตื่นตกอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเข้าสู่วัยชรา ท่านพุทธทาสอาพาธหนักหลายครั้ง เช่น ในเตือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านเกิดภาวะหัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คณะแพทย์ต้องการนิมนต์ท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯท่านตอบว่า "สำหรับกรุงเทพฯ นั้น ไม่ถูกกับอาตมา โดยรูป โดยกลิ่น โดยเสียงโดยรสโดยโผฏฐัพพะมันไม่ถูกกับอาตมา"แล้วท่านก็รักษาตนอยู่ที่วัดและหายอาพาธได้เรียบร้อย เช่นเดียวกับการอาพาธจากโรคหลอดเลือดในสมองแตกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕

ในการอาพาธหนักครั้งสุดท้ายด้วยโรคหลอดเลือดสมองแตกอีกในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ในเช้าวันนั้นก่อนที่ท่านจะอาพาธ ท่านกล่าวกันท่านพรเทพ (พระที่ช่วยงานท่าน) ว่า "น่ากลัวอาการเดิมจะมา อาการเดิมที่เป็นคราวก่อน....พรเทพเอาย่ามของเราไปเก็บ แล้วก็เอากุญแจในกระเป๋านี่ไปด้วย เราไม่อยากตายคากุญแจตู้เอกสาร....."

แสดงว่าท่านทราบล่วงหน้าด้วยตัวท่านเองแล้วว่า วันนั้นท่านจะอาพาธอีกและไม่รอด จึง "ไม่อยากจะตายคากุญแจตู้เอกสาร" แล้วเย็นวันนั้นเอง ท่านก็หมดสติจากหลอดเลือดสมองแตก และคงจะได้จากไปอย่างสงบตามธรรมชาติในวัดที่ท่านได้สร้างและพำนักมาโดยตลอด และไม่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานใด ๆ ที่ไม่จำเป็นแต่แล้วท่านก็ถูกยื้อยุดฉุดคร่าไปโรงพยาบาล และไปรักษาที่กรุงเทพฯ ทำให้ท่านต้องผ่านกระบวนการ "การตาย" ที่ผิดธรรมชาติ จนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ผู้รักษาท่านจึงยอมให้ท่านตาย (หลังจาก "ทรมาน" ท่านไว้เดือนเศษ)

 

 

 

 

 

"การตาย" ของท่านจึงทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า

๑.การยื้อยุดฉุดคร่าผู้ป่วยไปรับการรักษา ทั้งที่ผู้ป่วยได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนหลายครั้งว่าไม่ปรารถนาเช่นนั้น ถูกต้องหรือไม่ ถูกกฎหมายหรือไม่

๒. การกระทำเพื่อยืดการตาย (หรือที่ชอบเรียกกันว่า ยืดชีวิต) ของ "ผู้ป่วยที่หมดหวัง" ซึ่งทำให้ผู้ป่วย ญาติ และสังคมต้องได้รับความทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้นนั้น สมควรหรือไม่

๓. การตายในโรงพยาบาลเป็นการตายที่ดีที่สุดหรือ การตายที่ต้องผ่านกระบวนการทุบอก กระแทกอก เพื่อนวดหัวใจ การใช้ไฟฟ้าช็อกหัวใจ การใส่สายระโยงระยางต่าง ๆ การเจาะคอ เป็นการตายที่น่าปรารถนาหรือ

อันที่จริง "การตายในโรงพยาบาล" เกือบทั้งหมดเป็นการตายที่ผิดธรรมดา - ผิดธรรมชาติ เพราะเป็นการตายที่ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ โดยน้ำมือของผู้อื่น

 

การตายที่ผิดธรรมดา - ผิดธรรมชาติ ตายโดยน้ำมือของผู้อื่น (น้ำมือแพทย์ - พยาบาล) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เรียกว่า "ตายโหง"

 

แล้วทำไมคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนร่ำรวยหรือมีอำนาจวาสนา จึงชอบตายในโรงพยาบาล จนวัฒธรรมแห่ง "การตายในโรงพยาบาล" ได้แผ่ไปครอบงำคนไทยทุกชั้นวรรณะ ยิ่งได้ตายใน ไอซียู ( Intensive Care Unit ) ซีซียู (Cardiac Care Unit ) หรือ ยู พิเศษอื่น ๆ ยิ่งรู้สึกโก้เก๋ จนต้องนำไปโอ้อวดกันประหนึ่งว่า ญาติของตนได้รับการรักษาดีที่สุดและได้ตายดีที่สุดแล้ว

 

"การตาย" ของท่านพุทธทาสจึงได้กระตุกผู้คนให้ตื่นขึ้น และเริ่มพินิจพิจารณาถึง "แนวทางการดูแล รักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง" อย่างจริงจังแต่ก็น่าเสียใจ ที่ผ่านไปหลายปีแล้ว ยังไม่มี "แนวทางการดูแล รักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง" อย่างเป็นทางการจากแพทยสภา แพทยสมาคม วิทยาลัยและราชวิทยาลัยแพทย์ สภาการพยาบาล สภาสังคมสงเคราะห์ สภาทนายความ มหาเถรสมาคม สมาคมสังคมศาสตร์ และสถาบันอื่น ๆ  "ผู้ป่วยที่หมดหวัง" จึงมักถูกถูลู่ถูกัง และปู้ยี่ปู้ยำไปตามกิเลสของผู้ที่เกี่ยวข้อง จนแม้แต่ใน "คำประกาศสิทธิผู้ป่วย ๑๐ ประการ" ของแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะที่ประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ก็ยังไม่ครอบคลุมถึง "สิทธิที่จะตายตามธรรมชาติและโดยธรรมชาติ" และ "สิทธิที่จะกำหนดการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง" ของผู้ป่วย ทั้งที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้เน้นสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วย และใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ แล้ว

 

ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึง "การตาย" ว่า มี ๒ ชนิด

๑. การตายในภาษาคน คือการสิ้นชีวิต หรือการแตกดับของร่างกาย

๒. การตายในภาษาธรรม คือ การตายจากกิเลส การตายจาก "ตัวกู - ของกู"

ท่านเรียก " การตายโดยไม่อยากตาย "ว่าเป็น "การตายโหง" ด้วย เพราะเป็นการตายที่ยังดิ้นรนต่อสู้อยากมีชีวิตอยู่ แต่ชีวิตก็ถูกดับไป ผู้ที่ "ตายไม่เป็น" จึงเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า การตายอย่างไรดีที่สุด เพราะไม่ได้เตรียมตัวตายไว้ก่อน นั่นคือไม่ได้ "ตาย ก่อนตาย" นั่นเอง  ท่านพุทธทาสกล่าวว่า พระพุทธเจ้าตายเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ที่ต้นโพธิ์ นั่นคือ ตายจากกิเลส ตายจากตัวกู ของกู การตายให้เป็น คือการให้ร่างกายมันแตกดับไปในลักษณะที่เหมาะสม แม้ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าหรือยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ทำตามอย่างท่านได้เราจึงเห็นได้ว่า เรื่องตายนั้น เมื่อควรตายก็ให้มันตายอย่างที่เรียกว่า ปลงสังขาร ปลงอายุสังขาร จะต้องไปดิ้นรนต่อสู้ให้ยุ่งยากลำบากไปทำไมเรื่องผ่าตัดเอาหัวใจไปใส่ใหม่นี้ ถือว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ของคนที่ไม่รู้จักตาย ตายไม่เป็น ก็ต้อง "ตายโหง" อยู่ดี คือ ตายด้วยจิตใจที่ไม่อยากตาย เรียกว่า "ตายโหง" หมด

คำสำคัญ (Tags): #วาระสุดท้าย
หมายเลขบันทึก: 216359เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2008 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 06:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท