อากาสธาตุ


อากาสธาตุ

ธาตุอีกส่วนหนึ่งที่ถือเป็นธาตุพื้นฐาน  คือ  อากาสธาตุ. พุทธศาสนาถือว่าอากาสธาตุ คือ สิ่งที่รวมอยู่ในจตุรธาตุข้างต้นนั่นเอง,  โดยถือเป็นอุปาทายรูปประการหนึ่ง  ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถรับรู้อากาสธาตุ  หรืออวกาศได้  โดยปราศจากการครองที่ของวัตถุหรือรูป.


ความหมายของอากาสธาตุในพุทธศาสนา  คือ  อวกาศ  อันหมายถึงช่องว่าง, ความว่างเปล่า,  ธรรมชาติอันนับว่าเป็นความว่างเปล่า. ในรูปกัณฑ์  ธัมมสังคณีกล่าวถึงอากาสธาตุไว้ว่า  เป็นรูปอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยมหาภูตรูปข้างต้นโดยถือว่า  “ธรรมชาตินับว่าอวกาศ ความว่างเปล่า  ธรรมชาติอันนับว่าเป็นความว่างเปล่า ช่องว่าง  ธรรมชาติอันนับว่าเป็นช่องว่าง  อันมหาภูตรูป  ๔  ถูกต้องไม่ได้อันใด รูปนี้เรียกว่าเป็นอากาศธาตุ.  แม้ว่าอากาศธาตุเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้แต่เราก็รู้ได้ในฐานะที่วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าไปแทนที่อยู่.


ในวิสุทธิมรรค กล่าวว่า...


อากาสธาตุมีการกำหนดขอบเขตรูปเป็นลักษณะ  มีการแสดงที่สุดของรูปเป็นรส  มีขอบเขตของรูปเป็นปัจจุปัฏฐาน  หรือมีความเป็นช่องเป็นร่องเป็นปัจจุปัฏฐาน  มีรูปที่เป็นรูปร่างเป็นปทัฏฐาน  รูปที่มีอากาสตัดตอนแล้ว  ทำให้กำหนดได้ว่านี้เป็นรูป ด้านบน  ด้านล่าง  ทางขวาง


อากาสธาตุ หรืออวกาศ มีความแตกต่างจากธาตุลมอย่างสิ้นเชิง  เพราะธาตุลมยังต้องการอวกาศรองรับอีกต่อหนึ่ง. ลมเป็นธาตุหนึ่งในธาตุ  ๔  ข้างต้น,  ส่วนอวกาศหมายถึงความว่างเปล่าจากสิ่งใด  เพื่อที่จะให้มีสิ่งใด ๆ ปรากฏ.ส่วนนี้เอง คือ  เหตุผลในการอธิบายว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงรวมอากาสธาตุเป็นอุปาทายรูป,เพราะรูปจะปรากฏได้ ก็ต้องมีอากาสธาตุรองรับ,  สมมติว่า  A  อยู่ที่จุด  A ๑ ,  B  ย่อมไม่สามารถไปอยู่ที่จุดนั้นได้อีก  เพราะไม่มีอวกาศสำหรับ  B   ข้อนี้มีลักษณะเดียวกันกับหลักตรรกวิทยา,  เมื่อเรายืนยันว่า  “ตัวมันเองคือตัวมันเอง”  เพราะเมื่อสิ่งหนึ่งปรากฏ  ย่อมไม่สามารถให้อีกสิ่งหนึ่งปรากฏซ้อนกันได้อีก.


ในความหมายนี้  อากาสธาตุจะปรากฏก็เมื่อมีรูป  หรืออุปาทายรูปอื่น ๆ  เข้าไปครองที่อยู่,  อวกาศจึงสัมพัทธ์ต่อการกินที่ของรูป  และเราจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีรูปไปกินที่อยู่.  อวกาศเกิดขึ้นเมื่อมีรูปเกิดขึ้น, รูปมีอยู่แค่ไหน  อวกาศก็มีอยู่แค่นั้น.  เหตุผลในส่วนนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า  อากาสธาตุเองก็เปลี่ยนแปลงได้.ข้อสังเกตนี้มีเหตุผลที่จะทำให้เราได้ฉุกคิดก่อนการสรุปว่า  อากาสธาตุอาจเป็นอสังขตธรรม.


อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะมองว่าอวกาศเป็นรูปโดยตัวมันเอง ก็อาจเห็นได้ดังที่กล่าวแล้ว    พุทธศาสนามองว่า อวกาศเป็น  “ส่วนหนึ่ง”  ของอนุภาคที่ทำให้รวมกันเป็นสังขตธรรม. อวกาศไม่ใช่สิ่งที่โดดเด่นในตัวเอง   แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นองค์ประกอบร่วมเทียบเท่าธาตุอื่น.  ด้วยเหตุผลนี้  ทำไมเราจึงทำเบ้าหลอมเครื่องประดับเป็นรูปต่าง ๆ ได้ เพราะเราทำให้มีอวกาศสำหรับวัตถุที่เข้าไปมีจำนวนจำกัดตามรูปแบบที่เราต้องการ.


--->>> ในการทำสมาธิในพุทธศาสนา  ในระดับอรูปฌาน  ชั้นอากาสานัญจายตนะผู้ทำสมาธิจะกำหนดอารมณ์ว่า  อากาศไม่มีที่สุด.  ในหนังสือวิสุทธิมรรค,  พระพุทธโฆษาจารย์อธิบายไว้ว่า  ให้ทำไว้ในใจ (ให้เป็นอารมณ์)  ว่า อากาสเป็นสิ่งละเอียดแผ่อารมณ์ไปทั่วจักรวาล  หรือเท่าที่ต้องการ.  ในความหมายนี้ส่อแสดงให้เห็นว่า  อวกาศเป็นสิ่งที่ไม่สิ้นสุด  ไม่ว่าด้วยการรับรู้  หรือโดยตัวมันเอง.ประเด็นอีกส่วนหนึ่งที่อภิปรัชญาศึกษาคู่กับเรื่องอวกาศ  คือ  เวลา.  ตามแนวความคิดของพุทธศาสนานั้นถือว่าเวลาไม่มีที่สิ้นสุด.  จุดสำคัญที่เราจะพิจารณาก็คือ  อะไร  คือเวลาที่แท้จริง.


เนื่องจากพุทธปรัชญาจะเพ่งเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นก็คือ  ความเปลี่ยนแปลง,และเนื่องจากจักรวาลและสรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ขาดสาย,  ความเปลี่ยนแปลง คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง.  ข้อนี้เป็นพื้นฐานทำให้เกิดเวลา.   เวลาเป็นสิ่งที่กำหนดเรียกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น.  เราอาจอยู่ในโลกที่ไร้กาลเวลาได้ก็ต่อเมื่อเราทำให้ไร้การเปลี่ยนแปลง.


ในวิสุทธิมรรค  ได้กำหนดการวิภาคการเปลี่ยนแปลง  (และทุกข์ และ อนัตตา)  ออกเป็นการกำหนดตามเวลา.  เพราะเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงทำให้เราสามารถเริ่มกำหนดเวลาได้.


ในโลกทีปกสาร ได้กล่าวถึงระบบการนับเวลาไว้ดังนี้


๑ ปี       =                           ๑๒  เดือน

๑ เดือน       =                      ๓๐ วันและคืน

๑ วันและคืน       =                 ๖๐  นาฬิกา (นาทิกา)

๑ นาฬิกา  (นาทิกา)=              ๔  บาท

๑ บาท       =                       ๑๕  ปฏินาฬิกา  (วินาทิกา)

๑ ปฏินาฬิกา (วินาทิกา)  =       ๖  ปรานา  (ปราณ)

๑ ปรานา (ปราณ)   =            ๑๐  อักขระ



พระสิริมังคลาจารย์ได้แสดงให้เห็นว่า  เรากำหนดเวลาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างไร,  ไว้ในหนังสือชื่อ  จักรวาฬทีปนี  ว่าดังนี้.


ด้วยศัพท์ว่า อักขระ  หมายถึงเป็นกาลสวดอักขระนั้น.  ในศัพท์ว่า  ปราณ เป็นต้นก็นัยนี้.  ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า  กล่าวคือ  อัสสาสะและปัสสาสะ ชื่อว่า ปราณ.  ศัพท์ว่า  วินาทิกา  มีความหมายว่า  ปราศจากนาทิกา. ศัพท์ว่า  นาทิกาเป็นชื่อเรื่องของลมหายใจเข้าและลมหายใจออก  ด้วยศัพท์ว่า นาทิกา  ท่านกล่าวหมายเอาช่วงที่ไม่มีลมหายใจเข้าและหายใจออก............


ข้อความนี้ยืนยันว่า  ไม่ว่าเราจะนับเวลาอย่างไร  เราจะอาศัยการเปลี่ยนแปลงเป็นตัวกำหนด เวลาไม่มีเมื่อไม่มีการเปลี่ยนแปลง.  แต่การเปลี่ยนแปลงยังคงดำเนินไป ไม่ว่าจะนับและกำหนดเป็นเวลาหรือไม่ก็ตาม.


ในพุทธศาสนาจึงถือว่าเวลาไม่มีที่สุดข้างต้น (ไม่มีจุดเริ่มต้น)  และไม่ที่สุดเบื้องปลาย,  ซึ่งหมายความว่าเวลาไม่มีจุดเริ่มต้น.  การถือว่าเวลาไม่มีการสิ้นสุดเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีที่สิ้นสุด. ในแง่อภิปรัชญาของพุทธศาสนา  เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแล้ว  ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องอ้างถึงกาลอีก.   ดังนั้น  จึงไม่มีการยืนยันถึงเรื่องกาลเวลาไว้ต่างหาก  เพราะมันเป็นความมีอยู่ที่ขึ้นอยู่กับอีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนอยู่แล้ว.  การเกิดขึ้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งต้องการอวกาศแต่ไม่มีความจำเป็นในการต้องการเวลา  เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นกาลเวลาโดยตัวมันเอง.เพียงแต่เรากำหนดการเปลี่ยนแปลงนั้นเท่านั้นเอง,  เวลาก็เกิดขึ้น.





หมายเลขบันทึก: 216040เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท