พรรณนากังขาวิตรณวิสุทธิ


กังขาวิตรณวิสุทธินิทเทส
(พรรณนากังขาวิตรณวิสุทธิ)




วิสุทธินี้   หมายถึงความหมดจดเพราะข้ามพ้นความสงสัย  ในอดีต  อนาคต  และปัจจุบัน  โดยสืบเนื่องมาจากการพิจารณานามรูป  ที่กล่าวแล้ว   ในทิฏฐิวิสุทธินั่นเอง  สามารถละวิจิกิจฉาความสงสัยเสียได้


วิจิกิจฉาในอดีต  ๕


๑.  ในอดีต   เราได้มีไหมหนอ  ?  

๒.  ในอดีต  เรามิได้มีหรือหนอ  ?

๓.  ในอดีต  เราได้เป็นอะไรหนอ  ?

๔.  ในอดีต  เราได้เป็นอย่างไรหนอ  ?

๕.  ในอดีต  เราเป็นอะไรแล้วได้เป็นอะไรหนอ  ?


วิจิกิจฉาในอนาคต  ๕


๑.  ในอนาคต   เราจักมีหรือหนอ  ?

๒.  ในอนาคต  เราจักไม่เป็นหรือหนอ  ?

๓.  ในอนาคต  เราจักเป็นอะไรหนอ  ?

๔.  ในอนาคต  เราจักเป็นอย่างไรหนอ  ?

๕   ในอนาคต  เราเป็นอะไรแล้วจักเป็นอะไร  ?


วิจิกิจฉาในปัจจุบัน  ๖


๑. เรามีอะไรหนอ  ?

๒. เราไม่มีหรือหนอ  ?

๓. เราเป็นอะไรหนอ  ?

๔. เราเป็นอย่างไรหนอ  ?

๕. สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ  ?

๖. เขาไปไหนหนอ  ?


กรรม  ๑๒


ในกังขาวิตรณวิสุทธินี้   ท่านแสดงกรรม  ๑๒  ไว้ด้วยโดยแยกเป็นกรรมที่ให้ผลตามกาล  ๔  ให้ผลตามแรงหนักเบา  ๔  และกรรมซึ่งทำหน้าที่อีก  ๔


กรรมที่ให้ผลตามกาล  ๔


๑.  ทิฏฐิธัมมเวทนียกรรม    กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน

๒.  อุปปัชชเวทนียกรรม     กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า   ต่อจากชาติปัจจุบัน

๓.  อปราปรเวทนียกรรม    กรรมที่ให้ผลในชาติ ต่อ  ๆ ไป  ได้โอกาสเมื่อใดให้ผลเมื่อนั้น  ซึ่งท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ  ทันที่ไหนกัดที่นั้น

๔.  อโหสิกรรม   กรรมที่ไม่ผลิตผล  คือไม่ให้ผลเพราะรอคอยอยู่นานเกินไป  เหมือนเมล็ดพืชเก็บไว้นานเกินไปจนไม่อาจปลูกให้ขึ้นได้


กรรมที่ให้ผลตามแรงหนักเบา ๔


๑. ครุกรรม   กรรมหนัก  ฝ่ายกุศลหมายถึงมหัคคตกุศล  คือ   กรรมของผู้บำเพ็ญฌาน     ฝ่ายอกุศลหมายถึงอนันตริยกรรม  ๕   คือ  ฆ่าบิดามารดา  ฆ่าบิดา   ฆ่าพระอรหันต์  ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตห้อ   ทำสังฆเภท   คือ  ทำลายสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน

๒.  พหุลกรรม   หรือ   อาจิณณกรรม  หมายถึง  กรรมที่กระทำจนเคยชิน   เช่นบุคคลทำความดี  หรือความชั่วเป็นอาจิณ   ให้ผลเป็นที่สองรองลงมาจากประเภทที่หนึ่ง

๓.  อาสนันกรรม    กรรมที่ทำเมื่อจวนจะตายกรรมนี้แม้จะให้ผลเพลากว่ากรรม  ๒   ประเภทแรก  แต่ก็ให้ผลก่อน   ท่านเปรียบเหมือนโคแก่ซึ่งอยู่ปากคอกเมื่อนายโคบาลเปิดประตูคอก    ย่อมจะออกมาก่อน   แต่เนื่องจากกำลังน้อย    เมื่อเดินไปได้เพียงเล็กน้อยโคที่มีกำลังมากกว่าย่อมจะเดินออกหน้าไป

๔.  กตัตตากรรม  หรือ  กตัตตวาปนกรรม   หมายถึงกรรมสักแต่ว่าทำ  คือ  กรรมที่บุคคลทำโดยไม่มีเจตนากรรมนี้จะให้ได้ผลก็ต่อเมื่อกรรมประเภทอื่นให้ผลหมดแล้ว  และไม่มีอะไรจะให้อีกต่อไป


กรรมซึ่งทำหน้าที่  ๔


๑.  ชนกกรรม   กรรมที่ก่อให้เกิด   หรือกรรมประเภทนำไปสู่ปฏิสนธิในภพใหม่

๒.  อุปถัมภกรรม   กรรมที่อุปถัมภ์ชนกกรรมให้ มีผลรุนแรงยิ่งขึ้น  เช่น บุคคลเกิดมาลำบากยากจน   เพราะผลแห่งกรรมชั่วในอดีต   เมื่อเขาเกิดมาแล้วก็ทำกรรมชั่วมากขึ้น กรรมชั่วนั้นจะช่วยให้เขาประสบความลำบากมากขึ้น

๓.  อุปปีฬกกรรม   กรรมที่บีบคั้น  ทำให้ชนกกรรมเพลากำลังลง  เช่นบุคคลเกิดมาในตระกูลที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยเพราะชนกกรรมที่เป็นกุศล   แต่เขากระทำกรรมชั่วในปัจจุบัน  เช่นประกอบอาชญากรรม  เกียจคร้านในการตั้งเนื้อสร้างตัวกรรมชั่วนี้จะบีบคั้นผลแห่งกรรมดีในอดีตให้เพลาลง

๔.  อุปฆาตกรรม   กรรมที่ตัดรอนมีอำนาจเด็ดขาดในการให้ผลตามหน้าที่ของตน   ห้ามและกีดกันกรรมอื่นอย่างเด็ดขาดตามหน้าที่ของตน    ห้ามและกีดกันกรรมอื่นอย่างเด็ดขาด   เช่นอนันตริยกรรมฝ่ายอกุศลมีอำนาจห้ามมรรคผลของบุคคลผู้กระทำในชาตินั้น   หรือกุศลกรรมที่สูงส่งเช่นอริยมรรค  อริยผล   ย่อมตัดรอนกรรมชั่วอย่างอื่นมิให้ผลอีกต่อไป  ในเมื่อท่านผู้นั้นปรินิพพานแล้วโดยการดับขันธ์


กรรมทั้งหมดที่ระบุชื่อมานี้เป็นได้ทั้งฝ่ายกุศล  และ อกุศล  คือทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว


ผู้บำเพ็ญเพียรพิจารณาถึงกรรมอยู่อย่างนี้  ย่อมข้าม  ความสงสัย  ในเรื่องกัมมวัฏ  (ความหมุนเวียนเพราะกรรม)     และวิปากวัฏ  (ความหมุนเวียนเพราะผลแห่งกรรม)  เสียได้ย่อมทราบชัดว่า


กรรมและวิบากเป็นไปอยู่     วิบากย่อม

เกิดแต่กรรม   ภพใหม่มีขึ้น     เพราะกรรม

โลกวนเวียนอยู่เยี่ยงนี้


ผู้บำเพ็ญเพียรพิจารณาอยู่อย่างนี้    ย่อมเห็นชัดว่าโลกทั้งโลกมีแต่เรื่องกรรมและผลของกรรม    มีแต่ความเกี่ยวเนื่องกันในเรื่องกรรมและผลของกรรม


ไม่มีสัตว์หรือบุคคลเป็นผู้ทำกรรม   หรือเสวยผลของกรรม  มีแต่เหตุกับผล   เธอสามารถล่วงพ้นความสงสัย    ๑๖   ประการเสียได้  มีทรรศนะอันถูกต้องสมที่ท่านกล่าวไว้ว่า


กมฺมสฺส การโถ นตฺถิ วิปากสฺส  จ เวทโก
สุทฺธธมฺมา ปวตฺตนฺติ เอเวตํ สมฺมทสฺสนํ



ผู้กระทำกรรมไม่มี     ผู้เสวยผลแห่งกรรมก็ไม่มี  ธรรมล้วน   ๆ   เป็นไปอยู่     นี่คือทรรรศนะที่ถูกต้อง  เรื่องนี้   หมายความว่าให้ถอนสัตตสัญญาออกเสีย  ให้เห็นแต่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผลเท่านั้น        เป็นทรรศนะที่บริสุทธิ์ล้วน  ๆ   เป็นไปอยู่


บุคคลผู้มีปัญญาเห็นแจ้งประกอบด้วยญาณ  คือ  กังขาวิตรณวิสุทธินี้     ย่อมเป็นผู้ได้ความแช่มชื่น  ได้ที่พึ่งทางพระพุทธศาสนา   มีคติแน่นอน   (นิยตคติโก)
 ชื่อว่า  โสดาบันน้อย  ๆ   (จูฬโวจสปนฺโน)


เพราะฉะนั้นผู้   ต้องการญาณ  เครื่องข้ามความสงสัย  (กังขาวิตรณะ)  พึ่งเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ  พึงกำหนดปัจจัยแห่งนามรูปโดยอาการทุกอย่างเถิด

หมายเลขบันทึก: 215976เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท