พรรณนาเรื่องความหมดจดแห่งทิฏฐิ


ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส
(พรรณนาเรื่องความหมดจดแห่งทิฏฐิ)




มูลฐานและโครงของวิสุทธิ


ในวิสุทธิ  ๗  ท่านกล่าวว่า  วิสุทธิ  ๒  คือ  สีลวิสุทธิ  ความหมดจดผ่องแผ้วแห่งศีล  และ จิตต
วิสุทธิ  ความหมดจดผ่องแผ้วแห่งจิต  เป็นมูลฐานของสุทธิ  ส่วนวิสุทธิอีก  ๕  เป็นโครง  (สรีระ)


วิสุทธิ  ๕  นั้นคือ

ทิฏฺฐิวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ญาณทัสสนวิสุทธิ


ซึ่งจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป
วิสุทธิซึ่งเป็นมูลฐานทั้งสองประการ   จะขอพักไว้ก่อนจะกล่าวแต่เพียงหัวข้อ  ทิฏฐิวิสุทธิ



-->> วิธีบำเพ็ญทิฏฐิวิสุทธิ


ก่อนอื่นควรทราบก่อนว่า  ทิฏฐิวิสุทธคืออะไร  ?  โดยคำจำกัดความ  ทิฏฐิวิสุทธคือ   ความเห็นอย่างถูกต้องถ่องแท้ซึ่งนามรูป  ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา


--->> ผู้ต้องการบำเพ็ญทิฏฐิวิสุทธินี้   เมื่อออกจากฌานที่เป็นรูปาวจร   หรืออรูปาวจรก็ตาม  เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเสีย   กำหนดองค์ฌานและธรรมซึ่งสัมปยุตด้วยองค์ฌานนั้นว่าเป็นนาม  เพราะมีความหมายว่าเอนไปบ่ายหน้าไปต่ออารมณ์


ต่อจากนั้นให้พิจารณาว่า  นามนี้อาศัยอะไร   ก็จะพบว่าอาศัยหทัยรูป   เหมือนบุคคลพบงูในเรือนตนแล้วติดตามไปดูว่าที่อาศัยของมันอยู่ที่ไหน  แล้วพิจารณาต่อไปว่า   ภูตรูปเป็นที่อาศัยแห่งหทัยรูป   และ  อุปทายรูป   อาศัยภูตรูป  กำหนดพิจารณาว่ารูปทั้งหมดนี้มีความแตกดับทำลายไปในที่สุด


ต่อจากนั้นพิจารณาธาตุ  ๔    ดังที่กล่าวแล้วในเรื่อง    จตุธาตุววัฏฐาน  (คือการกำหนดธาตุ)  ธาตุ  ๑๘  มี จักขุธาตุเป็นต้น  มีมโนวิญญาณธาตุเป็นที่สุด  มีอาทิว่า   ก้อนเนื้อใดวิจิตรด้วยวงตาขาว  แววตาดำแผ่ขยายไปในกระบอกตา  พัวพันรึงรัดด้วยเส้นเอ็น   ซึ่งชาวโลกยึดมั่นกันว่า  “จักษุ”  ผู้บำเพ็ญเพียรพิจารณาก้อนเนื้อนั้นเป็นเพียงธาตุไม่ยึดมั่นโดยสุภนิมิต   คือไม่สำคัญ
หมายว่างาม  


ต่อจากนั้นพึงพิจารณาด้วยสามารถด้วยสามารถแห่งอายตนะ  ๑๒  มี  จักขุอายตนะเป็นต้น  มีมนายตนะเป็นที่สุดโดยทำนองเดียวกันต่อไปพึงพิจารณาขันธ์  ๕  คือ


๑  รูปขันธ์   อันประกอบด้วยธาตุ  ๔  ประสาท  ๕  และกำหนดรูปอีก  ๑๐   คือ


- กายวิญญัติ = การไหวกาย

- วจีวิญญัติ = การพูด

- อากาสธาตุ = ช่องว่าง

- รุปสฺส   ลหุตา = ความเบาแห่งรูป

- มุทุตา = ความอ่อนสลวย

- กัมมัญญตา = ความควรแก่การงาน

- อุปจโย = ความก่อ

- สันตติ = ความสือต่อ

- ชรตา = ความทรุดโทรม

- อนิจจตา = ความไม่เที่ยง    


รูปดังกล่าวมานี้เรียกว่ารูปขันธ์


๒.  เวทนาขันธ์ หมายถึง  เวทนาซึ่งเกิดกับโลกิยจิต   ๘๑  ดวง


๓.   สัญญาขันธ์ คือ   สัญญาซึ่งสัมปยุตด้วยเวทนานั้น


๔.   สังขารขันธ์ หมายถึง   สังขารซึ่งสัมปยุตด้วยสัญญานั้น


๕.  วิญญาณขันธ์  คือ         วิญญาณซึ่งสัมปยุตด้วย  สังขารนั้น



ท่านกล่าวว่า    ผู้บำเพ็ญเพียรเมื่อพิจารณานามรูปอยู่โดยลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้  ถ้านามรูปปรากฏไม่แจ่มแจ้ง  ยังไม่เป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิวิสุทธิ   พระโยคีก็ไม่ควรละทิ้งความพยายาม   ควรทำความพยายามต่อไปเปรียบเหมือนบุคคลมองดูหน้าของตนในแผ่นโลหะที่ยังขัดไม่ดี  ถ้ายังมองไม่เห็นก็ไม่ควรทิ้งโลหะนั้นเสีย     ควรขัดต่อไปเมื่อแผ่นโลหะนั้นใสแล้ว   ก็จะสามารถมองหน้าของตนได้ชัดเจน



--->>  ยถาภูตญานทัสสนะ


เมื่อผู้บำเพ็ญเพียรพิจารณารูปอยู่บ่อย ๆ  โดยความเป็นธาตุเป็นต้น    ความสำคัญหมายว่าสัตว์ว่าบุคคลย่อมถึงความเสื่อมสูญ



อันที่จริงสัตว์และบุคคลนั้นไม่มี     ที่เรียกว่าสัตว์  บ้าง  บุคคลบ้าง   ก็เพราะสมมติโวหารของโลก   โดยที่แท้มีแต่นามรูปเท่านั้น


สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

เมื่อสัมภาระต่าง ๆ   ประกอบพร้อมกันเข้า   เสียงเรียกว่ารถก็มีขึ้น   เมื่อขันธ์มีอยู่ก็สมมติเรียกว่าสัตว์ว่าบุคคล  อันที่แท้ทุกข์อย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น   ทุกข์อย่างเดียวเท่านั้นตั้งอยู่   และทุกข์อย่างเดียวเท่านั้นดับไป   นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด   นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ



--->> รวมความว่า  เมื่อมีการรวมกันอย่างหนึ่ง  และเมื่อยังมีอุปทานขันธ์อยู่อีกอย่างหนึ่ง   จึงทำให้คนหลงผิดว่าคนสัตว์     แต่อันที่แท้มีแต่นามรูปเท่านั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป   จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น     ผู้ใดยังยึดมั่นถือมั่นในขันธ์  ๕   ผู้นั้นชื่อว่ายึดมั่นในทุกข์   ความเห็นอันบริสุทธิ์ดังกล่าวนี้ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ

 

ความเห็นซึ่งอาจตกไปในทิฏฐิ  ๒


บุคคลบางพวกมีความเห็นว่ารูปนามเที่ยงยั่งยืนยึดมั่นในความเป็นสัตว์และบุคคล   ผู้เช่นนั้นย่อมตกไปใน  สัสสตทิฏฐิ  =    ความเห็นว่าเที่ยง
 


ส่วนบุคคลบางพวกเห็นว่าสัตว์บุคคลหลังจากมรณกรรมแล้วย่อมขาดสูญบุคคลเช่นนั้น   ย่อมตกลงไปใน   อุจเฉททิฏฐิ   =   ความเห็นว่าขาดสูญซึ่งทั้งสองนี้ล้วนเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น


พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น     คือ  เห็นว่านามรูปเป็นของไม่เที่ยง  ไม่ยั่งยืน  เป็นอนัตตา   แล้วเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดและพยายามดับนามรูปนั้นเสีย


พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า   เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อดับภพ   เพื่อความไม่บังเกิดในภพใหม่อยู่    สัตว์ผู้ติดในภพ   ยึดมั่นในภพ      ย่อมไม่พอใจไม่เลื่อมใสเห็นเป็นความว่างเปล่า  ความสูญเสียเพราะจิตใจของเขาแล่นไปในภพ     มีความกำหนัดในภพ    แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า  ภพแม้หน่อยหนึ่งพระองค์ไม่ทรงสรรเสริญเลยเหมือนอุจจาระหรือปัสสาวะ  แม้จะมีน้อยก็มีกลิ่นเหม็นอยู่นั่นเอง


อุปมาเรื่องนามรูป



๑.  นามรูปเปรียบเทียบเหมือนหุ่น   เพราะหุ่นนั้นโดยลำพังตนเองแล้วเคลื่อนไหวไม่ได้  เป็นของว่างเปล่าไร้ชีพแต่เพราะประกอบด้วยไม้และสายชัก   รวมทั้งมีคนชักหุ่นกระบอกจึงดูเป็นเคลื่อนไหวมีท่าทาง  นามรูปก็เหมือนกันปรากฏเป็นภาพยืนบ้าง  เดินบ้าง  ก็เพราะอาศัยการคุมกันเข้า


๒.  นามรูป  เปรียบเหมือนไม้อ้อสองอันซึ่งยันกันและกันไว้  เมื่ออันหนึ่งล้ม  อีกอันหนึ่งก็ทรงตัวอยู่ไม่ได้


๓.  นามรูปเปรียบเหมือนกลอง  และเสียงกลองเมื่อมีบุคคลเอาไม้ตีกลอง  อาศัยหน้ากลองและไม้จึงมีเสียงปรากฏขึ้น  ความจริงกลองก็อันหนึ่ง   เสียงก็อันหนึ่ง

กลองกับเสียงมิได้ปะปนกัน   เมื่ออาศัยรูป  คือ   วัตถุทวาร  และอารมณ์   นามจึงเป็นไปได้   รูปก็อันหนึ่ง  นามก็อันหนึ่ง


-->> อนึ่ง  นามรูปต้องอาศัยซึ่งกันและกัน   เหมือนคนตาบอดกับคนง่อยพากันเดินทาง   คนตาบอดมีเท้าที่จะเดินแต่ไม่มีตาสำหรับดูทิศทาง   ส่วนคนง่อยมีตาดูทิศทางแต่ไม่มีเท้าเดิน   หรือมีเท้าก็เหมือนไม่มี   เพราะไม่อาจเดินได้   คนบอดจึงยกคนง่อยขึ้นบ่าคอยบอกทิศทางให้ทั้งสองอาศัยกันเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้    ฉันใดนามและรูปก็อาศัยซึ่งกันฉันนั้น


-->> การเห็นนามรูปตามเป็นจริง  ละสัตตสัญญาเสียตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่งมงาย  เรียกว่า  ทิฏฐิวิสุทธิ  ด้วยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 215975เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท