หลักธรรมสร้างความเป็นสมณะในพุทธศาสนา


หลักธรรมสร้างความเป็นสมณะในพุทธศาสนา

ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเก่าแก่   และมีรากฐานมั่นคงในประเทศอินเดีย   ผสมประสานอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีต่าง  ๆ    ของอินเดียอย่างกว้างขวาง  ประกอบด้วยศาสนาเชนอีกศาสนาหนึ่ง   ที่ถือการปฏิบัติเคร่งครัดด้วยการบำเพ็ญตบะเป็นพรหมจรรย์ตลอดชีวิต   มีกำลังจูงใจผู้รักการปฏิบัติที่ขัดเกลาให้นิยมนับถืออยู่ไม่น้อย   ติดตามด้วยนักบวชในนิกายต่าง  ๆ    อีกมากมาย พุทธศาสนาเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่มีศาสนาลัทธิต่าง  ๆ   ปกคลุมอยู่แล้วแต่ด้วยอานุภาพหลักคำสอนที่เหมาะสม   อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตในระดับต่าง  ๆ นั่นเอง  จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่เคยนับถือศาสนาและลัทธิอื่น  ๆ  อยู่   ได้หันเข้าสู่วิถีทางชีวิตในพุทธศาสนา

เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า  นอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงค้นพบหลักความจริงด้วยวิธีการแบบใหม่แล้ว  ศัพท์เฉพาะต่าง ๆ  ส่วนใหญ่ก็ทรงใช้อย่างทีมีอยู่แล้วในครั้งนั้น  แต่ไม่ได้ทรงใช้ด้วยความหมายตามที่เขาเคยใช้กันมา   ดูเหมือนว่า  พุทธศาสนาไม่ถือว่าเป็นการเสียเกียรติ  เสียศักดิ์ศรีแต่อย่างใด     ในการที่ได้นำศัพท์ที่มีอยู่แล้วมาใช้  ถึงแม้ใคร ๆจะกล่าวว่าเป็นการเลียนแบบอย่างเขาก็ตาม  ความจริง   การใช้ศัพท์เฉพาะที่แพร่หลายอยู่แล้วในวงการทั่วไปนั้นมีความสะดวกในการประกาศศาสนามากมาย  เพราะไม่ต้องพยายามให้ผู้ฟังต้องจดจำคำใหม่  ทำหน้าที่แต่เพียงอธิบายใหม่   ให้ความหมายใหม่    ให้ความเข้าใจใหม่เท่านั้น   จึงจัดว่าเป็นความฉลาดอย่างยิ่งประการหนึ่งในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม   เพื่อผู้ศึกษาจะได้เห็นว่า   ชื่อเฉพาะต่าง  ๆ  นั้นพระพุทธเจ้าทรงให้ความหมายไว้อย่างไรบ้าง  ดังนั้น   จะได้นำชื่อเฉพาะต่าง  ๆ มากล่าวประกอบการศึกษาตามสมควรต่อไป

พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายเป็นใจความว่า  ใคร ๆ   เขารู้จักเธอว่าเป็นสมณะ  และพวกเธอก็ปฏิญญาณตนว่าเป็น  สมณะ  จึงควรสำเหนียกประพฤติธรรมสำหรับสร้างความเป็น  สมณะเพื่อจะได้ทำชื่อให้สมจริง   ทำคำปฏิญญาณให้สมจริง   การบริโภคปัจจัย   4   ของชาวบ้าน   ก็จักมีผลมาก   มีอานิสงส์มาก  การบวชจักไม่เป็นหมัน  จักมีผล   จักมีกำไร  ต่อจากนั้นได้ทรงแสดงธรรมสำหรับสมณะ   10  อย่าง  คือ


1. การมีความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่ว

2. มีกายกรรมบริสุทธิ์  เปิดเผย   สำรวม   ไม่ยกตนข่มท่าน

3. มีวจีกรรมบริสุทธิ์  เปิดเผย  สำรวม   ไม่ยกตนข่มท่าน

4. มีมโนกรรมบริสุทธิ์   เปิดเผย  สำรวม  ไม่ยกตนข่มท่าน

5. เลี้ยงชีพอย่างบริสุทธิ์  เปิดเผย  สำรวม  ไม่ยกตนข่มท่าน

6. สำรวจตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  โดยมีสติกำกับอยู่เสมอ

7. รู้จักประมาณในการบริโภค  ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง

8. ทำความเพียรตื่นอยู่เสมอ   ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง

9. มีสติคือการระลึกได้   และสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในอิริยาบถ

10. เสพเสนาสนะที่สงบสงัด   ปฏิบัติสมาธิ  มีสติอยู่เฉพาะหน้า

แล้วทรงแสดงสืบเนื่องต่อไป     ในเรื่องการละนิวรณ์   5  อย่าง  การเข้าฌานสมบัติจบลงด้วยการเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสทั้งปวง  ต่อจากนี้   ได้ทรงปัญหาถามความหมายของศัพท์  และตรัสตอบความหมายไปโดยลำดับดังจะเห็นได้  คือ

1.  เพระเหตุใด  จึงเรียกว่า   สมณะ  ?
เพราะระงับอกุศลบาปธรรม   ทีทำให้มัวหมอง   เป็นเหตุกระวนกระวายมีผลเป็นทุกข์

2.  เพราะเหตุใด  จึงเรียกว่า   พราหมณ์  ?
เพราะชำระล้างอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นได้

3.  เพราะเหตุใด  จึงเรียกว่า   นหาตกะ  (ผู้สรงสนามแล้ว)  ?
เพราะชำระล้างอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นได้
4.  เพราะเหตุใด   จึงเรียกว่า   เวทคู  (ผู้เข้าถึงเวท) ?
เพราะรู้แจ้งอกุศลธรรมเหล่านั้น

5.  เพราะเหตุใด  จึงเรียกว่า   โสตติยะ  (ผู้ให้หลับแล้ว) ?
เพราะทำให้อกุศลบาปธรรมเหล่านั้นหลับไปแล้ว

6.  เพราะเหตุใด   จึงเรียกว่า  อริยะ ?
เพราะทำให้อกุศลบาปธรรมเหล่านั้นไกลจากตน

7.  เพราะเหตุใด  จึงเรียกว่า  อรหันต์  ?  
เพราะกำจัดอกุศลบาปธรรมเหล่านั้นได้หมดแล้ว
(มหาอัสสปุรสูตร  มัชฌิมนิกาย  มัชฌิมปัณณาสก์)

-->>  เป็นที่น่าสังเกตว่า   คำเหล่านี้เป็นที่นิยมใช้แพร่หลายมาแล้วทั้งสิ้น    หมายถึงนักบวชที่มีอยู่ในลัทธิต่าง  ๆ   บ้าง   หมายถึงพราหมณ์ในวรรณะพราหมณ์บ้าง  หมายถึงผู้มีความเชื่อในเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ถือว่าสามารถชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์บ้าง   หมายถึงผู้เข้าถึงพระเวทในศาสนาพราหมณ์เดิมบ้าง  หมายถึงบุคคลที่ถือกันว่าเป็นผู้ประเสริฐ  ซึ่งเรียกว่า    อริยะ  เรียกว่า  อรหันต์บ้าง  พระพุทธเจ้าทรงอธิบายใหม่ความหมายใหม่   โดยกำหนดคุณสมบัติขึ้นเหมาะสมกับชื่อไม่ใช่เพียงว่าเกิดในวรรณะพราหมณ์ก็จัดว่าประเสริฐ  ไม่ใช่ว่า   ชื่ออริยะ   แต่มีพฤติกรรมฆ่าสัตว์เบียดเบียนสัตว์   และไม่ใช่เป็นพระอรหันต์จอมปลอม   เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด   ด้วยมุ่งลาภสักการะจากประชาชน   ชื่อของคนกับพฤติกรรมของเขามีลักษณะขัดแย้งกัน   ขาดความสมเหตุสมผล  เพราะไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น  การให้ความหมายศัพท์เหล่านี้   ส่วนใหญ่มีเหตุการณ์เป็นที่มาทั้งสิ้น ขอนำตัวอย่างมากล่าวประกอบเป็นบางเรื่อง  ดังต่อไปนี้

 

1.  โดยปกติ  พราหมณ์มีความเชื่อในเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์   ว่าสามารถชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์จากบาปได้  ผู้ได้อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ชำระบาปแล้วเรียกว่า   นหาตกะ  แปลว่า   ผู้สรงสนานแล้ว

-->>  พราหมณ์ผู้หนึ่งได้ไปเฝ้าสนทนากับพระพุทธเจ้า  เมื่อได้เวลาก็ทูลลาพระพุทธเจ้า   โดยกราบทูลว่าถึงเวลาที่จะไปสรงน้ำชำระบาปพร้อมกับเชิญชวนพระพุทธเจ้าเพื่อไปสรงสนานด้วยกันพระพุทธเจ้าตรัสว่า   พระองค์ก็สรงสนานอยู่แล้ว   สรงสนานด้วยน้ำคือศีล  เป็นการสรงสนานที่ร่างกายไม่ต้องเปียกน้ำ  แต่ได้ความบริสุทธิ์สะอาดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง  น้ำในแม่น้ำจะทำอะไรได้   ถ้าน้ำชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์จากมลทินได้จริง   พวกปูปลา   เต่า  หอย  ก็ต้องมีโอกาสไปสวรรค์ได้มากกว่ามนุษย์   ดังนั้น  พระองค์ก็ชื่อว่า   นหาตกะ  คือ  เป็นผู้สรงสนานอยู่แล้ว  จะเห็นได้ว่าเป็นการให้ความหมายที่คมคาย   มีเหตุมีผลที่ใคร  ๆ   จะคัดค้านไม่ได้

2.  ครั้งหนึ่ง   พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปพบกับชายผู้หนึ่งเป็นเวลาที่ชายผู้นั้นกำลังหาปลาอยู่เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า

ท่านชื่ออะไร ?”
ข้าพเจ้าชื่อ  อริยะ
ท่านชื่อ   อริยะ  หรือ  ?  เพราะเหตุใด  ท่านจึงกำลังเบียดเบียนสัตว์  
อริยะ  นั้น  ควรเป็นผู้ไม่ทำบาป  ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น
คนเราไม่ชื่อเป็นอริยะด้วยเหตุแต่เพียงว่าชื่อ  อริยะ


3.  คำว่า  อรหันต์  เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์  เพราะเป็นชื่อผู้หมดกิเลส   ดำรงชีวิตด้วยปัจจัย   4  ที่บริสุทธิ์  เว้นขาดจากมิจฉาชีพและการหลอกลวงต่าง  ๆ  เป็นบุคคลที่ผู้แสวงบุญต้องการได้เห็นเป็นยิ่งนัก  ผู้อยู่ในฐานปูชนียบุคคลอย่างแท้จริง  เป็นมิ่งขวัญอันประเสริฐของบ้านเมือง  เมื่อท่าน  อยู่  ณ ที่ใด   ปวงชนเลื่อมใสต่างพร้อมกันไปสักการบูชา   ในขณะเดียวกัน   เป็นฐานะที่ใคร ๆ ก็  ต้องการเข้าถึงเป็นอย่างยิ่ง   เมื่อการปฏิบัติยังไปไม่ทันกับความต้องการ  จึงเป็นเหตุให้เกิดพระอรหันต์ปลอมขึ้น  มีเรื่องเล่าประกอบดังต่อไปนี้...

 

-->>  โยคีท่านหนึ่งต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่าตนเป็นพระอรหันต์   ด้วยมุ่งความเคารพนับถือและลาภสักการะ   จึงพยายามที่จะให้คนทั่วไปเข้าใจว่าตนหายตัวได้   ได้นำตุ่มน้ำมาซ่อนไว้ใต้อาศรม  

เมื่อประชาชนมาสักการบูชาแล้วกลับไป  ท่านก็หายตัวลงไปอยู่ในตุ่มใบนั้นเมื่อประชาชนเหล่านั้นกลับหลังมองมาทางอาศรมอีกครั้งหนึ่ง   ไม่เห็นท่านโยคีในอาศรม   ต่างก็พากันเข้าใจว่า ท่านโยคีเป็นพระอรหันต์   มีฤทธิ์เดชหายตัวได้  เมื่อย้อนกลับมาดูก็หาไม่พบ  ต่างกล่าวขานต่อ  ๆ  กันไปว่า   ท่านเป็นพระอรหันต์หายตัวได้  

อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่ไม่จริงย่อมไม่ทนต่อการพิสูจน์ต่อมาจึงได้มีผู้พยายามทำการพิสูจน์หาความจริงในเรื่องนี้   เมื่อท่านหายตัวไปแล้ว   ก็ได้ทำการตรวจค้นทุกแห่งในบริเวณอาศรม   ในที่สุดได้พบตุ่มใบหนึ่งภายใต้อาศรมนั้น  ผู้พิสูจน์ถือท่อนไม้เข้าไปทุบจนตุ่มแตก   ก็พบท่านโยคีลงไปนั่งอยู่ในตุ่ม   การที่ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์จริงก็ชัดเจนขึ้น  ต่อมาประชาชนพากันเรียกท่านว่า  อรหันต์ตุ่ม  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา   ลาภสักการะที่เคยมีก็เสื่อมหายไป

-->> อีกเรื่องหนึ่งก็คล้าย  ๆ   กัน   ต่างกันแต่ว่าต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่า  เป็นพระอรหันต์ที่เหาะได้  ผ่านกำแพงของสำนักโดยไม่ต้องออกทางประตู   ด้วยวิธีการจับรากไทรโหนตัวไปลงนอกกำแพง

ประชาชนพากันกล่าวขานว่า    ท่านเป็นพระอรหันต์ที่เหาะได้    ลาภสักการะก็เพิ่มพูนขึ้นโดยประชาชนพากันกล่าวขานว่า   ท่านเป็นพระอรหันต์ที่เหาะได้  ลาภสักการะเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับแต่ในที่สุดก็ไม่พ้นจากฝีมือของนักพิสูจน์  

เมื่อนักพิสูจน์ได้เฝ้าติดตามสังเกตมาจนเป็นที่แน่ชัด  วันหนึ่งเมื่อท่านโยคีไม่อยู่   เขาก็แอบนำมีดขึ้นตัดรากไทรเหลือไว้แต่บางส่วน  ท่านโยคียังมีความมั่นใจอย่างเดิม  ไม่ได้สอบสวนพิจารณาให้รอบคอบ ก็เหนี่ยวรากไทร  โหนตัวข้ามกำแพงอย่างที่เคยปฏิบัติ  รากไทรก็ขาดลงมากลิ้งอยู่ข้างกำแพง  ประชาชนก็รู้ความจริงว่าท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์   ต่างพากันเรียกท่านว่า   อรหันต์รากไทร  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  บริษัทลาภสักการะก็หายไป

-->> ตัวอย่างนี้แสดงว่า   มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่คนเราไม่มีคุณสมบัติสมจริงตามชื่อ   พระพุทธเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติที่เหมาะสมกับชื่อนั้น  ๆ   และทรงมีวิธีการเพื่อให้บุคคลนั้น  ๆ   เข้าถึงความหมายที่แท้จริงตามชื่อ

 

ความหมายของ  สมณะ  และ  พราหมณ์   ในระดับสูง  สามารถศึกษาได้จากข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้  ดังต่อไปนี้

เราไม่กล่าวความเป็นสมณะด้วยเพียง
ทรงผ้าสังฆาฏิ  ด้วยเพียงเปลือยกาย  ด้วยเพียงเอาฝุ่นมา
ทาตัว   ด้วยเพียงการอยู่โคนต้นไม้   ด้วยเพียงการอยู่
กลางแจ้ง   ด้วยเพียงการสาธยายมนต์  ด้วยเพียงการทรง
ชฏาแบบฤษี
(เหล่านี้เป็นรูปแบบชีวิตของสมณะที่
ปรากฏอยู่ในครั้งนั้น)

ถ้าการเป็นสมณะสำเร็จด้วยการทรงผ้าสังฆาฏิเป็นต้น
แล้ว  ญาติมิตรก็ชักชวนกันทรงผ้าสังฆาฏิกันได้  
ผู้พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์  พ้นจากอกุศลบาปกรรม  
เกิดปีติปราโมทย์   มีจิตมั่นคงแผ่เมตตาไปทุกทิศ  
เปรียบเทียบเหมือนสระน้ำใสเย็นสนิท   เป็นที่ลงอาบ
อย่างชื่นใจ  คนเดินทางมาจาก  4  ทิศ  ถูกความร้อน
แผดเผา  ลำบาก  กระหายน้ำ   มาถึงสระน้ำนั้นก็จำกัด
ความกระหายความกระวนกระวายได้   ผู้เช่นนี้เรียกว่า
ได้ปฏิบัติสมควรแก่สมณะไม่ว่าจะมาจากสกุล   กษัตริย์
พราหมณ์   แพศย์   ศูทร  ก็จัดว่าเป็นสมณะเสมอกัน


(จูฬอัสสปุรสูตร  มัชฌิมนิกาย  มัชฌิมปัณฌาสก์)

ผู้ใด  อดกลั้นต่อคำว่าด่าว่า  ต่อการทุบตี
และการจองจำ  มีขันติเป็นกำลัง  ไม่ประทุษร้าย  ผู้นั้นจัด
ว่าเป็น  พราหมณ์

ผู้ใด   ไม่โกรธ  มีศีล  ฝึกฝนตกดี แล้ว  ไม่
ติดอยู่ในกามทั้งหลาย   เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว  ใบ
บอน  เหมือนเมล็ดพรรณผักกาดบนปลายเหล็กแหลม  ผู้
นั้นจัดว่าเป็นพราหมณ์

ผู้ใดปล่อยวางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย  ไม่
ฆ่าเอง   ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า   ไม่โกรธตอบในผู้ที่โกรธก่อน
 ดับอาชญาลงได้   ผู้นั้นจัดว่าเป็นพราหมณ์

ผู้ใด  กล่าววาจาสัตย์ไม่มีโทษ  ไม่ถือเอาสิ่ง
ของผู้อื่น   ไม่ว่าเป็นของยาวหรือของสั้น  ไม่ว่าเล็กหรือ
ใหญ่   ไม่ว่าจะเป็นสิ่งงามหรือไม่งาม   ซึ่งเจ้าของไม่ได้ให้
ผู้นั้นจัดว่าเป็น  พราหมณ์

ผู้ใด  ปราศจากมลทิน   บริสุทธิ์ผ่องใสดัง
ดวงจันทร์   ปราศจากความมัวเมา  ไม่หลงงมงายข้าม
สาครแห่งกิเลสได้  ผู้นั้นจัดว่าเป็น  พราหมณ์


(วาเสฏฐสูตร  ม.ม.)

ข้อความพุทธพจน์เหล่านี้แสดงถึงความหมายของสมณะและพราหมณ์ในชั้นสูงสุด  และแสดงถึงค่านิยมที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้เสมอกัน   ไม่ว่าจะเป็นสมณะ   หรือเป็นพราหมณ์ เป็นข้อความที่ชักจูงบุคคลให้ดำรงอยู่ในฐานะที่ควรจะเป็น   ไม่ใช่เอาแต่รูปแบบของสถาบันที่ตนสังกัดอยู่เท่านั้น   แต่ให้อยู่กับเนื้อหาความเป็นจริงด้วย

-->> อย่างไรก็ตาม  การพิจารณาความหมายแต่เพียงระดับเดียว   ก็เป็นการไม่ถูกต้อง  เช่นเดียวกับการที่จะเกณฑ์ให้ต้นไม้ทั้งป่ามีแต่แก่นอย่างเดียว  ย่อมเป็นไปไม่ได้  แม้แต่หมู่ไม้แก่นก็เริ่มต้นด้วยการไม่มีแก่น  ข้อสำคัญอยู่ในทิศทางของสมณะ  ดำรงอยู่ในศีลที่มาในปาฏิโมกข์  ที่มีพุทธบัญญัติให้สวดทบทวนทุกกึ่งเดือน   อันเป็นพรหมจรรย์ขั้นต้น   ก็นับน่าเป็นการสมควรแล้ว   อยู่ในทิศทางที่จะเติบโตด้วยแก่นในวันข้างหน้า   นี้คือการกล่าวตามลำดับขั้นตอน   การมีป่าไม้ไม่มีแก่น  ยังดีกว่าไม่มีป่าไม้เสียเลย   ถ้ามีไม้แก่นบ้างดีกว่า   และถ้ามีไม้แก่นมากเป็นดีที่สุด   นี้คือสภาพความจริงแต่ไม่มีต้นไม้ใดและป่าใดที่จะมีแต่แก่นล้วน  ๆ   โดยไม่มีเปลือก  ไม่มีกะพี้เสียเลย   เพราะเป็นเรื่องที่ต้นไม้นั้นจะมีอยู่ไม่ได้   ผู้ศึกษาควรพิจารณาให้รอบคอบและให้ตลอดเรื่องนี้


**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  :  พุทธปรัชญาเบื้องต้น  (รศ.สุวรรณ  เพชรนิล)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 215832เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท