ยังไม่หลุดพ้นก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก...


ยังไม่หลุดพ้นก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก... 

การเกิดใหม่เป็นกระบวนการที่สืบเนื่องมาจากความตาย   คำถามต่อมาก็คือเมื่อเราไปเกิดใหม่ในภพภูมิต่อไปนั้น  อะไรในตัวเราไปเกิดใหม่  คำตอบก็คือ  จิต  หรือ วิญญาณเกิดใหม่  สิ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือ   จิตหรือวิญญาณ  ที่ค้นในภพภูมิก่อนกับจิตหรือวิญญาณที่ไปเกิดใหม่ไม่ใช่ดวงเดียวกันกับคนที่เพิ่งตายลงไป  



คนที่เชื่อว่าพอคนเราตายลง  วิญญาณหรือกายทิพย์จะออกจากร่างล่องลอยไปหาภพภูมิใหม่พบที่เหมาะ  ๆ   เมื่อใดก็ปฏิสนธิเกิดใหม่เมื่อนั้น  เหมือนว่าวิญญาณมีความคงที่เที่ยงแท้ตลอดกาล  ความเชื่อเช่นนั้นผิดจากคำสอนในพุทธศาสนา  เพราะพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องไตรลักษณ์  คือ  อนิจจัง   ทุกขัง  อนัตตา  การที่บอกว่าวิญญาณเที่ยงแท้(นิจจัง)  และมีตัวตน (อัตตา)  ถาวรจึงขัดกับคำสอนเรื่องไตรลักษณ์



คำสอนที่ถูกต้องในพุทธศาสนาก็คือ   เมื่อเราตายลง  เขาจะเกิดใหม่ทันทีในภพภูมิใดก็ได้ที่เหมาะสมกับกรรมที่เขาระลึกก่อนดับจิต  จิตที่ดับทันทีในภพภูมิก่อนกับจิตที่เกิดใหม่ในชาติต่อมา  จะเป็นจิตเดียวกันก็ไม่ใช่  จะต่างกันก็ไม่เชิง



--->> ท่านเจ้าคุณอาจารย์  พระเมธีธรรมาภรณ์  (ประยูร   ธรรมจิตโต)  ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า  


ในขณะที่คนเรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน  จิตของเราเกิด-ดับทุกขณะ  จิตเกิดดับ ๑ ขณะเรียกว่าจิต  ๑  ดวง  จิตแต่ละดวงมี  ๓  ขณะย่อม  คือ เกิดขึ้น  (อุปปาทะ)  ตั้งอยู่  (ฐิติ)   ดับไป  (ภังคะ)  จิตแต่ละดวง   เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะดำรงอยู่ชั่วเวลาสั้นมากแล้วดับไป  (ภังคะ)   จิตได้ส่งผลกรรมที่เก็บสะสมไว้เป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้น  (อุปปาทะ)   ดังนั้นจิตดวงใหม่เกิดขึ้นเพราะอาศัยพลังกรรมของดวงจิตก่อนหน้าที่เพิ่งดับไป   และจิตดวงที่เกิดตามมาทั้งนี้ก็ตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วดับไปก่อนจะดับจิตนี้ก็ส่งปัจจัยต่อเนื่องให้จิตดวงใหม่ เกิดขึ้นอีก



อุปปาทะ + ฐิติ+ ภังคะ -> อุปปาทะ + ฐิติ+ ภังคะ -> อุปปาทะ + ฐิติ+ ภังคะ



จิตเกิดดับต่อเนื่องกันเป็นสายโซ่อย่างนี้  ท่านเรียกว่ากระแสจิต(วิญญาณ  โสตะ =  Stream of consciousness)  ภาวะที่จิตเกิดสืบต่อกันเป็นกระแสท่านเรียกว่า  สันตติ  (Continuity)



แม้จิตจะเกิดดับทุกขณะ  แต่ผลกรรมก็ไม่สูญหายไปพร้อมกับการดับของจิตแต่ละดวง  เพราะจิตจะส่งทอดผลกรรมให้จิตดวงใหม่เก็บรักษาต่อไปก่อนที่ตัวเองจะดับลง  จิตดวงใหม่จึงเป็นทายาทรับมรดกกรรมของดวงจิตที่เพิ่งดับไป  ความจำและประสบการณ์ที่ถูกส่งถอดต่อกันไปอย่างนี้  จิตดวงเก่าที่เพิ่งดับไปกับจิตดวงใหม่ที่เกิดตามมาจะเป็นอันเดียวกันก็ไม่ใช่จะแตกต่างกันก็ไม่เชิง  น จ โส น จ อญโญ  ที่ว่าไม่ใช่สิ่งเดียวกันเพราะจิตดวงเก่าได้ดับไปแล้ว   และมีจิตใหม่รับผลกรรม  และประสบการณ์เป็นมรดกทั้งหมดมาจากจิตดวงก่อน  และจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้นก็ส่งมรดกให้จิตดวงต่อมารับไปเช่นกัน   จิตนับล้าน  ๆ  ดวงในกระแสจิตของชีวิตหนึ่งเกิดดับติดต่อสืบเนื่องกันไปอย่างนี้




ชั่วชีวิตหนึ่ง  จิตเกิดนับครั้งไม่ถ้วน  และคนเราก็เกิดและตายนับครั้งไม่ถ้วน  ในชั่วชีวิตเดียวนี้แหละ  จิตเกิด  ๑ ขณะก็เท่ากับเราเกิด  ๑   ครั้ง  จิตดับ  ๑  ขณะก็เท่ากับเราตาย  ๑  ครั้ง  เนื่องจากจิตของเราเกิดดับทุกขณะ  คนเราจึงเชื่อว่า เกิดและตายตามจำนวนครั้งของการเกิดดับของจิต  ความตายชั่วขณะนี้  ท่านเรียกว่า    ขณิกมรณะ   ทุกวันที่ผ่านไปเราเกิดและตายแบบขณิกมรณะนี้หลายครั้ง  เราเกิดแล้วก็ตาย  และตายแล้วก็เกิด   สลับกันไปทุกขณะ




จิตตายแล้วก็เกิดเพียงชั่วขณะเดียวด้วยวิธีการเช่นใด    จิตตายแล้วก็เกิดใหม่แบบข้ามภพข้ามชาติด้วยวิธีการเช่นนั้น อันที่จริงนั้นสภาวะที่จิตตายแล้วเกิดใหม่  แบบข้ามภพข้ามชาติ  ก็มีลักษณะการเช่นเดียวกับสภาวะที่จิตเกิดดับในชั่วชีวิตเดียว ความแตกต่างประการเดียว  อยู่ตรงที่ว่า   การตายแล้วเกิดแบบขณิกมรณะจำกัดอาณาบริเวณอยู่ในร่างกายเดียว   แต่การตายแล้วเกิดใหม่แบบข้ามชาติ  เป็นการทิ้งร่างกายในภพภูมินี้  แล้วถือกำเนิดในร่างกายของภพภูมิหน้า  




ที่กล่าวว่าสภาวะที่ตายแล้ว   เกิดใหม่แบบข้ามภพข้ามชาติ  มีกระบวนการไม่ต่างจากการเกิดของจิตในชีวิตประจำวันของเรานั้น   หมายความว่า   จิตดวงสุดท้ายในชาตินี้  เรียกว่า  จุติจิต   เพราะเป็นจิตที่เคลื่อนย้ายภพ (จุติ)   ออกจากร่างกายที่ปราศจากลมหายใจ   ขณะที่จุติจิตดับลง ได้ส่งพลังกรรมและผลรวมของประสบการณ์ในชาตินี้  ไปก่อให้เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นในร่างกายใหม่ของชาติหน้าจิตที่เกิดใหม่ในร่างกายใหม่เรียกว่า  ปฏิสนธิจิต  หมายถึง  จิตที่เชื่อมโยง  (ปฏิสนธิ) ระหว่างชาตินี้กับชาติหน้าในกรณีนี้  จุติที่ดับในชาตินี้กับปฏิสนธิที่เกิดใหม่ในชาติหน้า   จึงไม่ใช่จิตดวงเดียวกันเพราะจุติจิตดับไปแล้ว  เหลือแต่เพียงพลังกรรมที่ถูกส่งทอดไปเป็นมรดกที่ปฏิสนธิจิตเก็บรักษาต่อไป   แต่จุติจิตกับปฏิสนธิจิตก็ไม่แตกต่างชนิดแยกขาดจากกัน   ทั้งนี้ก็เพราะ  ปฏิสนธิจิตรับมรดกกรรมทุกอย่างมาจากจุติจิต  และเก็บรักษาไว้เป็นอนุสัยสันดานสืบต่อไป   ปฏิสนธิจิตกับจุติจิตจึงเป็นอันเดียวกันก็ไม่ใช่  จะแตกต่างกันก็ไม่เชิง

--->>  กระบวนการเกิดใหม่นี้  ศาสตราจารย์แสง   จันทร์งาม ได้อธิบายในบทความเรื่อง  “ ตายแล้วเกิดตามหลักพระพุทธศาสนา”  ๒  ทัศนะ ว่า




--->> ทัศนะแบบพระอภิธรรม   สอนว่า  ดวงจิตของมนุษย์เกิดดับเป็นดวง  ๆ  ติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว  ในขณะที่จะตายนั้น  จิตดวงท้ายจะดับลง  จิตดวงสุดท้ายนี้เรียกว่า  จุติจิต  ในทันใดนั่นเอง  จิตดวงใหม่ก็จะเกิดขึ้นทันทีในภพใหม่ในชาติใหม่โดยไม่มีอะไรกั้นกลาง  ดวงจิตใหม่ที่เกิดขึ้นนี้  ท่านเรียกว่า  ปฏิสนธิจิต  แปลว่า   ดวงจิตผู้ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างชาติหนึ่งกับอีกชาติหนึ่ง  


พระนารทะมหาเถระ   กล่าวไว้ว่า  “ปฏิสนธิจิตซึ่งบางทีเรียกว่า  ดวงจิตใจขณะเกิดใหม่นั้นจะถูกกำหนดโดยความคิดที่ทรงพลังที่บุคคลได้ประสบในขณะที่กำลังจะตาย   และเป็นกำหนดโดยความคิดที่ทรงพลังที่บุคคลได้ประสบในขณะที่กำลังจะตาย   และเป็นต้นกำเนิดของกระแสชีวิตปัจจุบัน  ในชั่วชีวิตหนึ่งจะมีปฏิสนธิจิตเพียงดวงเดียวเท่านั้น  ต่อจากนั้นภวังจิตก็เกิดติดต่อกันไปนับครั้งไม่ถ้วนในชั่วชีวิตหนึ่ง  ในขณะสุดท้ายแห่งชีวิตจุติจิตดวงเดียวในชีวิตจะเกิดขึ้นเจตสิกของจุติจิตก็ดี   ของภวังคจิตก็ดี   ของปฏิสนธิจิตก็ดี  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”




มติฝ่ายพระอภิธรรมนี้  ไม่ได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างจุติจิตในภพเดิมกับปฏิสนธิจิตในภพใหม่   บอกแต่เพียงว่า  เมื่อจุติจิตดับ  ณ จุดหนึ่ง  ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นทันที  ณ  อีกจุดหนึ่ง  ถ้าเห็นจริงตามนั้น  ก็ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเลยระหว่างชีวิตเก่ากับชีวิตใหม่  ชีวิตทั้งสองแยกกันอย่างเด็ดขาดไม่มีอะไรเป็นตัวเชื่อมเลย  แต่พระอภิธรรมก็ยืนยันว่า  กระแสจิตเกิดดับติดต่อกันไปไม่ขาดสาย  ฟังดูแล้วก็ขัดแย้งกันอยู่  เพราะขณะที่ยืนยันว่ามีการสืบต่อ  แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเป็นตัวเชื่อม   ซึ่งประเด็นนี้ต้องศึกษาเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง




ตามหลักธรรมดานั้น  ถ้าของสองสิ่งซึ่งอยู่ห่างไกลมาก ๆ  มีความต่อเนื่องกัน   ก็ต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นตัวต่อเชื่อม  สมมติว่า  นาย  ก ตายลงใน    ประเทศไทย แล้วปฏิสนธิวิญญาณของกระแสชีวิตของ นาย  ก.  ก็เกิดขึ้นในอินเดียซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร   ก็ควรจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งเดินทางจากประเทศไทยไปถึงอินเดีย   แม้ว่าสิ่งนั้นจะเดินทางได้เร็วเท่ากับหรือมากกว่าความเร็วของแสงก็ตาม  พระอภิธรรมมิได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้

--->>  ทัศนะฝ่ายพระสุตตันตปิฏก    คือ   มติที่ได้มาจากหลักฐานที่รวบรวมได้จากพระสูตรต่าง  ๆ   ในพระสุตตันตปิฏก   หลักฐานในพระสูตรแสดงให้เห็นชัดว่า  มีสิ่งหนึ่งเป็นตัวกลางทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างชาตินี้กับชาติหน้า   สิ่งนั้นเป็นกลุ่มพลังงานอันหนึ่ง  ซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิตเก่า   และเป็นตัวเชื้อจุดเปลวชีวิตใหม่ให้เกิดขึ้น   กลุ่มพลังงานนี้เองเป็นเดินทางจากชีวิตของนายกรรม  ที่ตายลงในประเทศไทย   ไปเกิดเป็นนายเวร   ในอินเดีย   กลุ่มพลังงานนี้ท่าสมมติเรียกว่า  จิตบ้าง  วิญญาณบ้าง   คันธัพพะบ้าง  



พระพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ว่า   คนที่จิตประกอบด้วยกุศล  เมื่อร่างกายแตกสลาย  ย่อมลงไปเกิดใหม่ในภูมิชั้นสูง  ดังนี้  


“ดูก่อนมหาบพิตร  จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่อบรม
แล้วด้วยศรัทรา  ศีล  สุตะ  จาคะ  ปัญญา  มาเป็นเวลา
นาน   กายนี้ของผู้นั้น   มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป   ๔
เกิดแก่มารดาบิดาเติบโตขึ้นมาด้วยข้าวสุกและขนมสด  
มีความไม่เที่ยง  ต้องขัดสี  นวดเฟ้น   และจะต้องแตก
กระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา  พวกกา  แร้ง  เหยี่ยว
สุนัขบ้า   สุนัขจิ้งจอก    หรือสัตว์นานาชนิดย่อมกัดกิน
กายนี้    ส่วนจิตของผู้นั้นที่อบรมแล้วศรัทธา  
ศีล  สุตะ  จาคะ   ปัญญา   มาเป็นเวลานาน   ย่อมเป็นสิ่ง
ไปในเบื้องบน  เป็นสิ่งถึงภูมิอันวิเศษเปรียบเหมือนบุรุษลง
ไปยังห้วงน้ำลึกแล้วพึงทุบหม้อเนยใส  หรือ   หม้อน้ำมัน
สิ่งใดที่มีอยู่ในหม้อนั้น  จะเป็นก้อนกรวดหรือกระเบื้องก็
ตาม  สิ่งนั้นจะจมลง  สิ่งในเป็นเนยหรือน้ำมัน  สิ่งนั้น จะ
เป็นสิ่งลอยขึ้นเบื้องบน   เป็นสิ่งถึงภูมิวิเศษ...”





ในพระไตรปิฎกเล่มที่   ๒๒  พระสุตตันตปิฎก  เล่ม  ๑๔ อังคุตตรนิกาย   ฉักกนิบาต   ทุติยปัณณาสก์  มหาวรรค   ผัคคุณสูตร  พระพุทธองค์ตรัสว่า


“วิญญาณาหาโร   อายตึ  ปุนพฺภวานิพฺพตฺติยา”

อาหาร คือ   วิญญาณ เป็นปัจจัยแห่งการเกิดในภพใหม่ต่อไป





ในพระไตรปิฎกเล่มที่  ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่  ๑๒   อังคุตตรนิกายติกนิบาตร  ทุติยปัณณาสก์  อานันทวรรค   นวสูตร   พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า  วิญญาณเป็นเหมือนเมล็ดพืชในกระบวนการเกิดใหม่  ในขณะที่ตัณหาเป็นยางเหนียวหรือน้ำเลี้ยง  และกรรมเป็นเสมือนเนื้อนาที่กำหนดให้พืชเกิดขึ้น  ณ  ที่ใดที่หนึ่งใจความในพระสูตรนั้นมีว่า




“ดูก่อนอานนท์ ในเมื่อกรรมที่อำนวยผลใน
กามธาตุ  ....  ในรูปธาตุ ...  ในอรูปธาตุ....  จักไม่มีแล้ว
ไซร้   กามภพ...  รูปภพ ... อรูปภพ   จะพึงปรากฏบ้าง
หรือหนอ ?  (เมื่อพระอานนท์ทูลตอบว่า   ไม่พึงปรากฏ
เลย   ได้ตรัสต่อไปว่า)  “ดูก่อน อานนท์  เหตุนี้แล  
กรรมจึงเชื่อว่าเป็นนา  วิญญาณเชื่อว่าเป็นพืช   ตัณหา
ชื่อว่าเป็นยางเหนียว....  ด้วยประการฉะนี้จึงมีการเกิดใหม่
ในภพต่อไปอีก”





ในที่มาบางแห่งพระพุทธองค์ทรงเรียกกลุ่มพลังงานจิตนี้ว่า   “คันธัพพะ”  (คนธรรพ์)  เช่น  ในมหาตัณหาสังขยสูตร  พระพุทธองค์ตรัสว่า



“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  การตั้งครรภ์ย่อมมีเพราะการ
ประชุมพร้อมกันแห่งองค์  ๓  ประการแลถ้ามารดาบิดาใน
โลกนี้อยู่ร่วมกัน  แต่มารดาไม่มีระดูและคันธัพพะไม่เข้า
อยู่ร่วมกัน การตั้งครรภ์ก็ยังไม่มี  แต่เพราะเหตุที่มารดา
บิดาร่วมกัน  มารดามีระดู  และคันธัพพะก็เข้าอยู่ร่วมกัน
การตั้งครรภ์จึงมีเพราะการประชุมพร้อมแห่งองค์  ๓
ประการนั้น ”
 




ในบรรดาองค์ประกอบแห่งการตั้งครรภ์  ๓   ประการนั้น  องค์ประกอบที่  ๓  คือ  คันธัพพะ เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการตีความ   เพราะไม่ทราบว่าจะหมายถึงอะไรแน่  ตามปรกติคันธัพพะ(คนธรรพ์) เป็นเทวดาชั้นต่ำจำพวกหนึ่ง  ซึ่งทำหน้าที่เป็นนักดนตรีสวรรค์ให้ความสำราญแก่เทวดาชั้นสูง  ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่น่าจะมีส่วนอะไรเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของสตรีนอกจากจะอธิบายว่า   ไม่ว่าสัตว์ประเภทไหนก่อนจะมาเกิดเป็นมนุษย์ต้องไปถือกำเนิดเป็นเทวดาชั้นต่ำประเภทคันธัพพะเสียก่อน  แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้   เพราะหลักฐานต่าง  ๆ  เท่าที่ปรากฏก็ไม่ระบุว่าจะต้องผ่านการเป็นคันธัพพะก่อน




-->> มีบางท่านให้ความเห็นแบบสมัยใหม่ว่า   คันธัพพะ  น่าจะหมายถึงตัวสเปอร์มซึ่งเป็นตัวเชื่อมชีวิตของชาย  ศัพท์บาลีว่า   คันธัพโพ  ก็บ่งชัดอยู่ว่า  คันธัพพะเข้าไปตั้งอยู่เฉพาะ   หมายความว่า  ตัวสเปอร์มตัวหนึ่งสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในไข่ของฝ่ายหญิงได้   ท่านผู้นี้แปลข้อความในมหาตัณหาขยสูตรว่า “มารดาบิดาร่วมประเวณีนั้น   มารดามีประจำเดือน   (คือไข่สุก)   ตัวสัตว์หยั่งลง (ในไข่)  ความพร้อมกัน  ๓  ประการนี้ทำให้มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น”



ความรู้ในพุทธศาสนานั้น   ตรงกับหลักวิชาสูติศาสตร์  (ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์) มากทีเดียว   ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นความมหัศจรรย์ของพุทธศาสนา   ซึ่งเป็นเวลากว่าสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว   วิทยาศาสตร์มิได้เจริญดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ห้องทดลองก็ไม่มี กล้องจุลทรรศน์ก็ไม่มี  โพรโทพลาสมา  ซึ่งทางศาสนาเรียกว่า  “ธุลีในน้ำ” ก็ดีเจ้าสัตว์เล็ก  ๆ   ที่อยู่ในน้ำกามซึ่งทางศาสนา  เรียกว่า  คันธัพโพ  ก็ดี  ล้วนเป็นสิ่งที่เล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น     แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นได้อย่างไร




ดังนั้น  คันธัพพะน่าจะได้แก่กลุ่มพลังจิตที่ก้าวสู่ครรภ์มารดา   ตามใจความแห่งมหานิทานสูตรกล่าวว่า



“ดูก่อน  อานนท์  ถ้าวิญญาณจะไม่ก้าวหยั่งลง
สู่ครรภ์มารดา  นามรูปจะพึงสถิตมั่นในครรภ์มารดาได้หรือ ?

ไม่ได้เลยพระเจ้าข้า

“  ดูก่อนพระอานนท์  ก็ถ้าวิญญาณ ครั้งหยั่งลงสู่
ครรภ์มารดาแล้ว   จักออกไปเสีย  นามรูปจัดพึงบรรลุถึง
ความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ ?

ไม่ได้พระเจ้าข้า




จากการพิจารณา กระบวนการเกิดใหม่ข้างต้นทำให้เราเห็นแล้วว่านามรูปหรือกายจิตมีสภาพเกิดดับสืบต่อกันเหมือนในสภาพปรกติ   จะแตกต่างก็เพียงในขณะที่เกิดจุติปฏิสนธินั้นจิตได้เกิดดับสืบต่อกันไม่ขาดสาย   แต่รูปซึ่งเป็นส่วนประกอบอีกอย่างหนึ่งของชีวิตได้เกิดและดับลงในภพเก่า  กระนั้นก็ดีจิตซึ่งประกอบด้วยกรรมก็ได้เกิดดับสืบเนื่องต่อไปในภพใหม่ด้วย  



กล่าวได้ว่าการเกิดใหม่เป็นเพียงพฤติอย่างหนึ่งของกระแสชีวิตที่ไม่สิ้นสุด   เป็นการสืบต่อสภาพชีวิตในภพ  เก่าสู่ภพใหม่โดยในการสืบต่อนั้นแม้จะถือได้ว่าเป็นการสร้างสภาพใหม่ให้กับชีวิตแต่สภาพใหม่นั้นก็อาศัยสภาพเดิมนั่นเองเป็นรากฐาน   เปรียบประดุจสายน้ำที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้  ในการอุบัติหรือปรากฏขึ้นของนามรูปในภพใหม่จะเห็นได้ว่าเริ่มต้นด้วย  ปฏิสนธิจิต  หากไม่มีปฏิสนธิภพใหม่ย่อมไม่ปรากฏ  ความเกิดขึ้นแห่งปฏิสนธิจิต  จึงได้ชื่อว่าความเกิดขึ้นของภพชาติ  


ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นได้เพราะสังขาร  คือภาวะบุญบาปหรือกุศลหรืออกุศล  ธรรมชาติที่เป็นแรงดึงดูดหรือตัวผลักดันให้รวมกลุ่มกุศลอกุศลเข้าเป็นปฏิสนธิจิตในภพใหม่นั้นได้แก่  อุปาทานหรือความยึดมั่นว่าเป็นตัวตนกับภวตัณหาคือความปรารถนาภพชาติหรือปรารถนาสืบต่อชีวิตอย่างรุ่นแรงภายในจิต



สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิวิญญาณขึ้น   ปฏิสนธิวิญญาณนี้เปรียบเทียบเหมือนเมล็ด  พืช  ตัณหาเปรียบเสมือนยางเหนียวในเมล็ดพืช  กรรมเปรียบเหมือนที่ดิน   เมื่อส่วนประกอบมีครบอย่างนี้   ความเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปย่อมมีแน่นอน   ตราบใดที่วิญญาณยังมีกิเลสอยู่  ตราบนั้นมันก็จะผลักดันให้เกิดการกระทำกรรมดีกรรมชั่วและกลายเป็นพลังผลักดันให้มีการเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด


หมายเลขบันทึก: 215757เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 06:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แล้วรู้ได้อย่างไรว่าตายแล้วเกิดจริง มีข้อพิสูจน์หรือเปล่า

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องตายแล้วเกิด ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎกมากมายพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เรื่องตายแล้วเกิดที่พระพุทธเจ้าสอนไว้จึงมีเหตุผลน่าเชื่อถือ ตามหลักกฎแห่งกรรม ในพุทธศาสนาแล้วถือว่ามนุษย์เราทุกคนล้วนเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วทั้งสิ้น นับชาติไม่ถ้วน ประสบทั้งสุคติภพ และทุคติภพ ตามอำนาจผลของกรรมที่ได้สร้างสมไว้ในอดีตชาติ ดังพุทธพจน์ที่แสดงถึงการเวียนว่ายตายเกิดว่า

“คพฺพเมเก อุปปชฺชนฺติ นิรยํ ปาปกมฺมิโน

สคฺคํ สุคติโน ยนฺติ ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา”

“ คนบางพวกเกิดในครรภ์ คนบางพวกที่ทำกรรมชั่วไว้ไปนรก

คนบางพวกที่ทำกรรมดีไว้ไปสู่สวรรค์ ส่วนท่านที่หมดกิเลสแล้วทั้งหลายย่อมนิพพาน”

ความจริงแห่งชีวิตประการแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบในคืนวันตรัสรู้ ก็คือความจริงเรื่องตายแล้วเกิดนี้เอง พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

“เรานั้นครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใสไม่มีกิเลส

ปราศจากกิเลสเป็นธรรมชาติอ่อน ควรแก่การงานถึงความ

ไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนั้น ได้น้อมจิตไปเฉพาะต่อบุพเพ-

นิวาสานุสสติญาณ เรานั้นระลึกถึงขันธ์ ที่เคยอยู่ในภพ

ก่อนหลายประการ คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติ

สามชาติ สี่ชาติ ห้าชาติ...... ตลอดหลายสังวัฏกัป

หลายวิวัฏกัปหลายสังวัฏกัป และวิวัฏกัปบ้าง ว่าเมื่อ

เราอยู่ในภพโน้น มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มี

วรรณะ อาหารอย่างนั้น ๆ เสวยสุขและทุกข์เช่นนั้น ๆ

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น มีชื่อ

โคตร วรรณะอาหารอย่างนั้น ๆ ได้เสวยสุขและทุกข์

เช่นนั้น ๆ มีอายุสุดลงเท่านั้น ๆ ครั้นจุติจากภพนั้น ๆ

แล้วมาเกิดในภพนี้.....”

นอกจากจะทรงเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของพระองค์เองแล้ว ยังทรงเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์อื่น ๆ อีกด้วย พระองค์ตรัสไว้ว่า

“ เรานั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใส... ไม่

หวั่นไหวตั้งอยู่เช่นนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเฉพาะต่อ

จุตูปปาตญาณ เรามีจักษุทิพย์ บริสุทธิ์กว่าจักษุสามัญ

มนุษย์ ย่อมแลเห็นสัตว์ทั้งหลายจุติอยู่ บังเกิดอยู่

เลวทราม ประณีต มีวรรณะดี มีวรรณะเลว มีทุกข์ มี

สุขเรารู้แจ้งชัดหมู่สัตว์ ผู้อุบัติตามกรรมเก่าว่า

ท่านผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้หนอประกอบกายทุจริต วจี

ทุจริต มโนทุจริต พูดติเตียนพระอริยเจ้า ทั้งหลาย

เป็นมิจฉาทิฏฐิประกอบการงานด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ

เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายสุจริต วจี สุจริต มโนสุจริต...

เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมพากันเข้าสู่สุคติ

โลกสวรรค์........"

บางคราวพระพุทธเจ้าก็ทรงเล่าเรื่องราวของชีวิตในชาติก่อน ๆ ถึงประสบการณ์ ในการประกอบกรรมทั้งกรรมดี กรรมชั่ว และผลของกรรมที่ได้รับอย่างชัดเจนในอปทานสูตรได้เล่าถึงบุพกรรมทั้งกรรมดี กรรมชั่ว และผลของกรรมที่ได้รับอย่างชัดเจนในอปทานสูตร ได้เล่าถึงบุพกรรมของพระองค์ว่า

“ ในชาติหนึ่งพระองค์เป็นนักเลงปุนาลิ ได้กล่าวตู่ใส่

ร้ายพระพุทธเจ้าสุรภี ผู้มิได้ประทุษร้ายต่อพระองค์เลย

ผลกรรมนั้นทำให้เวียนว่ายตายเกิดในนรก ได้รับ

ทุกขเวทนา เป็นเวลานาน ในชาติสุดท้ายจึงถูกนาง

สุนทริกาใส่ความ”

ในลักขณสูตร ได้ตรัสถึงการสร้างกรรมดีในอดีตชาติว่า

“ตถาคต เคยเป็นมนุษย์ ในชาติก่อน ภพก่อน

กำเนิดก่อน เป็นผู้ยึดในกุสลกรรม ไม่ท้อถอยในกาย

สุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต บำเพ็ญทานสมาทานศีล

รักษาอุโบสถศีล ปฏิบัติชอบในมารดา บิดา สมณะ

พราหมณ์ ตลอดจนให้การเคารพในผู้ใหญ่ วงศ์ตระกูล

และปฏิบัติกุศลกรรมที่สูงขึ้นไป หลังจากตายไป

แล้ว ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อาศัยกุศลกรรม

ดังกล่าว ตถาคตย่อมอยู่เหนือเทพอื่น ๆ เกี่ยวกับ

อายุ วรรณะ สุข ยศ อำนาจ รูป เสียง กลิ่น รส

สัมผัสอันเป็นทิพย์.........”

-->> นอกจากจะเป็นเรื่องราวโดยตรงของพระเจ้าแล้ว ในพระไตรปิฎกหรือหลักฐานจากการระลึกชาติของบุคคลต่าง ๆ ได้พูดถึงการตายแล้วหรือการได้ชีวิตใหม่ ของบุคคลต่าง ๆ พอที่จะยกตัวอย่างให้เห็น...ต่อไป

--->> การได้เกิดใหม่ในพรหมโลก

ผู้ที่จะไปเกิดใหม่ในพรหมโลกนั้น ในขณะดำรงชีวิตมนุษย์อยู่ เป็นผู้ประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ มีศรัทธาแก่กล้ามีปัญญาเห็นโทษแห่งความทุกข์อันเกิดจากกิเลสตัณหานานาประการ และปรารถนาที่จะกำจัดกิเลสให้ทุเลาเบาบาง เพื่อหวังจักได้ไปอุบัติเกิดในภพอันประเสริฐสุดคือพรหมโลก การที่จะมีวาสนาได้ไปอุบัติในพรหมโลกนั้น มีเพียงแต่อานิสงค์แห่งบุญกุศลอย่างสามัญธรรมดาเท่านั้น ถ้ากล่าวตามหลักบุญกิริยาวัตถุ 3 แล้ว ย่อมมิใช่อานิสงส์แห่งทาน ไม่ใช่อานิสงค์แห่งศีล แต่เป็นเพราะอานิสงค์แห่งภาวนา คือ การทำสมาธิเจริญสมถกรรมฐาน ตามกำลังความสามารถของตน ภายหลังจากตายไปแล้วก็จะนำตนไปเกิดใหม่ในพรหมโลก ดังตัวอย่างเช่น ธนัญชานี พราหมณ์ในมัชฌินิกาย มัชฌิมปัณณาสถ์ มีใจความว่า...

เมื่อธนัญชาพราหมณ์ป่วยหนัก จึงให้คนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าและกราบเรียนพระสารีบุตร พร้อมกับอาราธนาพระสาลีบุตรไปที่บ้านของตนเพื่ออนุเคราะห์พระสารีบุตรเมื่อไปถึงก็ได้แสดงธรรมให้แก่ธนัญชานิพราหมณ์ไปโดยลำดับ และถามพราหมณ์ถึงภพภูมิต่าง ๆ ในระดับต่ำสุดจนถึงระดับสูงสุดว่า...

นรก กับกำเนิดดิรัจฉานอันไหนจะดีกว่ากัน พราหมณ์ตอบว่ากำเนิดดิรัจฉานดีกว่า จึงถามเปรียบเทียบเรื่อยไปจากดิรัจฉานไปถึงเปรตวิสัย ,มนุษย์,เทพชั้นจาตุมหาราช,ชั้นดาวดึงส์,ชั้นยามา,ชั้นดุสิต,ชั้นนิมมานนรดี,ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีและพรหมโลก เมื่อเห็นว่าพวกพราหมณ์มีจิตน้อมไปเพื่อพรหมโลก จึงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อไปเกิดในพรหมโลกให้ธนัญชานิพราหมณ์ฟัง คือการเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

ท่านสารีบุตรได้กล่าวว่า

“ดูก่อนท่านธนัญชานิ ก็ทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหมเป็นไฉน ดูก่อนธนัญชานิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ทิศที่ ๒ ทิศที่๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวางแผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหม

ดูก่อนธนัญชานิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา... มีใจประกอบด้วยมุทิตา...มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตายนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวางแผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้าในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เป็นทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหม

ธ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ตามคำของข้าพเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า

ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้ประดิษฐาน ธนัญชานิพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นได้ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ทันใดนั้น

เมื่อท่านพระสารีบุตรหลีกไปไม่นาน ธนัญชานิพราหมณ์ทำกาละแล้วไปบังเกิดยังพรหมโลก ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสารีบุตรนี้ได้ประดิษฐาน ธนัญชานิพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นได้ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่น ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ทำไมเธอจึงประดิษฐานธนัญชานิพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อมีกิจอันจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปได้ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไปเล่า?

สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าแต่พระองค์มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่าพราหมณ์เหล่านี้น้อมใจไปในพรหมโลก ถ้ากระไร เราพึงแสดงทางเพื่อความเป็นสหายกับพรหมแก่ ธนัญชานิพราหมณ์เถิด ดังนี้ พระเจ้าข้า

พ. ดูกรสารีบุตร ธนัญชานิพราหมณ์ทำกาละไปบังเกิดในพรหมโลกแล้วฉะนี้แล”

การได้เกิดใหม่ใน เทวโลก

เทวโลก หรือ สวรรค์ เป็นแดนสุขาวดี มีแต่ความสุข แต่การที่จะเสวยสุขมาน้อย และนานเพียงใดนั้น ก็แล้วแต่กุศลกรรมที่ได้กระทำไว้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์ ถ้าทำกุศลกรรมไว้มาก มีความตั้งใจทำเป็นอย่างยิ่ง ก็ย่อมได้รับความสุขมากและเป็นเวลานาน ตรงกันข้าม หากทำไว้น้อย ก็ได้รับความสุขน้อยและในเวลาอันสั้นแล้วก็ต้องจุติ คือ เคลื่อนจากเทวโลกไปอุบัติในภูมิอื่นตามหลักแห่งสังสารวัฏ

มนุษย์ได้ประกอบกุศลกรรมบถ หลังจากตายไปแล้วย่อมจะไปจุติในเทวโลก ได้เสวยทิพยสมบัติอันเป็นสุขประณีตอย่างยิ่ง ดังเช่นเรื่องเล่าในหมวดวิมานวัตถุ เรื่อง วิหารวิมานว่า

พระอนุรุทธเถระ ได้ถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่า

“ดูก่อนนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพรึก เมื่อท่านฟ้อน เสียงอันเป็นทิพย์น่าฟังรื่นรมย์ใจ ย่อมเปล่งออกมาอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วน เมื่อท่านไหวกายกลับไปมา เสียงของเครื่องประดับ ช้องผมก็เสียงดังไพเราะ ดุจเสียงดนตรีเครื่อง ๕ อนึ่งเสียงมงกุฎที่ถูกลมรำเพยพัดให้หวั่นไหว ก็กังวานไพเราะดุจเสียงดนตรี เครื่อง ๕ แม้พวงมาลัยบนเศียรเกล้าของท่าน มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบาน หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ดุจต้นอุโลกฉะนั้น”

นางเทพธิดาตอบว่า

“ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นสหายของดิฉันอยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนา ก็วิมานเป็นที่รักอันนี้ อันดิฉันได้แล้ว เพราะการอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น วิมานอันมีรัศมีสว่างไสวไปทุกทิศ น่าอัศจรรย์น่าดู น่าชมเช่นนี้ เกิดแต่ดิฉัน เพราะกุศลกรรมทั้งหลาย ควรทำบุญโดยแท้ ”

-->> สังเกตได้เลยจากพระสูตรนี้ว่า ว่าการทำบุญที่มีเจตนาบริสุทธิ์ย่อมมีอานุภาพมาก แม้เพียงการร่วมอนุโมทนาในการทำบุญ หรือการสร้างกุศลของบุคคลอื่นก็ทำให้ไปเกิดในเทวโลกได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท