หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด


หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด 

เรื่องสำคัญยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา  คือเรื่องหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด



ความเข้าใจเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ทุกแง่ทุกมุม  ทำให้ไม่ต้องน้อยใจในชะตาชีวิตของตน  และไม่ริษยาความสุขของผู้อื่น  เพราะได้เห็นแจ้งแล้วว่า  ความสุขทุกข์  รุ่งเรือง  หรือล้มเหลวในชีวิตของแต่ละคนนั้นเป็นผลรวมแห่งกรรมของตน  หรือกรรมแห่งหมู่คณะของตน  เป็นต้น



เรื่องกรรม  ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์  ความแตกต่างกันในเรื่องอุปนิสัยใจคอของคน  แม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน  และมีมารดาบิดาเดียวกัน  ได้รับการอบรมอย่างเดียวกัน



ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเรื่องกรรม  ทำให้บุคคลมีน้ำอดน้ำทน  มีความบากบั่นมั่นคง  ไม่ท้อถอย  มีความเพียรสั่งสมกรรมดี  ขยาดต่อกรรมชั่ว  ไม่ตีโพยตีพายเมื่อผิดหวัง  และไม่ระเริงหลงในเมื่อประสบผลดี  เพราะมารู้แจ้งว่า  ผลทุกอย่างย่อมมีมาเพราะเหตุ



หลักกรรมจะเป็นไปไม่ได้  ถ้าไม่มีการเกิดใหม่หรือการเวียนว่ายตายเกิด  เพราะมีปัญหาชีวิตหลายอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้  ถ้าปราศจากการเวียนว่ายตายเกิด  หรือที่เรียกว่า  “สังสารวัฏ”  เช่นปัญหาเรื่องคนดีบางคนชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน  และคนชั่วบางคนมีชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญ เป็นต้น  ปัญหานี้จะเป็นเรื่องค้างโลก  ถ้ากฎแห่งกรรมและการเกิดใหม่ไม่เข้ามาช่วยแก้



อนึ่ง  ช่วงชีวิตเพียงช่วงเดียวของบุคคลสั้นเกินไป  ไม่เพียงพอพิสูจน์กรรมที่บุคคลทำไว้แล้วได้ทั้งหมด  การเกิดใหม่จะช่วยอธิบายกรรมในอดีตของคนได้อย่างดีที่สุด  ดังนั้นชีวิตมนุษย์จึงเป็นสนามหรือเวทีสำหรับทดลองแรงกรรม  ว่าใครได้ทำกรรมอะไรไว้มาก – น้อย  เบาบาง  หรือรุนแรงเพียงใด



ด้วยประการฉะนี้   การศึกษาให้รู้แจ้งในเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  มีผลเป็นความสุข  สงบแก่ผู้ศึกษาเรียนรู้  มีประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตจิตใจให้สูงขึ้น  ร่มเย็นและทำให้เห็นว่าการเกิดของเรามีความหมาย  ไม่ใช่เกิดมาโดยบังเอิญ  มีชีวิตอยู่อย่างหลักลอยปล่อยตัว  และตายไปอย่างน่าสมเพชเวทนา




ต่อไปนี้เป็นพระราชปรารถในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗ แห่งบรมราชจักรีวงศ์)



“สำหรับพระพุทธศาสนานั้น  ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า  สิ่งที่เราควรสอนให้เข้าใจและให้เชื่อมั่นเสียตั้งแต่ต้นทีเดียวคือสิ่งที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา  นั่นคือวัฏฏสงสาร  การเวียนว่ายตายเกิด  และกรรม  ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา  เพราะหนทางปฏิบัติของพระพุทธศาสนาก็เพื่อให้พ้นจากวัฏฏสงสาร  อันเป็นความทุกข์  แต่สิ่งที่ดีประเสริฐยิ่งนั้นคือ  ความเชื่อในกรรม  แต่จะสอนแต่เรื่องกรรมอย่างเดียว  ไม่สอนเรื่องวัฏฏสงสารด้วยก็ไม่สมบูรณ์



ความเชื่อในกรรม  ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่ง  ควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน  และถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นในกรรมแล้ว  มนุษย์ในโลกจะได้รับความสุขใจขึ้นมาก  เป็นสิ่งที่ทำให้คนขวนขวายทำแต่กรรมดี  โดยหวังผลที่ดี  เรื่องวัฏฏสงสารและกรรมนี้เป็นของต้องมีความเชื่อ  เพราะเป็นของที่น่าเชื่อกว่าความเชื่ออีกหลายอย่าง



ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า   ถ้าคนเราเชื่อกรรมจริงๆ แล้วควรจะได้ความสุขใจไม่น้อย  โดยที่ไม่ทำให้รู้สึกท้อถอยอย่างไร



ข้าพเจ้าเห็นว่า  เราควรพยายามสอนเด็กให้เข้าใจและให้เชื่อมั่นในกรรมเสียแต่ต้นทีเดียว  ยิ่งให้เชื่อได้มากเท่าไรยิ่งดี  ควรให้ฝังเป็นนิสัยทีเดียว"



--> เก็บความจากพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๗) ทรงปรารภเมื่อ  ๑๖  พ.ค. ๒๔๗๒      


//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  หนังสือชื่อ พุทธปรัชญาเถรวาท  :  อ.วศิน  อินทสระ

หมายเลขบันทึก: 215754เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท