นิพพาน คือ ความจริงสูงสุด


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

นิพพาน คือ ความจริงสูงสุด 

ความจริงสูงสุด


๑. ความหมายของนิพพาน


นิพพาน  เป็นภาษาบาลี  ในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า  “นิรวาน”  แปลว่า  ความดับตัณหา  หรือความดับกิเลส และดับทุกข์  หรือ  สภาวะที่ปราศจากเครื่องร้อยรัดเสียบแทง  หรือสภาวะที่ออกไปจากตัณหาที่ได้  นิพพานจึงเป็นความดับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์และนิพพานนั้นเป็นชื่อหนึ่งของนิโรธ  ดังนั้นนิพพานกับนิโรธจึงเป็นสิ่งเดียวกัน  จัดได้ว่าเป็นความจริงสูงสุด  เป็นสภาวะที่สมบูรณ์  เป็นความดีขั้นสูงสุด  เป็นสภาวะที่เที่ยงแท้  เป็นสุขนิรันดร์  


พระอนุรุทอาจารย์  ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ  ได้พรรณนาคุณของนิพพานไว้ด้วยภาษามคธว่า  
ปทมัจจุต  มัจจันตัง  อสังขตมนุตตรัง นิพพานมีติ  ภาสันติ  วานมุตตามเหสโย”


อาจารย์ ทวี  ผลสมภพ  แปลความว่า  “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่  ผู้พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด  ทรงตรัสถึงสภาวธรรมชนิดหนึ่งที่เข้าถึงได้  เป็นธรรมชาติไม่มีจุติ  พันจากขันธ์  ๕ ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยอะไร  ๆ  เลย  หาสภาวธรรมอื่นเปรียบเทียบไม่ได้  ว่าสภาวธรรมนั้นคือ พระนิพพาน”



๒. ลักษณะสำคัญของนิพพาน


การศึกษาเกี่ยวกับนิพพานมีสาระที่ควรให้ความสนใจ  ๓  ประการคือ

๑. ธรรมชาติที่ไม่มีจุติ
๒. พ้นจากขันธ์ ๕
๓. ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยอะไร


-->>  นิพพานเป็นธรรมชาติไม่มีที่จุติ  หมายถึง  นิพพาน ไม่มีการเกิด  ไม่มีความตาย  เพราะความตายจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีการเกิด  ดังนั้นเมื่อไม่มีเกิดจึงไม่มีตาย  การที่นิพพานไม่มีการเกิด  ก็เพราะว่า  นิพพานทำลายตัณหาซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดภพต่าง ๆ  อย่างหมดสิ้น


-->> นิพพานพ้นจากขันธ์ ๕  หมายถึง  เมื่อไม่มีการเกิด  ขันธ์ ๕   ก็ไม่ปรากฏ  เพราะความเกิดคือการปรากฏของขันธ์ ๕ ซึ่งธรรมดาสัตว์โลกทุกชนิดเมื่อเกิดแล้วจะต้องมีขันธ์  ๕   อาจจะครบทั้ง ๕ ขันธ์หรือไม่ครบบ้าง เช่น  เมื่อมนุษย์เกิดมามีรูปร่าง มีความรู้สึกสุขทุกข์ (เวทนา) มีความจำ  (สัญญา) มีความคิดปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์  (สังขาร)  และมีจิต  (วิญญาณ)  แต่ถ้าเกิดเป็นอรูปพรหมก็มีเพียง  ๔  ขันธ์  ขาดรูปขันธ์  เป็นต้น  ฉะนั้นการที่ไม่มีการเกิดจึงเท่ากับว่าไม่มีขันธ์


-->> นิพพานไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยอะไร  ๆ  หมายถึง  ธรรมดาสิ่งทั้งหลายล้วนเกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง  คำว่าปรุงแต่งในที่นี้คือสิ่งทั้งหมายมารวมตัวกันเป็นกอง  เป็นหมู่ เช่น  บ้านรวมตัวขึ้นเพระการรวมตัวของวัตถุต่าง ๆ  มีทั้งไม้  ปูน เหล็ก  กระเบื้อง  เป็นต้น  

มนุษย์ก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ  ๔  การรวมตัวของวัตถุเป็นบ้าน  หรือการรวมตัวของธาตุ  ๔  เป็นมนุษย์และสัตว์นี้  เรียกว่าถูกปรุงแต่ง  เมื่อนิพพานไม่มีการเกิดจึงเท่ากับว่าไม่มีการรวมตัวกันของธาตุ  ๔  เมื่อไม่มีปัจจัยใด ๆ รวมตัวกัน  จึงไม่มีอะไรเกิด  เพราะฉะนั้น  นิพพาน  จึงได้ชื่อว่า  อสังขตะ  แปลว่า  ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยต่าง ๆ



นิพพานจำแนกได้  ๓  คือ


๑. นิพพาน ๑   โดยสภาวะลักษณะ
๒. นิพพาน  ๒  โดยการกล่าวถึงเหตุ
๓. นิพพาน  ๓   โดยการเข้าถึง



**************************************************************************

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  : หนังสือพุทธปรัชญาเถรวาท (ผศ. วิโรจน์  นาคชาตรี)

**************************************************************************

--->>  นิพพาน ๑  


นิพพาน  ๑  โดยสภาวะลักษณะ  คือ  สันติลักษณะ  หมายถึง  นิพพานเป็นสภาวะที่สงบจากกิเลสสงบจากขันธ์  ๕  ซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลาย  เมื่อปรินิพพานแล้วย่อมเข้าถึงสันติสุข  


คำว่า  สันติสุขในความหมายนี้  มิได้หมายความว่านิพพานเป็นสุขเวทนา  แต่หมายถึง  นิพพานเป็นสภาวะที่ปลอดจากเวทนา  คือ  ไม่มีสุขเวทนา  ไม่ทุกขเวทนา  และไม่มีความเป็นกลางระหว่างสุขเวทนาและทุกขเวทนา


--->>  นิพพาน  ๒  


    นิพพาน   ๒  โดยการกล่าวถึงเหตุ  ๒  ลักษณะ  คือ



-->ลักษณะที่  ๑  มีกล่าวในพระไตรปิฎกเล่ม  ๒๕   หน้า  ๒๓๑  แบ่งออกเป็น ๒ ประการ  คือ


๑.  สอุปาทิเสสนิพพาน  คือ  ดับกิเลสทั้งหมดแล้ว  แต่ยังมีขันธ์  ๕ อยู่  ได้แก่  พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิต เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า   ทิฏฐธัมมนิพพาน  แปลว่า  นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน


๒.  อนุปาทิเสสนิพพาน  คือ  ดับกิเลสหมดแล้ว  พร้อมทั้งดับขันธ์ด้วย  ได้แก่  พระอรหันต์ที่ไม่มีชีวิต  เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  สัมปรายิกนิพพาน  แปลว่า  นิพพานหลังจากสิ้นชีวิต




-->ลักษณะที่  ๒  มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกเล่ม  ๒๓  หน้า  ๒๑๖  แบ่งออกเป็น  ๒  ประการ  คือ


๑.  สอุปาทิเสสนิพพาน   คือ  ดับกิเลสได้แล้วเป็นบางส่วน  ยังเหลือบางส่วน  เช่น  นิพพานของพระโสดาบัน  พระอนาคามี


๒.  อนุปาทิเสสนิพพาน   คือ  ดับกิเลสไม่มีส่วนเหลือดับกิเลสได้หมด  คือ  นิพพานของพระอรหันต์



--->>  นิพพาน  ๓  


      นิพพาน  ๓  โดยการเข้าถึง  ๓  ลักษณะ คือ


๑. สุญญตนิพพาน
๒. อนิมิตตนิพพาน
๓. อัปปณิหิตนิพพาน




สุญญตนิพพาน
 คือ  นิพพานที่เข้าถึงได้ด้วยการพิจารณาขันธ์  ๕ เป็นของว่างเปล่า  


หมายถึง  ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานเห็นขันธ์  ๕  เป็นอนัตตา  ในความหมายว่าสูญเปล่า  คือ  ขันธ์  ๕  ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันได้สูญสิ้นไปแล้ว  ปัจจุบันก็กำลังสูญไปและในอนาคต ขันธ์  ๕  ก็จะสูญหายไปด้วย  ญาณทัสสนะ  ที่เกิดขึ้นโดยมีอนัตตาเป็นอารมณ์เด่นชัดนี้   เรียกว่า  สุญญตนิพพาน  หรือเรียกว่า  นิพพานเพราะเห็นอนัตตา



อนิมิตตนิพพาน
 คือ  นิพพานที่เข้าถึงได้ด้วยการพิจารณาขันธ์  ๕   ไม่มีเครื่องหมาย  หมายถึง   ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาขันธ์  ๕  ไม่เที่ยง  จนเกิดญาณทัสสนะเห็นขันธ์  ๕  เกิดแล้วดับติดต่อกัน  โดยมิได้มีนิมิตหมายอันใดเหลืออยู่  เห็นแต่รูปนาม  มีอนิจจลัษณะปรากฏเด่นชัดจึงหันหน้าไปสู่ความดับไม่กลับหลัง  เรียกว่า  อนิมิตตนิพพาน  หรือ  เรียกว่า  นิพพานเพราะเห็นอนิจจัง



อัปปณิหิตนิพพาน
 คือ  นิพพานที่เข้าถึงได้ด้วยการพิจารณาขันธ์  ๕  ว่าไม่มีอารมณ์ ที่น่าปรารถนา  หมายถึง  ผู้ที่เจริญวิปัสสนาพิจารณาขันธ์  ๕  เป็นทุกข์  คือ  ไม่มีสิ่งใดคงทน  ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่  ทุกสิ่งปรากฏขึ้นแล้วก็เปลี่ยนแปลงไป มิได้ตั้งอยู่คงเดิม    ญาณทัสสนะที่เกิดขึ้นโดยมี
ทุกขลักษณะปรากฏเด่นชัดนี้เรียกว่า  อัปปณิหิตนิพพาน  หรือ  เรียกว่า  นิพพานเพราะเห็นทุกขัง

อย่างไรก็ตามนิพพานเป็นสิ่งที่ยากแก่การอธิบายให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง  ดังบันทึกในพระไตรปิฎกเล่มที่  ๒๕  หน้า  ๑๗๖  ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  “  ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่า นิพพานไม่มีตัณหา  นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้  ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย  ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว  กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้  ผู้เห็น ”



ดังนั้น    การที่จะรู้ได้ก็ด้วยเพียงการเปรียบเทียบ  ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่จะได้รับรู้ถึงนิพพานซึ่งมีคำใช้เรียกอยู่มาก   เช่น


วิมุตติ          ความหลุดพ้น   เป็นอิสระ    
วิสุทธิ          ความบริสุทธิ์    หมดจด
สันตะ          ความสงบ     ระงับ                      
สุทธิ            ความบริสุทธิ์สะอาด
เขมะ           ความปลอดภัย
อนุตตระ       ยอดเยี่ยมไม่มีอะไรยิ่งกว่า
อกิญจนะ      ไม่มีอะไรค้างคาใจ  
นิปุณะ          ละเอียดอ่อน
ปณีตะ          ประณีต                      
ปรมัตถะ       ประโยชน์สูงสุด
ปรมสุข        สุขอย่างยิ่ง
ปัสสัทธิ        สงบเยือกเย็น
สิวะ             แสนเกษมสำราญ
อรูปะ           ไร้รูป
เกวละ          สมบูรณ์ในตัว
วูปสมะ         ความเข้าไปสงบ
ปณีตะ          สิ่งประณีต
อนิทัสสนะ    ที่มองไม่เห็นด้วยตา
อสังขตะ       สิ่งไม่ถูกปรุงแต่ง
อนาสวะ       สิ่งไม่มีอาสวะ
อมตะ          สิ่งไม่ตาย
สัจจะ           ของจริง
ธุวะ             ยั่งยืน
อัชชระ        ไม่คร่ำคร่า
ตัณหักขยะ   ที่สิ้นตัณหา
วิราคะ         คลายกำหนด
มุตติ           ความพ้น
อปโลกิตะ    ตามที่ปรากฏโดยไม่เสื่อม
ฯลฯ



นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายนิพพานในเชิงปฏิเสธอีก


น  ปฐวี            จะว่าดินก็ไม่ใช่
น  อาโป          จะว่าน้ำก็ไม่ใช่
น  เต              จะว่าไฟก็ไม่ใช่
น  วาโย          จะว่าลมก็ไม่ใช่
นาย  ลโก        ไม่ใช่โลกนี้
น  ปร   โลโก    ไม่ใช่โลกอื่น
น  อุโภ  จนทิมสุริยา      จะว่าพระจันทร์  พระอาทิตย์ก็ไม่ใช่
อตถิ  ภิกขเว  ตทายตน   แต่ว่าสิ่งนั้นมีจริง


เป็นการยากในอธิบายให้เห็นถึงความสงบอย่างที่สุด  นักปราชญ์ท่านได้เปรียบเทียบไว้เป็นเรื่องเป็นราวว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่  แต่ขีดความสามารถในการรับรู้ของบุคคลนั้นต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรปฏิเสธสิ่งที่ตนเองไม่เคยพบเห็น  เรื่องมีอยู่ว่า


ปลากับเต่าเป็นเพื่อนสนิทสนมกัน  ปลาอยู่แต่ในน้ำ  รู้จักเรื่องราวความเป็นไปของทุกสิ่งที่อยู่ในน้ำ   เต่าเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ  วันหนึ่งเต่าไปเที่ยวบนบกและกลับมาในน้ำ  เมื่อพบปลาก็เล่าให้ปลาฟังถึงความสดชื่นที่ได้เดินไปบนทุ่งโล่งบ้าง  บนพื้นดินที่แห้งบ้าง   มีลมพัดเย็นตลอดเวลา  ปลาได้ฟังก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือดิน  อะไรคือทุ่งโล่งและลมพัดก็ยิ่งไม่เข้าใจ   ปลาคิดต่อไปว่าเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีความสุขโดยปราศจากน้ำ  ถ้าไม่มีน้ำก็คงจะมีแต่ตายอย่างเดียวเท่านั้น


ปลาก็ซักถามเต่าเพื่อจะได้เข้าใจ   เต่าก็เล่าถึงสิ่งที่อยู่บนบกต่าง ๆ  เช่น  นก  หนู แมว  ต้นไม้  ปลาก็ฟัง  และให้เต่ายกตัวอย่างว่าอะไรที่อยู่ในน้ำบ้าง   สิ่งใดที่คล้ายคลึงกันบ้าง   เต่าก็อธิบายไม่ได้เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบ    ในที่สุดปลาก็สรุปว่าเต่าโกหก   เรื่องเล่ามานั้นไม่เป็นจริงแน่เพราะแม้แต่เริ่มต้นฟังที่เต่าพูด  คือ  เดินบนทุ่งโล่ง   ดินแห้ง  ลมพัดเย็น   ฉันไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้เลย   ไม่น่าที่จะมีสิ่งเหล่านี้อยู่


นิพพานเป็นสิ่งที่มนุษย์เห็นได้ด้วยตนเอง  (สันทิฏฐิกะ) ไม่ขึ้นอยู่กับเวลาที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็น  บุคคลเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์  ๘  ผู้ที่เข้าถึงนิพพานแล้วจะมีความสุขตลอดไป  ดังข้อความในพระไตรปิฎกฉบับหลวง  เล่มที่  ๒๕  หน้า  ๑๗๗  ว่า

“ ความไม่หวั่นไหว  ย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่ตัณหา  และทิฏฐิอาศัย  ไม่มีแก่ผู้ที่ตัณหาทิฏฐิไม่ได้อาศัย  เมื่อไม่มีความหวั่นไหวย่อมมีปัสสัทธิ  เมื่อมีปัสสัทธิก็ย่อมไม่มีความยินดีเมื่อไม่มีความยินดีก็ย่อมไม่มีการไปการมาเมื่อไม่มีการไปการมาย่อมก็ไม่มีการจุติและอุปบัติ   เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ   โลกนี้และโลกหน้าก็ไม่มีระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี   นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”


ผู้เข้าถึงนิพพาน  


     บุคคลผู้บรรลุธรรมชั้นสูงหรือนิพพานเรียกว่าพระอริยบุคคล  มี  ๔  จำพวก  คือ


๑) พระโสดาบัน  ละสังโยชน์   ได้  ๓  อย่าง  คือ  ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน  ความลังเล  สงสัย  และ  ความยึดมั่นในศีลพรต
๒)  พระสกทาคามี  ละสังโยชน์ได้เหมือนพระโสดาบันและสามารถทำให้ราคะ  โทสะ โมหะ  เบาบางลง
๓)  พระอานาคามี  ละสังโยชน์ได้เพิ่มอีก  ๒  ประการ คือ   ความติดใจในกามคุณ  และความหงุดหงิดรำคาญใจ   หรือการกระทบกระทั่งในใจ
๔)  พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้ทั้งหมด




ปัญหาเรื่องนิพพาน



เนื่องจากนิพพาน  เป็นเรื่องที่มีความละเอียดลึกซึ้งมาก  บุคคลไม่สามารถรู้แจ้งได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง  ๕  ไม่สามารถรู้ได้ด้วยกรคิดตามหลักเหตุผล (อตักกาวจระ)  และสิ่งบัญญัติรวมทั้งสัญลักษณ์ต่าง ๆ  ก็ไม่สามารถเข้าถึง (อนีรวจะนียะ)  เพราะนิพพานเป็นสิ่งที่อยู่เหนือโลก(โลกุตตระ) เป็นสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง  (อสังขตะ) ไม่มีการเกิดดับ  อยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้นักปราชญ์  นักการศาสนา  และนักศึกษา  ประสบปัญหาในการที่จะเข้าใจ  นิพพาน  โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับนิพพาน  ๔  ประการ คือ


๑. นิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่
๒. นิพพานเป็นสิ่งเที่ยงแท้หรือขาดสูญ
๓. ภาวะหรืออนาคตผู้บรรลุนิพพานหลังจากจากโลกไปแล้ว
๔. ปัจจุบัน  บุคคลจะรู้แจ้งบรรลุนิพพานได้หรือไม่


ปัญหาเรื่องนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่    ปัญหานี้ที่บรรลุหรือรู้แจ้งนิพพานแล้ว  
สงสัยใด  ๆ  ก็หมดสิ้นไป  แต่ผู้ที่ศึกษาก็พอที่จะเข้าใจได้บ้าง  ก็ด้วยการอาศัยหลักฐานจากคัมภีร์ต่าง ๆ ที่สำคัญคือ คัมภีร์พระไตรปิฎก  รวมทั้งคัมภีร์ที่แต่งขึ้นภายหลัง  เช่น  คัมภีร์วิสุทธิมรรค  ซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์  มีการอธิบายและกล่าวถึงนิพพานในการตอบข้อกล่าวหาของลัทธิอื่น ๆ  ที่ว่านิพพานเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่หรือเป็นสิ่งที่ขาดสูญ (อุจเฉทะ) โดยพระพุทธโฆษาจารย์  ได้กล่าวว่า


“นิพพานไม่ใช่ไม่มีเหมือนเขากระต่ายไม่มี
ถ้านิพพานไม่มี มรรค  (สมาธิและปัญญา) ก็จะไร้ความหมาย
การที่คนโง่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสไม่ได้
มิได้หมายความว่าสิ่งนี้ไม่มี”



อย่างไรก็ตามนักศึกษาควรตระหนักถึงศัพท์บัญญัติที่ว่า “มีอยู่”  เพราะคำว่า“นิพพาน
มีอยู่”  มีความหมายที่เทียบเคียงได้ในระดับโลกียบัญญัติ    เป็นการชี้ให้เห็นเพียงว่า  นิพพานไม่ใช่สิ่งมายาการหรือความฝัน  หรือสิ่งที่ไม่มีอยู่เลย  เช่น หนวดเฒ่า  เขากระต่าย  เป็นต้น



ปัญหาเรื่องนิพพานเป็นสิ่งเที่ยงแท้หรือขาดสูญ
 เป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกับปัญหาแรก  แต่ประเด็นนี้จะบ่งชี้ในแง่ที่มีผู้แปลความหมายผิด  ทำให้เกิดความเข้าใจผิด  โดยเฉพาะนักปราชญ์ชาวตะวันตกส่วนมาก  เช่น  โอลเดนเบอร์ก(Oldenberg)  พอล  ดาห์ลห์  (Poul  Dahlke)  ที่เชื่อว่านิพพานเป็นความสูญเด็ดขาด  (Complete  Nihilism)  รวมทั้งนักปราชญ์สายวัตถุนิยม  จักรกลนิยมวิวัฒนาการนิยม  คอมมิวนิสต์  (วัตถุนิยมวิภาษวิธี)  ที่เข้าใจว่า


นิพพาน  คือ  การทำลายตนเอง(Self-extinction)
นิพพาน  คือ  อัตวินิบาตกรรม(Suicide)
นิพพาน  คือ  สูญเด็ดขาด(Absolute  zero)



แนวคิดเกี่ยวกับนิพพานดังกล่าวนี้ถ้าจะตีความตามสภาวธรรม  อาจจะอธิบายได้ใหม่  เช่น การทำลายตนเอง  หมายถึง  ทำลายความสำคัญผิดว่ามีตัวตน  อัตตาที่เที่ยงแท้  หรือสูญเด็ดขาด  หมายถึง  ความเห็นแก่ตัวด้วยความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  สูญสิ้นไปเด็ดขาด  ไม่ปรากฏในจิตแต่ตามหลักพุทธปรัชญานั้นถือว่า  นิพพานไม่ใช่ความขาดสูญหรือดับสูญ ดังไวพจน์ที่ใช้แทนคำว่าสูงสุด(ปรมัตถสัจจะ)  ความสุขอย่างยิ่ง  (บรมสุข)  สิ่งที่อยู่เหนือวิสัยโลก (โลกุตตระ)  เป็นต้น


ปัญหาภาวะหรืออนาคตผู้บรรลุนิพพานแล้ว  และถ้าสิ้นชีวิตลงจะเป็นอย่างไร  จะมีชีวิตเป็นอมตะหรือจะสูญเด็ดขาด  ซึ่งในเรื่องนี้ในพระไตรปิฎก  สังยุตตนิกาย  ได้บันทึกคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอนุรุทธะ  ไว้ดังนี้



พระพุทธเจ้า : เธอคิดไหมว่า ตถาคตมีอยู่ต่างหากจากเบญจขันธ์
พระอนุรุทธะ : ไม่    พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : เธอคิดไหมว่า  ตถาคตมีอยู่หลังปรินิพพาน
พระอนุรุทธะ : ไม่     พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : เมื่อเป็นเช่นนี้  เป็นการเหมาะสม  ถูกต้องไหมที่จะกล่าว  
ว่า  ตถาคตมีอยู่หลังปรินิพพานแล้ว
ตถาคตไม่มีอยู่หลังปรินิพพาน
ตถาคตมีอยู่ในรูปอื่น
ตถาคตมีอยู่และไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่
พระอนุรุทธะ : ไม่ถูกต้องพระเจ้าข้า

หรือในบทสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับวัจฉโคตรตะ  ที่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้  ดังนี้

พระพุทธเจ้า ไฟที่อยู่ตรงหน้าเธอเมื่อดับแล้วไปไหน
ไปทิศตะวันตกหรือทิศตะวันออก
ไปทิศเหนือ  หรือไป ทิศใต้
วัจฉโคตรตะ ไฟเกิดขึ้นก็เพราะเชื้อ  เช่น  ฟาง  และ  ไม้  เป็นต้น
เมื่อดับก็เพราะหมดเชื้อ
จะพูดว่าไฟดับแล้ว  ไปทิศใดย่อมไม่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน  วัจฉโคตรตะ  เบญจขันธ์(บุคคล) มีอยู่หรือ
ดับไป  ก็เพราะเชื้อ




ปัญหาเรื่องว่าในปัจจุบัน  บุคคลจะรู้แจ้งบรรลุนิพพานได้หรือไม่  ในปัญหานี้พุทธปรัชญาถือว่า  ภาวะจิตของผู้บรรลุรู้แจ้งนิพพาน เป็นสิ่งที่บุคคลอื่น  แม้พรหมหรือพระเจ้าทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้  นอกจากพระอรหันต์ด้วยกันเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 215466เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ปาล์ม ชายผู้คนหา...สัจธรรม

สาธุ...สาธุ...สาธุ พระพุทธองค์แม้ทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว แต่ท่านก็ยังคงอยู่ในใจของทุกๆคน และท่านก็ได้ทิ้งรอยเท้าไว้ให้ทุกคนเดินตาม เมื่อ ทุกคนเห็น ทุกคนรู้ แล้ว จงเดินตามรอยนั้นไป.

ปัจจุบัน การจะเข้าใจในธรรมนั้น เป็นไปได้ยาก เหมือนเส้นผมบังภูเขา กิเลส กาม ตัณหา ต่างๆในปัจจุบันมีมาก ต่างจากสมัยพุทธกาล ดังนั้นแล้ว การจะถึงพระธรรมได้ จะต้องปฏิบัติสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา และสติ เพื่อที่จะได้ใช้ประกอบการพิจารณาการติดอยุ่ใน วัฐฏ นี้ หากได้มีโอกาสได้อยู่ในพระพุทธศาสนาแล้ว ถือเป็นโอกาศอันดี ที่จะหาทางหลุดพ้นซึ่ง กรรม ทั้งปวง

ท่านทั้งหลาย พึงระวัง สำรวม ความรู้สึก นึกคิด อารมณ์ แต่อยุ่ในจิตที่เบิกบานเสมอ มิใช่เศร้าหมองเพราะเห็น ทุกข์ต่างๆ ด้วยตัวเอง ความอยาก พึงหาสาเหตุและดับไฟ นั้น.

หากผู้อ่านท่านใด ได้อ่านข้อความนี้ ขออนุโมทนา ซึ่งความตั้งใจแห่งจิตของท่านทั้งหลาย

ข้าพเจ้าจักปฏิบัติ ไปเรื่อยๆ เมื่อจิดของข้าพเจ้าสว่างแล้ว จะได้ช่วยเผยแผ่คำสั่งสอน ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าแก่บุคคลผุ้ซึ่ง อับจนด้วยแสงสว่างแห่งปัญญา สติ เห็นธรรม ด้วยเทอญ

คนเมื่อก่อนกับปัจจุบัน ก็มีกิเลสเท่ากัน คือ เนื้อแท้ยังไม่เป็น อริยะบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป

ก็ยังหักหลังหลอกลวง เนรคุณได้เหมือนกัน ลองตรวจประวัติศาสตร์ให้ดีๆ เปลี่ยนแค่โรงละครเท่านั้นเองแต่ตัวแสดงเหมือนเดิม

แม้จะไปอยู่ในอวกาศ ก็ยังเหมือนเดิม การปรุงแต่งภายนอกเท่านั้นที่แตกต่างกัน ใจเย็น ใฝ่สันติต่างกัน นาฬิกา ช้า-เร็ว

สัมพันธ์กับ วัฒนธรรมทางวิญญาณ

เมื่อเอาการปรุงแต่งออก ( เอาอคติออก ) คนปัจจุบันก็มรรผลบรรลุได้เท่ากัน

      เมื่อยังเป็นเด็กฉันถามตนเองอยู่เสมอว่า ทำไมหนอ??..คนเราต้องเกิดมา ทำไมทุกคนจึงต้องตาย แล้วทำไมคนเราจึงมีความแตกต่างกันทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมต้องเป็นนี้ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อความอยู่รอด บางครั้งฉันต้องนั่งมองท้องฟ้าและผืนแผ่นดิน แล้วจินตนาการว่า ทำไมฉันไม่เกิดมาเป็นก้อนเมฆ เป็นก้อนหิน เป็นก้อนดิน จะได้ไร้ซึ่งความรู้สึกทั้งหลาย ฉันก็ได้แต่ตั้งคำถามและนึกอิจฉาวัตถุเหล่านั้นไปตามประสาเด็ก แต่ฉันก็หาคำตอบจากคำถามเหล่านั้นไม่ได้เลยสักครั้ง..
       จนกระทั่งเติบโตขึ้นฉันได้เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งจากการที่ได้อ่านได้ฟังธรรมะจากหลายๆสื่อ ฉันจึงได้คำตอบเหล่านั้น และหันเหชีวิตเข้ามาปฏิบัติธรรมโดยใช้ชีวิตประจำวันมาเป็นบทเรียน เป็นบททดสอบทั้งกายและใจของตนเองมาตลอด โดยมิได้แสวงหาสำนักใดๆเพื่อไปฝึกปฏิบัติ คงเป็นเพราะฉันไม่มีเวลาที่จะไปแสวงหาและใช้เวลาหลายๆวันไปกับการไปนั่งฝึกปฏิบัติค่ะ เพราะภาระและหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบมีตั้งมากมาย..แต่ฉันก็อาศัยตรงนี้แหละค่ะตรงภาระและหน้าที่ที่รับผิดชอบ และสภาวะที่แวดล้อมรอบๆ กายเรานี่แหละค่ะมาเป็นบทเรียนในการฝึกธรรม ให้รู้ธรรม เห็นธรรม และพิจารณาจนเห็นธรรมตามความเป็นจริงค่ะ.. 
      จุดเริ่มต้นของศึกษาธรรมะของฉันก็คือ เริ่มมองตนเองอย่างจริงจังโดยวิธีตามรู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำ และรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงเป็นไปอย่างธรรมชาติ ซึ่งวิธีนี้มิได้ฝึกทำได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่ยากค่ะ เพราะการฝึกวิธีโดยธรรมชาติคือเราตามรู้ ตามดู ตามเห็น แล้วพิจารณาตามความเป็นจริง รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้ววาง ไม่เข้าไปยึดติด ไม่เก็บเอามาปรุงแต่งให้กายและใจต้องเดือดร้อน เพราะทั้งธรรมะและกิเลสปรากฏอยู่ที่ตัวเรานี้เอง ความทุกข์หรือความสุขก็มีอยู่ที่ตัวเรานี้ การปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ก็มีอยู่ที่นี้ ความมืดก็มีอยู่ที่นี้ความสว่างก็มีอยู่ที่นี้ อวิชชา(ความไม่รู้)ก็มีอยู่ที่นี้ วิชชา(ความรู้)ก็มีอยู่ที่นี้แล้ว เพียงแต่เลือกสรรสิ่งที่เป็นประโยชน์สลัดสิ่งที่เป็นโทษออกไป โดยใช้สัมมาทิฏฐิ คือ มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงก็จะพบธรรมะและผลแห่งการปฏิบัติธรรมะอย่างสมบูรณ์ค่ะ
 ดังนั้น จงฝึกจิตให้สงบด้วยสมาธิ  เพื่อจะเรียกปัญญาคือความฉลาดของจิตให้เกิดขึ้นมา  เพื่อจะเอาไปใช้แก้ปัญหา ด้วยการทำจิตให้ปล่อยวางอยู่เสมอ และในที่สุดความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง..
         จงอย่าท้อแท้ใจในการปฏิบัติธรรมนะท่านทั้งหลาย..อย่าคิดว่าหากเรามิใช่นักบวชมิใช่นักพรตแล้วจะเข้าถึงนิพพานไม่ได้ ควรคิดว่า การเชื่อมั่นศรัทธาในคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำให้ทุกคนมีโอกาสสำเร็จธรรมเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน เพราะนิพพาน คือ ความสงบจากกิเลสทั้งหลาย และการไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 นั่นเอง..

พระพุทธองค์ยังไม่นิพาน เพราะผู้ใดเห็นธรรม ก็เหมือนเห็นพระพุทธองค์....

แค่อ่านกะรุ้สึกว่าสุขแล้ว



หลบไปอยู่ป่าไม่มีวัตถุไรๆ? ก็ฟุ้งซ่านไปใน กาม พยาบาท เบียดเบียนได้ (ถ้ามีกิเลส) จึงไม่ขึ้นกับยุคสมัยที่มีอะไรๆมากมาย.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท