มหัศจรรย์วันศุกร์ : เล่น ร้อง รำ ดนตรี กีฬา


การที่เจ้าหน้าที่ได้เปล่งอุทานร้องอ๋อ ร้องเฮ้ย ต่อความสามารถ ต่อศักยภาพของผู้รับบริการที่ปรากฏ นั่นละ คือ "ความมหัศจรรย์" ในความหมายของผมครับ เพราะเหตุนั้นผมจึงได้กำหนดให้วันศุำกร์เป็นวันมหัศจรรย์ (Miracle Friday) การได้รับรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ย่อมได้ชื่อว่าเป็นสิ่ง "มหัศจรรย์"


มหัศจรรย์วันศุกร์

ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ผมเลยไม่ค่อยหวังอะไรนักเกี่ยวกับเรื่องอาชีวบำบัดและการฟื้นฟูทั้งปวง ระยะหลังๆ ถึงกับทำใจปลงใจให้หวังแค่ว่า ลำพังเพียงเรื่องการดูแลในกิจวัตรประจำวัน มีระบบป้องกันมิให้กลุ่มคนเรียบร้อยหรืออยู่ในระเบียบต้องถูกทำร้ายจากกลุ่มคนเกเรหรือคะนองเดชได้ พร้อมกับการฝึกและให้ความรู้แก่อาสาสมัครผู้บริการอย่างต่อเนื่อง ดูแลผู้รับบริการมิให้เนื้อตัวสกปรกผมเผ้ารกรุงรัง ให้รู้สึกว่าแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับการเร่ร่อนอยู่ภายนอกสถานสงเคราะห์ กล่าวคืออย่าให้ถึงกับไร้ระเบียบไปเสีย 

แน่นอนครับว่าการคิดปลงใจเพียงเท่านี้มันเจ็บปวดแน่ๆ สำหรับคนทำงาน แต่ก็จำยอมครับ เพราะที่สุดแล้วหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดบริการเชิงสถาบันแต่หากลำพังเพียงการดูแลและเลี้ยงดูด้วยปัจจัยสี่ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีพอแล้ว ก็ป่วยการที่จะพูดถึงการฟื้นฟูด้านอื่นอีก จะว่าไปแล้วในส่วนของพี่ๆ ผู้ดูแล ลำพังการดูแลให้ดี สอนให้อาบน้ำ เสื้อผ้า หน้า ผม ทานข้าว ทานยา รักษาตัวเอง เท่านี้ก็หมดแรงกายแรงใจในแต่ละวันแล้วละครับกับสภาพงานที่ปรากฏเฉพาะหน้า กับอัตราส่วนผู้ดูแลต่อจำนวนผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์

กิจกรรมนันทนาการประจำสัปดาห์ถือเป็นกิจกรรมไม่กี่อย่างในบรรดากิจกรรมทั้งปวงที่เห็นว่าสำคัญและพยายามประคบประหงม ยืนยันมิให้ล้มหายตายจากไปตลอดปีที่ผ่านมา โดยกำหนดให้วันศุกร์ตลอดวันเป็นวันกิจกรรมการละเล่นและนันทนาการ ร้องขอผู้เกี่ยวข้องมิให้มีการฝึกอาชีพ มิให้ทำงานหรือพัฒนาใดๆ ในวันนั้น ขอให้เป็นวันพักผ่อน เป็นวันเล่นดนตรีและกีฬา -- ย้ำด้วยว่าต้องเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง เว้นแต่จะแดดร้อนจัดหรือฝนตกลมแรง

๒ ปีที่ผ่านมา ประสบการณ์สอนผมว่า การนำเสนอโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ต่อพี่ๆ น้องๆ ผ่านรูปแบบการประชุมเพื่อบอกกล่าวแล้วละก็ล้มเหลวทุกครั้ง เพราะแม้ทุกคนจะตั้งใจฟังแต่ก็เหมือนจะไม่ได้ยิน วิธีการเดียวที่พบว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็แต่โดยเมื่อผมชัดเจนในรูปแบบกิจกรรมและเป้าหมายในใจแล้ว ก็ควรอธิบายเป้าประสงค์และวิธีการเสียสั้นๆ ต่อจากนั้นก็ให้นำพาทำกิจกรรมนั้นๆ อย่างต่อเนื่องในระยะแรก โดยในระหว่างนั้นก็อธิบายวิธีคิด วิธีการและเป้าหมายของเราไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทีละนิดๆ ให้ภาพปรากฏชัดในใจของพี่ๆ ทีละนิดๆ นั่นเป็นมรรควิธีที่จะนำพาให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ 


โดยหลักการคือ ผู้รับบริการทุกรายควรได้เข้าร่วมกิจกรรมในฐานะที่แตกต่างตามสภาพ 
เพราะเหตุนั้นกิจกรรมจึงต้องหลากหลาย เพื่อรองรับ

 

โดยหลักการ คือ กำหนดให้ทุกวันศุกร์ผู้รับบริการทุกคนควรได้ร่วมกิจกรรม แน่นอนว่าในเมื่อสภาพผู้รับบริการแตกต่างกันในมิติของความเจ็บป่วยและสภาพของการช่วยเหลือตัวเอง ก็ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบจะออกแบบกิจกรรมอย่างไรให้คนส่วนใหญ่รู้สึกสนุกและมีความสุข นั่นก็อาจหมายรวมถึงการมีกิจกรรมที่หลากหลาย แยกย่อยไปตามความเหมาะของแต่ละกลุ่มของผู้รับบริการ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมหลักได้แก่ การเล่น ร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรี และกีฬา ทั้งนี้ ให้มีความเชื่อมโยงกันและกัน และหลักการที่สำคัญคือ ตลอดกระบวนการต้องเป็นการละเล่นหรือการแสดงสดเท่านั้น การเปิดเพลงบรรเลงและการใช้เครื่องขยายเสียงก็เป็นแต่เพียงในช่วงเวลาสั้นๆ หรือคั่นรายการเท่านั้น

ผู้รับบริการเกือบ ๑๐ คน มีเครื่องดนตรีประจำตัวสำหรับบรรเลงให้จังหวะ ๒ คนถือไมค์ลอยสำหรับร้องเพลง (ร้องนำ ร้องตาม หรือคอรัส ตลอดจนการบรรยายการเล่นกีฬาหรือแซวกันเองประสาคนมีไมค์) ๒ คนมีนกหวีดคล้องคอสำหรับให้สัญญาณนักกีฬา กว่า ๔๐ คนคือนักเต้นและกองเชียร์ ส่วนที่เหลือคือท่านผู้ชมต่างผลัดกันหมุนเวียนร้อง รำ เล่น ตามแต่อัธยาศัย - นึกถึงภาพงานวันเด็ก นึกภาพวันแข่งกีฬาสี นั่นแหละครับคือภาพที่ต้องการ อยากให้มีกิจกรรมอย่างเช่นวันเด็กและอยากให้มีกีฬาสีทุกวันศุกร์ในสนามหน้าสถานสงเคราะห์

แรกสุด ให้ความสำคัญกับการร้องเพลง ผลักดันให้ใครๆ ได้ร้อง-ลำ เพื่อให้เพื่อนๆ ได้รำเชียร์กัน
แน่นอน เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เราได้รู้ว่าใครเก่งอะไร ใครถนัดอย่างไร และใครเหมาะกับงานอย่างไร

น้องหวานกับเพลงเชียร์ประจำตัวจากบ้านราชวิถี ทุกครั้งต้อง ๓ รอบซ้อน
ฝนเทลงมา เทลงมา เทลงมา / ให้นาตูฮง นาตูฮง นาตูฮง
ให้โซ่งตูเปียก โซ่งตูเปียก โซ่งตูเปียก / ให้เสื้อตูเปียก เสื้อตูเปียก เสื้อตูเปียก
แมงตับเต่าออกลูกข้างหลังงงงง...นั่นแมงอิหยังงงง / อ้อ แมงจีนูน แมงจีนูน แมงจีนูน
ใต้ต้นบักเขียบ ต้นบักเขียบ ต้นบักเขียบ.....

ยายผา กับท่อนฮุก ประจำตัว
พอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง แจ้งสว่าง อยู่ในตาๆๆๆๆๆๆๆ.....แม่นวังเวินๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

และอีกไม่น้อยที่เป็นมือสอยหมอลำ
สอยๆ สาวซำน้อยบ่ฮู้จักสรพงษ์ บัดถ่าเขาฮูดซิบลง นี่หรือ.....
สอยๆ สาวซำน่อยบ่ฮู้จักปาล์มมี่ บัดผุบ่าวพาไป.....
สอยๆ นกแตดแต้บินข่วมทางเกียน สาวผู้ใด๋บ่ใส่เสี่ยเหี่ยน.....
สอยๆ.....พี่น้องสอยๆ.... ดีใจเด้พี่น้อง.........

ขณะที่ ยายแถว กับแนวทะลึ่งตึงตังตามสไตล์คนร้อง
บาทเดียวดูเพลินอะไรไม่เกินเมียงู 
ลูบได้คลำได้ แต่อย่าเอาไม้แหย่รู (แหย่รู แหย่รู แหย่รู)

พ่อพุฒ กับสารพัดบทเพลงเพื่อชีวิต
พ่อศูนย์ เสียงคีย์สูงกับเพลงลูกกรุงที่ร้องได้ไม่ซ้ำเพลงตลอดวัน


ใช่แล้วครับ กิจกรรมวันศุกร์เป็นเรื่องของการเปิดฟ้าคว้าดาว The Star ดีๆ นี่เอง
คนที่ตลอดชีวิตซึมๆๆๆ เศร้าๆ พอยื่นไมค์ใส่ปาก เขากลับร้องเพลงได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนได้ปลดปล่อยอย่างมีความสุข
แล้วเจ้าหน้าที่ของเราก็ต่างอุทานกันว่า - เฮ้ย !!!!!!!!!!

 


รองฯหลอด จาก สภ.ปรือใหญ่แวะมาเข้าร่วมกิจกรรมอยู่เสมอๆ ครับ
โดยเฉพาะบ้านเราขาดที่สุดคือ "มือกลอง"


ในส่วนของดนตรี กีฬา และการเชียร์นั้น มุ่งให้ออกแนวการเพลิดเพลินควบคู่กับการเรียนรู้กฎกติกา ความพร้อมเพรียง และการรอคอยเพื่อนๆ ในการให้จังหวะ นั่นหมายถึง การเรียนรู้การทำงานในลักษณะ "ทีม" เพราะถ้าคุณกระโดดออกจากทีม แม้จะเด่นแต่ก็ไม่น่าจะดังได้ (ฮา)

แน่นอนครับว่า การเลือกกำหนดให้ใช้พื้นที่สนามหน้าสถานสงเคราะห์กลางแดดแทนที่จะเป็นอาคารอเนกประสงค์นั้น ย่อมจะมีเป้าหมายเพื่อที่จะอวดอ้าง การละเล่นกลางแจ้งเปิดเครื่องเสียงให้ดังกระหึ่ม ทั้งรถโดยสาร รถส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ที่วิ่งผ่านหน้าสถานสงเคราะห์ย่อมจะเลี่ยงไม่ได้กับกิจกรรมที่เรา "อยากอวด" เป็นเรื่องของการสร้างจุดเด่นของคนที่มีปมด้อย

แต่ก็นั่นแหละ ปัญหาเล็กๆ ที่เราต้องร่วมกันครุ่นคิดคือ ผู้รับบริการของเรามีลักษณะพิเศษอย่างนึงคือ ได้ยินเสียงเพลงเป็นไม่ได้สิครับ เพราะชาวเราจะเต้น จะฟ้อน จะสนุกได้ทันที เมื่อเราเลือกใช้สถานที่กลางแจ้งเพื่อ "ขายของ" แน่นอนว่า "สินค้า" ที่จะขายก็ต้องไม่มีลักษณะของการผิดปกติ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องธรรมดามิใช่หรือ การเต้น ฟ้อน รำ ในกิจกรรมบันเทิง



ไหมละ ผ่านไปผ่านมาไม่ชะโงกหน้ามองข้ามรั้วลวดหนามมั่งก็ให้รู้ไป
ลองไปนั่งสังเกตพฤติกรรมผู้สัญจรผ่านเส้นทางนั้นที่ศาลาพักริมทางราวเกือบชั่วโมงในวันศุกร์
ก็รู้สึกค่อนข้างพอใจกับแคมเปญนี้--กับปฏิกิริยาของผู้คนที่สัญจรไปมาในระหว่างนั้น


แน่นอนครับ ปัญหาสำคัญอีกประการของการดำเนินกิจกรรมนี้คือ เพราะความที่กำหนดหลักการว่าผู้รับบริการทุกรายควรมีส่วนร่วมกิจกรรมหรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้รับประโยชน์หรือความสุข แม้กิจกรรมจะถูกจำแนกออกเป็นอย่างน้อย ๔ กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มร้องเพลง กลุ่มเล่นดนตรี กลุ่มกองเชียร์และหางเครื่อง กลุ่มนักกีฬา และกลุ่มผู้ตัดสิน ตลอดจนกลุ่มผู้บรรยายถือแซวเพื่อน (ประสาคนมีไมค์) โดยแต่ละกลุ่มจะมีผู้ดูแลคอยกำกับและกระตุ้น "บิวท์ อารมณ์" แล้วในส่วนของผู้รับบริการที่มีลักษณะอาการซึม-เหงา-หงอย หรือไม่พร้อมที่จะร่วมกิจกรรมละ ?

นี่คือปัญหาหนักครับ ว่าจะออกแบบกิจกรรมอย่างไร มีวิธีการอย่างไรให้มีการขยายผลหรือกระตุ้นกับกลุ่มที่ยังไม่พร้อม หรือยังไม่เคยร้อง ไม่เคยรำ ไม่เคยเล่น ได้ "เริ่มเป็นครั้งแรก" ตรงนี้ยากที่สุดนะครับ เพราะลำพังการสร้างบรรยากาศแบบเปิด ลดเงื่อนไข ลดกติกา บรรยากาศให้เป็นเหมือนวันเด็กอย่างที่ฝันไว้เท่านั้นไม่พอแน่ๆ เราจำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับจัดการกับกลุ่มดังว่านี้อีกชุดเครื่องมือหนึ่ง นับแต่การใช้ระบบพี่เลี้ยงระหว่างผู้รับบริการเอง (Buddy) หรือการกระตุ้นก่อนจัดกิจกรรม การให้รางวัล ฯลฯ ก็จะได้พัฒนาส่วนนี้กันต่อไป

นอกจากนี้ ปัญหาหนักอีกประการหนึ่งคือ การแก้ปัญหาของผู้รับบริการอีกจำนวนหนึ่งราว ๔-๕ คน ที่มีพฤติกรรม "ขวาง" ในช่วงของการจัดกิจกรรม ทำไมถึงเรียกว่า "ขวาง" นะหรือครับ  เพราะในบางโอกาสนึกอยากจะนอนพี่ก็ลงไปนอนเสียกลางสนามฟุตบอลอย่างนั้น นึกอยากจะนั่งเชียร์ก็นั่งเสียตรงที่เขาเต้นๆ กันอยู่นะแหละครับ แต่ถ้าเราบอกให้ลุกก็ลุกเสียแต่โดยง่ายนะครับ ไม่มีทีท่าว่าจะขัดขืนหรือไม่พอใจแต่อย่างใด ครั้งแล้วครั้งเล่าแก้ไขไม่หายขาดเสียทีเดียว  ขวางๆ อย่างนี้  ก็จะได้พัฒนาส่วนนี้กันต่อไป (อีก)



กลุ่มผู้รับบริการจำนวนหนึ่ง ที่ยังคงมีใบหน้าเรียบเฉย ไม่มีทีท่าว่าจะสุขใจในวันมหัศจรรย์
คงต้องออกแบบกิจกรรมรองรับอย่างเหมาะสม หรือต้องกระตุ้นให้ตื่นตัวกว่าเดิม


กิจกรรมหรรษาทุกวันศุกร์ตลอดวันเช้ายันบ่ายอย่างนี้เหมือนจะง่าย แต่ก็ดูยากในกระบวนการครับ
ยากตรงที่ว่าทำอย่างไรให้ความสนุกนั้น มีผลลัพธ์ในด้านของพัฒนาการ การฟื้นฟู และการการเรียนรู้ร่วมกันของเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการ

แน่นอนว่า การขอร้องให้วันศุกร์เป็นวันหยุด เป็นวันละเล่น มิให้ทำงาน มิให้จัดกิจกรรมอื่นๆ ให้ "งานบันเทิง" เป็นงานหลักอย่างเดียวนั้นมิใช่เรื่องง่ายต่อการทำความเข้าใจ ลำพังการให้เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าการตากแดดกลางสนามนั้นดีกว่าการจัดในอาคารอเนกประสงค์อย่างไร คุ้มอย่างไรเมื่อต้องแลกกับผิวที่อาจต้องคล้ำขึ้น (ฮา)

การเปลี่ยนจากการเปิดเพลงให้ผู้รับบริการเต้นตามจังหวะมาเป็นการให้ร้องสด ดนตรีสด มันดีกว่าอย่างไร สนุกกว่าอย่างไร  การจัดกิจกรรมทั้งร้อง ทั้งรำ ทั้งเล่นดนตรี และกีฬา ไปพร้อมๆ กันนั้น ยากที่จะให้สอดรับประสานกันเพียงใด

แรกๆ ของการจัดกิจกรรมในท่วงทำนองนี้ จึงมิใช่เรื่องสนุก
กิจกรรมหรรษาวันศุกร์ มันกลายเป็น "งาน" มิใช่การพักผ่อนอย่างเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาเสียแล้วครับ

แน่นอนเมื่อเราอยากให้เกิดการเรียนรู้ ก็ย่อมจะยอมเหนื่อยต่อการอภิปราย ผลักดัน กดดัน และผละเสียจากงานชิ้นอื่นๆ ในทุกวันศุกร์ บ้านใหญ่ท้ายซอยของเรานั้นโชคดีที่สุดประการหนึ่งว่า ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ท่านเข้าใจในวิธีคิด วิธีทำ และกระบวนงาน ท่านมักจะกล่าวว่า อยากทำใช่ไหมลุยเลย จึงได้ช่วยผลักดันให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง - การแปลง การปรับ ความคิดในนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ให้เข้าใจกันได้ทั่วไปนี่ไม่น่ายนะครับพี่น้อง !!!!!

แล้วก็ผ่านพ้นไปสำหรับวาระแรก - กระทั่งเกิดการยอมรับ เรียนรู้ และเข้าใจในสิ่งที่ทำ

 


ไม่เปลืองครับ วันศุกร์กับผลไม้ประจำฤดูกาล แตงโมจากตลาดบ้านตาอุด ไม่ไกลจากสถานสงเคราะห์
มีให้กินกันได้ตลอดปี ราคาไม่กิน ๕๐๐ บาท ทั้งเงาะจากอำเภอกันทรลักษ์ แตงโมบ้านตาอุด
กินกันทั้งเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการครบถ้วนหน้าทั้งสถานสงเคราะห์


การที่เจ้าหน้าที่ได้เปล่งอุทานร้องอ๋อ ร้องเฮ้ย ต่อความสามารถ ต่อศักยภาพของผู้รับบริการที่ปรากฏ นั่นละ คือ "ความมหัศจรรย์" ในความหมายของผมครับ เพราะเหตุนั้นจึงได้กำหนดให้วันศุกร์เป็นวันมหัศจรรย์ (Miracle Friday)
อยู่ด้วยกัน เห็นหน้ากันทุกวัน ไม่เคยคิดเคยฝันว่าเขาจะทำได้ ทำได้ดี ถึงเพียงนี้
การได้รับรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ย่อมได้ชื่อว่าเป็นสิ่ง "มหัศจรรย์"
การสร้างบรรยากาศ การให้โอกาส และการกระตุ้นศักยภาพของผู้รับบริการที่มีอยู่ เป็นจุดมุ่งหมายของกิจกรรมนี้

กิจกรรมวันศุกร์จึงเป็นเรื่องของการเปิดฟ้าคว้าดาว : The Star ดีๆ นี่เอง
คนที่ตลอดชีวิตซึมๆ เศร้าๆ พอยื่นไมค์ใส่ปาก เขาร้องได้ร้องดีเหมือนได้ปลดปล่อย
กิจกรรมวันศุกร์จึงเป็นเรื่องของการสร้างบรรยากาศ เป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่ (และปิดพื้นที่ของเพลงแผ่นซีดี)

เป็นธรรมดาอยู่เองว่าคนเราย่อมจะต้องการให้เป็นที่ยอมรับ
เพราะเมื่อเป็นที่ยอมรับแล้วจะมีผลต่อการอยู่ร่วมกัน มีบทบาท และความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรี

 


ปรือใหญ่ เธียเตอร์ : เงื่อนไขเพียงข้อเดียว ห้ามสูบบุหรี่ในโรงภาพยนต์


มหัศจรรย์วันพุธ : ปรือใหญ่ เธียเตอร์

ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ ในระหว่างที่สร้างกระบวนการยอมรับ ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่งอแง ผมเลือกที่จะฉายหนังในวันศุกร์แทนการจัดกิจกรรมเพื่อมิให้วันศุกร์มันล้มหายตายจากไป อย่างน้อย ก็ได้ดูหนังสนุกแหละครับ เอากันง่ายๆ ฉายขึ้นโปรเจคเตอร์ยิงเข้ากับผนังในอาคารอเนกประสงค์

แน่นอนครับ การดูหนังคือการพักผ่อน เพราะเหตุนั้นเราไม่ควรกำหนดให้มีกติกาอะไรมากนัก อยากนอนก็นอน อยากยืนก็ยืน อยากนั่งก็นั่ง คุยกันได้ โห่ ฮิ้ว ฮา ว่ากันได้ตามใจปรารถนา ขอแต่เพียงอย่าสูบบุหรี่เท่านั้นเป็นพอ--แน่นอนครับ เมื่อแรกการจัดกิจกรรมนี้ ใครหลายคนย่อมไม่เข้าใจและไม่พอใจแน่ๆ กับการฉายหนังด้วยใจเปิดกว้างเปิดเสียงดังกระหึ่มให้ใครๆ ได้นอนดูกันสบายๆ ไม่ต้องทำงาน

ผมได้เรียนรู้ว่า หนังอย่างแอคชั่นอย่างแรมโบ้ ไดฮาร์ท ระห่ำเมืองได้รับความชื่นชอบชื่นชมในเบื้องต้นสำหรับการเรียกแขก  ขณะที่แหยม ยโสธร หรือหลวงพี่เท่ง เหมือนว่าจะกินใจให้ได้ฮา ตามรสนิยมของคนในบ้าน แล้วตามมาด้วยชาลี และ มิสเตอร์บีน พากย์ภาษาอีสาน แล้วตามต่อด้วยขนมปังปิ๊ป พร้อมน้ำหวานเฮลท์บลูบอย แจกกินกันระหว่างดูหนัง สบายอุรา

นี่มันบรรยากาศงานวัด ดูหนังกลางแปลงนะแหละครับ !!!!

ลองเล่นๆ ในบางโอกาสระหว่างดูหนังจบแผ่นแรกไปแล้วกับคำถาม "เข้าใจว่าอย่างไร ?" หรือ "เรื่องมันเป็นไปยังไงผมดูแล้วงง ?" หรือ "ทำไมคนนั้นเขาถึงโกรธคนนั้น ไปทำอะไรให้เขาเจ็บใจหรือ ?" หรือ "แค่มองหน้ากันต้องฆ่ากันด้วยหรือ ?" หรือ ฯลฯ ก็ได้ผลน่าพอใจครับ และเมื่อหนังจบลงแล้วกับคำถาม "ลองเล่าเรื่องย่อให้ผมฟังหน่อยสิ ?" หรือ "ชอบใจคนไหนเป็นพิเศษ เพราะอะไร ?" ก็ได้ผลอย่างที่น่าพอใจครับ

ลองปิดเสียงในบางช่วงบางตอนของชาลี หรือมิสเตอร์บีน แล้วเอาไมค์ลอยยื่นให้ลองพากย์สดดู ก็เรียกเสียงฮาได้ตามสมควร--ไหมละเขาทำได้

เป็นอีกความมหัศจรรย์ใจที่ผมได้รับ
เป็นอีกความสุขใจที่ผมได้เรียนรู้
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ผมจะทำอย่างไรให้พี่ๆ น้องๆ ของผมได้สุขใจ ได้มหัศจรรย์ใจ เหมือนอย่างที่ผมรู้สึกนี่สิ มันยากยิ่งในวิธีการสื่อสาร

ต่อเมื่องานมหัศจรรย์วันศุกร์ สำเร็จได้ด้วยการเรียนรู้ และดำรงอยู่ได้ตลอดมาค่อนข้างแน่แล้ว ผมจึงได้ย้ายการฉายหนังตามคำเรียกร้องมิให้ยกเลิกมาเป็นบ่ายวันพุธ เพราะถ้าเป็นวันพฤหัสก็จะกระทบกิจกรรมอย่างอื่นไป - ที่บ้านใหญ่ท้ายซอยของเราจึงมีกิจกรรมในลักษณะมหัศจรรย์ (Miracle Project) สำหรับการกิจกรรมนันทนาการเพื่อเปิดฟ้าคว้าดาว อยู่ ๒ กิจกรรม คือบ่ายวันพุธ และวันศุกร์ตลอดวัน

ปัญหาเล็กๆ สำหรับการที่ต้องทำความเข้าใจระหว่างกันของพี่ๆ น้องๆ ในหน่วยงานอีกประการ (ทำไมปัญหามันเยอะนักวะ--(ฮา)) คือ ปัญหาเรื่องรสนิยม และความคุ้มค่า

ผมเป็นคนชอบดูหนังครับ แต่ไม่ชอบแน่ๆ กับการดูหนังซีดี

ในชีวิตผมเคยนั่งดูหนังคนเดียวทั้งโรงด้วยนะครับ - เมื่อปี ๒๕๔๘
เป็นหนังฝรั่งเศสว่าด้วยเรื่องปัญหาครอบครัว แน่นอนว่า ไม่ใช่หนังดัง หนังทำเงิน และเข้าฉายนานแล้ว
หนังว่าด้วยเรื่องราวโครงสร้างขอความรักที่มักเหมือนกัน นั่นคือเริ่มจากการพบรัก ร่วมชีวิต และจบลงที่การสิ้นสุดของความรัก ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า แยกทางหรือหย่าร้าง ใช่แล้วครับผมกำลังบอกว่าเป็นหนังเรื่อง 5x2 หรือ Five Times Two หรือในชื่อฝรั่งเศสว่า Cinq fois deux


5x2


ภาพจาก http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/newmovie/5x2/5x2_00.jpg


โรงภาพยนต์ EGV Metropolis ยังอยู่ในความทรงจำของผม
ถามว่าทำไมเขาถึงยังฉายในรอบนั้น ทั้งที่มีผมนั่งดูคนเดียว
แน่นอนไม่คุ้มค่าแน่ๆ ในมุมมองของการขายตั๋ว แต่ทำไมเขากล้า
ผมว่ากติกาเช่นว่านี้ ผู้บริหารโรงภาพยนต์คงมีการอภิปรายกันแล้วในหลายๆ มิติ
แม้ดูหนังอยู่คนเดียว ผมก็ยังคงปิดมือถืออยู่ดี

แล้วปรือใหญ่เธียเตอร์ละ ?
ปัญหาหนึ่งระหว่างการเรียนรู้คือ มีการแอบไปปิดหนังเมื่อมีผู้ชมน้อยกว่า ๑๐ คน ด้วยเหตุผลว่าไม่คุ้มค่า
ปัญหาหนึ่งระหว่างการเรียนรู้คือ มีการแอบไปสร้างเงื่อนไขของการดูหนังด้วยมาตรฐานของ EGV มิใช้ด้วยมาตรฐานหนังกลางแปลงของผม -- แต่ปัญหาเหล่านั้นในบัดนี้ หายไปแล้วครับ

 

ความหัศจรรย์ทั้งหลายทั้งปวงตามที่เล่ามา สำเร็จได้เพราะการเรียนรู้ร่วมกัน
ผมต้องขอบคุณพี่ๆ น้องๆ ผู้ดูแลทุกท่านที่ต้องทนเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ
ขอบคุณผู้รับบริการที่ร่วมเรียนรู้และสร้างสรรค์
ขอบคุณผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการผลักดันให้เกิดการสานต่อมิให้ล้มหายตายจากไปเสียระหว่างเส้นทางของกระบวนการเรียนรู้


ถึงวันนี้ กิจกรรมทั้งสองได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน
เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการถึงกติกาในการเล่นและร่วม
เหลือแต่เพียงว่าจะกระตุ้นอย่างไรให้ใครๆ ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพเป็น "ครั้งแรก"
เหลือแต่ว่าจะพัฒนาเครื่องมืออย่างไร ให้ได้คุณภาพอย่างที่ใจประสงค์
เหลือแต่เพียงว่าจะพัฒนากระบวนการดังกล่าวให้เชื่อมโยงกับกิจกรรมภายนอกสถานสงเคราะห์ได้อย่างไร

มาถึงตรงนี้เราได้ข้อมูลผู้รับบริการที่มีความสามารถในกิจกรรมนันทนาการแล้วละครับ
มาถึงตรงนี้ เราได้ข้อมูลเรื่องพัฒนาการและผลสัมฤทธิ์อย่างไม่เป็นทางการด้านการฟื้นฟูแล้วละครับ
เรียกได้ว่าเป็น CoP กิจกรรมนันทนาการ อย่างน้อยก็
- ด้านกีฬาตะกร้อ วอลเลย์บอล ฟุตบอล ห่วงยาง และแชร์บอล
- ด้านร้องเพลงไทย ลูกทุ่ง ลูกกรุง และหมอลำ
- ด้านการเชียร์ ฟ้อน รำ และหางเครื่อง
- ด้านการพากย์หนัง หรือบรรยายสดการละเล่น/กีฬา


เห็นหรือยังละครับง่ายๆ แต่ก็ได้ประโยชน์
(เยอะ)

เรามาร่วมกันสร้างสรรค์ให้แต่ละวันของเรา เป็น "วันมหัศจรรย์" กันดีไหมครับ
"วันมหัศจรรย์" คือ "วันของการเรียนรู้และค้นพบ"


สุขใจไร้ที่พึ่งครับ


----------------------------------------------------------------------------------------------------------

บันทึกที่เกี่ยวข้อง:  เอ๊ะ ทำไม ? กับ (หัว) ใจใฝ่ (เรียน) รู้

 

 



ความเห็น (2)

แบบนี้ ก็เพลิน = play+learn ไปเลยนะสิคะ

เอาใจช่วยนะคะ

ขอบคุณครับ ที่แวะมาเยี่ยมชม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท