Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ธรรมใกล้ตัว : การพูดในชีวิตประจำวันกับศีลข้อ 4


วจีทุจริต ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าไม่พึงควรกระทำ คือ ๑. พูดเท็จ - ๒. พูดส่อเสียด - ๓. พูดหยาบคาย - ๔. พูดเพ้อเจ้อ

คำพูดที่ออกจากปากเราไปนั้น สร้างและทำลายตัวเรากับผู้อื่นได้มากกว่าที่เราคิด  เพื่อนๆ รู้ไหมค่ะว่าศีลข้อ ๔ จริงๆแล้วรักษาได้ยากมาก  เพราะเป็นบาปที่กระทำได้ง่าย รวดเร็ว และสะใจ  ยิ่งเราอยู่ในสังคม หมู่เพื่อน  การสื่อสารโดยการพูดคุยและรับฟัง  เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  เพราะจะทำให้เราเป็นคนไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคมในที่สุด  บางครั้งจึงต้องทนรับฟังคำพูดหรือวจีทุจริตต่างๆของคนบางคน   ทั้งๆที่น้ำหนักแห่งบาปเท่าๆกับผิดศีลข้อ ๑ คือ การฆ่า แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะละเลย เพิกเฉย แล้วสนุก สะใจกับบาปทางวาจาต่อไป เพื่อให้เราอยู่ในสังคมที่โหดร้ายได้  เราต้องยอมรับนะคะว่าบางครั้งเราก็เลือกสังคมดีๆไม่ได้ โดยเฉพาะในที่ทำงาน (ฮึๆ)

นิตยสารธรรมะใกล้ตัวฉบับที่ ๔๙ ผู้เขียนๆเกี่ยวกับการพูดได้ดีมากค่ะ  อ่านแล้วจะเข้าใจธรรมและศีลข้อ ๔ เพื่อจะระมัดระวังคำพูดของตนเองมากขึ้น แล้วเตือนให้ตนเองอย่ายินดีหรือสะใจกับวจีทุจริตต่างๆ ลองอ่านนะคะ  สนุกดีค่ะ อ่านแล้วได้อะไรแลกเปลี่ยนความรู้กันบ้างนะคะ  ขอบคุณค่ะ

 

ธรรมใกล้ตัว  จากใจบ.ก.กลางชล ฉบับที่ ๔๙ ประจำวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๑

 

สวัสดีค่ะ    ๕๕๕... (ขออนุญาตหัวเราะเป็นเลขไทย) : ) คือว่า เมื่อสักครู่ เพิ่งเปิดดูงานโฆษณาทีวีเก่าชิ้นหนึ่งมา แล้วก็อดอมยิ้มไม่ได้น่ะค่ะ : )เป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ลูกอมชุ่มคอยี่ห้อหนึ่ง นัยว่าขายความ "ลื่นคอ"คอนเซปท์ของเรื่องก็เลยออกมาแนว "รื่นหู" ใครอาจจะเคยดูผ่านตากันมาแล้วมั้งคะ

จบท้ายขายคอนเซปท์ว่า กินลูกอมนี้จนชุ่มคอแล้ว ก็ทำให้อะไร ๆ "รื่นหู" ขึ้นอีกเยอะ

ใครยังไม่เคยดูฉบับเต็ม ๆ ก็ลองไปเปิดดูกันได้ที่ link นี้นะคะ ขำดีเหมือนกันค่ะ : )

http://www.adintrend.com/show_ad.php?id=2167

 

ถึงแม้จะดูกันขำ ๆ แต่ที่เขาว่า ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัวนั้น ก็ไม่ผิดหรอกค่ะ

งานโฆษณาชิ้นนี้ทำให้นึกถึงชีวิตจริงที่เห็น ๆ และเป็น ๆ กันอยู่ทุกวันนี้จริง ๆ

แม้เราจะไม่ได้ออกปากด่าทอถึงขั้นชี้หน้าว่ากัน  แต่หลายคน ก็เผลอใช้วาจาที่หลุดออกมาจากฐานของความรู้สึกนานาชนิด  สร้างแผลใจ ความบาดหมาง และความระคายโสต แก่คนรอบข้าง

กระทั่งสร้างความเป็นอกุศลแก่ตนเองกันอยู่บ่อยครั้ง และโดยไม่รู้ตัว

ลองสำรวจตัวเองง่าย ๆ กันดูก็ได้ค่ะว่า ที่ขยับปากพูดกันอยู่ทุกวี่ทุกวันนี้

 

เรากล่าววาจาที่เข้าข่ายเหล่านี้อยู่บ้างหรือไม่ ถี่บ่อย มากน้อยในชีวิตประจำวันเพียงใด?

 

๑. พูดเท็จ - ๒. พูดส่อเสียด - ๓. พูดหยาบคาย - ๔. พูดเพ้อเจ้อ

 

นั่นเอง เป็นองค์ประกอบทั้งสี่ของ วจีทุจริต ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าไม่พึงควรกระทำ

ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงแต่ศีลข้อ ๔ ที่ว่าด้วยการงดวาจามุสา หรือการพูดโกหก

ที่หลายคนบ่นว่า แค่นั้นก็ยากแล้ว... แต่เอาเข้าจริง คิดดูแล้ว ว่าไหมคะ

เราอาจมีโอกาสก่อวจีทุจริตประการอื่น ๆ ได้บ่อยยิ่งกว่าการพูดโกหกเสียอีก

 

ดูง่าย ๆ สังเกตไหมคะว่า วจีทุจริตนั้นจะก่อร่างสร้างตัวได้รวดเร็วและเมามันเป็นพิเศษด้วย

เมื่อคนประเภทที่ธาตุนิสัยคล้าย ๆ กันมารวมตัวกันอยู่ เป็นหมู่คณะ

บ้างก็หยอกล้อส่อเสียดกันแรง ๆ บ้างก็นินทาคนโน้นคนนี้ บางทีก็ล้อเลียนใครเขาไปทั่ว

บ้างก็เม้าท์ บ้างก็เพ้อเจ้อกันเป็นเรื่องเป็นราว ต่อขานต่อคำกันไปเรื่อย ฯลฯ

 

การคลุกคลีด้วยหมู่คณะโดยปราศจากความสำรวมระวังถึงความพอเหมาะพอดีของวาจา

จึงง่ายต่อการชวนกันฟุ้งซ่าน และจูงจิตใจให้เป็นไปในทางอกุศลได้โดยง่าย

 

และเพราะหลายคนไม่รู้... ว่าการกล่าววจีทุจริต อาจชักนำผลเช่นไรมาสู่ตนบ้าง

บางคนที่เก่งกาจในการใช้มีดโกนอาบน้ำผึ้ง จึงอาจกลับกลายเป็นฮีโร่ที่น่าชื่นชม

ยิ่งพูดได้บาดใจ ยิ่งใช้คำถึงใจ ยิ่งตลกร้าย หรือล้อเลียนอีกฝ่ายจนพากันเห็นตลกไปทั้งวง

ก็ยิ่งเป็นที่ยกย่องกันว่า "เจ๋ง" โดยที่อาจลืมความรู้สึกของคนที่ถูกล้อเลียนด้วยซ้ำไป

เมื่อไม่เห็นเป็นความผิด เจ้าตัวก็มักภูมิใจในความสามารถพิเศษด้านมืดของตน

และเมื่อคนรอบข้างชื่นชม ก็อาจยิ่งฉลาดในการปั้นคำเหล่านั้นให้กรีดได้คมยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

 

หรือกับบางสถานการณ์ เมื่อคนอื่นทำในสิ่งที่ขัดใจ ไม่ได้อย่างใจเราขึ้นมา

เราก็อาจเผลอสติ ยอมให้ตัวเองยิงถ้อยคำว่ากล่าวออกมา เพียงด้วยความสะใจ

และมองข้ามไป ว่ามันอาจสร้างบาดแผลอย่างไรให้กับใจของคนฟัง

คำส่อเสียด กระแนะกระแหน ประชดประชัน จึงหลุดมากับสถานการณ์เหล่านี้ไม่ยากนัก

 

เคยย้อนมองไหมคะว่า จิตใจเราเป็นอย่างไรบ้างในขณะพรั่งพรูคำเหล่านั้น?

 

ผลของการกล่าววจีทุจริต ไม่ได้มีเพียงก่อความบาดหมางกับคนรอบข้างนะคะ

แต่เจ้าตัวเองนั่นแหละค่ะ ที่จะต้องรับวิบากจากผลแห่งสิ่งที่กระทำผ่านลมปาก

และที่สำคัญ คุณภาพจิตของเจ้าตัวก็จะพลอยด้อยลงไปอย่างน่าเสียดายด้วย

 

เคยอ่านจากหนังสือของ คุณดังตฤณ ที่แจกแจงคำสอนของพระพุทธเจ้า

เกี่ยวกับวิบากแห่งวาจานี้ไว้หลายเรื่อง ขอหยิบมาเล่าสู่กันฟังบ้างเล็กน้อยก็แล้วกันนะคะ

 

การพูดเท็จ นั้น แม้หลอกชาวบ้านได้แนบเนียนอย่างไร ใจก็ต้องคอยระแวดระวัง

ต้องคอยจดจำเรื่องราว และคิดหามุขเฉไฉเอาตัวรอดไปเรื่อย หาความสุขไม่ได้เลย

ยิ่งกระทำมาก ก็ยิ่งเป็นเหตุให้จิตบิดเบี้ยว เห็นผิดเพี้ยน ไม่ตรงตามจริง

 

วิบากอย่างเบาก็คือ เจ้าตัวก็จะโดนใส่ไคล้เข้าบ้าง พูดจาขาดน้ำหนัก ไม่มีใครเลื่อมใส

ถ้าทำหนักเข้า บางทีพูดดี ๆ คนก็ไปตีความเห็นว่าเป็นร้ายได้ ยิ่งถ้าทำหนักแน่นเป็นอาจิณ

ชาติต่อไป ก็เตรียมเกิดใหม่ด้วยหน้าตาแบบเห็นปุ๊บก็ต้องว่า เป็นดาราตัวโกงแน่นอน

 

การพูดส่อเสียด คนที่พูดจาว่าร้ายคนอื่นได้อยู่เป็นนิตย์นั้น จิตจะเหมือนพ่นไฟ

แลบออกมาพร้อมคำพูด หรือบางทีก็แลบออกมาจากศีรษะขณะตั้งใจจะพูดตลอดเวลา

จิตที่ให้ความร้อนย่อมไม่อาจนิ่งเย็นได้นาน แม้จะเป็นผู้ปฏิบัติภาวนาดีเพียงใด

ใจก็จะเร่าร้อนเหมือนถูกเสียดสีด้วยอกุศลธรรมอยู่ไม่ขาด

 

วิบากอย่างเบาของผู้มักพูดจาส่อเสียดก็คือ มักแตกคอกันกับเพื่อนได้โดยง่าย

ยิ่งเห็นการนินทาลับหลังเป็นของสนุก น้ำเสียงก็จะยิ่งฟังดูขาดเมตตาลงเรื่อย ๆ

ไม่น่าชื่นใจ แม้เคยมีเสียงที่สดใส ก็สามารถกลายเป็นเสียงที่ขาดความขลังไปได้

หรือใครชอบสนุกกับการทิ่มแทงคนอื่นขณะกำลังโกรธ นอกจากเสียงจะฟังดุร้าย

เหมือนหาเรื่องแล้ว ต่อไปถึงแม้พูดดี ๆ คนก็จะรู้สึกเหมือนตั้งท่าเป็นศัตรูได้เช่นกัน

 

นิดหนึ่งค่ะว่า วจีทุริตที่ว่าด้วยคำส่อเสียดนั้น ไม่ใช่เพียงคำว่าร้ายให้กันเท่านั้นนะคะ

แม้คำนั้นจะเป็นคำจริงก็ตาม แต่หากเป็น คำพูดที่ก่อให้เกิดความแตกร้าว

เช่น เอาเรื่องของข้างนั้นไปบอกข้างนี้ เอาเรื่องที่ได้ยินมาของข้างนี้ไปเม้าท์กับข้างนั้น

ยุยงให้สองฝ่ายบาดหมางแตกแยกกัน ก็จัดเข้าในพวกส่อเสียดด้วยเหมือนกัน

 

การพูดคำหยาบ หากพูดออกมาจากจิตที่มีโทสะเป็นฐาน ย่อมเป็นวจีที่เป็นโทษ

แต่ในบางกรณีนั้น อาจเป็นไปได้ที่บางคนอาจโพล่งเพียง "ภาษาหยาบ" ออกมา

โดยที่จิตใจไม่ได้มุ่งร้ายหรือมีความร้อนแรงแฝงอยู่ด้วยโทสะเลยก็เป็นได้

เช่น ด้วยวรรณะที่เติบโตมาเขาพูดกันอย่างนั้น ก็อาจหยิบมาใช้แต่เพียง "ภาษา" ที่คุ้นชิน

 

แต่กระนั้นก็ตาม โดยทั่วไปก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าวาระจิตของผู้พูดเป็นอย่างไรแน่ รู้แต่ว่า

เมื่อได้ยินคำหยาบ เราย่อมคิดว่าคนผู้นั้นมีจิตหยาบ และปรุงแต่งให้จิตคนฟังหยาบตาม

 

เมื่อเรามีโอกาสเกิดในตระกูลที่ไม่จำเป็นต้องสั่งสมนิสัยพรั่งพรูคำหยาบ

ก็สมควรฝึกตนให้พูดเฉพาะคำเยี่ยงสุภาพชน

เพราะจิตที่พูดคำหยาบ มักเหมือนเอาหอกทิ่มแทงใจคนฟัง สร้างแนวโน้มก่อเวร

ก่อความเบียดเบียนขึ้นในตน เป็นกรรมดำที่ทำให้จิตนิ่งเย็นได้ยาก

 

การพูดเพ้อเจ้อ พูดไร้สาระ วิบากอย่างเบา คือ ทำให้เป็นคนพูดจาไม่น่าเชื่อถือ

ซึ่งก็เห็นกันได้ชัด ๆ ใครพูดจาไร้สติ เลื่อนเปื้อนเพ้อเจ้อมาก ๆ คนก็เบือนหน้าหนีทั้งนั้น

ยิ่งถ้าพูดไหลไปเรื่อยเปื่อยชนิดฟุ้งซ่านจัด สุ้มเสียงก็จะเริ่มเหมือนคนสับสน

พูดจาวกวน คนฟังได้ยินแล้วพลอยฟุ้งซ่านตาม ไม่มีใครอยากทนฟังให้จบ

ยิ่งกระทำมาก ก็ยิ่งเป็นเหตุให้จิตพร่ามัว

 

หลายคนเริ่มทำหน้ากลุ้มใจ เพราะข้อนี้เหมือนจะเป็นอะไรที่เป็นกับกลุ่มเพื่อนบ่อยที่สุด : )

จริง ๆ แล้ว คุณดังตฤณก็บอกไว้ค่ะว่า การพูดเล่นที่ประกอบไปด้วยสติ  รู้จักกาลเทศะ ไม่หยาบโลนดึงใจลงต่ำ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่เป็นพิษเป็นภัย

 

รู้อย่างนี้แล้ว แม้ใครรักษาศีล ๕ ได้ แต่จริง ๆ แล้วยังมีวจีทุจริตอยู่เป็นนิตย์

เรื่องที่จะหาความก้าวหน้าทางจิต ก็เห็นทีจะเป็นไปได้ยากอยู่นะคะ

หากพูดเท็จเป็นประจำ ก็จะพลอยทำให้จิตบิดเบี้ยว

พูดส่อเสียดก็ทำให้จิตเร่าร้อน

พูดหยาบคายก็ทำให้จิตสกปรก นิ่งเย็นได้ยาก

พูดเพ้อเจ้อก็ทำให้จิตฟุ้งซ่าน พร่ามัว

 

เมื่อจิตใจส่ายไปส่ายมาเพียงนี้ จะนั่งสมาธิแม้สักเพียงนาทีสองนาทียังยากเลยค่ะ

 

"สัมมาวาจา" จึงเป็นหนึ่งในองค์มรรค ๘ ประการ ที่หากใครมุ่งปฏิบัติดำเนินไป

เพื่อความเป็นอิสระหลุดพ้นทางใจ พึงควรประพฤติสั่งสมไว้ให้บริบูรณ์

 

ส่วนการพูดที่เป็นสัมมาจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร

ถ้าเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่โหดร้าย อย่างไรก็ควรต้องพูดมิใช่หรือ

พระพุทธเจ้าท่านมีเคล็ดวิชาว่าด้วยการใช้วาจาอย่างไร ฯลฯ ที่จริงมีคำสอนที่น่าสนใจอีกไม่น้อยเลยค่ะ แต่เกรงว่าคุณผู้อ่านจะตาลายเสียก่อน ^^เราเก็บไว้คุยกันคราวหน้าก็แล้วกันนะคะ : )

แต่เพียงการงดวจีทุจริต และเลือกกล่าวแต่วจีอันเป็นสุจริต

 

คือเลือกพูดแต่คำจริง เลือกกล่าวแต่คำที่ทำให้ผู้ฟังสบายใจ เกิดความปรองดองกัน

เลือกกล่าวแต่คำสุภาพ ด้วยเจตนาให้ผู้ฟังรื่นหู และเลือกกล่าวแต่คำที่ก่อให้เกิดสติ

 

แค่นี้ก็ช่วยให้ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง มีบรรยากาศที่ดีต่อกัน โดยไม่ต้องอาศัยลูกอมชุ่มคอแล้ว ว่าไหมคะ ; )

 

อ่านทุกฉบับผ่าน website http://dungtrin.com/mag

หมายเลขบันทึก: 213826เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สาธุ...ขอบคุณค่ะสำหรับธรรมะใกล้ตัวดี ๆ ที่อ่านแล้วได้สติขึ้นมาทันใด ถ้าคนในสังคมปัจจุบัน(รวมดิฉันด้วยค่ะ)ทำได้ตามธรรมะที่คุณแพรภัทรได้ยกมาก็คงจะทำให้โลกนี้สงบสุขลงไปได้มากทีเดียวค่ะ...สาธุ

เจริญพร โยมแพรภัทร

ศีลข้อ 5 หากล่วงละเมิดแล้ว

ทำให้ศีลอีก 4 ข้อก็ล่วงละเมิดหมด

 

เจริญพร

น.ส.นิรชา นาครำพา 51/11 รหัส 514245116

เป็นธรรมะที่มีประโยชน์มากค่ะ อ่านแล้วรู้สึกดีสอนให้เราไม่พูดเท็จ

พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ และพูดส่อเสียด

เพราะมันเป็นสิ่งไม่ดี

ถ้าทุกคนพูดแต่ความจริงโลกนี้ก็คงจะดีไม่น้อย

ขออนุโมทนาบุญค่ะ

น.ส ศศิธร พันธุ์เพชร 51/11 รหัส514245135

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะค่ะ

พออ่านธรรมมะแล้วทำใหเราสบายใจ

และได้ข้อคิดมากมาย

สิ่งที่เกิดและดับไปย่อมเป็นสัจจะรรมของชีวิตทั้งนั้น

ขอขอบคุณนะค่ะที่นำธรรมมะดีๆๆได้ข้อคิดมาให้อ่านกันค่ะ

น.ส.ศรสวรรค์ บุญเสียงเพราะ 51/11

ได้มาอ่านแล้วทำให้ได้ข้อคิดดีๆๆมาใช้ใหชีวิตประจำวันคะ

การผิดศิลข้อ4ก็ทำให้เราเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้คะ

นางสาววาสนา วรรณดี 51/11 รหัส 514245133

เมื่อก่อนคิดว่าศิลข้อนี้มีความสำคัญน้อยกว่าศิลข้ออื่น

แต่พอได้อ่านแล้วกลับรู้สึกว่าศิลข้อนี้มีความสำคัญมาก

เพราะการที่เราผิดศิลข้อนี้เราอาจจะคิดว่ามันไม่สำคัญแต่ที่ไหนได้

แค่เราพูดผิดนิดเดียว หรือโกหกมันก่อจะก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่นได้มากมาย

ขออนุโมทนาบุญค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท